หนังสือ How to พัฒนาตัวเอง ที่คัดสรรทักษะจำเป็นแห่งอนาคต ปลดล็อกศักยภาพสูงสุดแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อให้คุณคว้าโอกาสของตนเองในยุคสมัยแห่งความผันผวน ซึ่งผู้เขียนคือ คุณรวิศ หาญอุตสาหะ ผู้บริหารและเจ้าของพอดแคสต์ที่มีผู้ติดตามอย่างล้นหลามอย่าง ‘Mission to the Moon’

ในยุคที่โลกพลิกผันไวเป็นหน่วยวินาที ผู้ที่จะเอาชนะกระแสธารแห่งความผันผวนนี้ ไม่ใช่คนที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าที่สุด แต่เป็นคนที่มีทักษะแห่งอนาคต

ดังนั้น รีวิวนี้จึงขอนำเสนอตัวอย่างทักษะสำคัญแห่งศตวรรษอนาคตที่น่าสนใจ ดังนี้

ทักษะการเล่าเรื่อง (Story telling) 

“ในยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูล การนำเสนอข้อเท็จจริงและตัวเลขมักเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา การเล่าเรื่องช่วยให้เสียงของผู้พูดดังขึ้น และส่งสารไปถึงผู้ฟัง”

โดยคุณรวิศ เรียบเรียงเรื่องราวเพื่อดึงความสนใจของผู้อ่านไว้ได้อย่างอยู่หมัด ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่าทักษะการเล่าเรื่องนั้นได้ผลเพียงไหน นอกจากนี้ยังเสริมเคล็ดลับการเล่าเรื่องของแคโรลีน โอฮารา (Catherine O’Hara) นักเขียนจากนิตยสาร Harvard Business Review ดังนี้

  1. เริ่มต้นด้วยใจความเดียว
  2. เล่าผ่านประสบการณ์ส่วนตัว
  3. จงเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ยอดมนุษย์
  4. ตอกย้ำถึงอุปสรรคที่เจอ
  5. อย่าทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก
  6. ฝึกฝนก่อนเสมอ
  7. เล่าด้วยภาพ

ความฉลาดในการปรับตัว (Adaptive Quotient)

แม้ว่า 50%ของความฉลาดทางสติปัญญาอย่าง IQ นั้นสร้างไม่ได้ เพราะมาจากพันธุกรรม แต่โชคดีที่ความฉลาดด้านการปรับตัวอย่าง AQ นั้นเป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้

โดยการปรับตัวมีทั้งหมด 5 ด้านด้วยกัน คือ

  1. การปรับตัวด้านการเรียนรู้
  2. การปรับตัวด้านการตอบสนองต่ออารมณ์
  3. การปรับตัวด้านสังคม
  4. การปรับตัวด้านความคิดสร้างสรรค์
  5. การปรับตัวด้านการใช้ชีวิต

ซึ่งก้าวแรกของการพัฒนาทักษะนี้ คือ “การตระหนักรู้ในตนเองก่อน (Self awareness)” เพื่อให้เรารู้ว่าด้านไหนที่เราทำได้ดี และด้านไหนที่เราต้องพัฒนา

การคิดเชิงโครงสร้าง (Structured Thinking)

“โลกใบนี้เต็มไปด้วยความรู้มากมาย หากเราจำทุกอย่างได้ก็จะเป็นประโยชน์ไม่น้อย แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถจดจำทุกอย่างได้ เราจึงควรฝึกฝนวิธีคิดอย่างเป็นโครงสร้างไว้ ไม่ว่าปัญหาใดๆ ก็จะมีทางออกเสมอ”

วิธีหนึ่ง ที่จะช่วยจัดโครงสร้างความคิดและการตอบคำถามได้ดี คือ ‘กฎพีระมิด’ คิดค้นโดย บาร์บารา มินโต การทำงานของกฎพีระมิดคือการคิดในรูปแบบแนวตั้ง(Vertical Logic) ซึ่งมีทั้งรูปแบบบนลงล่าง(Top-down) และล่างขึ้นบน(Bottom-up) 

การคิดแบบบนลงล่างนั้น ใช้สำหรับการตอบคำถามหรือโน้มน้าวใจผู้ฟัง โดยที่เรามีคำตอบและเหตุผลครบถ้วนอยู่แล้ว และค่อยให้เราบอกคำตอบของคำถามนั้น แล้วตามด้วยเหตุผลสนับสนุน ขณะที่การคิดแบบล่างขึ้นบน นั้นใช้สำหรับการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นและวิเคราะห์ เพื่อสรุปข้อมูลก่อนตกผลึกออกมาเป็นใจความสำคัญ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ ยังมีทักษะที่น่าสนใจอีกมากมายพร้อมให้คุณได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ เพื่อให้คุณก้าวทันยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ชื่อหนังสือ: Ultimate skills ทักษะจำเป็นแห่งอนาคต
ผู้เขียน: รวิศ หาญอุตสาหะ
สำนักพิมพ์: Amarin HOW-TO
ราคา: 275 บาท