หลังจากที่สำนักพระราชวังบักกิงแฮม ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร (Queen Elizabeth II) เสด็จสวรรคตเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 8 กันยายน 2022 (ตามเวลาท้องถิ่น) ความสนใจของผู้คนคงหนีไม่พ้นเรื่องของรายละเอียดพิธีการต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

ประโยคที่ว่า “London Bridge is Down.” หรือแปลว่า “สะพานลอนดอนล่มแล้ว” หรือชื่อแผนปฏิบัติการ ‘Operation London Bridge’ ที่รัฐบาลใช้เป็นรหัสลับเพื่อสื่อสารข่าวสวรรคตของพระองค์ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลายมาเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกในเวลานี้ บทความนี้จะชี้แจงโดยละเอียดว่าปฏิบัติการนี้คืออะไร และรวมไปถึงรายละเอียดโดยคร่าว ๆ ของพระราชพิธีพระศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่กำลังจะเกิดขึ้น


ปฏิบัติการ ‘Operation London Bridge’ คืออะไร ?

Queen Elizabeth II Operation London Bridge

‘ปฏิบัติการสะพานลอนดอน’ หรือ ‘Operation London Bridge’ เป็นปฏิบัติการ ‘ลับ’ ของรัฐบาลอังกฤษ เพื่อใช้สำหรับเตรียมการวางแผนไว้ล่วงหน้าในกรณีที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรรคต เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดสามารถเตรียมกำหนดการ นับตั้งแต่การประกาศสวรรคต ระยะเวลาการไว้ทุกข์ และรายละเอียดการดำเนินการจัดพระราชพิธีพระศพ รวมทั้งรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามแผนอย่างสงบเรียบร้อยและสมพระเกียรติ

ปฏิบัติการสะพานลอนดอนนั้นมีการวางแผนดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 และได้มีการปรับปรุงแก้ไขตลอดเรื่อยมา ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในแต่ละครั้ง จะต้องมีการประชุมของกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ เช่น หน่วยตำรวจนครบาล กองทัพ คริสตจักรแห่งอังกฤษ และสื่อมวลชน นอกจากนี้ ในการตัดสินใจสำคัญบางประการ อาจเป็นพระราชวินิจฉัยของสมเด็จพระราชินีนาถโคยตรง หรือในบางเรื่องก็อาจอาศัยพระราชวินิจฉัยของผู้สืบบัลลังก์ต่อด้วย

Queen Elizabeth II Operation London Bridge
สะพานลอนดอน (London Bridge)

ซึ่งการใช้สะพานลอนดอน (London Bridge) เป็นตัวแทนของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เนื่องจากสะพานลอนดอน ถือเป็นสะพานสำคัญของกรุงลอนดอนที่มีที่มาอันยาวนาน และเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของกรุงลอนดอนมาตลอดทุกยุคทุกสมัย

ต้นกำเนิดการใช้รหัสลับในการสื่อสารบอกข่าวเหตุสวรรคตนั้นเริ่มมาตั้งแต่ก่อนคริสตศตวรรษที่ 19 เนื่องจากการจัดงานพระศพในสหราชอาณาจักรมักดำเนินการด้วยความไม่เรียบร้อยมาโดยตลอด เช่นในงานพระศพเจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งเวลส์ (Princess Charlotte of Wales) ในปี 1817 ก็มีบันทึกว่าเหล่าสัปเหร่อในงานพิธีล้วนแต่เมาสุรา ส่วนในงานพระศพของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักรในปี 1830 ก็มีบันทึกไว้ว่าเป็นไปด้วยความไม่เรียบร้อย มีความผิดพลาดซ้ำซ้อนเกิดขึ้นหลายประการ

จนกระทั่งถึงปี 1875 ในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria) จึงเริ่มมีการเตรียมงานพระศพของพระองค์เองเอาไว้ล่วงหน้าเป็นครั้งแรก จนกระทั่งสวรรคตลงในปี 1901 หรือในอีก 26 ปีให้หลัง แต่การใช้รหัสลับเพื่อแจ้งข่าวการสวรรคตนั้น ถูกใช้เป็นครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร (King George VI) พระราชบิดาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่สวรรคตในปี 1952 โดยราชเลขาธิการได้แจ้งข่าวต่อราชสำนัก รัฐบาล เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย และสื่อมวลชนว่า ‘ที่มุมสวนไฮด์’ (Hyde Park Corner) เพื่อสื่อเป็นนัยว่า บัดนี้พระเจ้าแผ่นดินสวรรคตแล้ว

ต่อมา เมื่อสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี (Queen Elizabeth The Queen Mother) พระราชมารดาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็ได้มีการใช้แผนปฏิบัติการในลักษณะเช่นนี้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยมีชื่อเรียกว่า ‘ปฏิบัติการสะพานเทย์’ (Operation Tay Bridge) ที่มีการเตรียมงานเอาไว้ล่วงหน้านานถึง 22 ปี ก่อนที่พระองค์จะสวรรคตในปี 1952 และแผนปฏิบัติการสะพานเทย์ ถูกนำมาใช้อีกครั้งเพื่อเป็นแบบแผนงานพระศพเจ้าหญิงไดอานา (Diana, Princess of Wales) ในปี 1997 อีกด้วย

แผนปฏิบัติการในทำนองนี้เคยถูกนำมาใช้กับพระราชวงศ์พระองค์อื่นด้วย โดยมีชื่อเรียกขานที่แตกต่างกันออกไป เช่น ‘ปฏิบัติการสะพานฟอร์ธ’ (Operation Forth Bridge) เป็นแผนที่ถูกใช้สำหรับ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ (Prince Philip, Duke of Edinburgh) ที่สวรรคตเมื่อปี 2021 และ ‘ปฏิบัติการสะพานเมนาย’ (Operation Menai Bridge) เป็นแผนที่ถูกเตรียมการไว้ล่วงหน้าสำหรับ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 (King Charles III) แห่งสหราชอาณาจักร ผู้สืบต่อราชวงศ์ต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2


D-Day
: ‘สะพานลอนดอนล่มแล้ว’

ภายหลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรรคต ปฏิบัติการสะพานลอนดอนจะเริ่มต้นขึ้นทันที ราชวงศ์จะทราบข่าวเป็นอันดับแรก และผู้ที่จะแจ้งข่าวการสวรรคตอย่างเป็นทางการคนแรกคือ เซอร์ คริสโตเฟอร์ ไกด์ท (Sir Christopher Geidt) พระราชเลขาส่วนพระองค์ จะทำการโทรศัพท์เพื่อแจ้งข่าวสำคัญไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลตามลำดับ หรือที่เรียกว่า ‘Call Cascade’ ได้แก่ นายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่อาวุโสตามลำดับตำแหน่ง สื่อมวลชน และแจ้งไปยัง 15 ประเทศที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ และประเทศที่อยู่ในสมาชิกเครือจักรภพอีก 37 ประเทศ

ในขณะที่สำนักองคมนตรี ที่มีหน้าที่ประสานงานราชการในนามสมเด็จพระราชินีนาถก็จะได้รับแจ้งข่าวนี้ด้วยเช่นกัน โดยจะแจ้งข่าวด้วยรหัสลับว่า “London Bridge is Down.” หรือแปลว่า “สะพานลอนดอนล่มแล้ว”

ในขณะที่ปลัดกระทรวงจะได้รับสคริปต์จากรัฐบาลที่แจ้งว่า “เราเพิ่งจะได้รับแจ้งข่าวถึงการสวรรคตของสมเด็จพระราชินี” และในสคริปต์จะระบุว่า “จำเป็นต้องใช้ดุลยพินิจ” (Discretion is Required.) เลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะส่งอีเมลไปแจ้งข่าวแก่ข้าราชการระดับสูง โดยจะมีหัวเรื่องระบุไว้ว่า “แต่เพื่อนร่วมงานที่รักยิ่ง, ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าสลดเพื่อเขียนแจ้งให้ท่านทราบ เกี่ยวกับการสวรรคตของสมเด็จพระบรมราชินีนาถด้วยความเศร้าเสียใจ” เมื่อรัฐบาลได้ทราบข่าวนี้โดยทั่วกันแล้ว ธงชาติอังกฤษที่ประดับทั่วรัฐสภาจะถูกลดครึ่งเสาภายในไม่เกิน 10 นาที

วันที่สมเด็จพระราชินีนาถสวรรคต จะถูกเรียกขานว่าเป็น ‘วันดีเดย์’ (D-Day) ในขณะที่วันอื่น ๆ ตามกำหนดการ จะถูกเรียกขานเรียงตามกำหนดการพระราชพิธีพระศพ เช่น ‘D+1’ และ ‘D+2’ เรียงไปตามลำดับ โดยมีการคาดการณ์ว่าพระราชพิธีพระศพในครั้งนี้จะมีกำหนดการอยู่ที่ 10 วัน

สถานีวิทยุของ BBC จะได้รับการแจ้งเตือนข่าวผ่านสัญญาณแสงไฟสีน้ำเงินทีเรียกว่า ‘ไฟมรณกรรม’ (Obit Light) เพื่อแจ้งเตือนข่าวสวรรคต สถานีจะงดรายการที่มีเนื้อหาบันเทิงเริงรมย์ทั้งหมด และจะเริ่มมีการเปิดเพลง “God Save The Queen” ไฟนี้จะกะพริบเพื่อเตือนผู้จัดรายการให้เตรียมตัวตัดเข้าการรายงานข่าวการสวรรคต และเปลี่ยนธีมเพลงที่ใช้เป็นเพลงที่มีโทนเศร้า

Queen Elizabeth II Operation London Bridge
‘ไฟมรณกรรม’ (Obit Light) ที่ติดตั้งอยู่ภายในสำนักงานสถานีวิทยุ BBC

ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์จะแต่งกายด้วยชุดไว้ทุกข์สีดำ สื่อภายใต้การดูแลจะเปลี่ยนสีแบรนด์เป็นสีดำทั้งหมด และได้รับการซักซ้อมประกาศข่าวสำคัญเตรียมไว้ล่วงหน้า สถานีจะตัดเข้าแฟ้มภาพยนตร์ข่าวและสารคดีที่ถูกเตรียมเอาไว้ล่วงหน้า หนังสือพิมพ์และสถานีวิทยุ ก็จะมีการเตรียมข่าวและภาพข่าวเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อรายงานข่าวสำคัญไว้ด้วยเช่นกัน

โดยปกติแล้วตามธรรมเนียม สำนักข่าวบีบีซี (BBC) สำนักข่าวหลักของประเทศจะเป็นสื่อมวลชนรายแรกที่ผูกขาดการรายงานข่าวสำคัญนี้ โดยสถานีในเครือข่ายของ BBC ทั้งหมดจะตัดเข้าสัญญาณของสถานีหลักคือช่อง BBC 1 ก่อนที่สื่ออื่น ๆ จะได้รับรายงานข่าวต่อ ๆ กันมา แต่ในปัจจุบัน ด้วยความรวดเร็วของโซเชียลมีเดีย สำนักข่าวทั่วโลกจึงจะได้ทราบข่าวนี้แทบจะในทันที นอกจากนี้สำนักข่าวอื่น ๆ ของอังกฤษก็มีการซักซ้อมเตรียมการประกาศข่าวสำคัญไว้ด้วยเช่นกัน เช่น สถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ITV) และสกายนิวส์ (Sky News) ที่ใช้ชื่อรหัสว่า ‘คุณผู้หญิงโรบินสัน’ (Mrs. Robinson) เพื่อใช้เรียกแทนสมเด็จพระราชินีนาถ ในการซ้อมประกาศข่าวสำคัญมาแล้วก่อนหน้านี้

ในขณะที่รัฐสภาของสหราชอาณาจักร และสภานิติบัญญัติในสกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ จะมีการนัดประชุมรัฐสภานัดพิเศษเพื่อกำหนดแถลงการณ์สวรรคต ในเวลาเดียวกัน ทหารราบรักษาพระองค์ประจำประตูพระราชวังบักกิงแฮมจะแต่งกายด้วยชุดไว้ทุกข์ ออกมาติดป้ายประกาศสวรรคตจากสำนักพระราชวัง ซึ่งพิมพ์ลงบนกระดาษที่มีขอบสีดำไว้ที่ประตูของพระราชวังบักกิงแฮมทุกด้าน เพื่อให้ประชาชนรับทราบทั่วกัน เว็บไซต์ของสำนักพระราชวังจะเปลี่ยนภาพเพื่อแสดงความไว้อาลัย อาคาร สำนักงานของรัฐบาล ฐานทัพ จะมีการลดธงลงครึ่งเสา พระราชวงศ์ทุกพระองค์จะยกเลิกปฏิบัติกรณียกิจต่าง ๆ ในทันที

Queen Elizabeth II Operation London Bridge

ในวันเดียวกันนั้นเอง จะมีพิธีถวายความอาลัยขึ้นในมหาวิหารเซนต์ปอล (St. Paul’s Cathedral) กรุงลอนดอน โดยมีนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอาวุโสจำนวนหนึ่งเข้าร่วม รัฐบาลจะประกาศให้ประชาชนทั่วประเทศจะอยู่ในช่วงเวลาแห่งการสงบนิ่ง (National Minute’s Silence) เพื่อถวายความอาลัย หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเข้าเฝ้า เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ดยุกแห่งคอร์นวอลล์ (Prince Charles, Duke of Cornwall) ในฐานะกษัตริย์พระองค์ใหม่ หลังจากนั้นจะมีการถ่ายทอดสดแถลงการณ์ของพระองค์ไปทั่วประเทศ


D+1
: ปฏิบัติการสปริงไทด์ (Operation Spring Tide)

วันรุ่งขึ้นหลังการสวรรคต จะมีปฏิบัติการย่อยควบคู่ไปกับปฏิบัติการสะพานลอนดอน นั่นก็คือ ‘ปฏิบัติการสปริงไทด์’ (Operation Spring Tide) หรือแผนปฏิบัติการเตรียมการสำหรับการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์พระองค์ใหม่ หลังการสวรรคตของพระราชินีนาถ

ที่มาของชื่อปฏิบัติการสปริงไทด์ มาจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า ‘ปรากฏการณ์น้ำเกิด’ (Spring Tides) ที่หมายถึงน้ำขึ้นอันเป็นผลจากแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่กระทำต่อโลกจะมีผลสูงสุด ทำให้เกิดน้ำขึ้น สูงสุดเดือนละ 2 ครั้งในช่วงคืนเดือนเพ็ญ (Full Moon) และคืนเดือนมืด (New Moon) ซึ่งจุดที่ระดับน้ำขึ้นสูงสุดจะถูกเรียกว่า ‘King Tide’

รัฐสภาจะจัดให้มีการประชุม ‘สภาสืบราชย์’ (Accession Council) ซึ่งประกอบไปด้วยองคมนตรี สมาชิกสภา นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษและเครือจักรภพ ซึ่งคณะบุคคลเหล่านี้ไม่มีจำนวนที่ตายตัว ในหลายครั้งพบว่าอาจมีบุคคลสำคัญในองค์ประชุมมากถึง 700 คน แต่ในช่วงเวลาที่เร่งรีบ บุคคลสำคัญอาจเข้าร่วมองค์ประชุมน้อยกว่าก็ได้ เพื่อไม่ให้บัลลังก์ว่างเว้นนานเกินไป ในคราวที่สภาสืบราชย์ประชุมเพื่อเถลิงราชย์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1952 มีบุคคลสำคัญเข้าร่วมประชุมราว 200 คน

ตามธรรมเนียมแล้ว กษัตริย์พระองค์ใหม่จะไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีการนี้ ณ ที่นั้น ประธานองคมนตรีจะได้อ่านประกาศการสวรรคตของกษัตริย์พระองค์ก่อน และประกาศการขึ้นครองราชย์ สภาสืบราชย์จะมีพิธีการเฉลิมพระนาม (Proclamations) เพื่อประกาศเถลิงเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ในฐานะรัชทายาทลำดับแรกของการสืบราชสันตติวงศ์ ขึ้นเป็นประมุขแห่งสหราชอาณาจักร ณ พระราชวังเซนต์เจมส์ (St. James’s Palace) จากนั้นประธานองคมนตรีจะเป็นตัวแทนเพื่อกล่าวคำสรรเสริญ และถวายคำสัตย์ว่าจะจงรักภักดีต่อกษัตริย์พระองค์ใหม่

หลังขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงตัดสินพระทัยเลือกพระนามว่า ‘สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร’ (King Charles III) ขึ้นครองราชย์สืบบัลลังก์ต่อไป โดยเป็นการคัดเลือกหนึ่งในชื่อจากพระนามเต็ม ‘ชาร์ลส์ ฟิลิป อาร์เธอร์ จอร์จ’ (Charles Philip Arthur George) นายกรัฐมนตรี อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี (Archbishop of Canterbury) ผู้นำศาสนจักรแห่งอังกฤษ และประธานสภาขุนนาง จะลงนามรับรองคำประกาศการขึ้นครองราชย์ ถือเป็นการเริ่มต้นประกาศรัชสมัยใหม่อย่างเป็นทางการ ณ พระราชวังเซนต์เจมส์ และจะมีการชักธงขึ้นสู่ยอดเสา 24 ชั่วโมง ก่อนกลับมาลดธงลงครึ่งเสาอีกครั้ง

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะกล่าวพระปฐมบรมราชโองการเพื่อประกาศการสืบทอดพระราชบัลลังก์ต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรกในฐานะกษัตริย์ ณ พระราชวังเซนต์เจมส์ โดยจะกล่าวประโยคว่า ‘God Save the King’ (ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงปกปักพระราชา) ซึ่งนี่จะถือว่าเป็นครั้งแรกที่เพลงชาติของสหราชอาณาจักร จะได้มีการเปลี่ยนจากคำว่า King หลังจากที่มีการเปลี่ยนมาใช้คำว่า Queen มาอย่างยาวนานถึง 70 ปี

ในช่วงวาระการไว้ทุกข์ตลอด 10 วัน รัฐบาลอังกฤษไม่ได้มีข้อกำหนดหรือข้อบังคับให้มีการปิดสถานบันเทิง หรือสั่งหยุดการจัดการแข่งขันกีฬาแต่อย่างใด การปิดทำการเพื่อการแสดงความไว้อาลัย ขอให้เป็นไปตามแต่ดุลยพินิจของแต่ละองค์กร


D+2
: ปฏิบัติการยูนิคอร์น (Operation Unicorn)

เนื่องจากในครั้งนี้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคตที่พระตำหนักบัลมอรัล (Balmoral Castle) ในประเทศสกอตแลนด์ ที่พระองค์ได้เสด็จมาทรงประทับในช่วงเดือนกันยายนของทุกปีตามธรรมเนียม ซึ่งอยู่นอกดินแดนอังกฤษ จึงมีการเรียกขานปฏิบัติการย่อยนี้ว่า ปฏิบัติการยูนิคอร์น (Operation Unicorn) ซึ่งมีที่มาจากยูนิคอร์นที่เป็นสัตว์ประจำชาติของสกอตแลนด์ ที่มีตราแผ่นดินร่วมกับสิงโตซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอังกฤษ

Queen Elizabeth II Operation London Bridge
ห้องบอลรูมภายในพระราชวังฮอลีรูด (Holyroodhouse)

ในปฏิบัติการยูนิคอร์น (Operation Unicorn) มีการเตรียมการเคลื่อนหีบพระศพเอาไว้ล่วงหน้าหลายเส้นทางและหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าสมเด็จพระราชินีนาถสเด็จสวรรคต ณ แห่งใด ในกรณีนี้ พระองค์เสด็จสวรรคต ณ ประเทศสกอตแลนด์ ศูนย์กลางของปฏิบัติการยูนิคอร์นนี้จึงอยู่ที่พระราชวังฮอลีรูด (Holyroodhouse) เมืองเอดินบะระ หีบพระศพจะเคลื่อนออกจากพระตำหนักบัลมอรัล ไปประทับอยู่ในห้องบอลรูมของวังฮอลีรูด ซึ่งเป็นห้องที่มีความสำคัญในพระชนม์ชีพของพระองค์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

เนื่องจากหีบพระบรมศพตั้งอยู่ในแผ่นดินสกอตแลนด์ รัฐสภาสกอตแลนด์จะประกาศข่าวแสดงความเสียใจต่อประชาชน ณ ที่นั้นภายใน 72 ชั่วโมง และจะมีการงดกิจกรรมธุระต่าง ๆ ในรัฐสภาอย่างน้อย 6 วัน เพื่อจัดเตรียมงานพระราชพิธีพระศพต่อไป

ขบวนหีบพระศพของสมเด็จพระราชินีนาถจะเคลื่อนจากห้องบอลรูมของพระราชวังฮอลีรูด ไปตามถนนรอยัลไมล์ (Royal Mile) ซึ่งเป็นถนนเส้นสำคัญสำหรับประกอบพิธีของราชวงศ์ เพื่อนำหีบพระศพไปประทับ ณ มหาวิหารเซนต์ไจลส์ (St Giles’ Cathedral) เพื่อให้ประชาชนชาวสกอตแลนด์ได้เข้าถวายสักการะ

Queen Elizabeth II Operation London Bridge

แต่หากสมเด็จพระราชินีนาถสวรรคต ณ ต่างประเทศ แผนฉุกเฉินนี้จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ปฏิบัติการโอเวอร์สตัดดี’ (Operation Overstudy) โดยหีบพระศพจะถูกขนส่งทางเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับมายังประเทศอังกฤษ โดยมีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และพระบรมวงศานุวงศ์รอรับพระศพ

หลังจากนั้น จะมีขบวนเคลื่อนหีบพระศพไปประทับยังพระราชวังบักกิงแฮม กรุงลอนดอน ด้วยขบวนรถไฟหลวง (Royal Train) ที่สถานีเวฟเวอร์ลีย์ (Waverley) เมืองเอดินบะระ หรือทางเครื่องบิน


D+3

ในช่วงเช้า สมาชิกรัฐสภา และและสภาขุนนาง จะเข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เพื่อถวายความอาลัย ณ เวสต์มินเตอร์ ฮอลล์ พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ (Palace of Westminster)

หลังจากนั้น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเริ่มปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการเสด็จไปทั่วสหราชอาณาจักร โดยเริ่มต้นจากการไปเยือนรัฐสภาของสกอตแลนด์


D+4
: ‘ปฏิบัติการราชสีห์’ (Operation Lion)

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ยังคงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการเสด็จไปยังประเทศในสหราชอาณาจักร ในวันนี้ พระองค์จะเสด็จไปยังปราสาทฮิลส์โบโร (Hillsborough Castle) ในไอร์แลนด์เหนือ และเสด็จไปยังกรุงเบลฟาสต์ (Belfast) เพื่อเข้าร่วมพิธีมิสซาที่มหาวิหารเซนต์แอนน์ (St. Anne’s Cathedral)

ในขณะเดียวกัน เจ้าพนักงานจะได้เริ่มเข้าสู่ ‘ปฏิบัติการาชสีห์’ (Operation Lion) ซึ่งหมายถึงแผนการซ้อมพระราชพิธีพระศพ การซ้อมเคลื่อนขบวนหีบพระศพจากพระราชวังบักกิงแฮม ไปยังอาคารรัฐสภาที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์


D+5

ขบวนพระศพจะเคลื่อนจากพระราชวังบักกิงแฮม เพื่อย้ายไปประดิษฐาน ณ อาคารรัฐสภา หรือ เวสต์มินเตอร์ ฮอลล์ (Westminster Hall) พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ (Palace of Westminster) กรุงลอนดอน โดยใช้เส้นทางสำคัญสำหรับพระราชพิธี เมื่อหีบพระบรมศพมาถึง จะมีการประกอบพิธีมิสซา และจะเปิดให้ประชาชนเข้าถวายสักการะเป็นเวลา 4 วัน

Queen Elizabeth II Operation London Bridge

D+6 – D+9
: ‘ปฏิบัติการขนนก’ (Operation Feather)

พระศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะประทับอยู่ที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์เป็นเวลา 3 วัน โดยจะประทับอยู่บนจิตกาธาน (Catafalque) ซึ่งเป็นแท่นยกสูงที่ตั้งอยู่กลางเวสต์มินสเตอร์ฮอลล์ โดยมีทหารรักษาพระองค์ยืนคุ้มกันในแต่ละมุม จะเปิดให้ประชาชนสามารถเข้ามาสักการะพระศพวันละ 23 ชั่วโมง และจะมีการจำหน่ายบัตร VIP ในบางช่วงเวลา

Queen Elizabeth II Operation London Bridge
หีบพระศพของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี (Queen Elizabeth The Queen Mother) ประทับเหนือจิตกาธาน ภายในพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ โดยมีทหารรักษาพระองค์ยืนคุ้มกันโดยรอบ

หีบพระศพที่ประทับอยู่ในวิหารเวสต์มินสเตอร์ จะถูกคลุมด้วยธงตราประจำพระราชวงศ์ และประดับด้วยมงกุฏ ลูกโลกทองประดับกางเขน และคฑา อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประจำพระองค์

Queen Elizabeth II Operation London Bridge
ธงตราประจำพระราชวงศ์ เหนือพระราชวังบักกิงแฮม
Queen Elizabeth II Operation London Bridge
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ประจำพระองค์ ประกอบไปด้วยมงกุฏ
ลูกโลกทองประดับกางเขน และคฑา

ในการนี้ เจ้าพนักงานจะได้เริ่มปฏิบัติการย่อยที่มีชื่อว่า ‘ปฏิบัติการขนนก’ (Operation Feather) ในการจัดการพิธีการเตรียมการให้ประชาชนเข้าสักการะพระศพ รวมทั้งการจัดการขนส่งนอกเวสต์มินสเตอร์ฮอลล์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และจะมีการติดตั้งจอภาพขนาดใหญ่กลางสวนสาธารณะเซนต์ เจมส์ ให้ประชาชนได้รับชมพิธีด้วย

D+6
รัฐจะจัดให้มีการซ้อมพิธีพระศพ

D+7
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนเวลส์ เพื่อเข้าร่วมพิธีมิสซาที่วิหารลันดาฟฟ์ (Llandaff Cathedral) ในกรุงคาร์ดิฟฟ์ (Cardiff) และรับสาสน์แสดงความเสียใจจากสภาแห่งเวลส์

Queen Elizabeth II Operation London Bridge

ในระหว่างนี้ แม้จะยังไม่มีประกาศเรื่องรายละเอียดการให้เข้าสักการะพระศพออกมาอย่างเป็นทางการ แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐก็จะต้องดำเนินการดูแลการจัดเตรียมพิธีการ การจัดการภายในพระราชพิธี รวมไปถึงด้านการบริการ และการเฝ้าแวดระวังตามแผนปฏิบัติการที่มีชื่อว่า ‘ปฏิบัติการกระโจม’ (Operation Marquee)

หน่วยงานรัฐที่ต้องทำงานหนักในช่วงนี้จะมีอยู่ 3 กระทรวง คือ กระทรวงต่างประเทศ ที่ต้องรับหน้าที่เชิญผู้นำจากนานาประเทศ และบุคคลชั้นนำมาเข้าร่วมพิธี และยังต้องจัดการกับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศในช่วงที่ยังมีโรคระบาดด้วย

Queen Elizabeth II Operation London Bridge

กระทรวงมหาดไทยจะต้องรับผิดชอบในการจัดการด้านความปลอดภัย สำนักเลขาธิการความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานข่าวกรองแห่งชาติ จะต้องมีความตื่นตัวในระดับสูง เพื่อเฝ้าระวังภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และกระทรวงคมนาคม ที่ต้องมีหน้าที่ดูแลด้านการจราจร และจัดระเบียบผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าไปยังลอนดอน ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาด้านคมนาคม และความแออัดของประชาชนที่มาร่วมในพิธีได้

สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้คือ ผู้คนหลายแสนคนทั้งชาวอังกฤษและนักท่องเที่ยวจะแห่กันไปที่พระราชวัง จนทำให้กรุงลอนดอนเต็มไปด้วยผู้คนและรถราหนาแน่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปถึงเรื่องของที่พักอาศัย ถนนหนทาง การขนส่งสาธารณะ อาหาร การรักษาพยาบาล และการบริการขั้นพื้นฐานอาจถึงขั้นวิกฤติได้ รวมทั้งประเด็นด้านการขาดแคลนเจ้าหน้าที่เพื่อควบคุมฝูงชนที่ยังน่าเป็นกังวลอยู่

โดยปกติแล้ว รัฐจะถือว่าวันงานพระศพจะถือเป็นวันไว้ทุกข์แห่งชาติ ซึ่งจะเป็นวันหยุดธนาคาร แต่หากตรงกับวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันหยุดธนาคาร จะไม่มีวันหยุดชดเชยเพิ่มเติม


D+9

วันสุดท้ายของการสักการะพระบรมศพ ณ พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ เหล่าผู้นำจากประเทศต่าง ๆ จะเริ่มเดินทางมาถึง เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีพระศพ


D+10

Queen Elizabeth II Operation London Bridge
ภายในเวสต์มินสเตอร์ แอบบีย์ (Westminster Abbey)

จะมีพิธีพระศพ ซึ่งเป็นรัฐพิธีที่จะจัดขึ้น ณ เวสต์มินสเตอร์ แอบบีย์ (Westminster Abbey) อารามหลวงเก่าแก่ที่ถูกใช้ในงานพิธีของราชสำนัก รวมทั้งพิธีอภิเสกสมรสของสมเด็จพระราชินีนาถ กับเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระในปี 1947 และพระราชพิธีราชาภิเษกในปี 1953 และพระราชพิธีพระศพ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ (Prince Philip, Duke of Edinburgh) ในปี 2021

Queen Elizabeth II Operation London Bridge
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีศพ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ (Prince Philip, Duke of Edinburgh) ภายในวิหารเซนต์จอร์จ (St. George’s Chapel)

ภายในพิธีจะมีแขกสำคัญ และแขกจากนานาประเทศเข้าร่วมในพิธีนี้ด้วย ในเวลาเที่ยง ทั่วประเทศจะสงบนิ่งเพื่อถวายความอาลัยเป็นเวลา 2 นาที

Queen Elizabeth II Operation London Bridge
ภายในวิหารเซนต์จอร์จ (St. George’s Chapel)
Queen Elizabeth II Operation London Bridge

หลังจากนั้น จะจัดให้มีขบวนพระศพ ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงลอนดอน และพระราชวังวินด์เซอร์ ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของลอนดอน โดยหีบพระศพจะประทับบนราชรถปืนใหญ่ (Gun Carriage) ของราชนาวี เคลื่อนผ่านประตูเวลลิงตัน ผ่านสวนสาธารณะไฮด์ปาร์ก มุ่งหน้าไปยังพระราชวังวินด์เซอร์ (Windsor Castle) ซึ่งคาดว่า กษัตริย์และราชวงศ์อาวุโสจะร่วมเสด็จเดินขบวน ณ จัตุรัสพระราชวังวินด์เซอร์

Queen Elizabeth II Operation London Bridge
โถงประดิษฐานพระศพ (Royal Vault)

ก่อนที่หีบพระศพจะเคลื่อนเข้าไปประทับยังวิหารเซนต์จอร์จ (St. George’s Chapel) หีบพระบรมศพจะประทับอยู่ภายในโถงประดิษฐานพระศพ (Royal Vault) ชั้นใต้ดินภายในวิหารเซนต์จอร์จ และคาดว่าจะมีการฝังในสถานที่ใกล้กับพระบรมศพของพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาของพระองค์ต่อไป


ปฏิบัติการลูกโลกทองคำ (Operation Golden Orb)

Queen Elizabeth II Operation London Bridge
สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร

หลังพิธีฝังพระศพเสร็จสิ้น หรือสิ้นสุดปฏิบัติการสะพานลอนดอนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะต้องประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (Coronation) ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วจะมีการจัดพระราชพิธีใน 1 ปีหลังจากที่มีการขึ้นครองราชย์

ปฏิบัติการลูกโลกทองคำ (Operation Golden Orb) โดยหลักแล้วจะเป็นการดำเนินการจัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องตามประเพณี เป็นการประกอบพิธีที่ยึดตามหลักของศาสนจักรตามธรรมเนียมของศาสนาคริสต์นิกายแองกลิคัน (Anglican) ให้มีความเรียบร้อยสมพระเกียรติ ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ที่ถูกใช้จัดพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์มาอย่างยาวนานถึง 900 ปี

Queen Elizabeth II Operation London Bridge
มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด (St. Edward’s Crown)

ในพระราชพิธีดังกล่าว จะมีพิธีสำคัญคือ การสวมมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด (St. Edward’s Crown) โดยประธานในพิธี ได้แก่ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี จะเป็นผู้สวมมงกุฎทองคำดังกล่าวนี้แก่กษัตริย์พระองค์ใหม่ เถลิงถวัลยราชสมบัติแห่งราชวงศ์สืบต่อไป

ซึ่งจะรวมไปถึงการเฉลิมพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ อาทิ พระชายาคามิลา ดัชเชสแห่งคอนวอลล์ (Camilla, Duchess of Cornwall) พระชายาของพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินี (Queen Consort) เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ (Prince William Duke of Cambridge) ที่ในบัดนี้ทรงครองฐานันดรศักดิ์ในฐานะ ดยุกแห่งคอร์นวอลล์ (Duke of Cornwall) แทนที่พระราชบิดาจะได้รับการสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็นมกุฎราชกุมาร หรือ เจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales) ในภายหลัง ส่วนพระชายาแคเธอรีน (Catherine, Duchess of Cambridge) จะได้เลื่อนขึ้นเป็น ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ (Duchess of Cornwall) แทนที่พระชายาคามิลาด้วยเช่นกัน

โดยรายละเอียดขั้นตอนปฏิบัติและพิธีการต่าง ๆ ในขณะนี้ยังคงเป็นความลับ


ที่มา : BBC, Politico, WalesOnline, New York Post, The Guardian, NewsWeek, The Independent, Daily Mail, Wikiprdia, Insider, BBC ไทย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส