รอสคอสมอส (Roscosmos) หน่วยงานอวกาศของรัสเซียประกาศว่าจะยังคงร่วมมือกับนาซา (NASA) หน่วยงานอวกาศของสหรัฐฯ ในการแลกเปลี่ยนที่นั่งบนยานอวกาศสำหรับการเดินทางไปกลับสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ไปจนถึงปี 2025 โดยจะมีนักบินอวกาศ 1 คนของรัสเซียเดินทางไป ISS ด้วยยาน Crew Dragon เที่ยวบินของนาซา และจะมีนักบินอวกาศ 1 คนของนาซาเดินทางไป ISS ด้วยยานโซยุซ (Soyuz) ของรัสเซีย ซึ่งข้อตกลงนี้มีขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 และเริ่มเที่ยวบินแรกถัดมา 2 เดือน

การเปิดตัว ISS ในปี 1998 เป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือของสหรัฐฯ และรัสเซีย (อดีตโซเวียต) หลังจากที่เคยแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจในยุคสงครามเย็นและด้านอวกาศ รวมทั้งเป็นความร่วมมือกันของหน่วยงานอวกาศ 5 แห่ง คือ แคนาดา ยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และรัสเซีย ซึ่งลูกเรือบน ISS ทั้งหมดจะถูกฝึกอบรมสำหรับการทำงานบนสถานี การเดินทางและทำงานในอวกาศอย่างพึ่งพาอาศัยกัน

ข้อตกลงนี้จะช่วยให้มั่นใจว่ามีลูกเรือที่ได้รับการฝึกอยู่รักษาการบนสถานี รวมทั้งป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่น ยานอวกาศของลูกเรือมีปัญหา ลูกเรือมีปัญหาสุขภาพร้ายแรง หรือเกิดเหตุฉุกเฉินบนสถานีที่ต้องใช้ลูกเรือและยานกลับสู่โลกเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากสงครามรัสเซียบุกถล่มยูเครน ซึ่งความขัดแย้งได้เริ่มลุกลามสู่งานด้านอวกาศ ดังนั้นความร่วมมือนี้ได้ช่วยให้บรรยากาศต่าง ๆ ค่อย ๆ ดีขึ้น

เดือนเมษายน 2022 ดมิทรี โรโกซิน (Dmitry Rogozin) หัวหน้า Roscosmos ในขณะนั้นขู่รัสเซียว่าจะออกจาก ISS หลังจากรัสเซียถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตกเหตุส่งกำลังทหารบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ และก่อนหน้านั้นปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2022 โรโกซินได้ทวีตถึงการคว่ำบาตรอาจจะส่งผลกระทบต่อ ISS ตกลงสู่พื้นโลก

เดือนกรกฎาคม 2022 ยูริ โบริซอฟ (Yuri Borisov) ผู้อำนวยการคนใหม่ของรอสคอสมอส ประกาศว่ารัสเซียจะถอนตัวออกจาก ISS หลังปี 2024 โดยจะออกมาสร้างสถานีอวกาศของตัวเองเพื่อให้บริการด้านอวกาศต่อเศรษฐกิจของรัสเซีย และต่อมาเดือนสิงหาคม 2022 รอสคอสมอสได้แสดงแบบจำลองสถานีอวกาศแห่งใหม่ในอนาคตของประเทศที่มีชื่อว่า ROSS ซึ่งจะติดตั้งเฟสแรกในช่วงปี 2025 – 2030

เดือนเมษายน 2023 นาซาประกาศผ่านเว็บไซต์ว่ารัสเซียได้ตกลงอย่างเป็นทางการที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของ ISS อย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2028 ในขณะที่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา และองค์การอวกาศยุโรปยืนยันจับมือกันอย่างเหนียวแน่นร่วมสนับสนุน ISS ไปจนถึงปี 2030 ซึ่งคาดว่าหลังจากรัสเซียถอนตัวในปี 2028 สหรัฐฯ อาจจะใช้บริการของบริษัทเอกชนเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้ ISS อยู่ต่อไปได้จนถึงปี 2030

ที่มา : engadget.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส