นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยสถิติเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 พบว่ามีจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง 15.96 ล้านล้านบาท โดยลดลงจากสิ้นปี 2565 จำนวน 212,688 ล้านบาท หรือหดตัว 1.32% ซึ่งนับเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 10 ปี

การลดลงดังกล่าวมีสาเหตุมาจากสภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ประกอบประชาชนบางส่วนนำเงินฝากไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เช่น ทองคำ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ รวมถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมคือ บัญชีออมทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งผู้ฝากประเภทนี้จะไม่ได้รับการคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และต้องรองรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แม้จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าก็ตาม

นายทรงพลระบุว่า ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 มีผู้ที่มีเงินฝากในบัญชีน้อยกว่า 50,000 บาท มากถึง 81 ล้านราย หรือคิดเป็นมากกว่า 80% ของจำนวนผู้มีเงินฝากทั้งหมด และกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2565 โดยพบว่าเฉลี่ยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 5,000 บาทต่อราย โดยเม็ดเงินของกลุ่มที่มีเงินในบัญชีไม่เกิน 5,000 บาท ในปี 2565 อยู่ที่ 360,000 ล้านบาท และในปี 2566 ลดลงมาเหลือ 348,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ เมื่อดูสถิติเงินฝากตั้งแต่ปี 2562 ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2566 พบว่าผู้ที่มีเงินฝากในบัญชีมากกว่า 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,000,000 บาท มีการปรับลดลงทั้งจำนวนเงินฝากและจำนวนผู้ฝาก เช่น บัญชีที่มีเงินฝากตั้งแต่ 200,000 – 500,000 บาท มีจำนวนรายที่ลดลง 33%

และแม้แต่ผู้ฝากรายใหญ่ก็มีจำนวนเงินฝากลดลงในปีนี้เช่นกัน โดยจำนวนเงินฝากเริ่มหดตัวมาตั้งแต่ปี 2565 คิดเป็น – 0.63% และสิ้นเดือนสิงหาคม 2566 คิดเป็น – 3.61% โดยนายทรงพลเชื่อว่าเป็นจุดต่ำสุดแล้ว และตัวเลขติดลบดังกล่าวจะกลับมาดีขึ้นตามสถานการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะดีขึ้นใน 1 – 2 ปีข้างหน้า

สำหรับปัจจัยที่จะมีผลต่อเงินฝากในบัญชีนั้น นายทรงพลอธิบายว่า สืบเนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบกับผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่มากนัก จึงต้องนำเงินออมมาใช้จ่าย จนอาจทำให้สุขภาวะที่ดีทางการเงินอ่อนแอลงได้

หรือแม้แต่ในกลุ่มผู้ฝากรายใหญ่ที่เริ่มมีตัวเลขเงินฝากลดลงในปีนี้ ซึ่งเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แรงกดดันจากภาวะสงคราม ราคาพลังงานปรับตัวสูง และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่าง ๆ ของโลก ต่างกำหนดนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูง ส่งผลโดยตรงต่อการบริโภคและการลงทุน