The Eight Hundred นักรบ 800
The Eight Hundred นักรบ 800

ดราม่า The Eight Hundred เมื่อรัฐบาล “จีน” เกือบไม่ให้ฉายหนังฮีโรของบรรพบุรุษ “ไต้หวัน”

ในช่วงนี้ หนังจีนที่ทำรายได้รวมสูงที่สุดในโลกของปีโควิด 2020 (นับถึงปัจจุบันอยู่ที่ 441.7 ล้านเหรียญฯ ชนะหนังฮอลลีวูดทุกเรื่อง) อย่าง The Eight Hundred หรือชื่อไทยว่า “นักรบ 800” ก็จะเข้าฉายในบ้านเรา ภายใต้การจัดจำหน่ายของบริษัท Golden A Entertainment ความน่าสนใจของหนังคือ ใช้ทุนสร้างสูงถึง 80 ล้านเหรียญฯ และยังเป็นหนังจีนเรื่องแรกที่ถ่ายทำในระบบ IMAX ทั้งเรื่อง (อ่านรีวิวฉบับเต็มเรื่องนี้ที่นี่)

เดิมทีหนังตั้งใจสร้างเพื่อให้เข้าฉายทันในปี 2019 ที่ผ่านมาซึ่งจะเป็นปีฉลองครบรอบ 70 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน หนังไม่ได้ฉายที่จีนตามกำหนดเดิมปีที่ผ่านมา แต่สุดท้ายก็ได้กำหนดฉายในจีน 29 ตุลาคมนี้

The Eight Hundred
The Eight Hundred
The Eight Hundred

หนังเล่าถึงเหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์สมัยสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับจีน ครั้งที่ 2 ซึ่งถูกเรียกว่า สมรภูมิเซี่ยงไฮ้หรือยุทธการเซี่ยงไฮ้ ปี 1937 เล่าถึงช่วงศึกป้องกันคลังสินค้า “ซื่อหัง” ของหน่วย 524 หนึ่งในหน่วยทหารพลีชีพพิเศษของกองพันที่ 88 แห่งกองทัพสาธารณรัฐจีน หน่วยนี้มีพลทหารแค่ 423 นาย แต่สามารถหลอกข้าศึกญี่ปุ่นว่าทหารอยู่ราว 800 นายหรือประมาณ 2 เท่า กองพันที่ 88 เป็นหนึ่งในกองทหารที่ได้รับการฝึกพิเศษจากกองทัพของประเทศเยอรมนีในสมัยที่ยังไม่ได้ประกาศเป็นฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีทหารประจำอยู่เกือบหมื่นนาย

ผู้บัญชาการเลือกจะไม่ทิ้งทหารกองพันที่ 88 ให้ไปตายหมด จึงขอแค่อาสาสมัครแค่ 400 กว่าคน ที่พร้อมพลีชีพยันทัพญี่ปุ่นที่คลังสินค้าซื่อหัง พวกเขาสามารถปักหลักยันการปิดล้อมของกองทัพญี่ปุ่นนานถึง 4 วัน 4 คืน (26 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 1937) ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดญี่ปุ่นจะตีเซี่ยงไฮ้แตก แต่ศึกป้องกันคลังสินค้าซื่อหังนี้ก็เป็นที่โจษจันในกลุ่มคนจีนซึ่งมักจะถูกหยิบมาเล่าเป็นวีรกรรมของประเทศ รวมถึงมีการยกให้หน่วย 524 เป็น “วีรบุรุษ 800” (ที่มาของชื่อหนัง) พอเข้าสู่สนามรบจริง กองพันนี้เสียทหารไปแค่ 10 กว่าคน ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นเสียไพร่พลมากกว่า 200 คน

(ภาพจาก The National Interest)
(ภาพจาก Shanghai Street Stories)

ปี 1937 เป็นปีที่ญี่ปุ่นยกทัพเข้าประเทศจีนแล้ว จีนตอนบนและแมนจูเรียโดนญี่ปุ่นยึดไปก่อนหน้านั้น ส่วนรัฐบาลจีนที่คุมประเทศตอนกลางเป็นฝ่ายพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งยังประกาศสงครามกับญี่ปุ่นอยู่ รัฐบาลจีนย้ายศูนย์บัญชาการลงมาทางตอนใต้เพื่อตั้งรับกองทัพญี่ปุ่น และนายพลเจียง ไคเซ็กก็เลือกเมืองเซี่ยงไฮ้ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจเป็นฐานทัพ เจียง ไคเช็กหมายจะให้ฝรั่งชาวตะวันตกมาช่วยจีนรบกับญี่ปุ่นด้วย แต่นั่นเป็นความผิดพลาดของเขา เพราะพวกฝรั่งปล่อยให้ญี่ปุ่นบุกเข้ายึดเมืองจีนอย่างไม่ดูดำดูดี แถมยังรอแบ่งเค้กผลประโยชน์กับญี่ปุ่นหลังจีนแพ้ราบคาบแล้ว ส่วนกองทัพคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตุงนั้นแยกทางกับพรรคก๊กมินตั๋งอย่างถาวรไปแล้ว และยกทัพพากองกำลังไปตั้งอยู่ทางตอนเหนือของจีน

(ภาพจาก The National Interest)

เบื้องหลังความดราม่าของเส้นทางหนังมีอยู่ว่า หนังได้เปิดตัวที่เทศกาลหนังนานาชาติเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ปี 2019 แล้ว มีการจัดงานเดินพรมแดงอย่างยิ่งใหญ่ แต่ก่อนหนังจะฉายแค่ชั่วโมงเดียว มีคำสั่งลับจากเบื้องบนสั่งให้ถอดโปรแกรมหนังออกไปก่อน ทำให้เจ้าของหนังก็ยังเพิ่งมารู้เอาหน้างานพร้อมกับคนดูทุกคนและทำได้แค่แจ้งแขกเหรื่อว่า เป็น “เหตุผิดพลาดทางเทคนิค” และเป็นที่รู้กันว่า เหตุผลจริง ๆ คือเนื้อหาบางอย่างที่ไม่ผ่านกองเซนเซอร์ของจีน

มากกว่านั้น แม้ว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้วิพากษ์นโยบายของรัฐบาลจีนจนเดือด แต่เป็นเพราะฮีโรของสถานการณ์นี้คือ ทหารของพรรคก๊กมินตั๋ง (ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยที่ทุกวันนี้อพยพไปตั้งรกรากที่ไต้หวัน) ไม่ใช่ทางฝั่งของรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ในปัจจุบัน ตลกร้ายกว่านั้นคือ เหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ทางฝั่งไต้หวันเคยหยิบมาสร้างเป็นหนังไปแล้ว ชื่อเรื่อง Eight Hundred Heroes ตั้งแต่ปี 1975 ซึ่งก็ดูถูกฝาถูกตัวกว่าที่จะสดุดีวีรกรรมของทหารก๊กมินตั๋งซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวไต้หวันเอง มาถึงตรงนี้ก็อาจจะมองได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งกลาย ๆ จากทางฝั่งรัฐบาลจีนที่ปล่อยให้ผู้สร้างหนังทำหนังจนเสร็จแล้วไม่ให้เข้าฉายหรือต้องเข้าฉายโดยตัดฉากที่โปรก๊กมินตั๋งมาก ๆ ออกไป

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส