หลายคนน่าจะทราบข่าวช็อกวงการบันเทิงกันแล้ว เมื่ออเล็ก บอลด์วิน (Alec Baldwin) นักแสดงรุ่นใหญ่วัย 63 ปี เข้า ระหว่างถ่ายทำหนังคาวบอย ซึ่งเป็นหนังแอ็กชันมีฉากยิงกันมากมาย จำเป็นต้องใช้ปืนประกอบในการถ่ายทำมากมาย แต่อาจจะด้วยความผิดพลาด บกพร่องซึ่งความรัดกุมก็ทำให้ปืนที่ใช้การถ่ายทำขณะที่อยู่ในมือของบอลด์วินเกิดลั่น ขณะที่มีกระสุนจริง และพลาดไปโดนผู้กำกับและผู้กำกับภาพ ส่งผลให้ฝ่ายหลังเสียชีวิต

ฮอลลีวูดถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมผลิตภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่ละปีมีหนังถูกผลิตโดยฮอลลีวูดไม่ต่ำกว่า 700 เรื่อง จำต้องมีมาตรการเรื่องความปลอดภัยในการถ่ายทำอย่างมาก โดยเฉพาะหนังแอ็กชันที่ต้องมีทั้งการใช้อาวุธที่มีความอันตราย และฉากผาดโผนที่อาจส่งผลต่อชีวิตสตันต์แมนและทีมงานในกองถ่าย แต่กระนั้นก็ตามตลอดช่วงเวลาหลาย 10 ปีที่ผ่านมา อุบัติเหตุกองถ่าย Rust ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีความผิดพลาดถึงชีวิต และนี่คือ 5 เรื่อง ในประวัติศาสตร์ฮอลลีวูดที่เคยเกิดความผิดพลาดในกองถ่ายจนถึงขั้นมีการเสียชีวิตกันมาแล้ว

1.Twilight Zone: The Movie (1982)


ผู้เสียชีวิต : 3 คน วิก มอร์โรว์, เรเน เฉิน, ไมกา ดินห์ เลอ
รูปการณ์อุบัติเหตุ : เฮลิคอปเตอร์ตก

Twilight Zone เป็นซีรีส์สยองขวัญที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุค 80s ส่งผลให้วอเนอร์อนุมัติให้สร้าง Twilight Zone: The Movie เพื่อต่อยอดความสำเร็จ เป็นหนังสั้น 3 เรื่อง 3 สุดยอดผู้กำกับสยองขวัญในยุคนั้น โจ ดังเต้ (Joe Dante) กำกับเรื่อง Good Life, จอร์จ มิลเลอร์ (George Miller) กำกับเรื่อง 20,000 feet, สตีเวน สปิลเบิร์ก (Steven Spielberg) กำกับเรื่อง Kick the Can และ จอห์น แลนดิส (John Landis) กำกับเรื่อง A Quality of Mercy อุบัติเหตุเกิดขึ้นในเรื่องหลังสุดของแลนดิสนี่ล่ะครับ

Vic Morrow

เรื่องราวของ บิล คอนเนอร์ หนุ่มอารมณ์บูด หลังไม่ได้รับการเลื่อนขั้นในที่ทำงาน แต่หัวหน้ากลับเลื่อนขั้นให้เพื่อนร่วมงานชาวยิว ทำให้เขาไปดื่มในบาร์ และระเบิดอารมณ์ใส่ คนยิว คนผิวดำ และคนเอเซียในร้าน จนเกิดมีปากเสียง คอนเนอร์จึงออกจากร้านมา แต่อยู่ดี ๆ เขาก็หลุดข้ามเวลาและสถานที่ไปโผล่ในที่ต่าง ๆ เช่น เยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2, เมืองทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ช่วงที่คลูคลักซ์แคลนกำลังไล่ฆ่าคนผิวดำ และสงครามเวียดนาม

ปัญหาเกิดขึ้นในฉากที่จำลองเป็นสงครามในเวียดนามนั้นเอง ในฉากนี้ วิก มอร์โรว์ (Vic Morrow) นักแสดงชื่อดังมาตั้งแต่ยุค 50s รับบทเป็น บิล คอนเนอร์ จะต้องขึ้นไปอยู่บนเฮลิคอปเตอร์ ร่วมกับนักแสดงเด็ก 2 คนคือ เรเน เฉิน (Renee Chen) วัย 6 ขวบ และ ไมกา ดินห์ เลอ (My-ca Dinh Le) วัย 7 ขวบ ขณะที่กองถ่ายเบื้องล่างก็จำลองฉากเป็นสนามรบอันดุเดือด มีระเบิดตูมตามมากมาย แล้วข้อผิดพลาดก็เกิดขึ้นเมื่อระเบิดรุนแรงเกินคาด สะเก็ดระเบิดชิ้นหนึ่งลอยไกลสูงขึ้นกว่า 30 เมตร ไปโดนเข้ากับใบพัดท้ายเครื่อง ทำให้เครื่องเสียการทรงตัวและตกลง ใบพัดตัดศีรษะมอร์โรว์และเลอ ตัวเครื่องบินทับเฉิน ทั้ง 3 คนเสียชีวิตทันที บาดเจ็บสาหัสอีก 6 คน

Renee Chen, My-ca Dinh Le

หลังเกิดเหตุมีการสอบสวนคดีนี้อย่างละเอียด ทำให้เจอความประมาทในการทำงานมากมาย เริ่มจากกองถ่ายมีการจ่ายเงินค่าจ้างพิเศษให้กับครอบครัวของนักแสดงเด็กทั้ง 2 เพราะการถ่ายทำในเวลากลางคืนแล้วยังมีการใช้ระเบิดและเฮลิคอปเตอร์ในการถ่ายทำนั้น จะต้องไม่ได้รับใบอนุญาตจากจากกองควบคุมการทำงานโดยมีแรงงานเด็กอย่างแน่นอน พอมีอุบัติเหตุถึงชีวิตในกองถ่าย ผู้ช่วยผู้กำกับก็ซัดทอด จอห์น แลนดิส แบบเต็ม ๆ ว่าเขาไม่เคยรู้สึกสบายใจด้วยเลยกับมาตรการกองถ่ายแบบนี้ แต่แลนดิสกลับมองว่าไม่เห็นจะน่าเป็นห่วงแต่อย่างใด ก่อนหน้านี้เขาตั้งใจจะหว่านล้อมให้แลนดิสถ่ายทำฉากนี้โดยใช้หุ่นแทนตัวเด็ก หรือใช้คนแคระมาถ่ายแทน แต่ก็ล้มเลิกความตั้งใจเพราะมันจะออกมาดูหลอกตาเกินไป

จอร์จ ฟอลซีย์ จูเนียร์ (George Folsey Jr.) ผู้อำนวยการสร้างร่วมไปขอความร่วมมือกับพ่อแม่ของดาราเด็กว่าอย่าไปบอกให้ พนักงานดับเพลิง ที่มาดูแลความเรียบร้อยในกองถ่ายให้รู้ว่า เด็ก ๆ จะเข้าร่วมแสดงในฉากนี้ด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ดับเพลิงผู้หนึ่งที่ดูแลพื้นที่ในกองถ่ายก็เห็นการทำงานของทีมงานแล้วรู้สึกเป็นกังวลว่าแรงระเบิดเบื้องล่างจะเกิดอันตรายต่อเฮลิคอปเตอร์ เขาจึงเอาเรื่องนี้ไปบอกกับหัวหน้า แต่หัวหน้าก็ตัดพ้อว่า “ไปบอกผู้กำกับสิ” แล้วก็จบอยู่แค่นั้น เจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่ได้ไปพูดคุยกับจอห์น แลนดิส แต่อย่างใด ด้วยเหตุผลที่ว่า “นั่นมันอยู่นอกเหนือสายงานของหน่วยดับเพลิง”

ดร.แดเนียล เลอ (Dr. Daniel Le) นักจิตวิทยาผู้เป็นพ่อของ ไมกา ดินห์ เลอ ให้การว่า ขณะที่เขาเฝ้าดูการถ่ายทำอยู่นั้น เขาได้ยินผู้กำกับจอห์น แลนดิส สั่งให้เฮลิคอปเตอร์ บินต่ำลงอีก ต่ำลงมาอีก ซึ่งพ่อแม่เด็กทั้งหมดให้การตรงกันว่า ไม่เคยรับทราบมาก่อนว่าลูก ๆ ของพวกเขาจะต้องเข้าฉากที่มีเฮลิคอปเตอร์และระเบิด แต่ทีมงานก็ยืนยันหนักแน่นว่าลูก ๆ ของพวกเขาจะปลอดภัยดี มีอย่างมากก็แค่เสียงดังหน่อยเท่านั้น

มีเรื่องที่น่าแปลกก่อนเกิดเหตุก็คือ วิก มอร์โรว์ ดูเหมือนจะมีลางสังหรณ์ว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้นกับตัวเขา ซึ่งก็เกิดขึ้นจริง ๆ เขาได้เปรยกับผู้ช่วยกองถ่ายคนหนึ่งว่า

“ผมว่าผมคงบ้าไปแล้วที่ตัดสินใจแสดงฉากนี้เอง ผมน่าจะขอให้เขาใช้สตันต์แสดงแทนนะ เพราะมันอาจจะทำผมตายเลยก็ได้นะ ใช่มั้ย?”

มอร์โรว์ เคยมีประสบการณ์การถ่ายทำบนเฮลิคอปเตอร์มาแล้วจากเรื่อง Dirty Mary Crazy Larry (1974) เขายืนกรานกับทีมงานว่าถ้าเขาจะต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เขาขอทำประกันชีวิตวงเงิน 1 ล้านเหรียญก่อน เขาถึงจะยอมขึ้นเครื่อง พอทีมงานถามถึงเหตุผล มอร์โรว์ก็บอกว่า “ผมมีนิมิตมองเห็นภาพตัวเองจะต้องตายเพราะเฮลิคอปเตอร์ตก”

John Landis

ส่วนผู้กำกับ จอห์น แลนดิส นั้น สุดท้ายก็รอดพ้นคดีนี้มาได้ ศาลตัดสินว่าเขาไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหาว่า ‘ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา’ เขายังมีงานกำกับต่อเนื่องในฮอลลีวูดอีกหลายเรื่อง และประสบความสำเร็จอย่างมากอีกด้วย มีหนังดัง ๆ ที่เป็นผลงานกำกับของเขาอย่างเช่น ‘Trading Places’, ‘Three Amigos’ และ ‘Coming to America’ แต่ถึงอย่างนั้นแลนดิสก็ยอมรับว่า อุบัติเหตุจาก Twilight Zone ยังคอยตามหลอกหลอนเขาอยู่ ไม่เคยมีสักวันเดียวที่เขาจะไม่นึกถึงเหตุการณ์นั้น

หลังเหตุการณ์ความผิดพลาดในกองถ่าย Twilight Zone ผ่านไป อุบัติเหตุในกองถ่ายในช่วงปี 1982 – 1986 ลดลงไปถึง 69.9 เปอร์เซนต์ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนตายในกองถ่ายอีก 6 คน

2.Midnight Rider (2014)

Midnight Rider (2014)

ผู้เสียชีวิต : 1 คน ซาราห์ โจนส์ ตำแหน่งผู้ช่วยกล้อง
รูปการณ์อุบัติเหตุ : เศษโลหะแทงเข้าร่าง

ไม่มีใครได้ดูหนังเรื่อง Midnight Rider ที่ถ่ายทำในปี 2014 หนังเป็นเรื่องราวชีวประวัติของ เกร็ก ออลแมน (Gregg Allman) นักร้อง มือกีตาร์ จากวง Allman Brother อีกหนึ่งตำนานความภาคภูมิใจของวงร็อกสัญชาติอเมริกัน รับบทโดย วิลเลียม เฮิร์ต (William Hurt) แต่เพราะมีอุบัติเหตุถึงชีวิตต่อ ซาราห์ โจนส์ (Sarah Jones) ผู้ช่วยกล้องหญิง ทำให้กองถ่ายต้องยุติการถ่ายทำ

ทีมงานขณะอยู่บนสะพาน

ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2014 ทีมงานยกกองไปถ่ายทำกันที่พื้นที่ห่างไกลในเมืองเวย์น เคาน์ตี รัฐจอร์เจีย เพื่อจะทำการ ‘ทดสอบการถ่ายทำ’ ตามที่ทีมงานเข้าใจกันในขณะนั้น พื้นที่ที่เข้าไปถ่ายทำนั้นอยู่ในความดูแลของบริษัท Rayonier ที่ดำเนินกิจการด้านป่าไม้ ในพื้นที่นี้มีเส้นทางรถไฟของบริษัท CSX แล่นผ่านอยู่ และมีสะพานรถไฟเก่าแก่ที่เป็นสิ่งก่อสร้างประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ถูกสร้างขึ้นเพื่อข้ามแม่น้ำอัลทามาฮา (Altamaha River) ทีมงานได้ติดต่อไปยัง CSX เพื่อขออนุญาตเข้าไปถ่ายทำบนสะพานนี้ 2 ครั้ง แต่ทางบริษัทก็ปฏิเสธไปทั้งสองครั้ง

ซาราห์ โจนส์

ในฉากที่เกิดเหตุสลดใจนี้ เป็นฉากจำลองภาพ ‘ความฝัน’ ของ เกร็ก ออลแมน ที่เขานอนอยู่บนเตียงคนไข้ซึ่งวางอยู่บนสะพานรถไฟนี้อีกที ซึ่งทีมงานก็ทำงานกันแบบงง ๆ เพราะกำหนดการเปิดกล้องจริงคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ตามแผนการนั้นจะยกกองไปถ่ายทำกันที่ซาวันนาห์ (Savannah) แม้ทีมงานจะทราบกันดีว่าทาง CSX ไม่อนุญาตให้มาถ่ายทำบนสะพานนี้ แต่ผู้อำนวยการสร้างก็ยืนยันว่าไม่เป็นไร ปลอดภัยแน่นอน เพราะนี่เราอยู่ในช่วง ‘Camera Test’ และจะถ่ายทำฉากนี้กันโดยที่ไม่ต้องใช้ทีมงานเต็มรูปแบบ

ระหว่างที่ถ่ายทำกันอยู่นั้น รถไฟก็วิ่งผ่านโค้งมาด้วยความเร็ว 93 กิโลเมตร/ชั่วโมง เทียบเป็นวินาทีก็ 26 เมตร/วินาที นับว่าเป็นความเร็วที่สูงมากจนทีมงานมีเวลาเคลื่อนย้ายข้าวของออกจากบนสะพานไม่ถึง 1 นาที และสาเหตุสำคัญก็คือทีมงานทั้งหมดอยู่กันบนสะพาน การจะออกจากสะพานไปบนพื้นดินได้นั้นมีเส้นทางเดียวคือ ต้องวิ่งเข้าหาตัวรถไฟที่กำลังวิ่งมาด้วยความเร็ว ทีมงานรีบเร่งย้ายอุปกรณ์กล้องกันอย่างไม่คิดชีวิต คงเหลือแต่เพียงเตียงโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่และหนักจนไม่สามารถเอาออกมาได้ทัน และเมื่อรถไฟมาถึง ทีมงานหลายคนยังติดกันอยู่บนสะพาน ก็ต้องเบียดตัวแนบชิดกับราวสะพานขณะที่รถไฟกำลังวิ่งผ่านไป รถไฟบดขยี้เตียงโรงพยาบาลที่เป็นโลหะ ทำให้ชิ้นส่วนเตียงกลายเป็นชิ้นเหล็กแหลมคม ชิ้นส่วนหนึ่งพุ่งตรงเข้าเสียบร่างของซาราห์ โจนส์ ทำให้เธอเสียชีวิตทันที

สะพานที่เกิดเหตุ

ส่วน วิลเลียม เฮิร์ต (William Hurt) นักแสดงนำนั้นโชคดีที่ลงจากเตียงคนไข้มาได้ทัน แต่เขาก็ต้องวิ่งหนีรถไฟด้วยเท้าเปล่า ทำให้เศษอิฐ เศษหินบาดฝ่าเท้าเขาจนเป็นแผล ทีมงานคนอื่น ๆ อีก 7 คนที่รอดชีวิตต่างก็โดนชิ้นส่วนเตียงทิ่มแทงบาดเจ็บไปหลายคน ต้องส่งตัวเข้าโรงพยาบาลกันอย่างเร่งด่วน

งานนี้ผู้ที่รับผิดไปเต็ม ๆ คือ แรนดัล มิลเลอร์ (Randall Miller) ผู้กำกับภาพยนตร์ ที่ศาลตัดสินว่ามีความผิดจริงในข้อหา เป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิตโดยไม่ได้เจตนา และข้อหาบุกรุกพื้นที่ เขาโดนลงโทษให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี แต่ก็ติดคุกจริงแค่ปีเดียวแล้วก็พ้นโทษออกมา ส่วนบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์นั้นโดนค่าปรับเป็นเงิน 74,900 เหรียญ ในข้อหาละเลยในเรื่อง การบริหารจัดการเรื่องสุขภาพพลานามัย และ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย

3.The Crow (1994)

The Crow (1994)

ผู้เสียชีวิต : 1 คน แบรนดอน ลี นักแสดงนำ
รูปการณ์อุบัติเหตุ : กระสุนปืนค้างลำกล้อง

นับเป็นอุบัติเหตุในกองถ่ายที่เป็นข่าวใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ฮอลลีวูด เพราะผู้ที่เสียชีวิตในเรื่องนี้คือ แบรนดอน ลี (Brandon Lee) นักแสดงนำที่กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในขณะนั้น ทั้งจะด้วยรูปร่างหน้าตาที่หล่อเหลา เหมาะสมเป็นพระเอกอย่างสมบูรณ์แบบ และด้วยฐานะทายาทตัวจริงของ บรู๊ซ ลี (Bruce Lee) ตำนานมวยจีนผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลในฮอลลีวูด

bBandon Lee

เหตุเกิดในวันที่ 31 มีนาคม 1993 ทีมงานภาพยนตร์ The Crow หนังซูเปอร์ฮีโรเรื่องดังกำลังถ่ายทำกันใน สตูดิโอ สกรีน เจมส์ ในวิลมิงตัน รัฐนอร์ธ แคโรไลนา แบรนดอน ลี รับบทเป็น อีริก พระเอกของเรื่อง ในฉากนี้เขาเห็นคู่หมั้นของเขากำลังถูกคนร้ายทุบตีโดย Funboy หนึ่งในตัวร้ายของเรื่องที่รับบทโดย ไมเคิล แมสซี (Michael Massee) พออีริกเขามาขัดจังหวะ Funboy จึงใช้ปืนลูกโม่ แม็กนัม .44 ยิงเข้าใส่อีริกขณะที่กำลังเดินเข้ามาในห้อง

ปืนกระบอกนี้เป็นปืนจริงแต่ใช้กระสุนปลอม และถูกใช้มาแล้วในฉากก่อนหน้านี้ ความผิดพลาดอย่างหนึ่งของทีมงานก็คือ ไม่ใช้กระสุนปลอมซึ่งมีจำหน่ายเพื่อใช้ในการถ่ายทำจริง ๆ แต่กลับให้ทีมงานจัดหาอุปกรณ์ประกอบฉาก มาดัดแปลงกระสุนจริงให้เป็นกระสุนเปล่า ด้วยการผ่าเอาดินปืนออก เหลือแต่ปลอกเปล่า ๆ แล้วใส่กลับไปในลูกโม่ แต่ด้วยความที่ไม่ชำนิชำนาญเกี่ยวกับอาวุธปืน ทำให้ทีมงานเอาดินปืนออกไม่หมด ยังมีส่วนหนึ่งตกค้างอยู่บริเวณหัวกระสุน ข้อผิดพลาดอีกอย่างก็คือช่วงที่ไม่ได้ใช้ปืนกระบอกนี้ในการถ่ายทำ ไม่มีการตรวจเช็กให้เรียบร้อยก่อนนำไปเก็บในที่ปลอดภัย จึงไม่มีใครทราบว่ายังมีกระสุนค้างลำกล้องอยู่

Michael Massee ในบท Funboy

จนกระทั่งถึงนาทีที่มีการถ่ายทำฉากที่กลายเป็นการฆาตกรรมจริงโดยไม่ได้ตั้งใจ ในฉากนี้ Funboy จะยิงลีในระยะห่างออกไปประมาณ 4 – 5 เมตร ในฉากนี้มีการนำกระสุนปลอมออกจากลูกโม่หมดสิ้นแล้ว ฉะนั้นถ้าจะเหนี่ยวไกปืนจริง ๆ ก็จะไม่มีอะไรน่าวิตกกังวล เพราะจะไม่มีกระสุนลั่นออกจากลำกล้อง ในกองถ่ายนี้มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญอาวุธปืนโดยเฉพาะมาทำหน้าที่ แต่เมื่อเห็นว่าฉากนี้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงก็เลยให้เขากลับบ้านไปก่อน เจ้าหน้าที่ดูแลอุปกรณ์ประกอบฉากเลยมารับหน้าที่แทน ซึ่งก็ไม่ได้มีการตรวจเช็กปืนอย่างละเอียดรอบคอบ เมื่อ Funboy เหนี่ยวไกกระสุนเปล่าที่เอาดินปืนออกไม่หมด และตกค้างอยู่ในลำกล้องก็พุ่งออกไป หัวกระสุนขนาด .44 วิ่งออกจากลำกล้องด้วยความแรงเทียบเท่ากระสุนจริง ตรงเข้าที่หน้าท้องของแบรนดอน ลี เขาถูกนำตัวส่งไปโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน แพทย์พยายามทำการยื้อชีวิตอยู่ 6 ชั่วโมง แต่ก็ไม่เป็นผล เขาถูกประกาศว่าเสียชีวิตอย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 13:03 น. ของวันที่ 31 มีนาคม 1993 ด้วยอายุเพียง 28 ปี สาเหตุการตายระบุว่าเป็น อุบัติเหตุ

สำนักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (Occupational Safety and Health Administration) สั่งปรับกองถ่ายเป็นเงิน 84,000 เหรียญ แต่มีการลดหย่อนในภายหลังคงเหลือเพียง 55,000 เหรียญ การตายของลี ส่งผลให้มีความเข้มงวดในการใช้อาวุธปืนประกอบการถ่ายทำ

4.Cops (2014)


ผู้เสียชีวิต : 1 คน ไบรซ์ ดิออน เจ้าหน้าที่ฝ่ายเสียง
รูปการณ์อุบัติเหตุ : โดนลูกหลงจากการยิงปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับคนร้าย

COPS เป็นเรียลลิตี้ทีวีซีรีส์ ที่ตามติดชีวิตจริงการทำงานของตำรวจสหรัฐฯ เป็นซีรีส์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เริ่มออกอากาศมาตั้งแต่ปี 1990 ทางช่อง FOX ออกอากาศต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 33 ซีซัน รวมแล้วกว่า 1,100 ตอน ตอนละ 30 นาที เนื่องด้วยเป็นเรียลลิตี้ทีวี ที่ตามติดการทำงานจริงของตำรวจ ทีมงานต้องเสี่ยงชีวิตขณะที่บันทึกภาพเหตุการณ์การยิงปะทะ จึงส่งผลให้ ไบรซ์ ดิออน เจ้าหน้าที่บันทึกเสียงต้องเสียชีวิตเพราะโดนกระสุนปืนในเหตุยิงต่อสู้

Bryce Dion

วันที่ 26 สิงหาคม ปี 1994 เวลาประมาณ 21:20 น. ทีมงานของ Cops ซึ่งประกอบไปด้วยช่างภาพและ ไบรซ์ ดิออน (Bryce Dion) เจ้าหน้าที่บันทึกเสียง ประจำการอยู่ที่สถานีตำรวจ โอมาฮา รัฐเนบราสกา เพื่อรอคอยว่ามีการแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายแล้วจะได้ติดสอยห้อยตามเจ้าหน้าที่ตำรวจไปบันทึกเหตุการณ์จริง ตามแผนงานทีมงานคู่นี้จะประจำอยู่ที่โอมาฮา สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้าย หลังจากประจำอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน แล้วในคืนนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ลาดตระเวนอยู่ วิทยุมาขอกำลังเสริมให้ไปสมทบเหตุมีคนร้ายปล้นร้าน Wendy แฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ดชื่อดัง เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีตำรวจจึงตอบรับ เป็นโอกาสดีให้ทีมงาน Cops ได้ขอติดตามไปบันทึกภาพเหตุการณ์นี้ด้วย

คนร้ายในเหตุนี้คือ คอร์เทซ วอชิงตัน (Cortez Washington) วัย 32 ปี ที่ไม่ยอมจำนนง่าย ๆ แต่ยิงต่อสู้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าควบคุมเหตุการณ์ 3 นายอย่างสุดความสามารถ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้หนึ่งแอบเข้าไปทางด้านหลังร้าน และยิงต่อสู้กับวอชิงตัน กระสุนวิ่งผ่านกระจกร้านออกมา ดิออนซึ่งอยู่ด้านนอกร้าน และสวมชุดเกราะกันกระสุน โดนกระสุนปืนของตำรวจที่ยิงทะลุกระจกร้านออกมาวิ่งเข้าที่รักแร้ซ้ายของดิออน เป็นส่วนที่ไม่มีเสื้อเกราะคุ้มกัน เจ้าหน้าที่นำตัวดิออนส่งเข้าโรงพยาบาลทันที แต่ดิออนก็เสียชีวิตหลังจากไปถึงโรงพยาบาลได้ไม่นาน ดิออนทำงานให้กับ Langley Production มาแล้ว 7 ปี นับเป็นทีมงานของ Cops รายแรกที่เสียชีวิตหลังซีรีส์แพร่ภาพต่อเนื่องมาตลอด 25 ปี หลังการเสียชีวิตของดิออน Cops ได้รวบรวมผลงานของ ไบรซ์ ดิออน มาแพร่ภาพในวันที่ 20 กันยายน 2014 เป็นตอนพิเศษ ความยาว 1 ชั่วโมง

ภาพจากฟุตเทจ ขณะที่ ไบรซ์ ดิออน ถูกยิง

หลังเกิดเหตุ ทางกรมตำรวจสั่งให้เจ้าหน้าที่ทั้งสามนายให้พักงานชั่วคราว ระหว่างรอผลการสืบสวน แต่สุดท้ายคณะลูกขุนก็ลงความเห็นว่า เจ้าหน้าที่ทั้งสามนายไม่มีความผิด แต่ เทรวอน ดิออน พี่ชายของไบรซ์ ดิออน ไม่พอใจผลการตัดสิน เขายื่นฟ้องเทศบาลเมืองโอมาฮา ในข้อกล่าวหาที่ว่า ความไม่ละเอียดในข้อมูลสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยุ กับเจ้าหน้าที่ผู้ลงพื้นที่ ส่งผลให้ไบรซ์ ดิออน ต้องเสียชีวิต ในเอกสารยื่นฟ้องนี้ยังกล่าวหาว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ชักชวนให้ทีมงานตามไปบันทึกภาพเหตุการณ์ปะทะรุนแรงที่มีอันตรายเช่นนี้ แต่ผู้พิพากษาก็ประกาศไม่รับฟ้องคดีนี้ในเดือนกรกฎาคม 2019

หลังการตายของ ไบรซ์ ดิออน สำนักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัยก็เข้ามากำชับให้ทุก ๆ กองถ่ายมีการฝึกฝนเพื่อควาปลอดภัยขณะทำงานที่มีความเสี่ยง กำชับให้มีการฝึกสอนทีมงานในกรณีที่จะต้องมีการถ่ายเหตุการณ์ยิงกันจากตำแหน่งห่างไกล สั่งให้ยกเลิกโบนัสพิเศษที่ยั่วยุให้ทีมงานเสี่ยงชีวิตเพื่อจะบันทึกภาพเหตุการณ์ร้าย

5.ภาพยนตร์เกี่ยวกับทหาร ของ Discovery Channel (2013)


ผู้เสียชีวิต : 3 คน ดาร์เร็น ริดสตอร์ม ช่างภาพ, ไมเคิล โดนาเทลลี ทีมงาน, เดวิด กิบส์ นักบิน
รูปการณ์อุบัติเหตุ : เฮลิคอปเตอร์ตก

ภาพยนตร์สำหรับฉายทางทีวีเกี่ยวกับทหาร เป็นโปรเจกต์ที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อและสุดท้ายก็ไม่สำเร็จลุล่วง ไม่มีการแพร่ภาพของช่อง Discovery Channel เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ปี 2013 เป็นการถ่ายทำในตอนกลางคืนเวลา 3:30 น. ที่วาเลนเซีย แคลิฟอร์เนีย ดาร์เร็น ริดสตอร์ม (Darren Rydstrom) วัย 45 ปี ทำหน้าที่ช่างภาพ, ไมเคิล โดนาเทลลี (Michael Donatelli) วัย 45 ปีทีมงานถ่ายทำ และ เดวิด กิบส์ (David Gibbs) วัย 59 ปีนักบินเฮลิคอปเตอร์ ทั้ง 3 คนอยู่บนเฮลิคอปเตอร์ 206B Jetranger ระหว่างบันทึกภาพจากมุมทางอากาศ ทั้งสามเสียชีวิตทันทีหลังเฮลิคอปเตอร์เสียการควบคุมและตกลงกระแทกพื้นล่าง

3 ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์

มีการวิเคราะห์สาเหตุต่าง ๆ นานาที่ทำให้เฮลิคอปเตอร์ตก ข้อสันนิษฐานที่ดูเป็นไปได้มากสุด มาจากหลักฐานสำคัญที่พบว่ามีการถ่ายทำด้วยกล้อง GoPro และใช้แผงไฟ LED ช่วยส่องสว่าง โดยเฉพาะในคืนเกิดเหตุนั้น เป็นคืนเดือนมืด และเป็นการบินในระดับต่ำ อุปกรณ์จำเป็นที่สุดของนักบินในสถานการณ์นั้นคือใช้ แว่นช่วยมองภาพในที่มืด (Night Vision Goggle) ในการบังคับเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งแว่น Night Vision นี้ไวต่อแสงสว่างมาก ต้องระวังเด็ดขาดไม่ให้มีแสงสว่างภายนอกเข้าไปรบกวน โดยเฉพาะแสงจากหลอด LED ที่สว่างมาก ๆ

ขณะที่ถ่ายทำนั้น นักแสดงเบื้องล่างจะอยู่ด้านซ้ายของเฮลิคอปเตอร์ ช่างภาพและทีมงานก็จะอยู่ด้านซ้ายของตัวเครื่อง ทำให้นักบินต้องระแวดระวังและกะระยะห่างของเครื่องกับพื้นล่างทางด้านซ้าย น่าจะเป็นจังหวะที่นักบินให้ไปมองทางด้านซ้ายของตัวเครื่อง ก็ปะทะเข้ากับแสงสว่างของหลอด LED ที่สว่างจ้าซึ่งทีมงานใช้ในการถ่ายทำ ส่งผลให้เสียการควบคุมเครื่องอย่างกะทันหัน การสูญเสียครั้งนี้นับเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่สุดในการถ่ายทำภาพยนตร์ นับตั้งแต่เหตุการณ์จากกองถ่าย Twilight Zone

อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง