ผ่านพ้นกันไปกับพิธีเปิดการแข่งขัน Tokyo Olympics 2020 อย่างเป็นทางการ หลายคนน่าจะเห็น ‘วัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น’ ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างการนำเพลงประกอบเกมมาใช้ในพิธีเปิด และที่เป็นไฮไลต์สุด ๆ อย่าง ‘Pictogram’ หรือแผนภูมิรูปภาพแสดงประเภทกีฬาประจำการแข่งขัน ที่ใช้คนแสดงเลียนแบบและอดนึกถึงรายการ ‘เกมซ่าท้ากึ๋น’ ไม่ได้

‘Pictogram’ ปรากฎในการแสดงชุด The History of Pictogram ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของ Pictogram หลังจากเคยนำมาใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 1964 ที่กรุงโตเกียว ไอเดียของ ‘Pictogram’ เกิดจากความพยายามอธิบายภาพแทนการใช้ภาษาของคนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเป็นภูมิปัญญาง่าย ๆ ที่ทุกคนเห็นต่างเข้าใจตรงกัน และไม่ได้มีเพียงสัญลักษณ์บ่งบอกประเภทกีฬาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบริการต่าง ๆ ที่อยู่ภายในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกด้วย

เครดิตรูปภาพจาก https://imgur.com/user/ouikipedia
เครดิตรูปภาพจาก https://www.olympic.org

เมื่อประเทศญี่ปุ่นได้กลับมาเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิก Tokyo Olympics 2020 อีกครั้ง จึงมีการนำ ‘Pictogram’ ชุดก่อนมาปรับปรุงใหม่ ให้มีความเรียบง่ายและชัดเจนสมกับยุคสมัยมากขึ้น พร้อมด้วยการแสดงประกอบเลียนแบบ ‘Pictogram’ จากคู่หูนักแสดงตลกเงียบชาวญี่ปุ่นชื่อว่า GABEZ ที่แสดงท่าทางตามประเภทกีฬากว่า 50 ชนิด ภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที โดยหลังจบการแสดงทั้งคู่ออกมาแสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “เร่งรีบมากๆ แต่สนุกมากๆ เหมือนกัน ขอบคุณมากครับ” ดูแล้วอดนึกถึงความเป็นญี่ปุ่นไม่ได้จริง ๆ

ใครได้ดูการแสดง ‘Pictogram’ ชุดนี้ย่อมนึกไปถึงรายการ ‘เกมซ่าท้ากึ๋น’ (Kasou Taisho) เกมโชว์สุดคลาสสิกที่เริ่มออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์นิปปอนในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1979 เป็นรายการที่เปิดให้คนทั่วไปสมัครเข้ามาแข่งขันและโชว์ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไม่จำกัด ไม่ว่าจะมาโชว์คนเดียว เป็นคู่หรือเป็นหมู่คณะ โดยมีกรรมการตัดสินเรื่องความพร้อมเพรียง ความสวยงามและความคิดสร้างสรรค์ โดยมีคะแนนเต็ม 20 คะแนน (1 – 11 คะแนน หมายถึงปรับปรุง, 12 – 15 คะแนน หมายถึงพอใช้, 15 – 16 คะแนน หมายถึงดี, 17 – 20 คะแนน หมายถึงดีมาก) โดยผู้ชนะจะได้เงินรางวัลจำนวน 1 ล้านเยน

อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงสีสันหนึ่งในการแข่งขัน Tokyo Olympics 2020 ที่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม ไปจนถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2021 อย่าพลาดมาชมกีฬากันนะครับ

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส