โควิด-19 ส่งผลกระทบกับผู้คนจำนวนมากทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้สูงอายุหลายคนรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว เพราะไม่สามารถไปมาหาสู่กับญาติหรือเพื่อน ๆ ได้เหมือนเมื่อก่อน จนทำให้หลายคนรู้สึกว่าชีวิตไม่มีคุณค่า อาจารย์ฐาณิตาภัทฐ์ แสงทอง อาจารย์ประจำหลักสูตรสังคมสงเคราะห์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานีอธิบายว่า “ประเทศไทยเราเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับ 2 คือมีมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น การดูแลเรื่องความรู้สึกของผู้คนในวัยนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก”

พยานพระยะโฮวาในประเทศไทยได้ช่วยผู้สูงอายุหลายร้อยคนในช่วงโรคระบาด พวกเขาทำอย่างนั้นด้วยความระมัดระวังและทำตามมาตรการต่างๆของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด พยานพระยะโฮวาพยายามช่วยผู้สูงอายุให้เข้ามาพบปะพูดคุยกับเพื่อน ๆ ทางการประชุมออนไลน์ และช่วยให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือสังคมด้วยกัน เช่น เขียนจดหมายให้กำลังใจผู้อื่น การทำแบบนี้ส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของสิ่งที่พยานพระยะโฮวาได้ทำและผลกระทบที่ผู้สูงวัยได้รับ

ป้าสมนึก โพธิ์กลิ่น จังหวัดนครสวรรค์ ตอนนี้ป้าอายุ 67 ปี สามีของป้าเสียชีวิตเมื่อหลายปีก่อน ป้าต้องอยู่บ้านคนเดียวและเหงา ตั้งแต่ช่วงก่อนโรคระบาด พยานพระยะโฮวาได้พยายามสอนให้ป้ารู้วิธีอ่านเขียน ตอนนี้ พวกเขาสอนป้าให้เข้ามาประชุมกันแบบออนไลน์สัปดาห์ละ 2 ครั้ง การทำแบบนี้ช่วยป้าให้มีความสุขและได้รับกำลังใจจริง ๆ

ป้าพิตรพิบูลย์ ประภาษานนท์ จังหวัดอยุธยา ตอนนี้ป้าอายุ 64 ปี ตัวป้าก็มีปัญหาเรื่องการเดิน แถมยังต้องดูแลสามีที่ไม่สบาย บางครั้งป้ารู้สึกท้อ แต่พอเข้ามาพูดคุยกับเพื่อน ๆ ที่การประชุมออนไลน์ป้าก็มีกำลังใจไปรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตได้ และป้ามีความสุขมากที่ได้เขียนจดหมายหลายร้อยฉบับเพื่อให้กำลังใจคนอื่นด้วย

ป้าจิตร เดตดี จังหวัดพัทลุง ตอนนี้ป้าอายุ 86 ปี ป้าจิตรมีปัญหาสุขภาพ ตั้งแต่มีโควิด-19 ป้าก็ไม่ได้ออกไปไหนเลย นี่ทำให้ป้าเหงามาก แต่พอพยานพระยะโฮวาช่วยป้าให้มีแท็บเล็ตและพยายามสอนป้าอยู่หลายเดือนให้รู้วิธีเข้าประชุมออนไลน์ พอเข้าได้ ป้าก็รู้สึกสดชื่นขึ้นจริง ๆ

ป้าอัมพร จันพุก จังหวัดชัยภูมิ ตอนนี้ป้าอายุ 70 ปี ป้าหัวเข่าไม่ดี และสามีก็ป่วยติดเตียง ทั้งสองเลยต้องอยู่แต่บ้าน ป้ารู้สึกท้อแท้มาก พอพยานพระยะโฮวาช่วยป้าให้เข้าประชุมออนไลน์ได้ ป้าก็มีโอกาสระบายความรู้สึกของตัวเอง พูดเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ และหัวเราะได้

ลุงรัตนะและป้าวิเวียน รมณีอุทยาน กรุงเทพฯ ตอนนี้ลุงอายุ 83 ปี และป้าก็อายุ 81 ปี ทั้งสองเข้าร่วมการประชุมออนไลน์กับพยานพระยะโฮวามาตลอด 2 ปีตั้งแต่มีโควิด-19 ลุงบอกว่าถ้าไม่มีการประชุมแบบนี้ ลุงคงรู้สึกแย่มาก แต่พอได้เจอกับเพื่อน ๆ บ้าง แม้จะเป็นแบบออนไลน์ ก็ทำให้พวกเราไม่เหงา มีความสุข และได้ทำกิจกรรมดี ๆ ด้วยกัน ลุงกับป้าชอบเขียนจดหมายให้กำลังใจผู้คน

พยานพระยะโฮวาทำงานเป็นเหมือนจิตอาสาที่คอยให้กำลังใจผู้คน คนกลุ่มหนึ่งที่มีค่าในสังคมของเราก็คือผู้สูงอายุ พวกพยานพระยะโฮวามีความสุขที่มีส่วนช่วยผู้สูงอายุในสังคมเรา ดร.กุลวดี ทองไพบูลย์ นักจิตวิทยาคลินิกและอาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “กิจกรรมเหล่านี้ช่วยได้ ผู้สูงอายุจะรู้สึกเหมือนได้ทำอะไรให้กับสังคม ทำให้ชีวิตของพวกเขามีคุณค่า” นอกจากนั้น อาจารย์นัสรินทร์ แซสะ ประธานหลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานีก็พูดเกี่ยวกับโครงการของเราว่า “เป็นโครงการที่ดีมาก เพราะก่อให้เกิดการสื่อสารในเชิงบวก ผู้สูงอายุได้มีคนรับฟังความรู้สึก เสริมพลังทางบวก สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้สูงอายุเห็นคุณค่าในตนเอง”

พยานพระยะโฮวายังมีบทความดี ๆ ให้กับผู้สูงอายุด้วย คุณสามารถเข้าไปอ่านได้จากลิงก์ด้านล่าง

ถึงจะสูงวัยแต่ก็ดูดีมีความสุขได้

การรับมือกับปัญหาของวัยชรา

ข้อแนะเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ

ให้ความหวังและให้กำลังใจผู้สูงอายุ