วันอังคารที่ 9 มกราคม เวลา 15.03 น. ตามเวลาในปักกิ่ง (14:03 น. ในประเทศไทย) CASC บริษัทขนส่งอวกาศของรัฐบาลจีนได้ปล่อยดาวเทียมดาราศาสตร์ดวงใหม่ชื่อ “ไอน์สไตน์โพรบ” (Einstein Probe) ที่ขับดันด้วยจรวด Long March-2C ออกจาก LC-3 ที่ศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีชาง (XSLC) ในมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ไปสู่วงโคจรที่ระดับความสูง 600 กิโลเมตรได้สำเร็จ ซึ่งเป็นเที่ยวบินแรกของจรวด Long March 2C ในปี 2024 และเที่ยวบินที่ 506 ของจรวดตระกูล Long March

ดาวเทียมไอน์สไตน์โพรบ เป็นดาวเทียมดาราศาสตร์ดวงใหม่ของจีน สำหรับใช้สังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างลึกลับในจักรวาล โดยใช้เทคโนโลยีการตรวจจับรังสีเอกซ์ใหม่ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการทำงานของตากุ้งล็อบสเตอร์

ดาวเทียมไอน์สไตน์โพรบ มีรูปร่างเหมือนดอกบัวบาน ซึ่งมีกลีบดอก 12 โมดูล ที่ประกอบด้วยกล้องโทรทรรศน์เอกซเรย์สนามกว้าง (WXT) และมีเกสรตัวผู้ 2 โมดูล ก็คือกล้องโทรทรรศน์เอกซเรย์ติดตามผล (FXT) ทั้งหมดมีน้ำหนักรวมกันประมาณ 1.45 ตัน และมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับรถ SUV คันใหญ่

กล้องโทรทรรศน์ทั้งหมดบนไอน์สไตน์โพรบ จะทำหน้าที่เหมือนเป็นหอดูดาวในอวกาศ เพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์จับแสงแรกที่เกิดจากการระเบิดของซูเปอร์โนวา การค้นหารังสีเอกซ์ในเหตุการณ์คลื่นความโน้มถ่วง และปรากฏการณ์หลุมดำกลืนกินดาวฤกษ์ (Tidal disruption events)

ที่มา : english.news.cn

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส