ในยุคดิจิทัลแบบนี้ ไม่ว่าใครก็เข้าถึงสมาร์ตโฟนได้ แม้แต่เด็ก ๆ การให้ลูกเล่นมือถือคงเป็นสิ่งที่พ่อแม่หลายบ้านเคยทำ อาจเพื่อความสนุกของเด็ก บ้างก็เปิดวิดีโอสอนภาษาให้เด็กดู แต่หลายครั้งที่เราเห็นผู้ปกครองใช้สมาร์ตโฟนเป็นเครื่องทุ่นแรงในการเลี้ยงเด็ก จนเด็กติดมือถือ โดยขาดความเข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ปัญหาเด็กติดมือถือจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของเด็กเห็นตรงกันว่าพฤติกรรมติดมือถือนำไปสู่ปัญหาพัฒนาการในเด็ก

มากแค่ไหนถึงเรียกติดมือถือ?

จากสถิติปัจจุบันพบว่าเด็กส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับมือถือเฉลี่ย 5 ชั่วโมง/วัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าเด็กไม่ควรใช้เวลาไปกับหน้าจอเกิน 1 ชั่วโมง/วัน หรือมากสุดไม่เกิน 2 ชั่วโมง/วัน หากเกินกว่านี้สามารถเรียกได้ว่าเป็นการใช้มือถือมากเกินไป

นอกจากเรื่องเวลาแล้ว หากเด็กเริ่มไม่สนใจเรียน ทำกิจกรรมอื่นน้อยลง ใช้เวลากับมือถือมากขึ้น โมโหหรืองอแงเมื่อไม่ให้เล่นมือถือ ปวดหัว ปวดคอ หรือมีปัญหาด้านการนอนหลับก็เรียกว่าติดมือถือได้แล้ว 

เกิดอะไรขึ้นเมื่อเด็กติดมือถือ?

การให้เด็กเล่นมือถือเพียงครั้งคราวไม่ได้ส่งผลเสียที่น่ากังวลใจ แต่เมื่อเด็กเริ่มมีพฤติกรรมติดมือถือและใช้เวลาอยู่กับมือถือมากขึ้นอาจส่งผลกระทบในด้านต่อไปนี้ได้

พัฒนาการช้า

การให้เด็กใช้เวลาอยู่กับมือถือวันละหลายชั่วโมงเป็นการปิดกั้นเด็กจากกิจกรรมอื่น ๆ ที่เขาควรได้ทำตามช่วงวัย อย่างการออกไปวิ่งเล่น พูดคุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน และการเสริมสร้างจินตนาการและการเรียนรู้ในรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาการของเด็ก โดยผลลัพธ์ของพัฒนาการที่ช้าลงพบได้ดังนี้

  • พัฒนาการด้านร่างกาย: ร่างกายเติบโตช้า ตัวเล็กกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน ป่วยง่าย อ้วนง่าย จนอาจทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมร่วมกับเด็กวัยเดียวกันหรือถูกกลั่นแกล้งเนื่องจากความแตกต่าง
  • พัฒนาการด้านสมอง: สมองเล็กลง เกิดปัญหาเรื่องการเรียนรู้ สติปัญญา กระบวนการคิด ความเข้าใจ ไอคิวต่ำ ส่งผลให้เรียนรู้ได้ช้า พูดช้า มีปัญหาด้านการเรียน
  • พัฒนาการด้านอารมณ์: งอแง ไม่มีสมาธิ หงุดหงิดง่าย ใจร้อน ก้าวร้าว เกรี้ยวกราด ทั้งคำพูดและพฤติกรรม ซึ่งในอนาคตอาจพัฒนาเป็นโรคทางอารมณ์ อย่างภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลได้
  • พัฒนาการด้านสังคม: พูดน้อย เข้ากับคนอื่นได้ยาก มีปัญหาด้านการสื่อสาร และขาดทักษะในการเข้าสังคม ทั้งกับครอบครัวและคนอื่น เพราะแม้จะเป็นเด็ก แต่ทักษะในการเข้าสังคมจะเริ่มซึมซับตั้งแต่ช่วงวัยนี้

อาการสมาธิสั้น

เราได้ยินกันมานานว่าพฤติกรรมติดมือถือทำให้เกิดอาการสมาธิสั้น ซึ่งเป็นเรื่องจริง แม้แต่ผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรมติดมือถือยังมีพฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนไป เช่น ใจร้อน หงุดหงิดง่าย แต่ด้วยความเป็นผู้ใหญ่อาจทำให้เรายับยั้งชั่งใจได้

แต่หากสิ่งเหล่านี้ถูกปลูกฝังจนเป็นความเคยชินอาจส่งผลเสียที่รุนแรงให้กับตัวเด็กตั้งแต่ช่วงอายุนั้นดังกล่าวจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จากการสำรวจในโรงเรียนมัธยมปลาย 2,500 แห่งในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลากว่า 2 ปีพบว่าพฤติกรรมติดมือถือไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของโรคสมาธิสั้นในทางการแพทย์เสียทีเดียว แต่จะทำให้เกิดอาการหรือพฤติกรรมบางอย่างที่เข้าข่ายของโรคสมาธิสั้นเท่านั้น เช่น ไม่มีสมาธิ เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ยาก และอยู่นิ่ง ๆ กับที่ไม่ได้

แม้ว่าการมีพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้หมายถึงการเป็นโรคสมาธิสั้น แต่อาจส่งผลต่อการเรียน การใช้ชีวิต และความสัมพันธ์ของเด็กกับครอบครัวและคนอื่น ๆ ได้จึงเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองควรใส่ใจ

เด็กติดมือถือกับดิจิทัลฟุตพรินท์ที่ลบไม่ออก

ในโลกของอินเทอร์เน็ตทุกอย่างถูกบันทึกไว้บนเซิร์ฟเวอร์และบนคลาวด์ และถูกส่งต่อกันอย่างไม่รู้จบ กรณีศึกษาหลายกรณีในเรื่องที่ถูกยกตัวอย่างให้เราเห็นบ่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับคลิป พฤติกรรม และความคิดในอดีตที่ขุดและย้อนกลับมาทำร้ายผู้คน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แม้เขาจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม

ทุกวันนี้เราเห็นเด็ก ๆ เล่นโซเชียลมีเดียแทบทุกช่องทางโดยไม่มีผู้ปกครองคอยดูแล ซึ่งเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยถูกหล่อหลอมด้วยสังคมโดยปราศจากคำแนะนำของครอบครัว จนแสดงและเผยแพร่พฤติกรรมที่เขา “อาจ” รู้สึกเสียใจเมื่อมองย้อนกลับมาในวันที่โตขึ้น ดังนั้น การสอดส่องให้คำแนะนำกับเด็กจึงเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่ขาดไม่ได้ของพ่อแม่เมื่อโลกทั้งใบก้าวสู่ยุคดิจิทัลแบบนี้

เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้ติดมือถือ?

  • ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบใช้มือถือ
  • เด็กตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป ควรใช้เวลากับมือถือให้น้อยที่สุดหรือไม่เกิน 1 ชั่วโมง/วัน
  • ฝึกวินัยการใช้มือถือให้เป็นเวลาเป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรทำ แต่อย่าคาดหวังให้เด็กรู้ได้ด้วยตัวเอง พ่อแม่ควรเป็นดูแลการใช้ของเด็ก
  • คัดกรองเนื้อหาทุกอย่างก่อนให้เด็กใช้มือถือ
  • หากิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจให้เด็กทำ หรือทำร่วมกับเด็ก
  • ลดการใช้มือถือต่อหน้าเด็กเพื่อเป็นตัวอย่าง

หากเด็กในบ้านมีพฤติกรรมติดมือถือ มีอาการสมาธิสั้น สัญญาณของพัฒนาการที่ช้าลง หรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว พ่อแม่ควรหาเวลาพาเด็กไปพบแพทย์ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจนำไปสู่ปัญหาที่รุนแรงในอนาคตได้

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส