หลังจากผ่านพ้นยุคโควิดไปแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงถวิลหาการท่องเที่ยวกันแน่นอน บางคนเลือกไปดื่มด่ำบรรยากาศสไตล์ยุโรป ซึ่งหนึ่งในปลายทางที่หลายคนเลือกไปก็คือประเทศฝรั่งเศส แน่นอนว่าไปถึงฝรั่งเศสทั้งที ก็ต้องเซลฟี่กับ ‘หอไอเฟล’ กันเป็นธรรมดาเพื่อบอกให้โลกรู้ว่าเรามาถึงแล้ว! แต่เรื่องนี้ต้องระวังให้ดี เพราะหากแชะภาพหอไอเฟลตอนกลางคืน อาจเสี่ยงถูกจับได้เลย

อธิบายก่อนว่าประเทศส่วนใหญ่ในสหภาพยุโรปจะมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่คุ้มครองผลงานศิลปะอันทรงคุ้มค่า ทั้งภาพวาด เพลง วิดิโอ สถาปัตยกรรม ฯลฯ โดยการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์จะหมดอายุลงหลังจากเจ้าของผลงานเสียชีวิตไปแล้ว 70 ปี ซึ่งผู้สร้างหอไอเฟลเสียชีวิตไปช่วงปี 1923 นั่นหมายความว่าการคุ้มครองลิขสิทธิ์ได้หมดอายุลงไปแล้วตั้งแต่ปี 1993

หลังจากปี 1993 เป็นต้นไป ไม่ว่าใครก็สามารถถ่ายภาพหอไอเฟลไปเผยแพร่ได้หรือแม้กระทั่งลอกเลียนแบบขึ้นมาเลยก็ยังได้ อย่างที่เราได้เห็นกันในประเทศจีนที่ปั้นหอไอเฟลขึ้นมาเหมือนกันแทบทุกกระเบียดนิ้ว

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่า อ้าว! แล้วสรุปถ่ายภาพหอไอเฟลมันผิดไหมล่ะเนี่ย หากจะพูดให้ชัดเจนกว่านี้คือมันจะผิดจริง ๆ ก็ต่อเมื่อเราถ่ายภาพหอไอเฟลตอนกลางคืน แล้วมัน ‘เปิดไฟ’ อยู่ เพราะลิขสิทธิ์หอไอเฟลหมดอายุไปแล้วเมื่อปี 1993 แต่กฎหมายด้านลิขสิทธิ์ที่ยังดำเนินอยู่คือ ‘ดวงไฟ’ ที่เปิดบนหอไอเฟลต่างหาก

ไฟประดับกว่า 20,000 ดวงบนหอไอเฟลเป็นอีกหนึ่งงานศิลปะที่ได้รับการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ ซึ่งเพิ่งเริ่มติดเมื่อช่วงปี 1985 นี้เอง ดังนั้น ถ้าถ่ายภาพหอไอเฟลตอนกลางคืนแล้วติด ‘ดวงไฟ’ ด้วย ก็ถือว่าเสี่ยงละเมิดลิขสิทธิ์ได้

แต่อย่ากังวลมากเกินไป เพราะฝรั่งเศสได้ประกาศใช้กฎหมายตัวใหม่ที่พูดถึง Freedom of panorama ซึ่งอนุญาตให้คนทั่วไปสามารถเผยแพร่ภาพผลงานศิลปะแบบสาธารณะได้ แต่มีขีดเส้นใต้ตัวโต ๆ ว่า ห้ามนำภาพไปใช้หารายได้โดยเด็ดขาด ใช้ได้แค่ส่วนบุคคล เช่น อัปลงโซเชียล เป็นต้น 

ดังนั้น หากใครอยากถ่ายภาพหอไอเฟลไปอวดเพื่อนบนโซเชียลก็สามารถทำได้เลย ได้ทั้งหอไอเฟลกลางวันและกลางคืน แต่ถ้าอยากเอาไปลงเว็บไซต์ นิตยสารหรือสื่ออื่น ๆ ที่มีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้อง ก็จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนถึงจะสามารถเผยแพร่ได้

ที่มา : Politico

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส