สโมสรฟุตบอลเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกีฬาที่บ่งบอกเรื่องราวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์หรือเมือง ศาสนา การเมือง ไปจนถึงผู้คน ด้วยความที่ประเทศอังกฤษเป็นต้นกำเนิดกีฬาหลาย ๆ ชนิด รวมถึงฟุตบอล ทำให้ชื่อของสโมสรแต่ละแห่งล้วนอัดแน่นไปด้วยประวัติศาสตร์และเรื่องราว อีกทั้งความสำคัญของชื่อสโมสรยังใช้ภาษาอังกฤษเป็นมาตราฐานเดียวกันทั้งโลก

บ่อยครั้งชื่อและฉายาสโมสรถูกแทนด้วยชื่อของเมืองหรือย่านนั้น ๆ แต่ก็มีบางสโมสรที่ใช้ชื่อด้วยที่มาอื่น ๆ bearttai BUZZ จะพาไปทำความรู้จักแต่ละสโมสรในศึก ‘พรีเมียร์ลีก’ ฤดูกาล 2021-22 ด้วยชื่อและฉายาที่ถูกตั้งให้ ไปจนถึงทีมที่ตั้งฉายาเองเอาไว้ข่มขวัญคู่แข่ง หากคุณเป็นแฟนบอลของสโมสรเหล่านี้ มาลองทายกันดูซิว่าชื่อที่พวกเราเรียก ๆ กันมีที่มาจากอะไร เรียงลำดับตามตัวอักษร A-Z ไม่ใช่ตารางคะแนน..โปรดอย่าตกใจ

1. อาร์เซนอล (Arsenal)

Arsenal

สโมสรอาร์เซนอลมีฉายาว่า ‘เดอะกันเนอร์ส’ หรือ ‘ปืนใหญ่’ ตามโลโก้ของสโมสร ซึ่งอาร์เซนอลแทบจะเป็นเพียงไม่กี่ทีมในอังกฤษที่ไม่ได้ตั้งชื่อสโมสรตามชื่อเมืองหรือย่านนั้น ๆ แต่เป็นกลุ่มคนงานของโรงงานผลิตอาวุธ ‘รอยัล อาร์เซนอล (Royal Arsenal)’ ในย่านวูลิชของกรุงลอนดอน  นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสถานีรถไฟใต้ดิน ‘อาร์เซนอล สเตชัน’ เป็นสถานีเดียวในอังกฤษที่ตั้งชื่อตามสโมสรฟุตบอล โดยเปลี่ยนจากชื่อเก่าคือสถานีกิลเลสพี โร้ด สเตชัน (Gillespie road station) นั่นเอง

2. แอสตัน วิลล่า (Aston Villa)

Aston Villa

แอสตัน วิลล่ามีฉายาหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น ‘เดอะไลออนส์’ หรือ ‘วิลล่า’ ไปจนถึง ‘เดอะคลาเรต แอนด์ บลูอาร์มี (The Claret and Blue Army)’ แต่แฟนคลับในไทยเรียกกันติดปากว่า ‘สิงห์ผงาด’ หรือ ‘สิงห์ผยอง’ ไปจนถึง ‘วิลล่า’ เช่นเดียวกับชื่อสนามเหย้า

3. เบรนท์ฟอร์ด (Brentford)

Brentford

เบรนท์ฟอร์ด มีฉายาว่า ‘เดอะ บีส์’ หรือ ‘ผึ้งพิฆาต’ และ ‘ผึ้งน้อย’ ในชื่อที่คนไทยคุ้นเคย เบรนท์ฟอร์ดกำลังจะได้กลับขึ้นมาเล่นในพรีเมียร์ลีกอีกครั้งในฤดูกาล 2021-22 ในรอบ 74 ปี หลังจากล่าสุดตกชั้นไปเมื่อปี 1947 คงต้องมาดูกันว่าผึ้งพิฆาตจะสามารถอาละวาดศึกพรีเมียร์ลีกได้นานแค่ไหน

4. ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบียน (Brighton & Hove Albion)

Brighton & Hove Albion

ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบียน มีฉายาว่า ‘เดอะซีกัลส์’ หรือนกนางนวล มีที่มาจากตราสโมสร โดยอ้างอิงมาจากเมืองไบรท์ตันเป็นเมืองชายทะเลและเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่านกนางนวล จึงนำลักษณะท้องถิ่นมาใช้เป็นชื่อเรียกสโมสรเช่นกัน

5. เบิร์นลีย์ (Burnley)

Burnley

แต่เดิมเบิร์นลีย์ใช้ชื่อว่า ‘เบิร์นลีย์ โรเวอร์ส’ ต่อมาได้ตัดชื่อพยางค์หลังออกเหลือแค่ ‘เบิร์นลีย์’ และตามมาด้วยฉายา ‘เดอะคลาเร็ตส์ (The Clarets)​’ ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ‘เหล้าองุ่น’

6. เชลซี (Chelsea)

Chelsea

เชลซีมีฉายาว่า ‘เดอะบลูส์’ แต่คนไทยจะคุ้นเคยในชื่อ ‘สิงโตน้ำเงินคราม’ และ ‘สิงห์บลู’ เชลซีเปลี่ยนชื่อสโมสรมาแล้วหลายครั้ง แรกสุดใช้ชื่อว่าสโมสร ‘ฟูแล่มเอฟซี’ แล้วจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘เคนชิงตันเอฟซี’ ตามมาด้วย ‘สแตมฟอร์ดบริดจ์เอฟซี’ (ชื่อสนาม) จนสุดท้ายกลายมาเป็น ‘ลอนดอน เอฟซี’ หรือ ‘เชลซี’ จนถึงทุกวันนี้

7. คริสตัล พาเลซ (Crystal Palace)

Crystal Palace

คริสตัล พาเลซมีฉายาว่า ‘ดิอีเกิลส์’ และ ‘เดอะ กลาเซียร์ส’ ที่อ้างอิงมาจากตราสโมสรเป็นรูปปราสาทและมีนกอินทรีอยู่ด้านบน คนไทยจะคุ้นเคยในชื่อ ‘ปราสาทเรือนแก้ว’ มากกว่า

8. เอฟเวอร์ตัน (Everton)

Everton

เอฟเวอร์ตันมีฉายาว่า ‘เดอะบลูส์’ และ ‘เดอะทอฟฟี’ ที่คนไทยเรียกติดปากว่าสโมสร ‘ทอฟฟีสีน้ำเงิน’ ส่วนที่มาของคำว่า ทอฟฟีนั้นต้องย้อนกลับไปสมัยก่อนที่เอฟเวอร์ตันยังเป็นเมืองโรงงานทำทอฟฟี่อยู่ โดยเจ้าของโรงงานนั้นคือมา บูเชล (Ma Bushell) ที่เจ้าตัวจะนำลูกอมและทอฟฟีต่าง ๆ มาแจกกองเชียร์ก่อนเข้าสนาม จึงทำให้ภาพความน่ารักเหล่านี้กลายมาเป็นฉายาสร้างภาพจำให้สโมสรในที่สุด  

9. ลีดส์ ยูไนเต็ด (Leed United)

Leeds United

ลีดส์ ยูไนเต็ดมีฉายาว่า ‘เดอะ ไวท์ส’ และ ‘เดอะ พีค็อกส์’ หรือ ‘ยูงทอง’ ที่คนไทยคุ้นเคย ลีดส์ ยูไนเต็ดเป็นหนึ่งในทีมที่กลับขึ้นมาเล่นในพรีเมียร์ลีกได้อีกครั้งในรอบ 16 ปี คำถามที่หลายคนอาจยังไม่รู้คือแล้ว ‘ยูงทอง’ หรือนกยูงมาจากไหน ทั้ง ๆ ที่ตราประจำเมืองลีดส์เป็นรูปนกฮูกเสียด้วยซ้ำ คำตอบคือในช่วงปี 80s สโมสลีดส์ ยูไนเต็ด ได้ปรับเปลี่ยนตราสโมสรจากเดิมที่เคยเป็นรูปวงกลมมาเป็นรำแพนของนกยูง ก่อนที่จะใส่ตัวนกยูงเข้าไปเสียเลย จึงมาพร้อมฉายา ‘ยูงทอง’ ที่คนไทยเรียกกันติดปาก ถึงแม้ว่าภายหลังลีดส์ ยูไนเต็ดจะเปลี่ยนโลโก้เป็นสัญลักษณ์ของแคว้นยอร์คเชียร์คือ ดอกกุหลาบขาวแห่งยอร์คแล้วก็ตาม แต่ชื่อของ ‘ยูงทอง’ ก็ยังติดปากคนไทยมาตั้งแต่นั้น

10. เลสเตอร์ ซิตี้ (Leicester City)

Leicester City

เลสเตอร์ ซิตี้มีฉายาว่า ‘เดอะฟ็อกซ์’ หรือ ‘จิ้งจอกสีน้ำเงิน’ ในภาษาไทย หลังจากคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา เข้าไปเทกโอเวอร์สโมสร คนไทยจึงเปลี่ยนมาเรียกเป็น ‘จิ้งจอกสยาม’ ที่สามารถกอบโกยถ้วยแชมป์มาได้หมาด ๆ ฉายาจิ้งจอกนี้ก็มีที่มาจากในอดีตเมืองเลสเตอร์เป็นเมืองที่นิยมล่าจิ้งจอก จนถึงขนาดกลายเป็นประเพณีประจำเมืองที่จะมีขึ้นปีละครั้งเลยทีเดียว

11. ลิเวอร์พูล (Liverpool)

Liverpool

แม้คนไทยจะเรียกกันติดปากว่า ‘หงส์แดง’ แต่จริง ๆ แล้วลิเวอร์พูลมีฉายาว่า ‘เดอะเรดส์’ ทั้งนี้แม้คนไทยจะเรียกว่าหงส์แดง แต่นกที่อยู่บนตราสโมสรเองก็ไม่ใช่หงส์ แต่คือนกลิเวอร์เบิร์ด (Liver Bird) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองลิเวอร์พูลที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมและเมืองท่ามาก่อนด้วย

12. แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (Manchester City)

Manchester City

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีฉายาหลากหลายไม่แพ้กัน ตั้งแต่ ‘ซิตี้’, ‘ซิตีเซนส์’ หรือ ‘เดอะ สกาย บลูส์’ แต่ชื่อเหล่านี้ไม่คุ้นหูเท่า ‘เรือใบสีฟ้า’ ที่คนไทยเรียกกันตามโลโก้สโมสร เนื่องจากแมนเชสเตอร์เป็นเมืองท่าเช่นเดียวกันกับทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จึงใช้สีในการแยกระหว่างทั้งสองทีมแทน 

13. แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (Manchester United)

Manchester United

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ใช้ชื่อฉายาว่า ‘เดอะ เรด เดวิลส์’ ที่คนไทยเรียกติดปากว่า ‘ปีศาจแดง’ หรือ ‘ผีแดง’ เป็นฉายาที่ถูกแต่งตั้งมาข่มขวัญทีมคู่แข่งโดยเซอร์ แมตต์ บัสบี้ (Matt Busby) ในปี 1973 จึงนำสัญลักษณ์ของปีศาจถือตรีศูลมาปรากฏอยู่โลโก้สโมสรนับแต่นั้นเป็นต้นมา แต่สิ่งหนึ่งที่แฟน ๆ อาจลืมไปคือแมนเชสเตอร์เป็นเมืองท่าเช่นเดียวกับทีมคู่อริอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ จึงมีสัญลักษณ์ของเรือใบปรากฏอยู่ตราสโมสรด้วยเช่นกัน

14. นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด (Newcastle United)

Newcastle United

นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ใช้ฉายาว่า ‘เดอะแม็กพายส์ (The Magpies)’ และ ‘เดอะทูน’ แต่คนไทยเรียกกันว่า ‘สาลิกาดง’ ซึ่งเป็นชื่อพันธุ์ของนกในภาษาไทยในเอง นกแม็กพายส์หรือนกสาลิปากดำพบได้ทั้งในทวีปยุโรป แอฟริกาและเอเชีย มีสีขาวดำเช่นเดียวกับสีเสื้อของเหล่าสาลิกาดงนั่นเอง

15. นอริช ซิตี้ (Norwich City)

Norwich City

นอริช ซิตี้ ใช้ฉายาว่า ‘เดอะคานารีส์’ และ ‘เยลโลว์ส’ ซึ่งรู้จักกันในชื่อเรียกว่า ‘นกขมิ้นเหลืองอ่อน’ ที่อ้างอิงมาจากพันธ์ุนกและสีเหลืองของตราสโมสรโดยตรง

16. เซาแธมป์ตัน (Southampton)

Southampton

เซาแธมป์ตัน มีฉายาว่า ‘เดอะเซนต์ส’ หรือ ‘นักบุญ’ ในภาษาไทย ซึ่งนักบุญที่ว่านี้มาจากเซาแธมป์ตันเป็นทีมของคริตจักรที่ก่อตั้งโบสถ์เซนต์แมรีนั่นเอง จึงนำชื่อเหล่านั้นมาตั้งเป็นฉายาสโมสรจนถึงทุกวันนี้

17. ทอตแนม ฮอตสเปอร์ (Tottenham Hotspur)

Tottenham Hotspur

ทอตแนม ฮอตสเปอร์ มีฉายาว่า ‘เดอะ ลิลลีไวทส์’ แต่ในไทยเราเรียก ‘ไก่เดือยทอง’ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับอะไรกับฉายาดั้งเดิมเลย แต่อ้างอิงมาจากนามสกุลของผู้ก่อตั้งสโมสรคือแฮร์รี เพอร์ซี ฮอตสเปอร์ (Harry Percy Hotspur) และชื่อสโมสรเดิมอย่าง ‘ฮอตสเปอร์ เอฟซี’ ซึ่งมาเปลี่ยนเป็น ทอตแนม ฮอตสเปอร์ ในปี 1949 พร้อมด้วยการใส่ตราสัญลักษณ์รูปไก่ตัวผู้ที่มีเดือยกำลังเหยียบลูกบอลเข้าไปด้วย จนกลายเป็นฉายาสุดแปลก แต่ก็มีเท่ไปอีกแบบ

18. วัตฟอร์ด (Watford)

Watford

วัตฟอร์ด กลับมาสู่พรีเมียร์ลีกได้อีกครั้ง พร้อมทั้งพาฉายา ‘เดอะฮอร์เนตส์’ หรือที่คนไทยเรียกกันว่า ‘แตนอาละวาด’ แต่ดันสวนทางกับตราสโมสรที่เป็นรูปกวางเอาดื้อ ๆ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่ารูปกวางเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองเฮิร์ตฟอร์ดเชียร์ซึ่งเป็นที่ตั้งของสโมสรวัตฟอร์ด ส่วนฉายาแตนอาละวาดนั้นมาจากสีเสื้อเหลืองและดำที่ดันไปคล้ายคลึงกับสีของแตนนั่นเอง

19. เวสต์แฮม ยูไนเต็ด (Westham United)

Westham United

เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ใช้ฉายาว่า ‘เดอะแฮมเมอร์ส’ ซึ่งเป็นที่มาให้คนไทยเรียกกันว่า ‘ขุนค้อน’ ซึ่งอ้างอิงมาจากตราสโมสรเป็นรูปปราสาทและค้อน ซึ่งภาพแทนของอุตสาหกรรมต่อเรือที่เฟืองฟูในยุค 70s – 80s โดยในปี 1895 เวสต์แฮมที่ประกอบด้วยคนงานอู่ต่อเรือจากบริษัท Thames Ironworks จึงกลายมาเป็นอีกหนึ่งฉายาให้กับเหล่าขุนค้อนว่า ‘ดิไอรอนส์’

20. วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ส (Wolverhampton Wanderers)

Wolverhampton Wanderers

วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ส ใช้ฉายาว่า ‘วูล์ฟ’ และ ‘เดอะ วันเดอร์เรอร์ส’ หรือที่คนไทยเรียกกันว่า ‘หมาป่า’ เช่นเดียวกับตราสโมสรที่เป็นรูปหมาป่าล้อมกรอบสีเหลืองดำนั่นเอง

อ้างอิง football-stadiums, thechamplair

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส