สื่อต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลฝรั่งเศสได้อนุมัติงบประมาณ 216 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 7,500 ล้านบาท เพื่อทำลายไวน์กว่า 300 ล้านลิตร รวมถึงเยียวยาเกษตรกรไร่องุ่นและผู้ผลิตไวน์ เนื่องจากปัญหาสินค้าล้นตลาดและอัตราเงินเฟ้อสูง ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนในการผลิตและจัดเก็บไวน์สูงขึ้นมาก

ปัญหาไวน์ล้นตลาดในฝรั่งเศสมีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยอดขายไวน์แดงในฝรั่งเศสลดลง 32% เนื่องจากคนหนุ่มสาวหันมาบริโภคเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์มากขึ้น หรือหากยังดื่มอยู่ พวกเขาก็จะเลือกคราฟต์เบียร์มากกว่า

รายงานข่าวระบุว่า เกษตรกรไร่องุ่นและผู้ผลิตไวน์ของฝรั่งเศสต้องเผชิญกับต้นทุนในการผลิตไวน์ที่สูงมากในช่วง 2 ปีผ่านมา ทั้งอัตราเงินเฟ้อสูง และราคาปุ๋ยที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งลุกลามไปกระทบการขนส่ง ทำให้การจัดส่งปุ๋ยและขวดบรรจุไวน์ล่าช้า นอกจากนี้ ปัญหาโลกร้อนก็ได้สร้างความยากลำบากให้กับเกษตรกรไร่องุ่นด้วยสภาพอากาศที่รุนแรงและคาดเดาไม่ได้

นายมาร์ก เฟสนูร์ (Marc Fesneau) รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฝรั่งเศส เปิดเผยว่า รัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้แล้ว เนื่องจากปัญหาไวน์ล้นตลาดในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลเคยแก้ไขด้วยการนำไวน์ไปแปรรูป แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหา ดังนั้น การจ่ายค่าจ้างให้เกษตรกรไร่องุ่นและผู้ผลิตไวน์ลดกำลังการผลิตลง น่าจะสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่า

โดยรัฐบาลฝรั่งเศสจะสนับสนุนให้เกษตรกรไร่องุ่นหันไปปลูกพืชชนิดอื่น ๆ แทน ในขณะที่ผู้ผลิตไวน์นั้น รัฐบาลแนะนำว่า ควรกลั่นแอลกอฮอล์จากไวน์ส่วนเกินให้เป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ เพื่อนำไปขายให้กับผู้ผลิตเครื่องสำอาง น้ำหอม และอุปกรณ์ทำความสะอาด ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตไวน์มีแหล่งรายได้ใหม่ นอกเหนือจากการผลิตไวน์เพียงอย่างเดียว

ความท้าทายที่อุตสาหกรรมไวน์ฝรั่งเศสกำลังเผชิญนี้ ไม่แตกต่างจากสหรัฐอเมริกามากนัก เนื่องจากสาเหตุเดียวกันคือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยข้อมูลของ Silicon Valley Bank เมื่อช่วงต้นปี 2023 พบว่า มีเพียงชาวอเมริกันที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่ดื่มไวน์มากขึ้น ในขณะที่ 35% ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 21 – 29 ปี แม้จะดื่มแอลกอฮอล์ แต่พวกเขาก็ตอบว่าไม่ดื่มไวน์

ที่มา : New York Post

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส