เมื่อประมาณหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการนำเข้าวัคซีน Sinopharm วัคซีนตัวใหม่จากประเทศจีนและเป็นวัคซีนจากประเทศทางตะวันออกตัวแรกที่ได้รับการรับรองการใช้ฉุกเฉินจาก World Health Organization หรือ WHO แต่ก่อนที่จะตัดสินใจฉีด เราควรรู้อะไรเกี่ยวกับวัคซีนตัวนี้บ้าง

Sinopharm เป็นวัคซีนที่มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่คล้ายคลึงกับ Sinovac คือ เป็นการผลิตโดยใช้ไวรัสที่ตายแล้ว และได้มีการเติมโปรตีนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตอบสนองและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส

วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสอยู่ที่ 78.1% และมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยตามอาการและการรักษาโรคในโรงพยาบาลอยู่ที่ 79% แต่ในการทดลองใช้วัคซีนดังกล่าวยังไม่มีการทดลองในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี สตรีมีครรภ์ และในกลุ่มผู้ทดลองมีเพศหญิงจำนวนน้อยมากทำให้ไม่สามารถนำมาใช้ในการพิจารณาประสิทธิภาพได้ นอกจากนี้ผู้ที่ให้นมบุตรยังสามารถรับวัคซีนและสามารถให้นมบุตรได้อย่างปกติ และไม่แนะนำการฉีดวัคซีนในผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ส่วนประกอบที่อยู่ในวัคซีน และผู้ที่มีไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส

WHO ได้ประเมินข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพของวัคซีนอย่างละเอียดถี่ถ้วน และได้แนะนำให้ใช้วัคซีนนี้สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 – 60 ปี โดย WHO แนะนำให้ใช้วัคซีนในสตรีมีครรภ์ เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวผลิตจากไวรัสที่ตายแล้ว ปลอดภัยสำหรับการตั้งครรภ์ และจากการประเมินวัคซีนดังกล่าวยังคงมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงแต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการตัดสินใจต่อไป

การฉีดวัคซีน Sinopharm ต้องฉีดทั้งหมด 2 โดส โดยเว้นระยะจากการฉีดครั้งแรก 3 – 4 สัปดาห์ โดยมีผลขางเคียงหลังการฉีดคล้ายกับการฉีดวัคซีนทั่วไป และ WHO ยังไม่มีความกังวลเกี่ยวกับการผลข้างเคียงร้ายแรงของวัคซีน และหลังจากการฉีดวัคซีน WHO ยังคงแนะนำให้มีการรักษามาตราการทางสาธารณสุข ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย, การเว้นระยะห่างทางสังคมและการล้างมือ

อย่างไรก็ตามหลายๆประเทศที่มีการนำเข้า Sinopharm และเริ่มฉีดวัคซีน แสดงให้เห็นว่าวัคซีนยังไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19 โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ และในบางประเทศที่มีจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนแซงประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนมากกว่า 50% ได้รับวัคซีนที่นำเข้าจากจีน ยังคงติดอันดับ 10 ประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าวัคซีน Sinopharm อาจจะยังไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19 ได้มากนัก

อ้างอิง WHO

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส