ก่อนหน้านี้สถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) ยังคงตึงเครียด หลังทรัมป์ขู่ว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากยุโรปเป็น 50% ภายในวันที่ 1 มิถุนายน หากยังตกลงกันไม่ได้
ด้าน นายมารอช เซฟโควิช (Maroš Šefčovič) กรรมาธิการการค้าของยุโรป ยืนยันความตั้งใจของสหภาพยุโรปที่จะบรรลุข้อตกลง พร้อมย้ำว่า “ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐฯ มีความสำคัญและต้องดำเนินไปบนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การข่มขู่”
ล่าสุดมีสัญญาณผ่อนคลายเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ผ่อนผันขยายเวลาการเจรจาจัดการภาษีนำเข้ากับสหภาพยุโรปออกไปจนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม เกิดขึ้นหลังการพูดคุยทางโทรศัพท์กับนางเออร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเยน (Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งทรัมป์กล่าวว่าเป็นการพูดคุยที่ดี พร้อมโพสต์ลง Truth Social ว่ารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ขยายเวลาให้
ซึ่งจุดขัดแย้งหลักของสองฝ่ายยังคงอยู่ที่สินค้าเกษตรและรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการส่งออกที่สหรัฐฯ มองว่าประเทศตัวเองเสียเปรียบ โดยในปีที่ผ่านมา ยุโรปส่งออกสินค้ามายังสหรัฐฯ มากกว่า 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 19.8 ล้านล้านบาท) ขณะที่นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพียง 370,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 12.2 ล้านล้านบาท)
การยืดเวลาเจรจาออกไปอีกหนึ่งเดือนครั้งนี้ จะช่วยลดแรงกดดันในระยะสั้น แต่ก็ยังไม่อาจรับประกันได้ว่าความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองเศรษฐกิจหลักของโลกจะไม่ลุกลามกลายเป็นสงครามภาษีรอบใหม่ หากไม่สามารถหาทางออกร่วมกันได้ภายในกรอบเวลาที่กำหนด