FIFA ได้มอบสิทธิ์ให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกมาตั้งแต่ปี 2010 นับเป็นเวลา 12 ปี ที่กาตาร์ได้เตรียมพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันสุดยิ่งใหญ่ระดับโลกครั้งนี้ และเป็นประเทศเจ้าภาพที่ได้รับเสียงครหามากมาย แม้ว่ากาตาร์จะเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศอิสลามในตะวันออกกลางที่มั่งคั่ง แต่ก็มีชื่อเสียงทางด้านลบหลายเรื่อง ทั้งการคอรัปชัน การปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติ และด้วยความที่เป็นชาติอิสลาม ซึ่งต่อต้านกลุ่ม LGBTQ+ จึงเอื้อให้ตำรวจกาตาร์มุ่งเล่นงานชาว LGBTQ+ ในประเทศอย่างหนัก และเป็นประเด็นให้นานาชาติกำลังเพ่งเล็ง แต่ท่ามกลางชื่อเสียงในแง่ลบต่าง ๆ กาตาร์ก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมาก ดังนี้

1.เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดที่เคยเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

ทั้งประเทศกาตาร์มีพื้นที่เพียง 11,586 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งพอ ๆ กับจังหวัดน่าน ประเทศไทยเรา ทั้งประเทศมีประชากรเพียงแค่ 2.7 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงาน และตั้งถิ่นฐาน คงมีชาวกาตาร์ตามสัญชาติจริง ๆ เพียงแค่ 400,000 คนเท่านั้น แม้ประเทศจะมีขนาดกระจ้อยร่อย แต่มี GDP สูงที่สุดอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลกเลยเชียว

2.ชีค ตะมีม บิน ฮะมัด บิน เคาะลีฟะฮ์ อัษษานี เป็นเจ้าผู้ครองกาตาร์พระองค์ปัจจุบัน

ชีค ตะมีม บิน ฮะมัด บิน เคาะลีฟะฮ์ อัษษานี (Tamim bin Hamad Al Thani) เป็นเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์พระองค์ปัจจุบัน มีพระชันษา 42 ปี ขึ้นครองตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2013 ในวันที่รับตำแหน่งนั้นมีพระชันษาได้ 33 ปี นับเป็นผู้ปกครองประเทศในโลกอาหรับที่มีอายุน้อยที่สุด

เดิมที ชีค ฮามัด (Sheikh Hamad) ผู้เป็นพระบิดาของพระองค์ ได้ทรงแต่งตั้งให้ ชีค จัสซิม (Sheikh Jassim) โอรสองค์โตเป็นรัชทายาท แต่ ชีค จัสซิม ประกาศขอสละตำแหน่งรัชทายาทเมื่อปี 2003 ตำแหน่งจึงตกทอดมายัง ชีค ตะมีม บิน ฮะมัด บิน เคาะลีฟะฮ์ อัษษานี ซึ่งเป็นโอรสองค์รอง

ชีค ตะมีม นั้นจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์ ในสหราชอาณาจักร ปัจจุบันชีค ตะมีม มีพระชายาถึง 3 พระองค์ และพระโอรส พระธิดารวม 13 พระองค์ โดยพระชายาเอกนั้นเดิมทีก็เป็นญาติใกล้ชิดของพระองค์เอง นอกจากนั้น ชีค ตะมีม ยังคงโปรดเกี่ยวกับการกีฬา พระองค์ทรงเข้าซื้อสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง (Paris Saint-Germain) มาตั้งแต่ปี 2011

3.ประชากรกาตาร์ ชายมากกว่าหญิงถึง 3 เท่าตัว


กาตาร์เป็นประเทศที่มีอัตราส่วนประชากรเพศหญิงน้อยกว่าเพศชายมากที่สุดในโลก ประชากรทุก ๆ 4 คน จะเป็นเพศหญิงเพียงแค่คนเดียว คิดเป็นอัตราส่วนคือ 25.04 เปอร์เซ็นต์ ความเหลื่อมล้ำทางเพศขนาดนี้ เป็นผลมาจากการหลั่งไหลเข้าประเทศของแรงงานต่างชาติในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อปี 2001 กาตาร์มีประชากรเพียงแค่ 615,000 คน เพิ่มมาเป็น 3 ล้านกว่าคนในปัจจุบัน และมีประชากรเพียง 15 % เท่านั้น ที่เป็นชาวกาตาร์โดยกำเนิด

4.ห้ามจุ๊บกัน หรือชูนิ้วกลางในที่สาธารณะ

แม้ว่าผู้คนชาวกาตาร์จะมีไมตรีจิต และให้การต้อนรับผู้มาเยือนด้วยความยินดี แต่ขณะเดียวกัน กาตาร์ก็เป็นประเทศที่มีกฏหมายเข้มงวด และมีมาตรฐานสังคมที่ดูเป็นการจำเพาะอย่างมาก เพราะเป็นประเทศมุสลิมที่เคร่งครัดมากในเรื่องกฏระเบียบทางศาสนา โดยเฉพาะการแสดงออกทางกายในที่สาธารณะ อย่างเช่น ห้ามกุมมือกัน ห้ามจูบกัน ห้ามสบถคำหยาบ หรือแสดงกิริยามารยาทที่หยาบคาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชูนิ้วกลางนี่ถือว่าผิดกฎหมายขั้นรุนแรงเลยเชียว ห้ามถ่ายภาพในสถานที่หวงห้าม ห้ามถ่ายภาพชาวเมืองกาตาร์ โดยเฉพาะผู้หญิงนี่ห้ามเด็ดขาดเลย มีสิทธิ์โดนตำรวจจับได้ การแต่งกายในที่สาธารณะก็ต้องระมัดระว้งด้วย เวลาไปเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวอย่างเช่นสถานที่ราชการ หรือพิพิธภัณฑ์ ก็ต้องไม่ใส่เสื้อเปิดไหล่ และห้ามใส่กระโปรงสั้นเหนือเข่า
แต่ในช่วงที่มีการแข่งฟุตบอลโลกนั้น มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าประเทศอย่างมาก ทางรัฐก็มีการโอนอ่อนผ่อนปรนบ้างในบางกรณี

อย่างที่กล่าวไปว่ากาตาร์เป็นประเทศมุสลิมที่เคร่งครัดอย่างมาก ฉะนั้นการดื่มแอลกอฮอล์จึงเป็นเรื่องต้องห้าม อายุที่ได้รับอนุญาตให้ดื่มแอลกอฮอล์ได้คือ 21 ปี แต่ห้ามดื่มในพื้นที่สาธารณะอย่างเด็ดขาด หรือถ้าดื่มภายนอกบ้านตัวเอง ก็ต้องดื่มในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น การหาซื้อแอลกอฮอล์ในกาตาร์จึงเป็นเรื่องยาก แล้วยังห้ามนำแอลกอฮอล์เข้าประเทศด้วยเช่นกัน รวมไปถึงห้ามนำสื่อลามากต่าง ๆ เนื้อหมู อาวุธปืน หนังสือหรือสื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาอื่น

และประเด็นที่ยังคงเป็นเรื่องโต้แย้งในระดับนานาชาติ ก็ในเรื่องที่กาตาร์ยังคงไม่ยอมรับในรสนิยมรักร่วมเพศ กฎหมายกาตาร์ยังคงเข้มงวดในเรื่องรักร่วมเพศ หรือร่วมเพศกันโดยที่ยังไม่ได้แต่งงาน ผู้ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายดังกล่าว จัดว่าเป็นการก่ออาชญากรรมทางเพศ จะต้องโทษคุมขังไม่ต่ำกว่า 7 ปี ซึ่ง FIFA เองก็กังวลและให้ความสำคัญในประเด็นนี้ เพราะในวันนี้โลกเราให้การยอมรับบุคคล LGBTQ+ กันอย่างกว้างขวางแล้ว ซึ่งกาตาร์เองก็ยอมผ่อนปรนให้เป็นกรณีพิเศษว่า ในช่วงฟุตบอลโลกนี้ กาตาร์ยินดีต้อนรับทุกคนด้วยความจริงใจ รวมไปถึงบุคคลในกลุ่ม LGBTQ+ ด้วย จะไม่โดนดำเนินคดีใด ๆ

5.โดฮา เมืองหลวงของกาตาร์ ติดอันดับที่ 2 เมืองที่ปลอดภัยที่สุดในโลก

เว็บไซต์ numbeo.com ได้จัดอันดับเมืองที่เกิดคดีอาชญากรรมทั่วโลก โดยอิงข้อมูลจากนักท่องเที่ยวที่ส่งเข้ามาในเว็บไซต์ ผลก็คือ โดฮา ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ปลอดภัยที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 2 รองจาก อาบูดาบี เมืองหลวงของสาธารณรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ ส่วน ซาน เซบาสเตียน ประเทศสปน อยู่ในอันดับที่ 3 ไม่อยากเขียนต่อเลยว่า กรุงเทพ อยู่ในอันดับที่ 192

“กาตาร์มีคดีอาชญากรรมเกิดขึ้นน้อยมาก แค่คดีอย่างเช่น ล้วงกระเป๋า วิ่งราว หรือคดีเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ก็ยังพอมีบ้างแต่ก็นาน ๆ ครั้ง ยังไงก็ระมัดระวังข้าวของตัวเองไว้ด้วยแล้วกัน โดยเฉพาะเวลาอยู่ในที่ชุมชนแออัด”
เว็บไซต์ Smarttraveller กล่าวเตือนไว้

6.กาตาร์ไม่ใช่ “ประเทศแห่งเสรีภาพ”

สมาชิกราชวงศ์ อัล ธานี

แม้ว่ากาตาร์จะเป็นประเทศที่ปลอดภัยมาก แต่ในทางกลับกัน กาตาร์ก็ไม่ใช่ประเทศที่ให้เสรีภาพกับประชาชนเท่าใดนัก อ้างอิงข้อมูลจาก Freedom House หน่วยงานไม่หวังผลกำไรของสหรัฐอเมริกา ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1941 ในทุก ๆ ปี Freedom House จะทำการจัดอันดับการเข้าถึงสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของประชาชน กับ 210 ประเทศ

ในปี 2022 นี้เอง กาตาร์ได้คะแนน “สิทธิเสรีภาพของประชาชน” อยู่ที่ 25 จากคะแนนเต็ม 100 เทียบเท่ากับเมื่อปี 2021 และได้คะแนน “สิทธิเสรีภาพทางการเมือง” อยู่ที่ 7 จากคะแนนเต็ม 40 และ “เสรีภาพของพลเมืองในประเทศ” ได้คะแนนไป 18 จากคะแนนเต็มที่ 60

กาตาร์เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษมาตั้งแต่ปี 1916 มาได้รับเอกราชเมื่อปี 1971 ตั้งแต่นั้นกาตาร์ก็ปกครองโดยประมุขที่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์อัลธานี ตระกูลอัลธานีจะทำหน้าที่ทั้ง พระมหากษัตริย์ ประมุขแห่งรัฐ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้รับรองรัฐธรรมนูญ

“ผู้สืบทอดในตระกูลอัลธานีจะยึดอำนาจบริหารและนิติบัญญัติทั้งหมด รวมไปถึงการควบคุมระบบตุลาการ กาตาร์ไม่มีพรรคการเมือง มีเพียงการเลือกตั้งสภาเทศบาลที่ปรึกษาเท่านั้น แม้ว่าพลเมืองกาตาร์จะมีความมั่งคั่งที่สุดในโลก แต่พวกเขาก็ไมมีสิทธิเสรีภาพทางการเมือง แต่มีสิทธิเสรีภาพพลเมืองบ้างเล็กน้อย”
ข้อมูลส่วนหนึ่งจากรายงานของ Freeddom House ปี 2022

7.Al Jazeera สำนักข่าวยักษ์ใหญ่ของโลกอยู่ที่นี่

สำนักข่าว อัล จาซีรา สื่อยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่สามารถเข้าถึงกว่า 270 ล้านหลังคาเรือน ครอบคลุมใน 140 ประเทศทั่วโลก มีสำนักงานอยู่ที่ กาตาร์ นี่เอง อัล จาซีรา ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1996 รายงานข่าวด้วยภาษาอารบิก ในปี 2006 จึงเปิดตัว อัล จาซีรา ในภาษาอังกฤษ
สำนักข่าว อัล จาซีรา บรรยายตัวตนไว้ว่า “เราคือองค์กรข่าวอิสระที่ได้ทุนส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาลกาตาร์ แต่ละหน่วยงานของ อัล จาซีรา นั้น ยึดถือหลักการทำงานและค่านิยมเดียวกัน นั่นคือความท้าทายและกล้าที่จะเป็นปากเสียงให้กับผู้คนที่ไม่สามารถส่งเสียงได้ในพื้นที่ที่ไม่เคยได้รับการเข้าถึง”

8.รวยจริงรวยจังคือ กาตาร์


ธนาคารโลกรายงานว่า กาตาร์เป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งอยู่ในลำดับที่ 4 ของโลก รองจาก ลักเซมเบิร์ก, สิงคโปร์ และ ไอร์แลนด์ มีค่า GDP ต่อหัวอยู่ที่ 93,521 เหรียญ เหตุที่กาตาร์มีความมั่งคั่งถึงเพียงนี้ เพราะประเทศมีแหล่งกำเนิดพลังงานธรรมชาติ กาตาร์ขุดพบแหล่งน้ำมันดิบเมื่อปี 1935 และพบก๊าซธรรมชาติในอีก 30 ปีต่อมา
เมื่อปี 2020 กาตาร์เป็นประเทศผู้ส่งออก ก๊าซธรรมชาติเหลว (liquefied natural gas) เป็นอันดับที่ 2 ของโลก และส่งออกน้ำมันดิบมากที่สุดในอันดับที่ 16 ของโลก กาตาร์ยังภูมิอกภูมิใจอีกว่าเขาแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ลึกที่สุดในโลก มีความลึก 12 กิโลเมตร

9.เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่งดงาม

ประเทศกาตาร์ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างอ่าวเปอร์เซีย กับทะเลทรายคออัลอูดีด ซึ่งสมรภูมิที่ตั้งเช่นนี้ ทำให้ชาวกาตาร์ภูมิใจเสนอว่า ภูมิทัศน์และภูมิศาสตร์ของประเทศเขานั้นสวยงามสุดตราตรึงใจ หาใดเทียม และเต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงามและหลากหลาย มีทั้ง แนวชายฝั่ง หน้าผา น้ำทะเลที่ใสแจ๋ว และทะเลทราย น้ำในแอ่งน้ำธรรมชาติที่ใสราวกับภาพลวงตาท่ามกลางทะเลทราย

10.มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี


จุดกำเนิดของกาตาร์นั้นเริ่มมาตั้งแต่ 50,000 กว่าปีก่อนนู้น พื้นที่ของกาตาร์นั้นถูกบันทึกไว้ว่าเป็นดินแดนแรกที่ถูกยึดครองโดยต่างชาติ ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมานั้น กาตาร์เคยถูกยึดครองโดยหลายชนชาติ รวมไปถึงโปรตุเกสด้วย หลังจากตกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมันมาอย่างยาวนาน หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1915 กาตาร์ก็ตกอยู่ใต้การปกครองของเครือจักรภพอังกฤษ และได้เป็นเอกราชเมื่อปี 1971

ที่มา ที่มา