แบไต๋ได้รับเชิญเป็นสื่อไทยเพียงเจ้าเดียวที่ได้ร่วมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปีของ Garmin ซีรีส์ Forerunner ที่ประเทศไต้หวัน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Garmin ไม่เคยหยุดพัฒนาและนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อการใช้งานที่ยั่งยืนในชีวิตประจำวัน พร้อมเปิดตัวสมาร์ตวอตช์รุ่นใหม่ Forerunner 265 และ Forerunner 965 ในโอกาสพิเศษนี้ด้วย

จุดเริ่มต้นของ Garmin

Garmin ก่อตั้งในปี 1989 โดยนำชื่อของสองผู้ก่อตั้งมาตั้งชื่อแบรนด์คือ แกรี เบอร์เรลล์ (Gary Burrell) วิศวกรไฟฟ้าชาวอเมริกันและ ดร.มิน เคา (Min Kao) วิศวกรไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ชาวไต้หวัน ทั้งสองมีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการบิน การเดินเรือ รวมไปถึงด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร พวกเขาเล็งเห็นว่าระบบ GPS เป็นเทคโนโลยีที่จะปฏิวัติวงการผลิตภัณฑ์และสร้างประโยชน์อย่างมากแก่ผู้ใช้งาน

Garmin เริ่มต้นจากทีมงานเล็ก ๆ ในประเทศไต้หวัน โดยใช้พื้นที่ขนาด 330.5 ตารางเมตร ก่อตั้งโรงงานร่วมกับผู้ผลิตรายอื่น ๆ โดยแบ่งประวัติศาสตร์ออกเป็น 3 ยุคด้วยกัน คือ ยุคจินตนาการสู่การเปลี่ยนแปลง (2003 – 2010), ยุควิทยาศาสตร์การกีฬา (2011 – 2018) และยุคเพอร์ฟอร์มานซ์ (2019 – ปัจจุบัน)

ยุคจินตนาการสู่การเปลี่ยนแปลง (2003 – 2010)

เทคโนโลยี GPS ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในด้านการทหาร ก่อนที่จะต่อยอดมาสู่ระดับผู้ใช้งานทั่วไป ด้วยวิวัฒนาการของเซมิคอนดักเตอร์ ที่ทำให้อุปกรณ์มีขนาดเล็กลง สามารถฝั่งไว้ในโทรศัพท์และนาฬิกาได้ Garmin จึงได้เปิดตัวสปอร์ตวอตช์ระบบ GPS เรือนแรกของโลก ชื่อรุ่น Garmin Forerunner 201 ในปี 2003 ช่วงเวลาเดียวกับที่ Nokia 3310 กำลังสร้างยอดขายถล่มทลายทั่วโลกอยู่นั่นเอง

Garmin Forerunner 201

วิศวกรของ Garmin เกิดไอเดียที่ว่า จะเป็นอย่างไรถ้านำอุปกรณ์ GPS รัดข้อมือไปใช้เดินป่า ซึ่งสามารถบ่งบอกระยะทางและความเร็วในการเดินได้ด้วย และจะมีประโยชน์อย่างมากในการฝึกซ้อมวิ่งเทรล โดยเฉพาะในพื้นที่ธรรมชาติเช่นนี้ อีกทั้งยังสามารถใช้งานได้นานถึง 14 ชั่วโมงเลยทีเดียว

Garmin Forerunner 405

ถัดมาในปี 2008 ทาง Garmin ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ชื่อ Forerunner 405 ที่บรรจุระบบ GPS ลงไปในหน้าปัดนาฬิกาทรงกลม หน้าตาคล้ายคลึงกับสมาร์ตวอตช์ในยุคปัจจุบันแล้ว ที่มาพร้อมฟีเจอร์ ‘Virtual Partner’ ช่วยติดตามการซ้อม บันทึกข้อมูลการออกกำลังกาย และเป็นรากฐานการวิจัยเพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์กีฬาของ Garmin ต่อไปด้วย

Garmin Forerunner 310XT

Garmin Forerunner 310XT นาฬิกาเรือนแรกสำหรับไตรกีฬา ที่สามารถกันน้ำได้สูงสุด 50 เมตร ในปี 2009 ช่วงเวลาเดียวกับที่ iPhone รุ่นแรกกำลังรุกตลาดสมาร์ตโฟนอย่างหนัก นอกจากนี้ยังทำงานควบคู่กับเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจภายนอก สามารถใช้งานได้นาน 20 ชั่วโมง

ยุควิทยาศาสตร์การกีฬา (2011 – 2018)

เมื่อการใช้งาน GPS เริ่มลงตัวในช่วงแรกแล้ว Garmin หันไปพัฒนาเทคโนโลยี การบันทึกข้อมูลและแบตเตอรี่ ที่สามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้น ขณะเดียวกันก็มีน้ำหนักที่เบาขึ้นเรื่อย ๆ และยังเสริมเทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับการออกกำลังกายตามไปด้วย

Garmin Forerunner 235

ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี Running Dynamic ใน Forerunner 620 หรือการเชื่อมต่อบลูทูธครั้งแรกกับ Forerunner 920 XT การวัดอัตราการเต้นของหัวใจแบบออปติคัลครั้งแรกใน Forerunner 235 ในปี 2015 ช่วงเวลานี้ยังเป็นก่อร่างสร้างฐานแฟนคลับของตระกูล Forerunner ที่สำคัญและส่งผลมาถึงปัจจุบันของ Garmin ด้วย

ยุคเพอร์ฟอร์มานซ์ (2019 – ปัจจุบัน)

ในปี 2020 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ Garmin คือการเข้าซื้อบริษัทเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ Physiological Data Analysis ที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยข้อมูลบอกว่าสุขภาพที่ดีไม่ได้อยู่ที่ช่วงเวลาการออกกำลังกายเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพตลอด 24 ชั่วโมงในทุกวันด้วย

จึงเป็นการเบนเข็มไปสู่คอนเซ็ปต์ใหม่ของ Garmin ที่ช่วยบันทึกและเก็บข้อมูลผู้ใช้ ทั้งอัตราการเต้นของหัวใจ ความเครียด การนอนหลับ การดูดซึมออกซิเจน สถานะการฝึกซ้อมและโหลด ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน เพื่อผลลัพธ์ของสุขภาพที่ยั่งยืน ทำให้ Garmin Forerunner ไม่ได้เป็นแค่สมาร์ตวอชต์เพื่อการออกกำลังกายหรือใส่วิ่งอีกต่อไป แต่กลายเป็นสมาร์ตวอตช์ที่ไม่จำเป็นต้องถอด และตอบโจทย์สุขภาพมากขึ้นในทุกมิติฟังก์ชัน

Garmin Forerunner 255 และ Forerunner 955

Garmin เปิดตัว Forerunner 255 และ Forerunner 955 ในปี 2021 ที่มาพร้อมแผงหน้าปัดโซลาร์ช่วยชาร์จไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นครั้งแรกในตระกูล Forerunner (มีมาแล้วในรุ่น Fenix) รวมถึงอัปเดตแบตเตอรี่ให้ใช้งานได้ยาวนาน 20 วัน และสูงสุด 49 ชั่วโมงในโหมด GPS

Garmin Forerunner 265 และ Forerunner 965

และในปี 2023 นี้ ถือเป็นปีแห่งการครบรอบ 20 ปีของตระกูล Forerunner อย่างเป็นทางการ Garmin จึงได้เปิดตัวสมาร์ตวอตช์รุ่นใหม่อย่าง Forerunner 265 และ Forerunner 965 ที่จะมายกระดับการติดตามสุขภาพให้เข้มข้นยิ่งขึ้น หน้าจอสีสันสดใสมากขึ้น อีกทั้งยังใช้งานต่อเนื่องได้ยาวนานขึ้นด้วย

ฟีเจอร์เด่นของ Forerunner 265 และ 965

Forerunner 265 และ 965 มาพร้อมหน้าจอ AMOLED ความละเอียดสูง ควบคู่กับเคสไทเทเนียม ที่มีแบตเตอรี่ใช้งานได้ยาวนานที่สุดในโลก ณ เวลานี้ คือ Forerunner 965 ใช้งานได้สูงสุด 23 วันในโหมดสมาร์ตวอชต์ และ 31 ชั่วโมงในโหมด GPS รวมถึง Forerunner 265 ใช้งานได้สูงสุด 13 วันในโหมดสมาร์ตวอชต์ และ 20 ชั่วโมงในโหมด GPS นอกจากนี้ยังมี Forerunner 265s สำหรับรุ่นหน้าปัดเล็ก ใช้งานได้สูงสุด 15 วันในโหมดสมาร์ตวอตช์ และ 24 ชั่วโมงในโหมด GPS ด้วย

รวมถึงฟีเจอร์เด่น ๆ อย่าง Training readiness ดูความพร้อมในการฝึกซ้อมที่จะให้ข้อมูลเชิงลึกว่าต้องซ้อมหนักแค่ไหนร่างกายจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด, ฟีเจอร์ Real-time Stamina ที่บ่งบอกค่าพลังงานต่าง ๆ ภายในร่างกายแบบเรียลไทม์ Running Power วัดการใช้แรงขณะวิ่งจากข้อมือได้เลย หรือฟีเจอร์ Running Dynamics วิเคราะห์ท่าวิ่ง การแกว่งแขน ระยะก้าวและรอบขา ซึ่งทำงานร่วมกับอุปกรณ์เซ็นเซอร์อื่น ๆ ด้วย

ไปจนถึงฟีเจอร์ ACWR (Acute-Chronic workload ratio) ที่ให้ข้อมูลโหลดในการออกกำลังกาย เพื่อแนะนำให้ผู้ใช้พักผ่อนให้เพียงพอกับการออกกำลังกายเช่นกันและทำให้สมรรถภาพของร่างกายไม่ถดถอยลง ตลอดจนการใช้ GPS หลายคลื่นความถี่ (Multi-band GPS) ด้วยเทคโนโลยี SatIQ ที่เป็นเอกสิทธิ์ของ Garmin ด้วยการเลือกโหมดดาวเทียมและคลื่นความถี่ที่ดีที่สุดในพื้นที่นั้น ๆ พร้อมทั้งความรวดเร็วและแม่นยำในการเชื่อมต่อ โดยเฉพาะนักวิ่ง City run น่าจะชอบ และยังลดการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลงด้วย ส่วนราคาของตระกูล Forerunner 265 ราคา 16,590 บาท และ Forerunner 965 ราคา 21,390 บาท

ปัจจุบัน Garmin Forerunner ถูกพัฒนาไปมากกว่า 37 รุ่น และมีผู้ใช้งานมากกว่า 60 ล้านคน โดยมีการบันทึกสถิติระยะทางวิ่งของผู้ใช้รวมกันกว่า 63,000 ล้านกิโลเมตร เปรียบได้กับระยะทางรอบโลกถึง 1572 ครั้งเลยทีเดียว เรามาร่วมเดินทางสายนี้ไปสู่อนาคตแห่งการมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนพร้อม ๆ กับ Garmin ว่าแล้วก็กำเงินออกไปซื้อ Forerunner สักเรือนกันเถอะ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส