ผลงานการศึกษาเด็กชาวอเมริกัน พบว่า เด็กอเมริกันจำนวนกว่า 40% หรือมากกว่าหนึ่งในสาม มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับที่มาของอาหาร โดยพบว่า เด็กอเมริกันคิดว่าผลิตภัณฑ์จากสัตว์อย่าง เบคอน ไส้กรอก นักเก็ตไก่ นักเก็ตกุ้ง และแฮมเบอร์เกอร์นั้นทำมาจาก ‘พืช’ ในขณะที่เข้าใจผิดว่า เฟรนซ์ฟรายส์นั้นทำมาจาก ‘สัตว์’ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศได้ในอนาคต

ผลงานการวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร ‘Journal of Environmental Psychology’ โดยมหาวิทยาลัยเฟอร์แมน (Furman University) สหรัฐอเมริกา ที่ทำการศึกษาวิจัยเด็ก ๆ ชาวอเมริกัน อายุ 4 – 6 ขวบ จำนวน 176 คน เพื่อจำแนกอาหารประเภทต่าง ๆ จำนวน 13 ชนิด เช่น ไส้กรอก เบคอน ชีส ป๊อปคอร์น กุ้ง อัลมอนด์ ไข่ เฟรนซ์ฟราย ฯลฯ

อาหาร

โดยพบว่า เด็ก ๆ เหล่านั้นไม่สามารถจำแนกที่มาของอาหารชนิดต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง 36 – 41% จากกลุ่มตัวอย่างเด็ก ๆ ระบุว่า อาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น เบคอน ไส้กรอก และแฮมเบอร์เกอร์นั้นทำมาจากพืช 30% ไม่สามารถระบุอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ได้ ยกเว้นนม 46% ระบุว่า เฟรนซ์ฟรายส์ทำมาจากเนื้อสัตว์ และจำนวนกว่าหนึ่งในสามไม่สามารถระบุได้ว่า ‘นักเก็ตไก่’ ทำมาจากอะไร

อาหาร

โดยในการวิจัยนี้ระบุว่า เด็ก ๆ สามารถระบุอาหารที่ทำมาจากพืชได้ดีกว่าเล็กน้อย เช่นรู้ที่มาว่าแครอตนั้นเป็นพืช ในขณะที่ 16% ก็ยังระบุที่มาของแอปเปิลไม่ถูกต้อง 44% เข้าใจว่าชีสนั้นไม่ได้มาจากนมวัว แต่เข้าใจว่าเป็นเนยที่มาจากพืช 30% เข้าใจว่าป๊อปคอร์นและอัลมอนด์เป็นอาหารที่ทำมาจากสัตว์

อาหาร

นอกจากการประเมินความรู้เกี่ยวกับที่มาของอาหารแล้ว ทีมวิจัยยังได้ประเมินความรู้เบื้องต้นว่า สัตว์และพืชชนิดใดที่เด็ก ๆ รับรู้ว่าสามารถรับประทานได้ เช่น วัว, หมู, ไก่, ปลา พืชเช่น มะเขือเทศ, ส้ม หรือสิ่งใดที่รับประทานไม่ได้ เช่น แมว, ม้า, ลิง, สุนัข, หนอนผีเสื้อ, ดิน, ทราย, หญ้า ฯลฯ แม้เด็กส่วนใหญ่จะระบุพืชที่กินได้อย่างถูกต้อง แต่กลับพบว่า เด็กส่วนใหญ่ประมาณ 85% เข้าใจผิดว่าวัว, หมู, และไก่นั้นกินไม่ได้ โดยแบ่งเป็นวัว 77% หมู 73% และไก่ 65% ในขณะที่เด็ก 1% ระบุว่าทรายเป็นสิ่งที่กินได้ เด็ก 5% ระบุว่า ‘แมว’ และ 2% ระบุว่า ‘หมา’ นั้นเป็นอาหารที่กินได้

อาหาร

นักวิจัยได้ระบุว่า ความเข้าใจในที่มาของอาหารของเด็กอเมริกันเหล่านี้น่าจะมาจากมุมมองของเด็กยุคใหม่ เกี่ยวกับการรับรู้ที่มาของอาหารแต่ละชนิดลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากในปัจจุบันการทำฟาร์มขนาดใหญ่ ๆ ในสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มลดลงเป็นอย่างมาก ทำให้มีคนที่ทำงานและอาศัยอยู่ในฟาร์มลดน้อยลงกว่าเดิม เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความเข้าใจของเด็กที่มีต่อที่มาของอาหาร และเข้าใจถึงวิธีการผลิตอาหารแต่ละชนิดน้อยลง โดยเฉพาะอาหารบางชนิดที่เปลี่ยนรูปร่างของวัตถุดิบอย่างมาก

อาหาร

อีกสาเหตุคือเกิดจากสิ่งที่นักวิจัยใช้คำว่า “ความย้อนแย้งของเนื้อสัตว์” (Meat Paradox) แม้เด็ก ๆ จะตระหนักได้ว่าผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์นั้นมาจากการทรมานสัตว์ แต่เด็ก ๆ ก็จะได้รับการสนับสนุนให้ปฏิบัติต่อสัตว์ด้วยความเห็นอกเห็นใจ และนั่นทำให้พ่อแม่เกิดความลังเลที่จะสอนลูกอย่างตรงไปตรงมาถึงที่มาของผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ลูกกำลังรับประทานว่ามาจากไหน ทำมาจากอะไร หรือกระบวนการผลิตนั้นโหดร้าย หรือมีกระบวนการยุ่งยากซับซ้อนอย่างไรบ้าง พ่อแม่อาจบังเอิญหรือจงใจที่จะบิดเบือนหรือไม่ให้ข้อมูลกับลูกเกี่ยวกับการฆ่าและทรมานสัตว์ เพราะมองว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนั้นเป็นเรื่องน่ากลัวเกินกว่าที่เด็ก ๆ ควรจะรู้

อาหาร

พ่อแม่อาจรู้สึกว่าการบอกลูกว่าแฮมเบอร์เกอร์นั้นทำมาจากเนื้อวัวนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและโหดร้าย นั่นจึงทำให้เด็กอาจคิดไปเองว่าแฮมเบอร์เกอร์นั้นอาจมาจากต้นไม้เหมือนกับแอปเปิล ซึ่งผู้วิจัยได้ระบุว่า การสอนเด็กด้วยถ้อยความที่คลุมเครือนั้นส่งผลต่อรสนิยมการกินอาหารของเด็กในอนาคต และนั่นก็สามารถเชื่อมโยงเกี่ยวกับเรื่องของอาหารที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

อาหาร

การวิจัยชี้ให้เห็นว่า ความรู้และทัศนคติของเด็กต่อการบริโภคเนื้อสัตว์นั้นต่างจากผู้ใหญ่อย่างเห็นได้ชัด การสอนเด็กแบบคลุมเครือ ทำให้เด็กไม่เข้าใจว่า เนื้อวัว เนื้อไก่ และเนื้อหมู ที่ตนเองกินไปแบบไร้เดียงสา และรู้สึกเห็นอกเห็นใจนั้น แท้จริงมาจากการฆ่าวัว ฆ่าหมู ฆ่าไก่ ซึ่งก็อาจส่งผลให้เมื่อเด็ก ๆ โตขึ้น ก็อาจทำให้พวกเขาไม่สามารถเชื่อมโยงเรื่องของการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และไม่เข้าใจว่าทำไมการกินอาหารจากพืช หรือการลดการกินอาหารจากเนื้อสัตว์จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ช่วยบรรเทาสภาวะโลกร้อน และลดการใช้น้ำในการผลิตได้อย่างไร

ตรงกันข้าม การสอนเด็กให้รู้กรรมวิธีในการกินเนื้อสัตว์แบบตรงไปตรงมา เมื่อโตขึ้น อาจทำให้เด็กสามารถเข้าใจถึงที่มาของแหล่งอาหารได้อย่างถูกต้อง มีทัศนคติที่ชัดเจน และมีทางเลือกในการเปลี่ยนวิถีชีวิตสู่การเลือกกินอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลกมากขึ้น เช่น การลดการกินเนื้อสัตว์ หรือกินอาหารที่ทำจากพืช หรือลดการกินอาหารที่ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนจำนวนมากสู่ชั้นบรรยากาศ


อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส