การกลับมาอีกครั้งของ แมตธิว ไฮเนแมน ผู้กำกับสารคดีที่สร้างเราคุ้นชื่อจาก Cartel Land (2015) หนังสารคดีสงครามยาเสพติดตรงพรมแดนที่เดือดที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอย่างอเมริกา-เม็กซิโก ด้วยลีลาการเล่าที่แสนตื่นเต้นและเหลือเชื่อ ในการเข้าไปถ่ายใกล้ชิดเหตุการณ์จริงสุด ๆ ทั้งการยิงต่อสู้กับพ่อค้ายาด้วยอาวุธสงครามที่เหมือนกระสุนปลิวผ่านกล้องไปไม่กี่เซ็น และการเข้าถึงสถานที่ปรุงยาเสพติดแบบโคตรเอ็กคลูซีฟยิ่งกว่าดูซีรีส์ Breaking Bad เสียอีก และผลงานชิ้นนั้นก็ส่งให้ไฮเนแมนได้เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมด้วย แม้จะพลาดให้กับตัวเต็งจ๋าอย่าง Amy (2015) สารคดีเรื่องราวของ เอมี ไวน์เฮ้าส์ นักร้องดังที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรอย่างน่าเสียดาย

อเมซอนสตูดิโอส์ กลายเป็นค่ายที่มีหนังเข้าชิงออสการ์มากขึ้นทุกปี ๆ

มารอบนี้ไฮเนแมนผู้ดูเหมือนจะคลั่งไคล้ความเสี่ยงตาย จะกลับมาท้าทายตัวเองด้วยการเข้าสู่สมรภูมิใหม่ที่ใหญ่ขึ้นกว่าเก่ามาก นั่นคือสงครามกับกลุ่มก่อการร้ายระดับโลกอย่าง ไอซิส (ISIS) โดยจับเรื่องราวไปที่กลุ่มชาวซีเรียกลุ่มหนึ่งที่อาจหาญลุกขึ้นต่อต้านเหล่ามุสลิมหัวรุนแรงที่เข้ามายึดเมือง รักกา ของพวกเขา ไม่ใช่การตอบโต้ด้วยอาวุธสงคราม หากแต่เป็นเทคโนโลยีมือถือและอินเทอร์เน็ตที่จะส่งความจริงให้โลกภายนอกได้รับรู้ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างสุดแสนทารุณใจกลางซีเรีย พวกเขาเรียกตัวเองว่า RBSS (Raqqa is Being Slaughtered Silently) หรือ รักกากำลังถูกฆ่าอย่างเงียบงัน  เพื่อกระตุ้นให้โลกสนใจปัญหาที่ไม่มีคนรับรู้

ผู้กำกับไฮเนแมน (คนที่ 2 จากซ้าย) และกลุ่ม RBSS

เรื่องจะเล่าผ่านบุคคลผู้เป็นหัวหอกสำคัญของกลุ่มนี้ อย่าง อาบูบาคร์บาก์ดาดี โฆษกของกลุ่ม ฮามูด ตากล้องและ ฮัสซัน พี่ชายของเขา รวมถึง ฮุสแซม กับ มูฮัมหมัด  ที่ต่างมารวมตัวกันภายใต้คำสอนของ นาจิ เจิร์ฟ อาจารย์ผู้สอนหลักการของนักสื่อสารมวลชน เพื่อการเป็นนักข่าวพลเมือง และชี้ให้พวกเขาเห็นว่าปากกานั้นทรงพลานุภาพกว่าอาวุธประหัตประหารชีวิตมากนัก จากจุดเริ่มต้นการเข้ามาครอบงำบ้านเกิดของพวกเขาของกลุ่มไอซิส เมื่อปี 2014 ภายหลังจากการลุกฮือล้มล้างการปกครองของรัฐบาลเผด็จการ บาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย ตามกระแสอาหรับสปริงในปี 2012 นั่นทำให้ผู้นำศาสนาอิสลามหัวรุนแรงใช้ช่องว่างที่ไร้คนปกครองก้าวเข้ามามีบทบาทในการสร้างรัฐอิสลาม โดยการใช้วิธีรุนแรง ดั่งตอนหนึ่ีงในหนังที่กลุ่มไอซิสประกาศกร้าวกับชาวเมืองรักกาว่า “จงยอมรับเรา ก่อนที่เราจะทำให้คุณต้องยอมรับ”

หลังจากนั้นภาพแห่งการฆ่าผู้ต่อต้านมากมายก็ถูกบอกเล่าออกมาผ่านหนัง ทั้งฉากยิงหัว ฆ่าตัดคอ จับโยนจากตึก และการทรมานฆ่าอีกหลายอย่าง พร้อมกับการบอกเล่าของชาวซีเรียที่ถูกย่ำยีชีวิตอันปกติสุข เราจะเข้าใจอย่างยิ่งยวดถึงเหตุผลที่เขาลุกขึ้นสู้อย่างสุดหัวจิตหัวใจ ตรงนี้แม้หนังจะไม่ได้ใช้ภาพขยี้โศกนาฏกรรมนี้แบบหนักหน่วงแต่ตัวภาพก็มีพลังเสียดแทงสายตาและหัวใจเรามากพออยู่แล้ว ก็ต้องเตือนว่าต้องเตรียมใจในการรับชมนิดหนึ่งครับ

สิ่งที่แตกต่างอย่างมากจากหนังเรื่องก่อนของไฮเนแมน นั่นก็คือ การที่เขาไม่สามารถลงพื้นที่สงครามจริงอย่างเมืองรักกาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างในเม็กซิโก เขาลงคลุกคลีได้มากสุดคือฐานปฏิบัติการนอกซีเรียของกลุ่ม RBSS อย่างในตุรกี หรือเยอรมัน ส่วนภาพในซีเรียนั้นก็นำฟุตเทจจากกลุ่มนี้ที่ส่งออกมา รวมถึงภาพข่าว ประกอบขึ้นเสียมาก นั่นทำให้จุดเด่นของไฮเนแมนที่เสี่ยงตายแบบถึงลูกถึงคนชนกระสุนนั้นหายไปมาก แม้ในความจริงความเสี่ยงที่เขาตัวติดกับกลุ่ม RBSS อันเป็นเป้าหมายสังหารของกลุ่มไอซิส นี้จะจัดเป็นความเสี่ยงถึงชีวิตอีกรูปแบบก็ตาม แต่มันก็สื่อออกมาได้ยากกว่าแบบ Cartel Land มาก ๆ อารมณ์รวม ๆ ของหนังจึงออกมาเป็นแบบหนังสารคดีออสการ์อย่าง Citizenfour (2014) ที่เกาะติด เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ในห้องพักเสียมากกว่า ใครไม่ชอบแนวพูด ๆ เล่า ๆ ยาว ๆ อาจไม่เหมาะนักครับ

แม้จะเป็นหนังสารคดีที่พูดเยอะมาก น่าจะมากที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เคยดูมาเลย แต่กระนั้นก็ไม่ได้บั่นทอนคุณค่าความงามของความกล้าหาญ โศกนาฏกรรม และโลกทัศน์ที่เปิดออกแก่ปัญหาตะวันออกกลาง หรือแม้แต่การสะท้อนถึงปรัชญาแห่งนักวารสารศาสตร์ ผู้สื่อข่าวพลเมืองอันเป็นแรงผลักดันให้เรามองตรงต่อปัญหาของชุมชน ของสังคมเรา และคิดแก้ไขปัญหาอย่างไม่ท้อถอยหรือศิโรราบต่อพลังอำนาจอันไม่ชอบธรรมที่กดทับ มันจึงเป็นมากกว่าเรื่องราวของคนที่ใช้มือถือต่อต้านลูกปืน มากกว่ากลุ่มคนที่ใช้ความจริงลบล้างโฆษณาชวนเชื่อ และมากกว่าชาวบ้านกับกลุ่มก่อการร้าย มันคือการเชิดชูจิตวิญญาณแห่งนักสื่อสารและประชาชนที่เหนือกว่าความไม่ถูกทำนองคลองธรรมทั้งมวลในโลกใบนี้

หนังเข้าฉายที่โรงหนัง House RCA, ช่างชุ่ย และ Doc Club Theater (แวร์เฮาส์ 30) ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายนนี้ ลองเช็กรอบก่อนไปนะครับ