โซนี่นำทัพสินค้าทีวีปี 2022 ด้วยทีวี QD-OLED ซึ่งปกติแล้วโซนี่จะใช้แผง OLED (panel) ของ LG ที่ปรับแต่งการประมวลผลด้วยตัวโซนี่เอง แต่ทีวีเรือธงรุ่น “Bravia XR A95K” นี้ จะใช้แผง QD-OLED (quantum dot organic light emitting diode) จากซัมซุง โดยทีวี Bravia XR A95K จะมาในขนาด 65 นิ้ว และ 55 นิ้ว และมีความละเอียดอยู่ที่ 4K ทั้งสองขนาด

ก่อนหน้านี้มีข่าวลือว่าซัมซุงที่ได้พัฒนา QD-OLED มาหลายปีแล้ว และอาจประกาศเปิดตัวทีวี QD-OLED 4K ในงาน CES 2022 แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ความสนใจจึงมาอยู่ที่โซนี่ซึ่งได้ประกาศเปิดตัวทีวี QD-OLED 4K ก่อนแทน

QD-OLED ถูกออกแบบมาเพื่อรวมคุณสมบัติที่ดีที่สุดของ OLED (สีดำที่สมบูรณ์แบบที่สุด, contrast สูง ฯลฯ) เข้ากับข้อดีของ quantum dot เช่น ความสว่าง และความสดของสี แม้จะไม่ใช่แนวทางใหม่อะไรนัก เมื่อเทียบกับ Micro LED แต่ก็นับว่ามีความก้าวหน้ากว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา

แล้วอะไรล่ะคือความแตกต่างระหว่าง OLED และ QD-OLED?

จอ QD-OLED แตกต่างจากแผง OLED แบบเดิมที่ LG เป็นผู้ผลิตมาอย่างยาวนาน โดยจอแสดงผลของ LG ถือเป็น WRGB OLED เนื่องจากใช้สารประกอบ OLED สีน้ำเงินและแสงสีเหลืองมาสร้างพิกเซลแสงสีขาวมาส่งผ่านฟิลเตอร์สีเพื่อสร้างพิกเซลย่อยสีแดง เขียว และน้ำเงิน

แม้ล่าสุด ทีวี OLED จะมีพิกเซลย่อยสีขาวที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความสว่างโดยเฉพาะ สำหรับการแสดงผลภาพที่สูงขึ้นแล้ว แต่ QD-OLED ก็ยังได้เปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ โดยใช้การปล่อยแสงสีน้ำเงินผ่าน quantum dot เพื่อแปลงสีน้ำเงินบางส่วนให้เป็นสีแดงและสีเขียวโดยไม่ต้องใช้ฟิลเตอร์สี (ที่ใช้สีน้ำเงินเพราะมีพลังงานแสงแรงที่สุด) ซึ่งจะนำไปสู่การใช้งานพลังงานแสงที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการที่ไม่ได้สูญเสียแสงใด ๆ ให้ฟิลเตอร์สี QD-OLED จึงสามารถให้ความสว่างที่มากขึ้น เมื่อเทียบกับ OLED รุ่นก่อน ๆ แม้ในระดับความสว่างสูงสุด QD-OLED ก็ยังควรที่จะสร้าง quantum dot สีสด ๆ ได้ ในขณะที่ WRGB OLED นั้นอาจจะทำไม่ได้ ซึ่งโซนี่นั้นได้อ้างว่า QD-OLED จะสามารถเพิ่มความสว่างของสีได้มากถึง 200 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับทีวีทั่ว ๆ ไป และโซนี่ยังกล่าวอีกว่า มุมมองการรับชมของ QD-OLED จะดีขึ้นยิ่งกว่า OLED อีกด้วย เนื่องจากสามารถกระจายแสงได้มากขึ้นโดยไม่มีตัวกรองแสงขวางทาง

แม้ปัญหารอยไหม้ที่หน้าจอ (burn in) นั้นอาจจะยังไม่สามารถทำให้หมดลงไปได้ แต่อายุการใช้งานของแผงทีวี QD-OLED โดยรวมก็จะยังคงมากกว่าทีวี OLED เพราะพิกเซลไม่ได้ทำงานหนักมากนัก

ส่วนในทีวีอื่น ๆ อย่าง A90K และ A80K โซนี่ยังคงใช้ส่วนประกอบจากจาก LG อยู่ เพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับ LG นั้นหายไป

นอกจากแผงหน้าจอที่ไม่เหมือนใครแล้ว A95K ยังมาพร้อมกับขาตั้งที่ไม่มีใครเหมือน สามารถวางทีวีในรูปแบบ “หน้า” หรือ “หลัง” ก็ได้ หากคุณไม่ชอบเห็นขาตั้ง ก็เพียงเปลี่ยนให้ขาตั้งไปอยู่ตำแหน่งหลัง หรือถ้าคุณมองว่าขาตั้งนี้ดูดี คุณชอบ ก็แค่จัดวางมันไว้ข้างหน้า เท่านี้ก็เรียบร้อย

ซ้าย : การจัดวางขาตั้งแบบ “หน้า” ขวา : การจัดวางขาตั้งแบบ “หลัง”

มาดูที่ด้านหลังของทีวี เห็นได้เลยว่ามีความเก๋ไก๋ มีระบบซ่อนสายที่น่าสนใจ แม้ว่าจะไม่ได้ต่อสายแบบเส้นเดียวเข้าเครื่องได้เหมือนกับทีวีซัมซุง

A95K จะมีช่องเสียบสำหรับ HDMI 4 ช่อง โดยมีสอง 2 ช่องที่เป็น HDMI 2.1

ทีวี OLED ทุกตัวล่าสุดของโซนี่จะรองรับเกม 4K ที่ 120Hz และมีระบบ tone mapping แบบอัตโนมัติ เมื่อเชื่อมต่อกับ PS5 และยังมีโหมด auto low latency ที่จะสามารถลดความความดีเลย์ระหว่างอินพุตและทีวีลงอีกด้วย

ทีวีเครื่องนี้ยังมาพร้อมกับ VRR (variable refresh rate) ที่ผู้ใช้สามารถเลือกปรับเปลี่ยนได้ โดยที่ไม่ต้องรอการอัปเดตซอฟต์แวร์เหมือนรุ่นก่อน ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณว่า VRR กำลังเข้าใกล้ PlayStation 5 มากขึ้น

ในด้านซอฟต์แวร์ Google TV ก็ยังคงเป็นซอฟต์แวร์ทางเลือกของโซนี่ในปี 2022 อยู่เช่นเคย ส่วนราคาของทีวีรุ่นนี้และรุ่นอื่น ๆ โซนี่จะประกาศออกมาในอีกไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้

ที่มา : theverge

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส