Toxic Relationship หรือ ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ เป็นคำที่เราได้ยินบ่อยขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ ซึ่งใช้อธิบายความสัมพันธ์ที่มีแต่ด้านลบ เช่น ทะเลาะกันบ่อย นอกใจ ใช้ความรุนแรง ทั้งทางร่างกาย คำพูด จิตใจ แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจเคยสังเกตคู่รักท็อกซิกบางคู่คบนานจนน่าตกใจท่ามกลางสถานการณ์ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษแบบนั้น แม้จะคบแบบรัก ๆ เลิก ๆ บ้างก็ตาม

Hack for Health เลยมาคลายความสงสัยว่าอะไรกันนะ ที่ทำให้คู่รักท็อกซิกถึงเลิกกันได้ยากเย็น

ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษสร้าง ‘ความผูกพันแบบพิเศษ’

ในขณะที่คู่รักที่รักกันดี หรือทะเลาะกันบ้างตามภาษาสร้างความผูกพัน และความเข้าอกเข้าใจกันผ่านการใช้ชีวิต คู่รักท็อกซิกก็สร้างความผูกพันที่ออกจะพิเศษกว่าคู่รักทั่วไปอย่าง Truama Bond คำนี้ไม่มีคำแปลในภาษาไทย แต่พอจะแปลได้ว่า ‘ความผูกพันจากความบอบช้ำ’ ทั้งทางกาย และทางอารมณ์

ให้อธิบายก็คือภาวะเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายของวงจรความสัมพันธ์ เช่น การถูกนอกใจ เมื่อถูกจับได้ก็สารภาพ แสดงความเสียใจ แสดงความรักเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือถูกหว่านล้อม โน้มน้าวด้วยวิธีต่าง ๆ อารมณ์แบบตบหัวแล้วลูบหลังอะไรแบบนั้น หรือเขาอาจมีข้อดีในด้านอื่น ๆ ที่ทำให้ฝ่ายถูกกระทำรู้สึกสับสนเมื่อต้องชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดี และข้อเสีย

Gone Girl (2014)

เมื่อเกิดวงจรท็อกซิกแบบนี้บ่อย ๆ กลไกการป้องกันตัวของสมองที่เป็นจิตใต้สำนึกจะสร้าง Truama Bond ขึ้น และเปลี่ยนมุมมองให้คนที่ถูกกระทำมองความรุนแรงและความท็อกซิกที่เกิดขึ้นเป็นรูปแบบหนึ่งของความรัก และเกิดความผูกพันที่แน่นหนา ทำให้ฝ่ายที่ถูกกระทำตัดสินใจ ตัดใจบอกเลิก ออกจากความสัมพันธ์ได้ยาก เพราะถูก Truama Bond ครอบงำ

ดร.แพตทริก คาร์น (Patrick Carnes) นักบำบัดอาการเสพติดเซ็กส์ชาวอเมริกันได้นิยาม Truama Bond ไว้ว่าเป็นความผูกพันท่ามกลางสถานการณ์อันตราย น่าอับอาย และเอารัดเอาเปรียบ

คู่รักที่อยู่ในความสัมพันธ์เป็นพิษอาจมีสัญญาณของความผูกพันจากความบอบช้ำในรูปแบบต่อไปนี้

  • รัก ๆ เลิก ๆ กลับมาคบแบบไม่รู้ตัว
  • หาข้ออ้าง และปกป้องคนรักด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานาให้กับความท็อกซิก ทั้งเพื่อบอกตัวเอง และบอกคนอื่น
  • เมื่อรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองโดนคนรักกระทำ ชวนให้นึกถึงประสบการณ์เลวร้ายในอดีต
  • รู้สึกกลัวว่าจะถูกทอดทิ้ง หรือโดดเดี่ยว

นอกจากคู่รักแล้ว Truama Bond ยังสามารถเกิดกับความสัมพันธ์ท็อกซิกได้ทุกรูปแบบ เช่น เด็กที่ถูกพ่อแม่ทำร้ายร่างกาย ด่าทอ เพื่อน และเพื่อนร่วมงาน คนร้าย กับตัวประกัน (Stockholms Syndrome)

เดี๋ยวเลิกแน่ แต่…!

คนที่อยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ และไม่อยากทนต่อความสัมพันธ์แบบนี้มักจะพูดถึงการเลิกราอย่างเด็ดขาดกับคนรักที่แสนท็อกซิกทุกครั้งที่ทะเลาะกัน หรือนึกขึ้นได้ แต่มักจะลงท้ายด้วยการรออะไรสักอย่างหนึ่ง เช่น เลิกแน่… แต่เดี๋ยวรอให้ลูกโตก่อน เลิกแน่… แต่เดี๋ยวรอให้จัดการตัวเองได้ก่อน ถ้าทำแบบนี้อีกรอบ…เลิกแน่ คล้ายกับพนักงานออฟฟิศที่พูดว่าจะลาออกนั่นแหละ

ความสัมพันธ์แบบท็อกซิกมักสร้างความรู้สึกต้องการที่จะเลื่อนการเลิกราออกไปผ่านจิตใต้สำนึกโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งการพูดคำเหล่านี้ออกมาคล้ายกับการระบายที่ช่วยให้คนที่พูดรับมือกับความท็อกซิกได้มากขึ้น คล้ายกับว่ามันจะสิ้นสุดลงเมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งที่ไม่มีอยู่จริง

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่ถูกกระทำบางคนอาจพูดประโยคเหล่านี้ออกมาเนื่องจากความไม่พร้อมจริง ๆ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น ปัญหาด้านการเงิน ความกังวลเรื่องการเลี้ยงดูลูก

Marriage Story (2019)

ออกจากความสัมพันธ์ท็อกซิกไม่ได้ เพราะความกลัว

ความสัมพันธ์ท็อกซิกแบ่งได้หลายรูปแบบ บางครั้งอาจเป็นความสัมพันธ์แบบ Love-Hate Relationship หรือทั้งรักทั้งเกลียดที่จะเห็นคู่รักที่เดี๋ยวตีกันเดี๋ยวรักกัน แต่โดยภาพรวมทั้ง 2 ฝ่ายมีอำนาจในตัวเองในระดับใกล้เคียงกัน ซึ่งอาจต่อรอง และเลิกรากันได้เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง แต่บางคู่อาจเป็นความสัมพันธ์ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่า และครอบงำอีกฝ่ายด้วยความกลัว

ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย การแบล็กเมล์ การขู่จะทำร้ายตัวเอง หรือคนใกล้ตัว ไปจนถึงการค่อย ๆ ปลูกฝังความกลัวให้กับอีกฝ่ายว่าจะถูกทิ้ง ถ้าไม่มีเขาแล้วจะต้องโดดเดี่ยว และเจ็บปวด ส่งผลให้อีกฝ่ายจิตใจอ่อนแอ และไม่สามารถก้าวข้ามความสัมพันธ์ที่เป็นพิษนี้ได้เนื่องจากความกลัว

การถูกทำร้ายเป็นประจำอาจสร้างความบอบช้ำฝังลึกเข้าไปในจิตใจจนกลายเป็นอาการทางจิต ที่จะถูกกระตุ้นทุกครั้งที่โดนตวาด หรือทำร้าย

บางเคสอาจไม่ได้เกิดจากความกลัวที่โดนทำร้าย แต่เลิกที่จะเมินเฉยต่อความคิดที่จะเลิกรา เพราะกลัวการเผชิญหน้ากับความจริงอันเจ็บปวด หรือความยุ่งยากของความสัมพันธ์

ความสัมพันธ์ท็อกซิกใกล้ตัวกว่าที่คิด

แม้ว่าในข้างต้นจะยกตัวอย่างการรูปแบบของความท็อกซิก อย่างการทำร้ายร่างกาย และจิตใจ การเอารัดเอาเปรียบ หรือการทำให้อีกฝ่ายกลัวด้วยวิธีต่าง ๆ แต่ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษยังรวมถึงการขาดการเอาใจใส่ที่เหมาะสม การทำเหมือนอีกฝ่ายไม่มีตัวตนในระหว่างที่คบ ภาวะที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าได้รับการทุ่มเทหรือใส่ใจน้อยกว่า หรืออีกฝ่ายไม่เคยช่วยทำงานบ้านเลย ทั้งที่คุณก็ทำงานมาทั้งวัน

ความรู้สึกด้านลบที่เรื้อรัง และสะสมสามารถสร้างความเป็นพิษให้กับความสัมพันธ์ และจิตใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิต และสุขภาพจิต คนที่เผชิญกับความสัมพันธ์ที่เป็นพิษอาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพได้ เช่น

บางครั้งการใช้ชีวิตอยู่คนเดียว และก้าวออกมาจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษอาจช่วยให้คุณมีชีวิตที่ดีกว่า ถ้าคุณกำลังเผชิญอยู่กับสถานการณ์นี้แนะนำว่าให้ปรึกษาคนใกล้ตัว อย่างครอบครัว หรือเพื่อนสนิทเพื่อร่วมกันหาทางออก

เพราะลำพังตัวเองคุณเองอาจไม่สามารถมองเห็นปัญหาได้รอบด้านด้วยอคติทางบวกที่มีต่อคนรัก สำหรับใครที่เห็นคนใกล้ตัวดูไม่สดใส ทะเลาะกับคนรักบ่อย เก็บตัว และก้าวข้ามความสัมพันธ์ท็อกซิกไม่ได้ คุณอาจเข้าไปแบ่งเบาด้วยการรับฟัง และให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม

ที่มา: Cosmopolitan, Nutrition and Therapy, Sandstone Care

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส