หนังฟีลกู้ดแนวก้าวพ้นวัยที่มารอบนี้ เน้นหนักไปที่ ผู้ชายวัยกลางคนที่มารู้ตัวว่าอาจเดินเส้นชีวิตพลาดตอนวัยรุ่น ก็เพราะเพื่อนร่วมรุ่นคนอื่น ๆ ต่างได้ดิบได้ดีกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนนักการเมืองชื่อดัง ตกถังข้าวสารกลายเป็นมหาเศรษฐี เป็นนักธุรกิจพันล้านที่ไม่ต้องทำงานอีกตลอดชีวิต ส่วนตัว แบรด สโลน พระเอกของเรากลับเป็นเพียงเจ้าขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่มีครอบครัวแบบชนชั้นกลางธรรมดา ๆ มีแค่บัตรซิลเวอร์ของสายการบินที่ไม่มีสิทธิพิเศษอะไรให้เลย  มีภรรยาเป็นข้าราชการกับลูกชายที่กำลังเข้ามหาวิทยาลัย และปัญหากวนใจที่ว่าไม่ได้รับเชิญไปงานแต่งของกลุ่มเพื่อนสนิท เพราะถูกลืมหรือเพราะเขาธรรมดาเกินไป?

ทั้งหมดทั้งมวลนำมาสู่บทสรุปของแบรดว่า ชีวิตเขาล้มเหลวและห่วยแตก ตอนอายุ 47 ปีนี่เอง แต่ทั้งหมดกำลังถูกท้าทายความเชื่อ เมื่อเขาต้องพา ทรอย ลูกชายเดินทางไปดูที่เรียนและสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัย โดยไม่รู้มาก่อนว่าหนึ่งในนั้นคือที่ ๆ เขาได้แต่ฝันว่าจะเข้าเรียนอย่าง ฮาวาร์ด

นี่เป็นหนึ่งในหนังของโครงการ หนังผมไม่เล็กนะครับ ที่ก่อนหน้านี้เราเคยพาไปรู้จักกับ Wind River ล่าเดือด เลือดเย็น และ The Only Living Boy in New York ถ้าเหงา แล้วเรารักกันได้ไหม มาแล้ว โดยทุกเรื่องในโครงการนี้จะซื้อได้ในราคาที่นั่งละ 120 บาทเท่านั้นด้วย เรียกว่าเอาใจคอหนังไม่ตลาดจ๋าแต่น้ำดีมีของ เอามาก ๆ

สำหรับเรื่อง Brad’s Status มีชื่อไทยเก๋ ๆ ว่า สเตตัสห่วยของคนชื่อแบรด เป็นผลงานของ ไมก์ ไวท์ ผู้กำกับที่ดังมาจากการเขียนบทให้ผู้กำกับขวัญใจชาวดราม่าอินดี้ฟีลกู้ดอย่าง ริชาร์ด ลิงก์เลเตอร์ ทำ The School of Rock (2003) มาแล้ว เรื่องนี้ไมก์ ไวท์ยังคงถ่ายทอดเรื่องราวของชายวัยกลางได้อย่างอยู่มือ ด้วยอายุอานามที่ใกล้เคียงกับตัวละครด้วยแล้ว เรียกว่าเราเข้าใจหัวอก แบรด ได้ เพราะหนังเล่ารายละเอียดชีวิตและการบรรยายความคิดจิตใจราวกับแบรดมีตัวตนอยู่จริง ๆ ทีเดียว

ผู้กำกับ ไมก์ ไวท์ (ขวา) กำลังอธิบายบทให้เบน สติลเลอร์ และออสติน อับรามห์

ซึ่งก็พอเหมาะพอเจาะกับตัว เบน สติลเลอร์ ที่วัยใกล้ตัวละครจริง ทำให้หนังมีมุมที่ดูทั้งตลกร้ายและขำขื่น รวมถึงดูมีประกายหวังด้วย อันนี้ต้องยกให้พี่เบนแกจริง ๆ ถนัดมากกับหนังแนวนี้ตั้งแต่ The Secret Life of Walter Mitty (2013) แล้ว แม้เรื่องนี้จะไม่มีความมหัศจรรย์พรรค์ลึกแบบ วอลเตอร์ มิตตี้ แต่ก็เป็นความธรรมดาที่ไม่ธรรมดาอยู่ดี

หนังสนุกกับการใส่เหตุการณ์ที่ทำให้เราเห็นคล้อยกับ แบรด อยู่เหมือนกันว่า เงินและชื่อเสียง คือสิ่งสำคัญ ตั้งแต่ช่องพิเศษไม่ต้องต่อแถวสำหรับบัตรแพลตตินัม ชื่อไม่ดังจองโต๊ะก็ได้ที่ข้างห้องน้ำ ความภูมิใจในตัวเองที่ลดลงเรื่อย ๆ ว่างานการกุศลเพื่อโลกมันดีจริงหรือเปล่า ขนาดรุ่นน้องยังมาขอลาออกไปเป็นพนักงานธนาคารด้วยเหตุผลว่า “มันน่าจะช่วยโลกได้มากกว่าถ้าผมหาเงินได้เยอะ ๆ แล้วเอามาบริจาค ดีกว่าไปเทียวขอจากชาวบ้านแสนยากเย็น” ประกอบกับความเป็นคนคิดเยอะมโนมากของ แบรด ยิ่งทำให้ความรู้สึกดิ่งเหวหาทางรู้สึกดีกับชีวิตไม่เจอเลยทีเดียว ตรงนี้หนังทำให้เราอินและร่วมเดินทางทางการเติบโตของจิตใจ กับผู้ชายวัยดึกได้อย่างดีเยี่ยมเลย

ไมเคิล ชีน กับบทเพื่อนคนดังที่น่าหมั่นไส้สุด ๆ

แต่ในการสรุปความการเรียนรู้ของ แบรด นั้น หนังกลับเลือกใช้ท่าทีที่แปลกไปจากความคิดแบรดอธิบายทุกอย่าง มาเป็นต้องตีความการกระทำที่ไม่ชัดเจนของแบรดเองว่าเขาเรียนรู้อะไรแน่ ซึ่งมันก็เจ๋งและลุ่มลึกนะ แต่เชื่อว่ายากไปสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในวัยแบบแบรดจะอินด้วย

อนันยา นักศึกษาฮาเวิร์ดที่เป็นอีกจุดเปลี่ยนความเข้าใจต่อตนเองของแบรด เมื่อเธอบอกว่า “ชีวิตคุณดีอยู่แล้ว”

แต่กระนั้นหนังก็ยังสนุก และทิ้งตะกอนความคิดต่อตนเองได้อย่างสวยงามเลย โดยเฉพาะที่เมื่อลูกชายบอกเขาว่า “ระหว่างการเดินชมมหาวิทยาลัย ผมกลัวสายตาคนอื่นจะมองผมยังไง แต่เอาจริง ๆ ทุกคนก็มัวแต่สนใจตัวเองกันทั้งนั้น มีผมคนเดียวที่สนใจว่าพ่อจะเป็นยังไง ดังนั้นพ่อไม่ต้องไปสนใจเปรียบเทียบกับคนอื่นนักหรอก”

หนังเข้าฉายตั้งแต่ 7 ธ.ค. นี้ไป อย่างที่บอกว่าบัตรราคา 120 บาทเท่านั้น คุ้มโคตร ๆ ไปดูเถอะ

Play video