วีโอเอ (VOA) สำนักข่าวของสหรัฐอเมริการายงานว่า นับตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสระลอกล่าสุดปะทุขึ้น ทางการจีนพยายามโจมตีการวางตัวของสหรัฐอเมริกาผ่านช่องทางสื่อของตนเองโดยระบุว่า ความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ ที่มีให้แก่อิสราเอลเพียงฝ่ายเดียว จะยิ่งเติมเชื้อไฟให้กับความตึงเครียดในภูมิภาคดังกล่าว

รายงานข่าวระบุว่า โกลบอลไทม์ส (Global Times) สื่อของทางการจีนรายงานโดยอ้างอิงข้อความจากผู้เชี่ยวชาญชาวจีนที่ระบุว่า หากสหรัฐฯ ต้องการบรรเทาความขัดแย้งในตะวันออกกลางจริง พวกเขาควรนำทั้งสองฝ่ายมาเจรจากันมากกว่า

เดนนิส วิลเดอร์ (Dennis Wilder) อดีตผู้อำนวยการสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า ทางการจีนกำลังใช้ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส เพื่อสร้างโฆษณาชวนเชื่อในประเทศ โดยกล่าวหาว่า สหรัฐอเมริกาสนับสนุนอิสราเอล ซึ่งถือเป็นการปฏิเสธสิทธิของชาวปาเลสไตน์ในรัฐของตนเอง

ทางด้าน เดวิด แซตเตอร์ฟิลด์ (David Satterfield) ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อนโยบายสาธารณะเบเคอร์ มหาวิทยาลัยไรซ์ และอดีตผู้ช่วยเลขานุการด้านกิจการตะวันออกใกล้ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) กล่าวว่า จีนนั้นคอยแสวงหาโอกาสที่จะนำเสนอชุดความคิดด้านการต่างประเทศของตนต่อนานาชาติเสมอ รวมถึงการแสวงหาหุ้นส่วน และพันธมิตรกับประเทศที่ไม่ใช่ประเทศพัฒนาแล้ว หรือที่เรียกว่า “ประเทศโลกใต้” (Global South) อยู่ตลอด 

แซตเตอร์ฟิลด์ยังเสริมอีกว่า นโยบายไม่แทรกแซงกิจการของชาติอื่น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนไม่สามารถเป็นผู้เล่นคนสำคัญในเวทีโลกได้ เพราะจีนเกรงว่าการมีท่าทีอะไร ก็อาจจะไปขัดแย้งกับหลักข้างต้น และแนวทางนี้จะส่งผลกระทบกับจีนในอนาคต

สำหรับการวางตัวของจีนในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสครั้งนี้ ยังไม่มีการระบุบทบาทที่แน่ชัด โดย หวัง เหวินปิน (Wang Wenbin) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้ออกมาเรียกร้องให้อิสราเอลและกลุ่มฮามาสหยุดใช้ความรุนแรงบริเวณฉนวนกาซา พร้อมประณามการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน และขอให้หลีกเลี่ยงการยกระดับยุทธวิธีทางทหาร

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ของสหรัฐอเมริกามองว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ยังคงไม่มีความเห็นที่มีนัยสำคัญต่อประเด็นความขัดแย้งในครั้งนี้ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนก็ไม่ได้ออกชื่อกลุ่มฮามาสในการประณาม โดยระบุเพียงว่า รัฐบาลจีนพร้อมที่จะพูดคุย และประสานงานกับสันนิบาตอาหรับ รวมถึงองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่ตะวันออกกลาง

ทั้งนี้ วีโอเอภาคภาษาเกาหลีได้ติดต่อสอบถามกระทรวงการต่างประเทศของจีนว่า เหตุใดที่จีนวิจารณ์การสนับสนุนอิสราเอลของสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ประณามกลุ่มฮามาสที่กระทำการโจมตี ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระลอกใหม่ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

สตีฟ ซาง (Steve Tsang) ผู้อำนวยการสถาบันด้านจีน วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา (SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวว่า การปฏิเสธที่จะประณามกลุ่มฮามาส เท่ากับจีนส่งสัญญาณว่าอยู่ข้างเดียวกับประเทศโลกใต้ (Global South) แต่ผลดีที่เกิดขึ้นจากการเสริมแรงสนับสนุนประเทศโลกใต้ ยังคงเป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถาม

ในขณะที่ ทูเวีย เกอริง (Tuvia Gering) นักวิจัยจากศูนย์นโยบายอิสราเอล – จีน สถาบันความมั่นคงศึกษาแห่งชาติ ประเทศอิสราเอล กล่าวว่า จีนจะทำทุกอย่างเพื่อเลี่ยงที่จะถูกดึงเข้าไปในความขัดแย้งนี้ และรักษาสถานภาพความเป็นกลางที่หลอกลวงเอาไว้

การสู้รบในยูเครนไปจนถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทำให้ประเทศพันธมิตรในเอเชียกังวลว่า สหรัฐฯ จะหันเหความสนใจออกไปจากภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก น่าจะเป็นช่องว่างให้จีนเข้ามา โดยมุมมองดังกล่าวสวนทางกับ แกรนต์ รัมลีย์ (Grant Rumley) ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงจากสถาบันวอชิงตันที่มองว่า สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องแสดงให้จีนเห็นว่า พวกเขาสามารถสนับสนุนอิสราเอล ยูเครน และไต้หวันได้ในเวลาเดียวกัน หากอยากคงสถานะบนเวทีโลก ในขณะที่นักวิเคราะห์บางรายระบุว่า ความข้ดแย้งในตะวันออกกลางครั้งนี้ อาจสร้างความได้เปรียบให้กับสหรัฐอเมริกาในการแข่งขันอิทธิพลกับจีนได้เช่นกัน

ที่มา : Voice of America

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส