กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ในขณะนี้สำหรับซีรีส์ของ Netflix เรื่อง The Queen’s Gambit ที่เกิดฮิตขึ้นมาเหนือความคาดหมายในบ้านเรา แม้ว่าหนังเกี่ยวกับการเล่นเกมกระดานหมากรุกจะดูเป็นของแสลงและเข้าใจยากสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้นิยมเล่นกันทั่วไปมากนัก ผู้สร้างของซีรีส์เรื่องนี้คือ Scott Frank และ Alan Scott ซึ่งเดิมที่โพรเจกต์นี้เคยถูกวางไว้ให้ Health Ledger เป็นผู้กำกับ (หนังเรื่องแรกของ Ledger เอง) และแสดงนำ ในปี 2008 ที่เขาเสียชีวิต Ledger ได้พูดคุยกับนักแสดงอย่าง Ellen Page จาก Inception (2010) และ Juno (2007) เอาไว้แล้วแต่สุดท้ายหนังก็ไม่ได้ถูกสร้าง (อ่านรีวิวของหนังเรื่องนี้ และ เกร็ดของหนัง “เผยตัวตนผู้เป็นต้นแบบของ เบ็ธ ฮาร์มอน ใน The Queen’s Gambit“)

เชื่อว่าซีรีส์เรื่องนี้ชวนให้คอหนังและซีรีส์โดยเฉพาะที่ชอบเนื้อหาเกี่ยวกับการเล่นหมากรุก หวนนึกถึงหนังเก่าในอดีตมีทั้งนานมากและไม่นานนี้ซึ่งเคยได้ดูกันไป ที่จะว่าไปแล้วหนังหมากรุกก็ไม่มีได้มากนัก ยิ่งถ้าเป็นหนังที่มีตัวละครเอกเป็นนักหมากรุกหรือเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหมากรุกด้วย What the Fact ขอรวบรวมหนังประเภทที่ว่านั้นและหนังมีฉากหมากรุกในความทรงจำมาให้ได้นึกย้อนหรือกลับไปหยิบมาดูกันอีกหน

 The Seventh Seal (1957)

ผลงานขึ้นหิ้งของผู้กำกับ Ingmar Bergman นำแสดงโดย Max von Sydow จาก Flash Gordon (1980) และ Minority Report (2002) เรื่องราวของอัศวินคนหนึ่งที่เดินทางกลับจากสงครามครูเสด สงครามศาสนาที่เจ้าตัวก็เริ่มสับสนระหว่างความหมายของชีวิตและอุดมการณ์ที่กำลังทำ เขาเริ่มตั้งคำถามกับความตายทั้งกับคนรอบข้างและตัวเอง ในเวลานั้นที่ชายฝั่ง เขาพบชายคนหนุ่มในเสื้อคลุมสีดำมาหาเขาแล้วประกาศว่า “สวัสดี ข้าคือความตาย” 

อัศวินชวนเจ้าความตายเล่นหมากรุก เดิมพันด้วยหากเขาชนะเขาจะได้กลับบ้าน หากแพ้เขาจะตาย จากนั้นเขาเดินทางกลับบ้าน ผ่านเมืองที่กำลังตายจากการระบาดของกาฬโรค เมืองที่ผู้คนจับหญิงสาวไปเผาทั้งเป็นเพราะผู้คนเชื่อว่า เธอเป็นแม่มดที่นำกาฬโรคมาสู่ผู้คน มีขบวนของผู้ศรัทธาในพระคริสต์เดินนำ และมีกลุ่มนักแสดงละครเร่ที่หนึ่งในกลุ่มไปคบชู้กับเมียของชาวบ้านแล้วพากันหนีไป ขบวนเดินทางกลับปราสาทของอัศวิน ความตายตามติดไปในเมืองที่กำลังตาย และไม่มีใครหนีพ้นจากความตาย

The Coldest Game (2019)

หนังเรื่องล่าสุดที่มีตัวละครและฉากหลังเป็นการเล่นหมากรุก แม้ไม่ได้สร้างจากเรื่องจริงแต่ก็อิงเหตุการณ์สำคัญในช่วงสงครามเย็น นั่นคือวิกฤตการณ์คิวบาช่วงปี 1962 เปิดเรื่องมาด้วยการแข่งขันหมากรุกระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต (คู่ขัดแย้งของสงครามตัวแทน) เกมหมากรุกเกมนี้เป็น “เกมซ้อนเกม” เพื่อนำสายลับสองหน้าของแต่ละฝั่งมาจับผิดกันและต้องลุ้นว่าใครจะหลุดเผยไต๋ตัวเองออกมาก่อน Joshua Mansky (รับบทโดย Bill Pullman จาก Independence Day (1996)) อัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ขี้เมา ได้เป็นตัวแทนสหรัฐฯ ในการแข่งขันหมากรุกระดับโลกในครั้งนี้  

Dangerous Moves (1984)

หนังที่มีดีกรีเป็นเจ้าของรางวัลออสการ์หนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในปี 1985 เรื่องราวของนักหมากรุกชราชาวโซเวียต Akiva Liebskind (Michel Piccoli) เดินทางไปยังกรุงเจนีวาของสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อเผชิญหน้ากับอดีตลูกศิษย์ของเขา Pavius Fromm (Alexandre Arbatt) ในการแข่งขันชิงแชมป์โลก Pavius วันนี้กลายเป็นเจ้าหน้าที่หน่วย USSR ผู้แปรพักตร์ของสหภาพโซเวียต ทำให้เจ้าหน้าที่ของโซเวียตขู่จะทำร้ายครอบครัวของ Akiva หากเขาไม่สามารถชนะเกมหมากรุกลูกศิษย์เก่าคนนี้ได้ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังจับเมียของ Akiva (Liv Ullmann) มาเป็นตัวประกันที่สนามแข่งขันด้วย

Queen of Katwe (2016)

สร้างจากเรื่องจริงอีกเช่นกัน แต่ความแตกต่างของหนังหมากรุกจากค่าย Disney เรื่องนี้มาพร้อมกับเรต G ที่เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี Queen of Katwe ผลงานของ Mira Nair ผู้กำกับชาวอินเดีย จาก Salaam Bombay! (1988) ดัดแปลงจากบทความของ ESPN ที่เขียนโดย Tim Crothers เล่าเรื่องราวของนักหมากรุกเด็กหญิงวัย 10 ขวบ Phiona (รับบทโดย Nadina Nalwanga) ชาวอูกันดาผู้หลุดออกจากกรอบของชีวิตเมื่อได้รู้จักกับเกมหมากรุก ชีวิตของเธอก็ดูจะเป็นเส้นทางของเซียนหมากรุกธรรมดา ถ้าเธอไม่ได้ต้องเลี้ยงพี่น้องอันมากมายในสังคมผู้อดอยาก (คนเล็กสุดยังเป็นทารกอยู่เลย) โค้ชผู้ฝึกสอนของเธออย่าง Robert Katende (David Oyelowo จาก Selma (2014)) สอนหลากหลายเคล็ดวิชาจนเธอได้ยืนหนึ่งในชุมชนของ Katwe หนังยังสมทบด้วย Lupita Nyong’o จาก Black Panther (2018) และ Us (2019) ด้วย

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

Searching For Bobby Fischer (1993)

หนังที่ได้ชื่อเป็นราชาของหนังหมากรุก มีชื่อไทยตอนเข้าฉายว่า “อัจฉริยะเจ้าหนูหมากรุก” เรื่องราวของ Josh Waitzkin (Max Pomeranc) เด็ก 7 ขวบที่บังเอิญเป็นอัจฉริยะเกมกระดาน Fred (Joe Mantegna) พ่อของเขาเป็นนักเขียนเรื่องกีฬาที่มุ่งมั่นอยากจะเห็นลูกชายเป็นแชมป์หมากรุก หนังสะท้อนประเด็นเรื่องที่เด็กมักจะถูกพ่อแม่ยัดเยียดการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมที่ต้องดีเด่นอะไรสักอย่างให้ เพื่อหวังว่าสักวันลูกจะประสบความสำเร็จตามสิ่งที่พ่อแม่คาดหวังไว้ จนกลายเป็นแรงกดดันให้แก่เด็ก ๆ

เมื่อ Josh ถูกตั้งความหวังไว้สูง เขาจึงต่อต้านพ่อโดยการแกล้งออมมือให้คู่แข่งวัยเดียวกันชนะในการแข่งขันหมากรุกระดับประถม เพื่อต้องการสื่อให้พ่อเห็นว่า เขาก็สามารถแพ้ได้และไม่อยากให้พ่อตั้งความหวังกับเขามากจนเกินไป (ในการให้เขาเป็นเหมือน Bobby Fitscher นักหมากรุกชื่อดังในตำนาน) จนในที่สุดพ่อก็เข้าใจว่า Josh เล่นหมากรุกเพราะเขารักที่จะเล่นมากกว่าความอยากจะชนะและประสบสำเร็จ หนังยังมี Laurence Fishburne มารับบท Vinnie นักหมากรุกผู้แนะแนวทางให้กับ Josh และนักแสดงสมทบระดับรางวัลมากมาย ทั้ง Ben Kingsley, Joan Allen และ Laura Linney สุดท้ายหนังได้เข้าชิงออสการ์สาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยม

Magnus (2016) (Documentary)

Magnus Carlsen คือเซียนหมากรุกอันดับต้น ๆ ของโลกในยุคปัจจุบันและหนังเรื่องนี้ก็คืออัตชีวประวัติของเขา เข้าฉายในปี 2016 หนังสารคดีเรื่องนี้ถ่ายทอดชีวิตที่มีสีสันของ Magnus นักหมากรุกชาวนอร์เวย์ เทิร์นโปรเป็นนักหมากรุกอาชีพตั้งแต่อายุ 13 และชนะการแข่งขันระดับโลกครั้งแรกในปี 2013 ขณะที่เขาอายุเพียง 22 ปีเท่านั้น หากคอหนังอินไปกับ The Queen’s Gambit ที่เป็นเรื่องแต่งจากนิยายแล้ว ลองหยิบหนังสารคดีเรื่องนี้ที่สร้างจากเรื่องจริงแล้วจะพบว่า ตื่นเต้นไม่แพ้กัน

Fresh (1994)

ในลิสต์นี้หนังหลายเรื่องได้ถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กผิวดำหรือเด็กด้อยโอกาสในเมืองนิวยอร์กผ่านการเล่นหมากรุก ผลงานหนังก้าวข้ามพ้นวัยของผู้กำกับ Boaz Yakin จาก Remember the Titans (2000) เรื่อง Fresh นี้ นำเสนอเรื่องราวของ Fresh เด็กเดินยาวัย 12 ที่ใช้หมากรุกเอาตัวรอดจากชีวิตที่เสี่ยงจะเดินผิดทาง นักแสดงเด็ก Sean Nelson รับบทเป็น Fresh เขาเรียนรู้การเล่นหมากรุกชั้นยอดมาจากพ่อขี้เมาของเขาอย่าง Sam (รับบทโดยนักแสดงชื่อดัง Samuel L. Jackson จาก Avengers: Endgame (2019)) จนกระทั่งเขาต้องไปเกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรมร้ายแรง Fresh จึงต้องเอาทักษะในเกมหมากรุกมาใช้เอาตัวรอดจากการถูกจับติดคุกในชีวิตจริงด้วยเช่นกัน

Pawn Sacrifice (2014)

หนึ่งในหนังเกี่ยวกับหมากรุกที่ได้รับคำชื่นชมมากในช่วง 10 ปีมานี้ ผลงานกำกับของ Edward Zwick จากหนังเอพิกเข้มข้นอย่าง The Last Sumarai (2003), Blood Diamond (2006) และ Jack Reacher: Never Go Back (2016) นำแสดงโดย Toby Maguire จากไตรภาคแรกของ Spider-Man (2002-2007) และ Seabiscuit (2003) (ที่หลายคนบอกว่า การเล่าเรื่องคล้ายกับ The Queen’s Gambit ด้วยเหมือนกัน)

เขามารับบทเป็นเซียนหมากรุกชาวอเมริกันชื่อดัง Bobby Fischer ซึ่งได้เป็นแกรนด์มาสเตอร์อายุน้อยที่สุดในยุคของเขา Fischer ต้องประมือกับนักหมากรุกจากรัสเซีย Boris Spassky (รับบทโดย Liev Schreiber จาก Spotlight (2015)) หนังอัตชีวประวัติของ Fischer เป็นเหตุการณ์การแข่งขันหมากรุกระหว่างช่วงสงครามเย็นในปี 1972 เขาถูกคาดหวังให้เป็นตัวแทนไปเข้าสงคราม (บนกระดาน) กับโซเวียตที่สหรัฐฯ สั่งมาว่าแพ้ไม่ได้เป็นอันขาด ขณะเดียวกันเขาก็ต้องต่อสู้กับอาการหวาดระแวงผู้คนขณะเดินทางไปแข่งและถูกจับจ้องจากสื่อด้วย

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

The Luzhin Defence (2000)

หนังดัดแปลงจากนิยายของ Vladimir Nabokov เกี่ยวกับชีวิตของ Luzhin (รับบทโดย John Turturro จาก Transformers (2007)) เซียนหมากรุกที่ถูกลืมและมองข้าม เขาถูกส่งตัวไปยังสนามแข่งขันหมากรุกที่อิตาลี ในยุค 1920s เพื่อแข่งขันเกมที่ยากที่สุดในชีวิตเขา Luzhin โฟกัสแต่กับการแข่งขันหมากรุกมาตลอดชีวิตจนกระทั่งที่อิตาลี เขาได้ตกหลุมรัก Natalia (รับบทโดยนักแสดงที่เคยเข้าชิง 2 ออสการ์ Emily Watson จาก Breaking the Waves (1996)) ผู้ถูกจับคลุมถุงชนให้แต่งงานกับครอบครัวผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น Luzhin จึงต้องเอาชนะในเกมหมากรุกและในเกมรักเพื่อชนะใจครอบครัวของฝ่ายหญิงและครองรักกับ Natalia ให้ได้

Life of A King (2013)

หนังอีกเรื่องที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของ Eugene Brown ชายที่เปลี่ยนชีวิตของคนหลายคนในเมืองวอชิงตัน ดีซี จากการตั้งชมรมหมากรุกให้กับเด็ก ๆ นักแสดงรางวัลออสการ์ Cuba Gooding Jr. จาก Jerry Maguire (1996) มารับบทเป็น Brown เขาได้เรียนรู้และฝึกฝนการเล่นหมากรุกจนเป็นระดับเซียนจากนักโทษในคุกตอนที่ถูกขังอยู่ด้วยกัน ชายคนนั้นได้มอบชุดหมากรุกที่แกะสลักจากไม้ไว้ให้ Brown ก่อนจะพ้นคุก ต่อมาเมื่อเขาต้องประสบกับทางแยกในชีวิต เขาตัดสินใจตั้งชมรมหมากรุกขึ้นมาเพื่อสร้างโอกาสให้เด็ก ๆ ในเมืองและนั่นก็ทำให้เขาค้นพบความหมายในชีวิตของตัวเองไปพร้อมกันด้วย

Knights of The South Bronx (2005)

แม้จะสร้างเพื่อออกฉายโทรทัศน์ แต่หนังที่สร้างจากเรื่องจริงเรื่องนี้ก็ยังคงยอดเยี่ยมในฐานะหนังเกี่ยวกับการเล่นหมากรุกที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง Ted Danson จากซีรีส์ CSI หลาย ๆ ตอนมารับบทเป็น Mason (สร้างจากเรื่องจริงของ David MacEnulty ครูโรงเรียนประถมที่เป็นแรงบันดาลใจของหนัง) ผู้ปลุกปั้นให้เด็ก ๆ ด้อยโอกาสในย่าน South Bronx มุมมืดมุมหนึ่งของเมืองนิวยอร์กยุค 70s ได้มีโอกาสแข่งขันเกมหมากรุกจนกระทั่งฝ่าด่านไปชนะการแข่งขันเวทีสูงสุดของรัฐนิวยอร์ก หนังกำกับโดย Allen Hughes จาก The Book of Eli (2010)   

หนังเรื่องอื่น ๆ ที่มี “การเล่นหมากรุก” ภายในเรื่อง

สำหรับภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ที่มีฉากการเล่นหมากรุกของตัวละครภายในเรื่องนั้น หลายครั้งหมากรุกถูกใช้เป็นตัวแทนของเกมที่ตัวละครแสนฉลาดและมีความคิดสุดล้ำเหนือชาวบ้านต้องมาแข่งกัน พวกเขามักจะเป็นตัวแทนแข่งประลองปัญญาระหว่างฝั่งพระเอกกับฝั่งวายร้ายอยู่เสมอ

อย่างตัวละคร Charles Xavier หรือ Professor X ที่มักจะชวนเพื่อนรักเพื่อนแค้นอย่าง Erik Lensherr หรือ Magneto ดวลหมากรุกกันตลอดทุกภาค หรืออย่างฉากการเล่นหมากรุกถูกหยิบมาเป็นกิมมิคสำหรับฉากปิดไตรภาค The Last Stand (2007) ที่หมากรุกขยับเองเพื่อจะสื่อว่าพลังของ Magneto ยังไม่หมดไปจริง ๆ หรือในฉากปิดของภาค The Dark Phoenix (2019) ก็ยังใช้ฉากสองตัวละครเพื่อนรักนี้นั่งเล่นหมากรุกกันอย่างกับไม่เคยทะเลาะกันมาก่อนเช่นกัน

ในหนังอย่าง Sherlock Holmes ฉบับของนักแสดง Robert Downey Jr. ในภาค A Game of Shadows (2011) ตอนที่เป็นการปรากฏตัวของศาสตราจารย์ Moriarty วายร้ายตลอดกาลของนิยายชุดนี้ Holmes ที่ฉลาดเป็นกรดก็ไม่พลาดที่จะดวลหมากรุกกับเขาด้วยเช่นกัน หนังฉบับนี้ของผู้กำกับ Guy Ritchie สร้างบุคลิกของ Holmes ให้เป็นคนชอบคิดวางแผนเหตุการณ์ล่วงหน้าในหัว ซึ่งก็คือแนวคิดของการเล่นเกมกระดานหมากรุกนั่นเอง ฉากในหนังยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากเกมการดวลระหว่าง Larsen และ Petrosian นักหมากรุกชื่อดังในปี 1966 ด้วย

ในหนังเก่า ๆ ก็มีหลายเรื่องที่หยิบเอาฉากการเล่นหมากรุกมาใส่ในบุคลิกของวายร้าย เพื่อให้ดูฉลาดและน่ากลัวมากขึ้นไปหลายขุม เพราะคาดเดาไม่ได้ว่าตัวละครนั้นคิดแผนการร้ายอะไรอยู่ อย่างแฟรนไชส์ James Bond 007 ในภาคที่ 2 From Russia with Love (1963) Bond ก็เคยต้องเผชิญหน้ากับนักหมากรุก Kronsteen ที่เป็นสมาชิกหมายเลข 5 ขององค์กรร้ายระดับโลก Spectre ฉากเปิดตัวละครฉากนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการดวลกันของ Spassky และ Bronstein ในปี 1960

ผู้กำกับระดับตำนาน Stanley Kubrick นั้นเป็นนักหมากรุกตัวยง จึงไม่พลาดที่จะใส่หมากรุกเข้าไปในหนังของเขา ทั้ง The Killing (1956) และ Lolita (1962) หรือกระทั่งหนังปรัชญาอวกาศอันเลื่องลืออย่าง 2001: A Space Odyssey (1968) คอหนังได้เห็นนักบินอวกาศตัวเอกของเรื่องเล่นหมากรุกกับเจ้าปัญญาประดิษฐ์ HAL ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งเจ้า HAL ก็ได้เรียนรู้บุคลิก ท่าทาง และอารมณ์ของมนุษย์ผ่านคู่ดวลหมากรุกของมันนั่นเอง แม้ทุกวันนี้วิทยาการจะทำให้มนุษย์เล่นหมากรุกกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้นานแล้ว แต่ลองนึกดูว่าการมีฉากนี้เมื่อ 52 ปีก่อนนั้น Kubrick ต้องคิดล้ำและมาก่อนกาลขนาดไหน?

ในหนังไซไฟสุดคัลต์และคลาสสิกขึ้นหิ้งไปแล้วอย่าง Blade Runner (1982) ของ Ridley Scott และนำแสดงโดย Harrison Ford ก็มีหมากรุกเป็นเครื่องแสดงความฉลาดเช่นกัน หนังเล่าเรื่องราวของโลกในอนาคตที่หุ่นแอนดรอยด์แทบจะเหมือนมนุษย์ไปหมดทุกอย่าง (จนแยกไม่ออกว่าใครเป็นหุ่นใครเป็นคน?) หุ่น Replicants ของนักแสดง Rutger Hauer ก็ใช้มุกเดียวกับ HAL ในการอาศัยเกมหมากรุกเพื่อเข้าใจวิธีคิดของนักวิทยาศาสตร์ผู้สร้างมันขึ้นมา หลังจากนั้นมันก็วิวัฒน์สมองให้ชาญฉลาดเหนือผู้สร้างจนได้ในที่สุด หนังได้รับแรงบันดาลใจมากจาการดวลในเกมของ Anderssen และ Kieseritzky ในปี 1851 ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Immortal Game ด้วย

แต่สำหรับคอหนังรุ่นใหม่อาจจะคุ้นกับเกมหมากรุกพ่อมดที่เป็นฉากที่ลุ้นและสนุกที่สุดแล้วในหนังพ่อมดน้อยภาคแรก Harry Potter and the Sorcerer’s Stone (2001) ในฉากนี้ Harry, Ron และ Hermione ต้องผ่านด่านต่าง ๆ ภายในเส้นทางลับของโรงเรียนฮอกวอตส์เพื่อไปช่วงชิงเอาศิลาอาถรรพ์มาให้ได้ พวกเขาต้องเล่นหมากรุกเสมือนจริงและถ้าแพ้อาจถึงตายได้เลยทีเดียว Jeremy Silman นักหมากรุกคนดังในยุคปัจจุบันได้มาเป็นที่ปรึกษาให้กับฉากนี้ของหนังด้วย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส