เคยสงสัยเหมือนผมบ้างไหมครับว่า ทำไมเวลาเรานึกถึงแจ๊ซ เรามักนึกถึงศิลปินและงานเพลงในอดีต ที่มีอายุอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 50 ปี สำหรับหลายคนมันคือช่วงเวลาก่อนที่จะลืมตามาดูโลกเสียอีก แต่เรากลับรู้สึกถวิลหา ชื่นชม เสพย์สมกับสุ้มเสียงสำเนียงเหล่านั้นได้อย่างเพลิดเพลินใจ โดยน้อยคนนักจะรู้จักกับศิลปินแจ๊ซรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน

บางทีแจ๊ซก็อาจจะเหมือนกับไวน์ดีๆก็ได้ ที่ยิ่งบ่มไว้นานเท่าไหร่รสชาติของมันก็ยิ่งกลมกล่อมละมุนลิ้นมากเท่านั้น เป็นรสฝาดๆเหมือนรสชาติของชีวิตที่ผ่านอะไรมานักต่อนัก

ผมว่าเพลงแจ๊ซก็เป็นเช่นนี้ล่ะ ยิ่งเก่า ยิ่งเก๋า “คลาสสิค”

ฟังเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึกว่ามันเก่าล้าสมัยเลย

ในวันนี้ปี 2019 หากเราย้อนเวลากลับไปสัก 60 ปี เราจะกลับไปอยู่ในปี 1959 ซึ่งเป็นปีที่อัลบั้มแจ๊ซดีๆได้ถือกำเนิดขึ้น เป็นอัลบั้มที่เป็นหมุดหมายสำคัญและส่งอิทธิพลในงานแจ๊ซยุคต่อๆมา ตราบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ถ้าพร้อมแล้ว เราจะย้อนเวลากลับไปดูกันดีกว่าว่า เมื่อ 60 ปีที่แล้ว มีงานเพลงแจ๊ซดีๆอะไรบ้างที่ควรค่าแก่การฟังในวันนี้

Miles Davis “Kind of Blue” 

“Kind of Blue” เป็นสตูดิโออัลบั้มของมือทรัมเป็ตแจ๊ซในตำนานของวงการ “ไมล์ส เดวิส” โดยเปิดตัวเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1959 ผ่านทางค่าย โคลัมเบีย เรคคอร์ด อัลบั้มนี้เป็นงานรวมเหล่า “เบญจเทพ” คือเทพทั้งห้าคนในวงการ ซึ่งเราเรียกวง 5 ชิ้นนี้ว่า Quintet อันประกอบไปด้วย  ไมล์ส เดวิส มือทรัมเป็ต ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวง  บิล อีแวนส์ มือเปียโน (เปียโนเทพขวัญใจคอแจ๊ซ ซึ่งในปีนี้ก็มีงานอัลบั้มของเขาออกด้วยเช่นกัน)  จิมมี คอปป์ มือกลอง  พอล แชมเบอรส์ มือเบส จอห์น โคลเทรน  (มือแซ็กโซโฟนเทพขวัญใจมหาชนคนแจ๊ซ ที่ในปีนี้ก็มีอัลบั้มของเขาด้วยเช่นกัน) และ จูเลียนแคนนอนบอลล์แอดเดอร์ลีย์ อีกหนึ่งมือแซ็กโซโฟน 

มันเป็นอัลบั้มที่ขึ้นหิ้งคลาสสิค ด้วยการโซโล่ที่น่าประทับใจของสมาชิกแต่ละคน การเรียบเรียงที่เป็นมาตราฐานใหม่ในวงการเพลงแจ๊ซและอารมณ์อันรุ่มรวยที่หลั่งไหลออกมาเมื่อเราได้ฟัง ล้วนแล้วแต่เป็นสิง่ที่ทำให้เรามิอาจลืมอัลบั้มนี้ไปจากใจได้เลย

ในอัลบั้มนี้ไมล์ส เดวิสได้ทดลองทำในสิ่งที่เป็นการต่อยอดจากทฤษฎีโหมดของ จอร์จ รัสเซล (George Russell) ซึ่งริเริ่มมาแล้วส่วนหนึ่งในอัลบั้ม Milestones (1958)  นั่นก็คือการโซโล่ด้นสด (Improvisation) ที่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่สเกลในคีย์เพลงเพียงสเกลเดียวเท่านั้น หากแต่ลื่นไหลไปอย่างอิสระตามตัวโน้ตต่างๆที่ออกมาจากใจ นำไปสู่การใช้การเรียงลำดับของโน๊ตในสเกลไดอะโทนิคใหม่ทั้งหมดในอัลบั้มนี้ ซึ่งนับว่าแตกต่างจากงานดนตรีช่วงแรกของเขาที่ยึดสไตล์การเล่นแจ๊ซแบบฮาร์ดบ็อบอย่างสิ้นเชิง

“Kind of Blue” ได้รับการยกย่องให้เป็นงานระดับมาสเตอร์พีสของไมล์ส เดวิส และเป็นอัลบั้มแจ๊สที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา เป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดตลอดกาล ไม่เพียงแต่ในวงการแจ๊ซหากแต่เป็นวงการดนตรีของโลกใบนี้

Play video

Apple Music 

Spotify  


Ornette Coleman  “The Shape of Jazz to Come”  

The Shape of Jazz to Come”  คือหนึ่งในตำนานแห่งวงการฟรีแจ๊ซ ที่พลาดไม่ได้หากอยากรู้จักแจ๊ซสายนี้  มันเป็นอัลบั้มที่รวมไปด้วยเหล่ายอดฝีมือ โคลแมนเล่นอัลโตแซ็กโซโฟน ดอน เชอร์รีเล่นพ็อคเก็ตทรัมเป็ต ชาลี ฮาเดน อคูสติคเบสและ บิลลี่ ฮิกกินส์เล่นกลอง จะสังเกตเห็นได้ว่าไม่มีใครเล่นเครื่องดนตรีที่สามารถเล่นคอร์ดได้เล่น เช่น กีตาร์หรือเปียโน และนี่คือการปฏิวัติจากโคลแมน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งล่าสุดหลังจากไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมานานแล้วในวงการเพลงแจ๊ซหลังจากที่บีบ็อบแจ๊ซได้เกิดขึ้นมา

ไม่ว่าจะเป็นไอเดียและคอนเซ็ปต์ที่สดใหม่ การเล่นแจ๊ซอิมโพรไวซ์ที่แปลกใหม่ออกไป โคลแมนได้ถ่ายทอดมันผ่านบทเพลงที่เขาเขียนขึ้นมาใหม่ หนึ่งในนั้นคือ “Lonely Woman” บทเพลงที่เปรียบเสมือนเพลงชาติของฟรีแจ๊ซ

หลายคนฟังเพลงฟรีแจ๊ซแล้วอาจรู้สึกหงุดหงิดใจกับท่วงทำนองที่ฟังแล้วไม่ค่อยจะลื่นหูเท่าไหร่ แต่โคลแมนมองมันต่างออกไป สำหรับเขาแล้วฟรีแจ๊ซคือการมองเมโลดี้ที่ต่างออกไปจากขนบเดิม มันเป็นตัวแทนของอิสระเสรีที่กล้าจะเล่นในสิ่งที่หลุดจากกรอบและกฏเกณฑ์ที่บีบบังคับเอาไว้ เขาได้ยกระดับการทดลองเรื่องโหมดอิมโพรไวซ์โดยไมล์ส เดวิส ให้ก้าวขึ้นไปอีกขึ้น เดวิสเริ่มออกจากกรอบของการยึดติดกับคีย์เพลงและสเกลที่กำหนดกรอบโดยคีย์เพลงนั้นออกไปเล่นกับโหมดต่างๆ แต่โคลแมนหลุดออกจากทุกกรอบทุกเกณฑ์ โดยเล่นออกมาจาก “ฟีล” ที่เกิดขึ้นจากบทเพลงนั้นโดยแท้จริง

Play video

Apple Music

Spotify 


John Coltrane “Giant Steps” 

สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 5 อีกหนึ่งมาสเตอร์พีซจากมือแซ็กโซโฟนแจ๊ซระดับตำนาน “จอห์น โคลเทรน” ที่บันทึกเสียงในปี 1959 แต่ออกวางแผงในเดือนมกราคมปี 1960 กับทางค่าย แอตแลนติค (เลยขอจัดให้อยู่ในปี 1959 ละกันนะ) ซึ่งในอัลบั้มนี้เขาได้เป็นคนริเริ่มทำลองการเรียบเรียงแบบใหม่ๆในวงการแจ๊ซ ทั้งโครงสร้างคอร์ดที่ซับซ้อน การโฟกัสไปที่การโซโล่ที่เปี่ยมไปด้วยพลังของการสร้างสรรค์ ทุกบทเพลงในอัลบั้มนี้เป็นเพลงที่เขียนและเรียบเรียงขึ้นใหม่โดย โคลเทรนทั้งหมด  มันเป็นอัลบั้มที่เป็นไปด้วยความสด ใหม่ และเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจแห่งศิลปิน

เพลงที่เราอยากแนะนำคือเพลงที่มีชื่อว่า “Neima” ซึ่งเป็นชื่อของภรรยาสุดที่รักของโคลเทรนและแน่นอนเพลงนี้เค้าแต่งขึ้นเพื่อมอบให้แด่เธอ จะหวานหยดย้อยขนาดไหน ไปลองฟังกันครับ

Play video

Apple Music 

Spotify 


The Dave Brubeck Quartet “Time Out” 

Album Cover Artwork โดย S.Neil Fujita

อัลบั้มเพลงแจ๊ซชั้นเลิศที่บรรจุบทเพลง “คูลแจ๊ซ” อันลือชื่อ “Take Five” ซึ่งเขียนขึ้นโดยมืออัลโตแซ็กโซโฟนเจ้าของฉายา “dry-martini toned” พอล เดสมอนด์ (Paul Desmond)

“Time Out” เป็นส่วนผสมของคูลแจ๊ซและแจ๊ซทางฝั่งเวสต์โคสท์ที่ลงตัว ในอัลบั้มนี้ เดฟ บรูเบคมือเปียโนผู้แผ้วถางทางแห่งวงการคูลแจ๊ซ และชาวคณะ ได้ทดลองเล่นอะไรใหม่ๆด้วยการเรียบเรียงเพลงด้วย time signature ที่ต่างออกไปไม่ได้จำกัดอยู่ที่เบสิค 4/4 อาทิเช่น 9/8 , 6/4 , 5/4 โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก time signature ของดนตรีฝั่งตุรกีและอินเดีย งานเพลงในอัลบั้มนี้จึงช่วยเปิดโลกทัศน์ทางดนตรีได้เป็นอย่างดียิ่ง

Take Five เพลงเด่นจากอัลบั้มนี้เป็นซิงเกิ้ลเพลงแจ๊ซเพลงแรกที่มียอดขายหลักล้าน ทำให้มันเป็นซิงเกิ้ลแรกที่ได้ทั้งเงินได้ทั้งกล่อง   “Time Out” จึงกลายเป็นอัลบั้มเพลงแจ๊ซที่ไม่ได้เพียงแต่ประสบความสำเร็จในการนำพาผู้ฟังไปสู่พรมแดนทางดนตรีใหม่ๆ ทางแต่ยังประสบความสำเร็จทางด้านยอดขาย ทะลายข้อจำกัดที่ว่าเพลงแจ๊ซนั้นไม่น่าจะทำเงินลงไปได้

Play video

Apple Music

Spotify 


Bill Evans Trio  “Portrait in Jazz”

อาจกล่าวได้ว่า บิล อีแวนส์ เป็นหนึ่งในมือเปียโนแจ๊ซที่ผู้ฟังรักและชื่นชอบมากที่สุด ด้วยท่วงทำนองอันอ่อนหวาน พลิ้วไหว ไหลลื่น นุ่มนวล ชวนละมุน ซึ่งง่ายนักที่จะโดนใจใครหลายๆคน แต่ในขณะเดียวมันก็มีความซับซ้อน ซ่อนเร้น ชวนค้นหาอยู่ในกระแสเสียงนั้นด้วย

Portrait in Jazz” เป็นหนึ่งในอัลบั้มที่คุณไม่ควรพลาดหากอยากจะฟังเพลงแจ๊ซ เป็นอัลบั้มแรกๆที่คนมักจะนึกถึงเวลาอยากแนะนำให้ใครเริ่มฟังเพลงแจ๊ซที่เข้มข้น อัลบั้มนี้เป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่เรียกว่าเป็น “คลาสสิค ทรีโอ” อันประกอบไปด้วย บิล อีแวนส์ เปียโน สก็อต ลาฟาโร เบส และ พอล โมเชียนกลอง ซึ่งทั้งสามได้เล่นด้วยกันไม่กี่อัลบั้ม หลักจากนั้น ลาฟาโรก็เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เป็นการสิ้นสุดยุคคลาสสิค ทรีโอ ไปอย่างน่าเสียดาย โดยมีอัลบั้มการแสดงสดสุดคลาสสิค The Bill Evans Trio at the Village Vanguard, 1961

เป็นอัลบั้มชิ้นสุดท้ายของคลาสสิคทรีโอนี้

ทั้งสามคนเล่นเข้าขากันมาก ในทุกบทเพลงของอัลบั้มนี้ล้วนฟังเพลิน สนุก เข้าถึงอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็น “Blue in Green,”  “Someday My Prince Will Come”  หรือ  “Autumn Leaves” ล้วนเป็นเพลงที่ฟังได้กี่ครั้งก็ไม่เบื่อเลย ทำให้ “Portrait in Jazz”  เป็นหนึ่งในอัลบั้มเพลงแจ๊ซสุดโปรดของใครๆหลายคน

Play video

Apple Music

Spotify


Charles Mingus  “Mingus Ah Um”

Album Cover Artwork โดย S.Neil Fujita

ชาลส์ มิงกัส คือ นักดับเบิลเบสแจ๊ชาวอเมริกัน ที่มีชื่อเสียงในฐานะนักดนตรี นักแต่งเพลง หัวหน้าวง และนักต่อสู้เพื่อต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว

เป็นที่เลื่องลือกันว่ามิงกัสนั้นเป็นคน “หัวร้อน” เพราะมักจะหยุดเล่นกลางคัน หากผู้ฟังไม่ตั้งใจฟังและคุยกันเสียงดัง หรือแม้แต่เพื่อนร่วมวงหากเล่นไม่ดี พี่ก็จะไล่ลงเวที ณ เดี๋ยวน้นเลย

Mingus Ah Um” เป็นอัลบั้มที่คุณไม่ควรพลาดของมิงกัส ซึ่งรวมไว้ด้วยเพลงฮิตสุดคลาสสิคของเขาไม่ว่าจะเป็น Better Git It In Your Soul,” “Goodbye Pork Pie Hat,” “Fables of Faubus,” และ  “Jelly Roll.”

อัลบั้มนี้เปรียบเสมือนสายธารที่ถูกส่งต่อมาจากต้นน้ำอันชุ่มชื่น ทุกบทเพลงในอัลบั้มนี้ล้วนแล้วแต่มีแรงบันดาลใจต้นทางไม่ว่าจะเป็น “Better Git It In Your Soul” ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการร้องเพลงแบบกอสเปลที่มิงกัสได้ยินมาแต่เด็ก  “Goodbye Pork Pie Hat” ที่อุทิศให้แก่เลสเตอร์ ยัง มือแซ็กโซโฟนตำนานเพลงแจ๊ซและเพื่อนรักของมิงกัส ผู้ซึ่งล่วงลับไปไม่นานหลังจากที่ได้มีการบันทึกเสียงอัลบั้มนี้ “Boogie Stop Shuffle”  บทเพลงบลูส์สิบสองบาร์ ที่มีสี่ธีมและการเล่นเบสแบบบูกี้เคลื่อนล้อไปเรื่อยๆ เปรียบดั่งการสะท้อนตัวตนและเรื่องราวของชีวิตภายในออกมา  “Self-Portrait in Three Colors” จริงๆแล้วเพลงนี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่องแรกที่ John Cassavetes กำกับนั่นคือ Shadows แต่ต่อมาไม่ได้ถูกนำมาใช้ “Open Letter to Duke” เขียนขึ้นเพื่ออุทิศแด่ ดุ๊ค เลลิงตัน  “Jelly Roll” อุทิศแด่ เจลลี โรล มอร์ตัน มือเปียโนแจ๊ซผู้แผ้วถางทางแห่งวงการ แต่กลับเพลง “Bird Calls” ที่ดูจากชื่อแล้วดูเหมือนว่า แต่งขึ้นเพื่ออุทิศแก่ ชาลี ปาร์คเกอร์เจ้าของฉายา “Bird” แต่มิงกัสบอกว่า ที่ตั้งชื่อว่า “Bird Calls” ก็เพราะว่าเพลงนี้มันเสียงเหมือนนกร้องนั่นเอง แป่ววว  นอกจากนี้ยังมี “Fables of Faubus” ที่เขียนขึ้นเพื่อต่อต้านการเหยียดผิวจากผู้ว่าการรัฐอาร์คันซอ Orval E.Faubus ด้วยกลัวมีปัญหาทางค่ายโคลัมเบียเลยไม่ให้มิงกัสร้องเนื้อร้อง เพลงนี้เลยกลายเป็นเวอร์ชั่นบรรเลงด้วยประการฉะนี้

Play video

Apple Music

Spotify 


Duke Ellington  “Anatomy of a Murder”

Anatomy of a Murder” คืออัลบั้มซาวด์แทร็คประกอบภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันนี้ กำกับโดย Otto Preminger ซึ่ง ดุ๊คได้ไปปรากฏตัวเป็น cameo ในหนังเรื่องนี้ด้วย

ผลงานในอัลบั้มนี้เกิดจากการรวมพลังกันของเอลลิงตันและสเทรย์ฮอร์น มันเป็นอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ที่เป็นเพลงแจ๊ซ ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์วงการเพลงแจ๊ซและวงการซาวด์แทร็คเลย

Play video

Apple Music 

Spotify 


Horace Silver  “Blowin’ the Blues Away”

โฮเรซ ซิลเวอร์คือมือเปียโนแจ๊ซผู้บุกเบิกแนวดนตรีฮาร์ดบ็อบในทศวรรษที่ 50 และนี่คือผลงานฮาร์ดบ็อบสุดคลาสสิคจากโฮเรซ ซิลเวอร์ที่กลมกล่อมลงตัว เพลงเด่นๆในอัลบั้มคือ “Sister Sadie,” “Peace,”  และ “The Baghdad Blues” ซึ่งไม่ได้หวือหวาอะไร ไม่ได้โมดัลแจ๊ซแบบไมล์ส เดวิส ไม่ได้ฟรีแจ๊ซแบบโคลแมน เป็นเพลง 4/4 ธรรมดา แต่ว่าพลาดไม่ได้ !

Play video

Apple Music

Spotify 


Ella Fitzgerald  “Sings the George and Ira Gershwin Song Book”

นี่คืออีกอัลบั้มที่คอแจ๊ซไม่ควรพลาด เอลล่า ฟิซเจอร์รัลนำเอาบทเพลงของสองอัจฉริยะไอร่าและจอร์จ เกิร์ชวินมาขับร้องผ่านการเรียบเรียงโดยยอดฝีมืออย่างเนลสันและวงออเครสตร้าของเขา  เพลงเพราะๆอันเป็นที่นิยมของเกิร์ชวินถูกรวมเอาไว้ในอัลบั้มนี้ และเอลล่าร้องมันออกมาได้อย่างกระชับ จับใจ มันเป็นอัลบั้มร้องแจ๊ซที่ดีที่สุดเท่าที่จะมีได้

Play video

Apple Music

Spotify 


Miles Davis  “Sketches of Spain”

แถมท้ายด้วยอัลบั้มจากไมล์ส เดวิสอีกสักอัลบั้ม ที่ถึงแม้ว่าจะออกวางแผงในปี 1960 แต่มันก็ได้บันทึกเสียงในปี 1959 เป็นปีเดียวกันกับอีกหนึ่งอัลบั้มสุดคลาสสิคของไมล์ส เดวิส “Kind of Blue”

Sketches of Spain” เป็นการทำงานร่วมกันของสองอัจฉริยะ ไมล์ส เดวิสและกิล อีแวนส์ที่เหมือนจะเป็นจุดพีคที่สุดของการโคจรมาพบกันของทั้งคู่ (อัลบั้มที่ทั้งคู่เคยทำงานร่วมกันคือ Birth of the Cool, Miles Ahead, Porgy and Bess, Quiet Nights) 

ด้วยการหลอมรวมเอาแนวทางของดนตรีคลาสสิคเข้ากับการอิมโพรไวซ์แบบแจ๊ซ ทำให้งานเพลงในอัลบั้มนี้มีความหลากหลาย โดดเด่น และเป็นอีกหนึ่งการปฏิวัติทางดนตรี

Play video

Apple Music 

Spotify 


ที่มา