นั่งเดากันมานานพอสมควร​ ในที่สุด​ EA​ ก็ยอมเปิดตัวเกมสตาร์วอร์สโค้ดเนม​ “Project Maverick” ออกมาอย่างเป็นทางการซะที ซึ่งแน่นอนว่ามันคือเกมแนวขับยานอวกาศสู้กันแบบที่หลายฝ่ายเก็ง​กันไว้​ แต่ที่เหนือความคาดหมายก็คือเกม​ “Star​ Wars: Squadrons” จะไม่ได้เป็นแค่เกมขับยานสไตล์อาร์เขดขำ ๆ​ ที่ให้เกมเมอร์บินเล่น ๆ​ ยิงเล่น ๆ​ เอามันส์​ แต่มันมีทั้งความลุ่มลึก​ อัดแน่นไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยของยานอวกาศแต่ละลำ​ และยังให้ความสำคัญกับการใช้กลยุทธ์ในศึกกลางเวหามากกว่าที่คิด​ ระดับที่เกือบจะออกมาเป็นเกม​ Microsoft​ Flight Simulator ภาค​ Star Wars เลยด้วยซ้ำ​ (แถมยังรองรับ​การเล่นกับจอยสติ๊กและแว่น​ VR​ ด้วย)​ เรียกได้ว่าโดนใจทั้งเกมเมอร์หน้าใหม่ที่ชื่นชอบยานสตาร์วอร์ส​ และเกมเมอร์หน้าเก๋าที่เป็นแฟนเกมซีรีส์​ X-wing​ และ​ TIE-Fighter ไปแบบเต็ม ๆ

แต่จุดที่น่าสนใจมากก็คือทีมพัฒนาเขาบอกว่ารายละเอียดของยานทุกลำในเกมนี้จะถอดออกมาจาก​ปูมประวัติ​ (Canon)​ อย่างเป็นทางการของ​สตาร์วอร์สล้วน ๆ​ นั่นหมายความว่ารายละเอียดยานอะไรก็ตามที่ได้รับการระบุเอาไว้ใน​จักรวาลแห่งนี้ก็จะโผล่มาให้เห็นในเกมนี้ด้วย​ งั้นเรามาศึกษาลักษณะเด่นของยานรบทั้ง​ 8​ ลำตามเกร็ดสตาร์วอร์สไปด้วยกันดีกว่า​ ถือว่าเป็นการทำการบ้านให้พร้อมก่อนสตาร์ทเครื่องออกบินในวันที่​ 2 ตุลาคมนี้ไง​ ว่าแล้วก็ทะยานไปพร้อมกันเลยเสืออวกาศทั้งหลาย! 

ฝ่ายกบฏ​ (Rebel​ Alliance) 

X-wing ยานรบสี่ปีกอเนกประสงค์

ยาน​สตาร์วอร์สที่น่าจะโด่งดังที่สุด​ในหมู่แฟน ​ๆ แล้ว ​(ถ้าไม่ใช่ลำนี้ก็คงไม่พ้นยาน​ Millennium Falcon นี่แหละ) มันมีชื่อเล่นตามลักษณะของปีกทั้ง 4 ที่กางออกเป็นรูปตัว​ X​ ในยามที่ต้องเข้าปะทะกับยานข้าศึกแบบด็อกไฟต์เต็มรูปแบบ​ X-wing​ ที่ปรากฏในช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างกบฏและจักรวรรดิมีชื่อเต็มว่า​ “T-65 X-wing starfighter” ออกแบบและผลิตโดยบริษัท​ Incom​ Corporation​ ที่ตอนแรกหวังจะขายให้ฝ่ายจักรวรรดิใช้เป็นยานรบประจำทัพ​ เคราะห์ดีที่การเมืองภายในทำให้จักรวรรดิหันไปเลือกใช้ยานซีรีส์​ TIE​ ของบริษัทคู่แข่งแทน​ (เพราะถูกกว่า)​ ทำให้ฝั่งกบฏลอบนำดีไซน์ของยานรบสี่ปีกลำนี้มาใช้ถล่มเดธสตาร์ซะเลย

วิศวกรของ​ Incom​ ออกแบบ​ X-wing​ ให้เป็นยานรบขับไล่ที่ติดอาวุธเต็มอัตรา​ รองรับการใช้งานได้ในทุกสถานการณ์​ และไม่มีจุดอ่อนใหญ่ใดๆ​ ให้เสียเปรียบข้าศึก​ โดย​ X-wing​ มีคลังแสงเป็นปืนใหญ่เลเซอร์ 4 กระบอกที่ปลายปีกแต่ละข้าง​ ช่องปล่อยจรวดโปรตอนตอร์ปิโด​ และมีเกราะพลังงานสำหรับใช้ปกป้องตัวถังจากเลเซอร์ของยานศัตรู​ นอกจากนี้ตัวยานยังรองรับการใช้งานกับหุ่น​ Astromech​ Droid​ (เช่น​ R2-D2)​ ในฐานะผู้ช่วยนักบิน​ และยังมาพร้อมกับเครื่องยนต์ไฮเปอร์ไดรฟ์สำหรับการเดินทางไปยังเป้าหมายระยะไกล​ จุดเด่นที่ว่ามาทั้งหมดนี้ทำให้มันเป็นยานที่เหมาะกับการใช้บินปะทะยาน​ข้าศึก ​หรือการบินปฏิบัติภารกิจที่กินเวลายาวนาน​ ทั้งนี้บรรดานักบินมือฉมังยังรู้จักใช้ประโยชน์จากฟังก์ชันหุบปีกกางปีกของ​ X-Wing​ ในการเร่งความเร็วยาน​ หรือหลบหลีกศัตรูเข้าไปในที่แคบอีกด้วย

A-wing ยานซิ่งสายฟ้าเพื่อเสืออวกาศระดับเทพ

ยาน RZ-1 A-wing starfighter​ ทรงสามเหลี่ยมผลิตโดยบริษัท​ Kuat​ Systems​ Engineering​ และได้รับการแต่งเครื่องเพิ่มเติมโดยฝ่ายกบฏ​ เพื่อให้มันเป็นยานรบที่เร็วแรงที่สุดในสมรภูมิ​​ มันได้รับการปรับแต่งให้ติดตั้งเครื่องยนต์แบบ​ Event​ Horizon​ ขนาดมหึมา 2 ตัวไว้หลังห้องนักบิน​ รวมทั้งเปลี่ยนวัสดุของตัวถังยาน​ คลังอาวุธ​ และเครื่องสร้างเกราะพลังงานให้มีน้ำหนักน้อยลง​ ผลลัพธ์ที่ได้คือยานรบที่รวดเร็วและคล่องตัวสุดขีด​ ระดับที่แม้นักบินจะมีประสาทสัมผัสเฉียบไวระดับเจไดก็ยังแทบคุม​ A-wing​ ไม่อยู่​ ซ้ำร้ายการที่ตัวถังยานมีขนาดค่อนข้างเล็กยังทำให้มันไม่มีที่เหลือให้ใช้คู่กับหุ่น​ Astromech​ Droid​ ดังนั้นนักบิน​ส่วนใหญ่ที่จะใช้ A-wing​ จึงต้องเป็นคนที่มีทักษะด้านการบินสูงและโชกโชนประสบการณ์

ยาน​ RZ-1​ มีคลังแสงเป็นปืนใหญ่เลเซอร์ 2 กระบอกที่ด้านซ้ายและขวาของตัวถัง​ ซึ่งสามารถปรับแต่งให้หมุนในแนวดิ่งได้ถึง​ 360​ องศา​ (ทำให้มันสามารถหันปากกระบอกปืนไปยิงยานที่บินจี้ตามมาด้านหลังได้) นอกจากนี้ยังสามารถบรรจุจรวดคอนคัสชันมิสไซล์ได้ถึง​ 12​ ลูก​ เมื่อประกอบกับโครงยานจากไททาเนียมอัลลอยและแผ่นฝายานดูราสตีล​ ทำให้มันเหมาะมากสำหรับภารกิจแบบยิงแล้วหนีหรือการรับมือกับยาน​ TIE​ ที่มีจุดเด่นด้านความเร็ว​ อย่างไรก็ตาม​ A-wing​ ก็มีชื่อเสียตรงที่มันพังบ่อยมาก ๆ​ จนทำให้ช่างฝ่ายกบฏต้องปวดหัวกับยานลำนี้ทุกครั้งเมื่อสิ้นสุดภารกิจ

Y-Wing รถถังลอยฟ้ารุ่นอาวุโส

ยาน​ Y-wing​ หรือ​ BTL​ Y-wing​ starfighter​ คือยานทิ้งระเบิดสารพัดประโยชน์ซึ่งผลิตโดยบริษัท​ ​Koensayr Manufacturing​ มีทั้งแบบที่นั่งเดียวและสองที่นั่ง​ โดยกองกำลังของฝ่าย​สาธารณรัฐได้เริ่มนำยานลำนี้มาใช้ครั้งแรกตั้งแต่ยุคสงครามโคลน​ และ​ Y-wing​ ลำที่เหลือรอดก็ได้ตกมาถึงมือฝ่ายกบฏ​ Rebel​ Alliance​ ในสงครามกลางเมืองโค่นล้มจักรวรรดิ​ ทำให้มันเป็นยานอวกาศในจักรวาลสตาร์วอร์สที่อายุยืนยาวถึง 2 เจเนอเรชัน (ถ้าจะนับให้ถูกเป๊ะ ๆ​ คือ 3 ยุค​ เพราะ​ Y-wing​ ก็ไปโผล่ในสงครามระหว่างฝ่ายปฐมภาคีและฝ่ายต่อต้านด้วย)​ ซึ่งสาเหตุหลักก็เป็นเพราะความทนทายาด​และความอเนกประสงค์ของยานชนิดนี้นั่นเอง

ถึงแม้รูปร่างและขนาดของ​ Y-wing​ จะดูเทอะทะ​ แต่ยานลำนี้ก็มีความคล่องตัวพอสมควร​ ถึงจะไม่ได้คล่องตัวขนาด​ X-wing​ หรือ​ A-wing​ แต่มันก็ทดแทนด้วยคลังแสงอัดแน่นเต็มอัตรา​ ทั้งป้อมปืนเลเซอร์แฝดที่สามารถหันโจมตีได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง​ ปืนใหญ่เลเซอร์คู่ด้านหน้า 2 กระบอก​ และคลังเก็บขีปนาวุธ​ที่สามารถบรรจุโปรตอนตอร์ปิโด​ อิออนตอร์ปิโด​ หรือระเบิดอิเล็กโตร-โปรตอนก็ได้​ ทำให้มันเป็นยานที่ช้าแต่ชัวร์​ สามารถบินปฏิบัติภารกิจได้สารพัดแบบ​ ทั้งการบุกถล่มยานแม่ฝั่งตรงข้าม​ งานทิ้งระเบิดปูพรมใส่ฐานทัพ​ และการใช้บินสู้กับยานขับไล่ด้วยกัน​ อีกเกร็ดที่น่าสนใจก็คือปกติเรามักจะเห็นแต่ Y-wing​ ในสภาพเปลือยเครื่องยนต์หลังทั้งหมด​ แต่ที่จริงแล้วตัวยานดั้งเดิมมาพร้อมกับฝาหุ้มตัวเครื่องทั้งลำ​ เพียงแต่​หลังจากที่วิศวกรฝ่ายกบฏต้องถอด ๆ​ ใส่ ๆ​ ฝาทุกครั้งที่จบภารกิจ​ พวกเขาเลยตัดสินใจถอดฝาเครื่องออกไปอย่างถาวร​ซะเลย เพื่อให้สามารถซ่อมบำรุงยานได้ง่ายขึ้น

U-Wing ยานขนส่งติดอาวุธเต็มอัตรา

ยาน​ขนส่งและสนับสนุนทางอากาศ​ U-wing​ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า UT-60D​ U-wing​ starfighter/support craft ผลิตโดยบริษัท​ Incom​ Corporation​ เจ้าเก่าผู้สร้าง​ X-wing​ ​หน้าที่หลักของยานลำนี้​ นอกจากจะเป็นการลำเลียงกองกำลังทหารสู่สมรภูมิ​ มันยังสามารถทำหน้าที่เป็นยานติดอาวุธหนักเพื่อสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นดินหรือทัพอากาศได้อีกด้วย​ อย่างไรก็ตาม​ ความแข็งของตัวถัง​ เกราะพลังงานรุ่นใหญ่​ และการที่มันจุบุคลากรในยานได้เป็นสิบคน​ ทำให้​ U-wing​ เป็นเหมือนยานขนส่งขนาดกลางมากกว่ายานรบขับไล่​ และการที่ตัวยานต้องตีวงเลี้ยวค่อนข้างกว้างทั้งยังทำความเร็วสูงสุดได้เพียง​ 950 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยิ่งทำให้มันเหมาะกับการเป็นยานสนับสนุนทัพหลังมากกว่าเอาไปบินยิงสู้กับศัตรูโดยตรง

อาวุธหลักของ​ U-wing​ คือปืนใหญ่เลเซอร์ 2 กระบอก​รุ่น​ Taim & Bak KX7 ซึ่งมีพลังทำลายล้างพอสมควร​ นอกจากนั้นก็มีปืนเลเซอร์ติดขาตั้งตรงประตูยานด้านซ้ายหรือขวา​ ที่ฝ่ายกบฏนิยมนำมาติดตั้งเอาไว้ยิงสนับสนุนภาคพื้นดิน​ ทั้งนี้มันสามารถติดตั้งอุปกรณ์กวนสัญญาณสื่อสารยานศัตรูที่ทรงประสิทธิภาพ​เข้าไปเสริมได้ด้วย​ ยาน​ U-wing​ มาพร้อมกับเครื่องยนต์ไฮเปอร์ไดรฟ์สำหรับการใช้เดินทางด้วยความเร็วแสง​ อีกจุดเด่นหนึ่งของยานคือปีก​ S-foils​ ที่สามารถกางออกไปด้านหลังได้​ ซึ่งจะช่วยขยายให้เกราะพลังงานของยานปกป้องตัวถังได้อย่างครอบคลุม​ และช่วยระบายความร้อนจากเครื่องยนต์ได้ดีขึ้น​ แต่มันก็เหมาะใช้งานในสมรภูมิอวกาศหรือระดับชั้นบรรยากาศเท่านั้น​ เพราะความเทอะทะของปีกทำให้นักบินคุมยานได้ยากขึ้นหากต้องบินฝ่าสภาพอากาศที่เลวร้าย

(อ่านต่อหน้า 2 กับฝ่ายจักรวรรดิ)

ฝ่ายจักรวรรดิ​ (Galactic​ Empire)

TIE fighter ดวงตามรณะของทัพอากาศจักรพรรดิ

ยาน​ TIE​ fighter​ มีชื่อเต็มว่า​ “TIE/ln space superiority starfighter” (ส่วนนักบินกบฏมีชื่อเล่นให้มันว่า “ไอ้ยานลูกตา”)​ ผลิตโดยบริษัท​ Sienar Fleet Systems (SFS)​ ทั้งเสียงและรูปร่างอันเป็นเอกลักษณ์ของมัน​ คือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความได้เปรียบของฝ่ายจักรวรรดิ​ในการครอบครองน่านฟ้าจักรวาล​ โดยรวมแล้วยาน​ TIE​ fighter คือยานรบที่เร็วมากแต่ก็เปราะมาก​ มันมาพร้อมกับเครื่องยนต์​อิออนเอนจิ้นแบบแฝด​ ​ที่สามารถปล่อยพลังขับเคลื่อนได้แม่นยำที่สุดในจักรวาล​ แถมยังติดตั้งปืนใหญ่เลเซอร์ 2 กระบอกที่มีอานุภาพแรงพอจะฉีกยานขับไล่และยานขนส่งขนาดกลางให้เป็นชิ้น ๆ​ ได้​ ด้วยการยิงโดนจัง ๆ​ เพียงชุดเดียวเท่านั้น​​ แต่ในขณะเดียวกัน​ มันก็ไร้ซึ่งเกราะพลังงาน​ เครื่องไฮเปอร์ไดรฟ์​ หรือแม้แต่ระบบพยุงชีพสำหรับนักบิน​ ทำให้มันเป็นเหมือนปืนใหญ่บินได้ที่เร็วจนหาตัวจับยาก​ แต่แค่โดนสะกิดด้วยปืนเลเซอร์ข้าศึกนิดหน่อยก็แตกเป็นเสี่ยงแล้ว

นักบิน​ยาน​ TIE​ fighter ส่วนใหญ่จะเป็นเสืออากาศมือฉมัง​ และจะสวมชุดพยุงชีพเต็มอัตราทุกครั้งเมื่อขับยาน​ชนิดนี้​ นอกจากนี้การที่ยาน​ TIE​ fighter​ มีต้นทุนต่ำ​ และเน้นการผลิตออกมาเป็นจำนวนมากยังทำให้นักบินไม่ได้รู้สึกผูกพันกับยานตัวเองแต่อย่างใด​ พวกเขากลับมองว่าเป็นของใช้แล้วทิ้งซะมากกว่า​ ในสมรภูมิอวกาศ​ นักบินยาน​ TIE​ fighter​ จะต้องพึ่งพาความคล่องตัวของยานในการหลบหลีกเลเซอร์ศัตรู และใช้จำนวนยานที่มากกว่ารุมถล่มฝ่ายตรงข้าม​ ซึ่งการที่ยานลำนี้เรียบง่ายมาก ๆ​ ยังช่วยทำให้นักบินไม่ต้องคิดอะไรมาก​ เพียงแค่ใช้สมาธิจดจ่อกับการขับยานให้เก่งแล้วยิงให้โดนก็เกินพอแล้ว​ 

TIE​ interceptor ฝันร้ายของนักบินฝ่ายกบฏ

TIE/IN interceptor คือยาน​ TIE​ fighter ชนิดพิเศษในทัพอากาศของฝั่งจักรวรรดิ​ เอกลักษณ์ของมันคือปีกทรงสี่เหลี่ยมคางหมู​ 4 แฉก​ ที่มีปืนใหญ่เลเซอร์ติดอยู่บนปลายปีกแต่ละข้าง​ ยาน​ TIE​ ชนิดนี้คือตัวพิฆาตยานขับไล่ของฝั่งกบฏ​ ถึงแม้มันจะไม่มีทั้งเกราะพลังงานและเครื่องยนต์ไฮเปอร์ไดรฟ์เหมือนยาน​ TIE​ fighter​ แต่มันมีเครื่องยนต์อิออนแฝด​รุ่นอัพเกรดที่เพิ่มความคล่องตัวให้ยานมากขึ้น​ ​รวมทั้งยังสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง​ 1,250​ กิโลเมตรต่อชั่วโมง​ นอกจากนี้​ ปืนใหญ่เลเซอร์จำนวน​ 4 กระบอกก็ยิ่งทำให้มันมีพลังทำลายล้างสูงขึ้น​ สามารถถล่มเกราะยานศัตรูให้เกลี้ยงได้จากการยิงซัลโวจัง ๆ​ เพียงทีเดียวเท่านั้น

wallup.net

เนื่องจาก​ TIE​ interceptor​ มีสมรรถนะเหนือกว่ายาน​ TIE​ ทั่วไป​ ฝ่ายจักรวรรดิจึงจะคัดเฉพาะนักบินที่มีฝีมือโดดเด่นกว่าคนอื่นให้มาขับยานรุ่นนี้​ เพื่อให้สามารถดึงศักยภาพของยานออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ที่สุด นอกจากนี้​ ดีไซน์ของปีกที่มีช่องว่างอยู่ตรงกลางยังช่วยให้นักบินมีทัศนวิสัยในสมรภูมิที่กว้างขึ้น​ ซึ่งความร้ายกาจของยานลำนี้ทำให้นักบินฝ่ายกบฏทุกคนรู้ดีว่าห้ามประมาทมันแม้แต่นิดเดียว

TIE bomber ยาน​ TIE​ สำหรับสายทำลายล้าง

TIE​ bomber มีชื่ออย่างเป็นทางการหลายชื่อ​ ทั้ง​ TIE Surface Assault Bomber​ หรือ​ TIE/sa tactical bomber ซึ่งหน้าที่หลักของมันในสมรภูมิก็ตรงไปตรงมา​แบบเดียวกับชื่อมัน​ นั่นคือการใช้แสนยานุภาพจากสารพัดขีปนาวุธในคลังแสงเพื่อถล่มยานอีกฝ่ายให้เป็นจุณ​ รูปร่างของ​ TIE​ bomber​ มีจุดเด่นอยู่ที่พ็อดทรงกระบอกสองชิ้นที่ประกอบเป็นตัวถังของยาน​ และแผงปีกโซลาเซลล์ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้ยาน​ ทดแทนให้กับน้ำหนักที่มากขึ้นของยานจากการบรรจุสรรพาวุธจำนวนมาก​ ในศึกแต่ละครั้ง​ กองยาน​ TIE​ bomber​ จึงมักจะถูกส่งออกไปเป็นทัพแรกเพื่อทิ้งระเบิดปูพรมปืนต่อต้านอากาศยาน​ สิ่งก่อสร้างของฝ่ายตรงข้าม​ หรือถล่มยานแม่ฝั่งข้าศึก​ ก่อนที่จะให้ยานขับไล่ตามไปเก็บกวาดเป้าหมายที่เหลือให้สิ้นซาก

พ็อดฝั่งขวาของ​ TIE​ bomber​ จะเป็นห้องคนขับสำหรับนักบิน​ ​โดยจะติดตั้งปืนใหญ่เลเซอร์ 2 กระบอกและเก้าอี้คนขับที่สามารถดีดตัวออกได้ในยามฉุกเฉิน​ ส่วนพ็อดฝั่งซ้ายสามารถปรับให้ใช้งานได้หลายรูปแบบ​ ได้แก่​ การขนโปรตอนตอร์ปิโด​ 4 ลูกพร้อมกับจรวดคอนคัสชั่นมิสไซล์​ 8​ ลูก​ (สำหรับภารกิจถล่มยาน), การจุระเบิดโปรตอน​ 8​ ลูก​พร้อมกับลูกระเบิดเทอร์มัลเดโทเนเตอร์​ 64 ลูก​ (สำหรับการทิ้งระเบิดปูพรม), หรือแม้แต่ใช้บรรทุกทหารราบสตอร์มทรูปเปอร์จำนวน​ 6 ราย​ (สำหรับภารกิจภาคพื้นดิน)​ ​ ซึ่งการที่มันมีทั้งช่องทิ้งระเบิดที่ด้านใต้พ็อด​และช่องยิงจรวดที่ด้านหน้าพ็อด​ ทำให้มันสามารถถล่มได้ทั้งฝูงยานขับไล่ด้านหน้าหรือยานแม่ข้าศึกที่ด้านล่างก็ยังได้

TIE reaper ยาน​ขนส่งสำหรับหน่วยรบพิเศษ

ยาน​ TIE/rp reaper attack lander คือยาน​ที่ทำหน้าที่หลักเป็นยานขนส่งพลทหารสู่ใจกลางสมรภูมิ​ โดยเฉพาะทหารระดับหน่วยรบพิเศษ​ หรือแม้แต่ซิธและเหล่าอินควิซิเตอร์ ส่วนหัวของยานมีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า​ มีประตูสำหรับปล่อยกำลังพลใต้ห้องนักบินทางด้านหน้า​ และมีปีกโซลาร์เซลล์ปลายแหลมขนาดใหญ่ที่เชื่อมกันปีกเดียว​ ปีกดีไซน์นี้ช่วยให้ยานทรงตัวได้ดีในชั้นบรรยากาศ​ ทำให้ยานลำนี้เหมาะสำหรับการใช้ในภารกิจระดับพื้นผิวดาว​ เช่น​ การบินลาดตระเวนไปตามฐานทัพของจักรวรรดิต่าง ๆ​ หรือการส่งกองกำลังเฉพาะกิจเข้าจัดการศัตรู​ เป็นต้น

ตัวยานมีอาวุธหลักเป็นปืนใหญ่เลเซอร์ 2 กระบอกที่ติดตั้งอยู่ตรงปลายปีกด้านหน้า​ โดย​ TIE​ reaper​ ใช้เครื่องยนต์อิออนแบบแฝดที่เชื่อถือได้แบบเดียวกับยานตระกูล​ TIE​ ลำอื่นๆ​ และยังติดตั้งเครื่องยนต์ไฮเปอร์ไดรฟ์สำหรับการเดินทางด้วยความเร็วแสงมาให้ด้วย​ ภายในตัวยานค่อนข้างมีพื้นที่กว้างขวางทั้งในส่วนของห้องนักบินและห้องบรรจุกำลังพล​ และถึงแม้จะมีที่นั่งคนขับเรียงเป็นแถวหน้ากระดานถึง 3 ที่​ แต่นักบินแค่คนเดียวก็เพียงพอสำหรับการใช้ควบคุมยาน​ TIE​ reaper​ ได้แล้ว​ นอกจากนี้การที่ตัวยานมีขนาดใหญ่ยังทำให้มันสามารถติดตั้งสรรพาวุธพิเศษ​อย่างลำแสงดึงดูด​ (Tractor Beam)​ เอาไว้ก่อกวนยานลำอื่นในสมรภูมิ​ นักบินฝ่ายกบฏมักจะเล็งยิง​ TIE​ reaper​ เป็นอันดับแรกๆ​ เพราะรู้ว่ามันน่าจะบรรทุกผู้โดยสารคนสำคัญหรือกองกำลังพิเศษมาด้วย​ นั่นทำให้เรามักจะเห็นยาน​ TIE​ fighter แบบอื่นบินอารักขายานลำนี้มาพร้อมกันเป็นขบวนบนน่านฟ้า

เครดิตภาพ: starwars.fandom.com, www.ea.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส