วันจันทร์ที่ 29 มกราคม สำนักงานสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) เผยว่า SLIM ยานลงจอดบนดวงจันทร์สามารถกลับมาทำงานต่อได้อีกครั้ง เนื่องจากการเปลี่ยนตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ช่วยให้แผงโซลาร์เซลล์ได้รับแสงและชาร์จพลังงาน ทำให้สามารถถ่ายภาพพื้นผิวดวงจันทร์และสื่อสารส่งภาพกลับมายังโลกได้ หลังจาก 9 วันที่ผ่านมา ยานได้ลงจอดบนพื้นผิวบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ แต่ลงจอดผิดท่ากลับหัวเข้าหาพื้น ทำให้โซลาร์เซลล์หันออกจากดวงอาทิตย์ จึงไม่สามารถชาร์จไฟฟ้าและต้องปิดการทำงาน

ยาน SLIM ได้กลับมาทำงานอีกครั้งหลังจากได้รับแสงอาทิตย์ และได้เก็บภาพพื้นผิวบนดวงจันทร์ คือภาพก้อนหินที่ชื่อว่า “Toy poodle” ตามภาพที่เคยได้สแกนจากกล้องมัลติแบนด์เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา

วันเสาร์ที่ 20 มกราคม JAXA ประกาศว่าสามารถนำยานลงจอด SLIM ลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์อย่างนุ่มนวลได้สำเร็จเป็นประเทศที่ 5 ของโลก ในเวลา 0:20 น. ตามเวลาท้องถิ่น แต่น่าเสียดายที่แผงโซลาร์เซลล์ของยานไม่ได้หันมุมเข้าหาดวงอาทิตย์ จึงไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้

ต่อมา 25 มกราคม JAXA รายงานว่ารถยนต์สำรวจ LEV-1 และอีกคันหนึ่งที่มีขนาดเล็กคือ LEV-2 ซึ่งทั้ง 2 ถูกบรรทุกอยู่ใน SLIM ได้ดีดตัวออกมาสู่พื้นผิวของดวงจันทร์ก่อนที่ SLIM จะลงจอด หลังจากนั้น LEV-2 ได้ถ่ายภาพ SLIM และสภาพแวดล้อมโดยรอบแล้วส่งภาพกลับมายังโลกผ่านอุปกรณ์สื่อสารของ LEV-1 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารถสำรวจทั้งสองทำงานได้ตามปกติ แม้ว่า LEV-2 จะมีรูปร่างผิดรูปไปจากทรงกลมหลังจากถูกปล่อยออกจาก SLIM

นอกจากนี้เมื่อ 25 มกราคม JAXA เผยว่าหลังจากลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์ก่อนที่ยานจะปิดการทำงาน กล้องมัลติแบนด์ (MBC) บนยาน SLIM ได้สแกนเก็บภาพหินที่อยู่รอบ ๆ จุดลงจอด พร้อมได้ตั้งชื่อเล่นให้กับหินแต่ละก้อน เพื่อใช้บอกขนาดตามชื่อที่ตั้งไว้ดังรูป

ภาพถ่ายจาก MBC ก่อนขยาย
ภาพถ่ายจาก MBC ที่ได้ขยายใหญ่ขึ้น

ยานลงจอด SLIM ได้ลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์ห่างจากจุดลงจอดเป้าหมายเดิมไปทางตะวันออกประมาณ 55 เมตร ซึ่งแสดงถึงการลงจอดที่แม่นยำ

ล่าสุด JAXA ได้ประกาศขอบคุณข้อมูลการสังเกตการณ์ที่มีความละเอียดสูงของพื้นผิวบนดวงจันทร์จากยาน Chandrayaan-2 ของอินเดีย ซึ่งมีประโยชน์ต่อการเลือกจุดลงจอดสุดท้าย และช่วยให้ลงจอดได้อย่างแม่นยำ

ทั้งนี้ยาน SLIM จะเริ่มสังเกตการณ์ตั้งแต่ เวลา 22.00 น. ของวันที่ 30 ไปจนถึงเวลา 09.00 น. ของวันที่ 31 และจะพักชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าเมื่อมีแสงอาทิตย์ให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าก็จะเห็นการอัปเดตข้อมูลออกมาเรื่อย ๆ

ที่มา : engadget.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส