เชื้อดื้อยาเป็นวิกฤตการณ์สุขภาพที่กำลังก่อตัวขึ้นเงียบ ๆ ท่ามกลางผู้คนทั่วโลก นิยามของเชื้อดื้อยาแบบง่าย ๆ คือ เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อโรคอะไรก็ตามที่สามารถทนทานต่อยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะที่ถูกคิดค้นมาเพื่อกำจัดเชื้อเหล่านั้นโดยเฉพาะ ส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผล และเกิดผลกระทบตามมา

ผลลัพธ์ที่ตามมาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละเคส บางคนอาจแค่เปลี่ยนยาตัวใหม่ บางคนอาจต้องเพิ่มปริมาณยา เผชิญกับการรักษาที่ยุ่งยาก และยาวนานขึ้น แต่เชื้อโรคบางอย่างไม่ได้มีตัวเลือกในการรักษามากขนาดนั้น และนั่นก็อาจนำไปสู่การติดเชื้อที่รุนแรง ความทุกข์ทรมานจากโรค และการเสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้ เชื้อแบคทีเรียบางชนิดสามารถต้านยาฆ่าเชื้อได้หลายชนิด

แม้ว่าเราจะไม่ได้ยินเรื่องเชื้อดื้อยากันบ่อยนัก แต่ในแต่ละปีมีคนเสียชีวิตด้วยเชื้อดื้อยาหลายเคส และมากขึ้นเรื่อย ๆ การติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคท้องเสียธรรมดาอาจไม่ต่างจากระเบิดเวลาเมื่อคุณมีเชื้อดื้อยาอยู่ภายในร่างกาย เพราะเชื้อบางชนิดจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรักษา ร่างกายไม่สามารถหายเองได้ อย่างโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรควัณโรค และโรคปอดบวม

ทำไมเชื้อโรคถึงดื้อยา?

แม้ว่าเชื้อโรคจะเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋ว แต่ดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตถูกสร้างมาเพื่อเอาชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงยาฆ่าเชื้อด้วย การใช้ยาฆ่าเชื้ออย่างผิดวิธี และขาดความเข้าใจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เชื้อโรคเหล่านี้กลายพันธุ์ หรือพัฒนาตัวเองให้รับมือกับยาฆ่าเชื้อที่ถูกส่งมาฆ่ามันมากขึ้น จนกระทั่งเชื้อโรคทนทานต่อยาเหล่านั้นในที่สุด

โดยพฤติกรรมการใช้ยาที่เพิ่มความเสี่ยงของเชื้อดื้อยา เช่น

การใช้ยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็น

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นบ่อย คือ คนที่เป็นไข้ เจ็บคอจากโรคหวัดที่เกิดจากไวรัส ซึ่งสามารถหายเองได้ แต่คิดว่าอาการแบบนี้ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อที่ปกติจะใช้ในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากแบคทีเรีย หรือการติดเชื้ออื่นที่จำเป็นเท่านั้น การได้รับยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็นอยู่บ่อย ๆ อาจทำให้เชื้อโรคที่มีอยู่ตามธรรมชาติของลำไส้กลายพันธุ์จนเกิดเป็นเชื้อดื้อยา เมื่อร่างกายอ่อนแอ แล้วเกิดติดเชื้อขึ้นในร่างกาย ยาฆ่าเชื้ออาจไม่ได้ผล

การหยุดยาฆ่าเชื้อก่อนกำหนด

ถ้าหมอเคยจ่ายยาฆ่าเชื้อให้คุณ บนฉลากจะเขียนเลยว่าให้คุณใช้ต่อเนื่องจนหมด แม้หายดี ไม่มีอาการแล้ว นั่นก็เพราะว่าต่อให้อาการคุณดีขึ้น เหมือนว่าไม่ได้ติดเชื้อแล้ว ยังคงมีเชื้อโรคที่ก่อโรคค้างอยู่ในร่างกายอยู่ การหยุดยาก่อนกำหนดอาจทำให้เชื้อโรคที่เหลือไม่ถูกกำจัดไป แม้ว่าเชื้อโรคเหล่านี้อาจบาดเจ็บหรืออ่อนแอจากยาฆ่าเชื้อที่ใช้มาก่อนหน้า แต่อาจกลายพันธุ์ และแบ่งตัวซ้ำ ๆ จนเกิดความสามารถในการทนทานต่อยาฆ่าเชื้อ

การใช้ยาฆ่าเชื้อติดต่อกันนาน

ในปัจจุบัน คนทั่วไปอาจยังไม่ได้รับผลกระทบจากเชื้อดื้อยาเท่าไหร่ แต่ถ้าหากวันหนึ่งคุณเจ็บป่วย ต้องผ่าตัด ต้องนอนโรงพยาบาล ต้องใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือแม้แต่การปลูกถ่ายอวัยวะใหม่ คุณต้องใช้ยาฆ่าเชื้อต่อเนื่องเป็นเวลานานเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งในระหว่างนั้นอาจมีความเสี่ยงที่เชื้อโรคจะพัฒนา และทนทานต่อยาฆ่าเชื้อ ส่งผลให้รักษายุ่งยาก ลำบากมากขึ้น บวกกับคนที่มีโรคเรื้อรังส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่เต็มที่ การติดเชื้ออาจลุกลาม และรุนแรงจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต

นอกจากนี้ การใช้ยาร่วมกันคนอื่น เพราะมีอาการเหมือนกันอาจทำให้เราเผลอได้รับยาฆ่าเชื้อแบบไม่ครบโดสโดยไม่รู้ตัว และเพิ่มความเสี่ยงของเชื้อดื้อยาได้

เชื้อดื้อยาติดต่อกันได้!

ความน่ากลัวของเชื้อดื้อยาไม่ได้สิ้นสุดที่การรักษาอันซับซ้อน ค่าใช้จ่ายการรักษาที่สูงขึ้น หรือการจบชีวิตลงจากการติดเชื้อ แต่ที่เชื้อดื้อยากลายเป็นวิกฤติสุขภาพก็เพราะว่าเชื้อดื้อยาสามารถส่งต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์ได้ ไม่ต่างจากเชื้อก่อโรคอื่น ๆ และพร้อมแฝงตัวอยู่ภายในร่างกายมนุษย์ ซึ่งคุณไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามีเชื้อชนิดนี้อยู่ในร่างกาย จนกระทั่งวันที่คุณต้องได้รับยาฆ่าเชื้อชนิดนั้น ๆ

โดยคุณสามารถติดต่อเชื้อดื้อยาได้ผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง อย่างละอองฝอย น้ำมูก เสมหะ เลือด ซึ่งส่วนมากโรงพยาบาลเป็นพื้นที่เสี่ยงในการได้รับเชื้อดื้อยา

นอกจากนี้ เคยมีรายงานว่าของเสีย สารคัดหลั่งของคนที่มีเชื้อดื้อยาที่ถูกปล่อยสู่ธรรมชาติ และการทิ้งยาฆ่าเชื้ออย่างไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาปนเปื้อนในสภาพแวดล้อม ในดิน ในน้ำอาจกระตุ้นการต่อต้านยาในเชื้อโรคที่อยู่ในธรรมชาติ ส่งผลต่อพืช สัตว์ในระบบนิเวศ และการนำสัตว์น้ำ หรือสัตว์บกมาบริโภคอาจทำให้มนุษย์ได้รับเชื้อดื้อยาด้วยเช่นเดียวกัน

เชื้อดื้อยาเป็นปัญหาสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมระดับโลก

ในงาน World Economic Forum Annual Meeting 2024 มีการเปิดเผยการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ สเตลลา ไคเรียคิดส์ (Stella Kyriakides) ผู้ดูแลด้านอาหารและสุขภาวะแห่งสหภาพยุโรปว่ามีความเป็นไปที่ในปี 2050 อาจมีคนเสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากเชื้อดื้อยาจำนวนกว่า 10 ล้านคน/ปี

และเมื่อต้นปี 2023 องค์การอนามัยโลกได้พูดถึงการคาดการณ์เกี่ยวกับการเสียชีวิตจากการล้มเหลวในการใช้ยาฆ่าเชื้อในผู้ป่วยติดเชื้อในปี 2030 ราว 5.2 ล้านคนทั่วโลก ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ และแพทย์ยังคงค้นหาวิธี และยาฆ่าเชื้อชนิดใหม่ที่ฆ่าเชื้อดื้อยา หรือยาฆ่าเชื้อที่ไม่ทำให้เกิดการดื้อยาเพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพของคนทั่วโลก

เชื้อดื้อยาจึงเป็นสิ่งใหม่ที่เราทุกคนควรทำความรู้จัก และระวังไว้ทุกครั้งที่ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ เพราะแม้ว่ายาฆ่าเชื้อจะมีประโยชน์มหาศาล และช่วยให้เรารอดพ้นจากการติดเชื้อได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ายาเหล่านี้จะมีแต่ข้อดี อย่างไรก็ตาม การใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างถูกต้อง ต้องเวลา เคร่งครัด ไม่หยุดยาเอง ไม่ปรับยาเองสามารถป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยาได้ นอกจากนี้ การเลี่ยงการใช้ยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็น และการเลี่ยงการซื้อยามาใช้เองอาจช่วยลดความเสี่ยงได้ด้วยเช่นเดียวกัน

ที่มา: 1, 2, 3, 4, 5

***