เชื่อว่าหลายคนน่าจะพอรู้หรือไม่ก็สัมผัสกันได้ว่า STORY OF SEASONS: Friends of Mineral Town มันก็คือเกมปลูกผักภาค GBA ในตำนาน ที่กลับมาในรูปแบบของรีเมกที่ก็ยังคงเต็มไปด้วยกลิ่นอายเดิม ๆ ที่ดีอยู่แล้วและเกมเพลย์ที่แฟน ๆ คิดถึง “จะมีก็แค่ชื่อ” ที่ไปแล้วไปลับไม่กลับมา และจำต้องใช้ Story of Seasons ที่ถูกแปลมาจากชื่อของเกมเวอร์ชันญี่ปุ่นอย่าง Bokujou Monogatari ซึ่งเหตุผลนั่นก็เป็นเพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่าง Marvelous ทีมพัฒนาตลอดมาของซีรีส์ Harvest Moon และ Natsume ผู้จัดจำหน่ายคู่ซี้ที่ #วงแตก กันไปเป็นที่เรียบร้อย แต่เพระาอะไรล่ะทำไมทั้งถึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับทั้งสอง? มันเริ่มจากตรงไหน? และปัจจุบันเป็นเช่นไร? บทความนี้มีคำตอบให้ทุกคนได้กระจ่างเองครับ


จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์และชนวนความขัดแย้งของ Marvelous และ Natsume

Harvest Moon SNES
ภาพซ้าย: https://gamedrive.jp/news/1533776401
ภาพขวา: https://www.reddit.com/r/StardewValley/comments/9quy4w/shout_out_to_the_game_that_started_it_all/

Harvest Moon ภาคแรกนั้น ลืมตาดูโลกในปี 1996 บนเครื่อง Super Nintendo Entertainment System (หรือชื่อที่คุ้นกว่า Super Famicom) โดยเป็นผลงานความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของคุณ Yasuhiro Wada และทีมพัฒนาในชื่อ In-Pack-Video หรือในปัจจุบันที่เรารู้จักกันในชื่อ Marvelous ซึ่งจริง ๆ เกมภาคแรกเลยจะมีใช้ชื่อว่า Bokujō Monogatari (ที่หากแปลให้ออกมาเป็นคำที่สละสลวยก็จะได้ออกมาเป็น Story of Seasons) แต่ด้วยความที่ตัวเกมได้มีโอกาสวางขายในระดับสากลด้วย ในตอนนั้น In-Pack-Video เลยได้ “Natsume” มาเป็นผู้จัดจำหน่ายที่จะนำเกมดังกล่าวไปขายให้ ซึ่งพวกเขาก็ต้องทำการแปลหรือ Localize ภาษาภายในของเกมรวมไปถึงชื่อ เลยทำให้เกมซีรีส์นี้มีชื่อในเวอร์ชันสากลว่า Harvest Moon อย่างที่ทุกคนรู้จักกันที่ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการจดสิทธิ์ชื่อไปโดยปริยายเพื่อป้องกันปัจจัยด้านลิขสิทธิ์หลาย ๆ อย่าง “ซึ่งมันคือชนวนของความขัดแย้งในอนาคตที่ Natsume และ Marveslous ไม่ได้เอะใจมาก่อน” แต่ไม่ว่าจะอย่างไร Natsume ก็ได้กลายเป็นผู้จัดจำหน่ายคู่บุญ Marvelous ที่ลากยาวไปจนถึงปี 2011

แต่ก่อนจะไปยังหัวข้อถัดไปผู้เขียนขอเอาประวัติยย่อย ๆ In-Pack-Video กลายมาเป็น Marvelous มาให้ได้รับทราบกันก่อนละครับ ใครสนใจก็อ่านในกล่องสปอยล์ด้านล่างนี้ได้เลย

จาก In-Pack-Video สู่ Marvelous
ในปี 1997 ทีมพัฒนา In-Pack-Video ได้ถูก Victor Entertainment บริษัทที่เน้นทำสื่อหลากหลายประเภท เข้าซื้อกิจการ และให้พวกเขากลายเป็นทีมที่คอยพัฒนาเกมให้กับบริษัท Victor ในชื่อ Victor Interactive Software Victor Interactive Software ยังคงผลิตผลงานเกมออกมาอย่างต่อเนื่องโดยแน่นอนว่าซีรีส์ที่ไม่หายไปไหนก็คือ Harvest Moon แต่แล้วในปี 2003 ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดย Marvelous Entertainment ที่ถือหุ้นกว่า 55% ของ Victor Interactive Software ตัดสินใจนำทีมดังกล่าวมารวมเข้ากับบริษัทของตนเอง พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น Marvelous Interactive Inc.

XSEED Games บริษัทลูกของ Marvelous ผู้เปลี่ยนแปลงชะตากรรมชื่อ Harvest Moon

Story of Seasons
ภาพจาก: https://harvestmoon.fandom.com/wiki/User:Luph

Marvelous และ Natsume ยังคงแพ็คคู่ร่วมกันสร้างและจัดจำหน่ายซีรีส์ Harvest Moon ภาคใหม่ออกมาเรื่อย ๆ ที่ก็มีทั้งประสบความสำเร็จบ้าง และขาดทุนบ้างปะปนกันไป แต่ตัวแปรใหม่ที่ทำให้ Marvelous เลือกตัดสินใจทำอะไรบ้างอย่างที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทั้งคู่ เกิดขึ้นในปี 2014 ที่ทาง Marvelous ได้ประกาศว่า XSEED Games บริษัทย่อยของพวกเขาในอเมริกา (ที่เริ่มต้นจากจัดจำหน่ายร่วมกันจนภายหลังในปี 2011 ได้เข้าซื้อกิจการมาเป็นของตัวเอง) “ได้ยกเลิกสัญญากับทาง Natsume และกลายมาเป็นตัวแทนจำหน่ายเวอร์ชันภาษาอังกฤษเสียเอง”

แต่กระนั้น มีหนึ่งสิ่งที่ Natsume ที่ Marvelous ไม่ได้กลับมานั้นคือชื่อของตัวเกมในเวอร์ชันสากล “Harvest Moon” เพราะมันเป็นสิทธิเครื่องหมายทางการค้าที่ Natsume ได้จดไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ตอนร่วมงานกัน ทำให้ไม่ว่าเนื้อในของเกมที่ทางสร้างออกมาจะมีความเป็น Harvest Moon แค่ไหนก็ตาม แต่พวกเขาก็ไม่สามารถใช้ชื่อนี้ในการขายได้ Marvelous จึงจำใจต้องใช้ชื่อ Story of Seasons ที่เป็นการแปลแบบสละสลวยมาจาก Bokujou Monogatari แทน (เพราะถ้าแปลแบบคละหลวมเลยจะได้ออกมาว่า Ranch Story หรือชีวิตในยุ้งฉาง, ชีวิตบ้านไร่ หรืออะไรทำนองนี้ ฮ่า ๆ) ซึ่งเกม Harvest Moon ที่ไม่สามารถใช้ชื่อเดิมได้แต่แฟน ๆ รู้กันว่ามันก็คือเกมซีรีส์เดิมที่พวกเขารู้จักกันที่ทาง Marvelous วางจำหน่ายออกมาเป็นเกมแรก ก็คือ Story of Seasons (2014) ซึ่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นไปมานี่คือชื่ออย่างเป็นทางการของเกมซีรีส์นี้ครับ

ชื่อและเกม Harvest Moon ในปัจจุบันที่หลงเหลือไว้เพียงแต่ชื่อ

ปฎิเสธไม่ได้ละนะครับว่าชื่อ Harvest Moon มีอิทธิพลต่อแฟน ๆ เป็นอย่างมาก มันเลยทำให้ Natsume ยังคงใช้สิทธิที่ครอบครองชื่อดังกล่าวในการสร้างเกมออกมาเรื่อย ๆ ทั้ง Harvest Moon: The Lost Valley ที่ออกมาในปี 2014, Harvest Moon: Seed of memories ในปี 2016, Harvest Moon: Light of Hope ในปี 2019 ซึ่งเมื่อเกมภาคใหม่ ๆ ยิ่งออกมาเรื่อย ๆ ความสับสนของแฟน ๆ ที่ติดตามซีรีส์นี้โดยไม่รู้ความขัดแย้งภายในของ Natsume และ Marvelous ก็เริ่มลดน้อยลงด้วยเหตุที่ว่ากลิ่นอายและเอกลักษณ์ในเกมที่มีแต่ชื่อของ Harvest Moon เหล่านี้ ไม่ใช่เกม ๆ เดิมที่พวกเขารู้จักกัน (และมันได้ถูกลากยาวเข้าไปอีกด้วยการทำออกมาเป็นเกมแนว Puzzle…)

ในขณะที่ทาง Marvelous ก็ยังคงทำเกมที่ไม่มีชื่อของ Harvest Moon แต่ตัวตนทั้งหมดยังคงเดิมออกมาเรื่อย ๆ ซึ่งภาพจำในผลงานเกมของทีม Marvelous มันชัดเจนขนาดที่ว่าสามารถนำจิตวิญญาณนี้ไปใส่ในเกมที่มีชื่อว่า Doraemon: Nobita no Bokujou Monogatari เกมจากอนิเมะ/มังงะชื่อดังที่ถูกจำกัดความว่าเป็นเกมโนติบะปลูกผักทำฟาร์ม ที่เกิดจากการร่วมมือกันแบบอีเวนต์พิเศษระหว่าง Bandai Namco, Marvelous และ Brownies ได้โดยแฟน ๆ ที่สัมผัสเพียงผิวเผินหรือผ่านตาจากเทรลเลอร์ก็รับรู้ได้ว่านี่มัน “เกมปลูกผักชัด ๆ”

และนั่นเลยเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมการกลับมาของ Story of Seasons: Friends of Mineral Town ถึงมาได้แค่ชื่อพ่วงท้ายจำกัดความของภาค เพราะสิทธิของชื่อหลักหรือว่าไตเติลในตอนนี้ยังคงตกเป็นของ Natsume นั่นเอง แต่ไม่ต้องห่วงนะ เนื้อในแทบจะทุกส่วนของเกมเวอร์ชันนี้มันคือ “เกมปลูกผักที่เราคุ้นเคยกันดีนั่นแหล่ะ”

***แถม*** รู้ไหม Harvest Moon ภาคไหนผู้ให้กำเนิดรักที่สุด?

รู้สึกตอนไปหาข้อมูลมามันมีหลายอย่างมากนะที่เสียดายเพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้โดยตรง แต่เอาเป็นว่าผู้เขียนแถมให้ละกันครับ ฮ่า ๆ หลายคนน่าจะรู้จักและหลงรักเกมนี้กันจากในภาค Harvest Moon: Back to Nature ใช่ไหมครับ? แต่สำหรับ Yasuhiro Wada หรือบิดาของเกมซีรีส์นี้ “เขากลับชอบ Harvest Moon: A Wonderful Life ที่ลงให้เครื่อง GameCube มากที่สุด” ด้วยเหตุผลที่ว่ามันตรงกับภาพในอุดมคติของมากที่สุด

เพราะจริง ๆ แล้ว Yasuhiro Wada คอนเซปต์แรกที่เขาวางไว้ให้กับซีรีส์นี้ คือ “เรื่องราวของชีวิต” มากกว่าจะเป็น “เรื่องราวในบ้านไร่” ซึ่งในภาค A Wonderful Life การเล่นของเกมได้นำเสนออย่างชัดเจนว่าการตั้งใจทำฟาร์มปศุสัตว์เพียงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบของความสนุกในชีวิตที่ห่างไกลเมืองใหญ่ แต่มันคือการที่ผู้เล่นได้สนิทสนมกับผู้คนในหมู่บ้านหลังหุบเขาที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายรอให้ค้นหา รวมไปถึงยังได้รับการช่วยเหลือเกื้อหนุนอย่างฉันท์มิตร ไปจนถึงได้ค้นพบความหมายของการมีชีวิตอยู่ตั้งแต่เริ่มต้นจนหมดลมหายใจ

อธิบาย Harvest Moon: A Wonderful Life แบบสั้น ๆ
Harvest Moon: A Wonderful Life เป็นภาคที่มีการดำเนินเวลาในการเชื่องช้าที่สุด แต่นั่นเป็นเพราะจุดประสงค์ในภาคนี้ไม่ใช่เพียงแค่การทำปลูกผักทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ แต่ผู้เล่นจะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในหมู่บ้านด้วย โดยมันจะส่งผลระยะยาวตลอดทั้งการเล่น ทั้งในแง่ของเกมเพลย์ที่เราจะได้รับเครื่องไม้เครื่องมือหรือสิ่งอำนวยความสะดวกจากการผูกมิตรกับคนต่าง ๆ ในแง่ของการดำเนินเนื้อเรื่องที่เราจะได้พบเห็นการเติบโต การจากลา และการเปลี่ยนแปลงของทุกตัวละครในเกม

ข้อมูล: Destuctdroid, Monstervine, Beartai, Endgadget

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส