‘เอไอเอส’ ประกาศเข้าซื้อหุ้น ‘3BB’ มูลค่า 19,500 ล้านบาท พร้อมเข้าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต (JASIF) 19% คิดเป็นมูลค่า 12,920 ล้านบาท รวม 32,420 ล้านบาท คาดกระบวนการเสร็จสิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2566

วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ส่งหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชี้แจงเรื่องการเข้าซื้อหุ้นใน บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) และซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน

เอไอเอสระบุว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา เอไอเอสมีมติให้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของเอไอเอส ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับ บริษัท อคิวเมนท์ จำกัด (ACU) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (JAS) เพื่อซื้อขายหุ้นของ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (หรือ TTTBB) จำนวน 7,529,242,385 หุ้น คิดเป็น 99.87% มูลค่ารวม 19,500 ล้านบาท

การเข้าซื้อขายหุ้นในครั้งนี้ ยังรวมถึงการได้มาซึ่งบริษัทย่อยของ TTTBB อีก 2 บริษัท คือ บริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด และบริษัท อิน คลาวด์ จำกัด ส่วนการได้มาซึ่ง บริษัท ทรี บีบี จำกัด (3BB) นั้น ต้องดูตามเงื่อนไขบังคับก่อน

นอกจากนี้ เอไอเอส ยังเข้าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (หรือ JASIF) จาก JAS จำนวน 1,520,000,000 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 19% มูลค่า 12,920 ล้านบาท

โดย AWN จะทำการขออนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก่อนจึงจะลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นและหน่วยลงทุน โดเอไอเอสคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566

ทางด้าน นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า การลงทุนขยายธุรกิจในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญตามเป้าหมายกลยุทธ์ของบริษัทฯ เพื่อขยายการเติบโตในธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน และมุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสมบูรณ์

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส

ทำให้บริษัทฯ มีขีดความสามารถในการให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านสายไฟเบอร์ที่ครอบคลุมลูกค้าที่กว้างขวางมากขึ้น สามารถขยายการลงทุนไปยังพื้นที่ใหม่เพื่อให้คนไทยสามารถได้รับบริการอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดและรอบนอกตัวเมือง รวมถึงช่วยให้ลูกค้าได้รับประโยชน์จากบริการที่รวดเร็วและมีคุณภาพที่ดี อีกทั้งจะช่วยให้การพัฒนาโครงข่ายไฟเบอร์ในประเทศไทยโดยรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดทอนความซ้ำซ้อนของการลากสายไฟเบอร์โดยไม่จำเป็นซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โดยรวมแล้ว การลงทุนนี้จะส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มของธุรกิจและผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว นอกจากนี้ การที่บริษัทฯ มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และได้เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลักและผู้เช่าของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน จะส่งเสริมให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนที่มั่นคงขึ้น รวมถึงจะมีการปรับเงื่อนไขให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว พร้อมทั้งสร้างโอกาสแก่กองทุนในการลงทุนทรัพย์สินโทรคมนาคมของบริษัทฯ เพิ่มเติมในอนาคต

ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย