‘งานหนักไม่เคยฆ่าใคร’ จากคำคมให้กำลังใจสู่คำเสียดสี เมื่อข่าวคนเสียชีวิตจากการทำงานหนักพบได้มากขึ้นทุกปี ทั้งในไทยและทั่วโลก ซึ่งตอกย้ำความเท็จของความเชื่อดังกล่าวให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในยุคสมัยที่ผู้คนแข่งขันเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่อาจต้องแลกมาด้วยสุขภาพและชีวิต โดยที่ไม่ทันได้เห็นความสำเร็จ

เพื่อลดผลกระทบด้านการใช้ชีวิต สุขภาพ และชีวิตจากการทำงานหนัก Hack for Health จะมาบอกเล่าวิธีที่งานหนักนั้นใช้ฆ่าคุณ

งานหนักฆ่าคุณได้

องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่าในปี ค.ศ. 2016 มีคนกว่า 745,000 คนทั่วโลกเสียชีวิตจากการทำงานหนัก โดยแบ่งเป็นการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) 398,000 คน และโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic Heart Disease) อีก 347,000 คน ซึ่งเคสส่วนใหญ่เกิดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน รวมถึงประเทศไทยด้วย

โรคหลอดเลือดสมอง คนไทยรู้จักอาจกันในชื่ออัมพฤกษ์/อัมพาต สาเหตุมาจากการไหลเวียนเลือดผิดปกติ เช่น เส้นเลือดในสมองแตก ตีบ หรืออุดตัน ส่งผลให้เซลล์สมองขาดออกซิเจนจนเกิดอาการผิดปกติ เช่น หน้าเบี้ยว ควบคุมร่างกายไม่ได้ หมดสติ และเสียชีวิต

โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงจากการที่หลอดเลือดหัวใจตีบ อุดตัน หรือหัวใจเต้นผิดปกติ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจจึงหยุดสูบฉีดเลือด ทำให้ร่างกายส่วนอื่นขาดเลือดไปเลี้ยง ระบบต่าง ๆ จึงหยุดทำงานและนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด

ข้อมูลทางการศึกษาสรุปออกมาแล้วว่าการทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมง/สัปดาห์ขึ้นไป หรือราว 7.8 ชั่วโมง/วัน (7 วัน) หรือ 11 ชั่วโมง/วัน (5 วัน) เสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 35 เปอร์เซ็นต์ และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเพิ่มขึ้น 17 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับคนที่ทำงาน 36–40 ชั่วโมง/สัปดาห์

ทำไมงานหนักถึงฆ่าคุณได้?

การทำงานหนักอาจไม่ได้ให้ค่าตอบแทนคุณเป็นเงินเดือนสูง ๆ หรือสวัสดิการสุดเลิศหรูเท่านั้น ซึ่งบางคนอาจไม่ได้สิ่งเหล่านี้ด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่งานหนักมากเกินไปให้กับคุณแน่ ๆ คือสิ่งต่อไปนี้

1. ความเครียด

การทำงานหนักส่งผลให้ร่างกายเกิดความเครียด แม้คุณไม่ได้ทำงานภายใต้ความกดดัน การใช้งานร่างกายและสมองติดต่อกันนานส่งผลให้คอร์ติซอล (Cortisol) ฮอร์โมนความเครียดหลั่งออกมามากขึ้น ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น หัวใจและหลอดเลือดจึงทำงานหนักมากขึ้น หากเป็นแบบนี้บ่อย ๆ คุณก็มีความเสี่ยงแล้ว

แล้วถ้าคุณต้องทำงานนานหลายชั่วโมงต่อวัน ร่วมกับการถูกกดดันจากงาน ภาระหน้าที่ และหัวหน้า ฮอร์โมนคอร์ติซอลก็จะหลั่งเพิ่มมากขึ้นอีก เกิดเป็นความเครียดที่ทั้งรุนแรงและเรื้อรัง ในระยะยาวหัวใจและหลอดเลือดจะค่อย ๆ เสื่อมลง เริ่มทำงานผิดปกติ เสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือบางคนอาจต้องเผชิญกับโรคเครียด ภาวะวิตกกังวล โรคซึมเศร้า และปัญหานอนไม่หลับ

นอกจากนี้ เวลาที่คุณทุ่มไปให้กับการทำงานหนักอาจตัดขาดคุณจากการพักผ่อนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การนอนหลับ งานอดิเรก และการพูดคุยกับคนใกล้ตัว ซึ่งความเครียดที่ไม่ถูกปลดปล่อยออกมาบ้างจะวนเวียนทำลายร่างกายและจิตใจของคุณไปเรื่อย ๆ

2. การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ

อาจมีหลายครั้งที่คุณเห็นเพื่อนในโลกออนไลน์บ่นลงโซเชียลมีเดียว่าวันนี้นอนเช้าอีกแล้วอยู่บ่อย ๆ จนเผลอไปคิดว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั้งที่ไม่ปกติ การนอนหลับเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายของคุณได้พักผ่อนมากที่สุด ซึ่งการทำงานหนักมากเกินไปพรากสิ่งนี้ไปจากคุณ ไม่ใช่แค่พนักงานออฟฟิศ แต่ฟรีแลนเซอร์ (Freelancer) ก็ต้องเผชิญกับปัญหานี้ด้วยเช่นกัน

การอดนอน นอนน้อย และการพักผ่อนไม่เพียงพอ นอกจากจะทำให้คุณไม่มีสมาธิและหงุดหงิดง่ายแล้ว ในระยะยาวสามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคทางอารมณ์ ภาวะความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจได้ด้วย สาเหตุส่วนหนึ่งของการพักผ่อนน้อยอาจเป็นผลมาจากงานของคุณและความเครียดที่มาพร้อมกับงานด้วย การศึกษาพบว่าคนที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง/วันเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากขึ้น

3. ความสัมพันธ์รอบตัวที่แย่ลง

งานหนักไม่ได้เอาแค่เวลาพักผ่อนของคุณไป แต่ยังเอาเวลาที่คุณสามารถให้กับคนใกล้ตัว ทั้งคนรัก ครอบครัว และเพื่อนฝูงไปได้ด้วย ซึ่งช่วงเวลานี้อาจเป็นช่วงเวลาพักผ่อนที่ช่วยให้คุณลืมความเครียดจากงานไปชั่วขณะ ได้เล่าหรือปลดปล่อยเรื่องราวความทุกข์จากภาระงานให้คนที่พร้อมรับฟัง

ในทางกลับกัน เวลาที่ใช้ไปกับการทำงานทำให้คุณมีเวลาให้กับคนรอบตัวน้อยลง เกิดเป็นความห่างเหิน ไม่เข้าใจ และความเครียดจากงานอาจทำให้คุณหงุดหงิด อารมณ์เสียได้ง่ายจนเกิดการทะเลาะกับคนรอบตัวจนส่งผลต่อสุขภาพจิตของคุณ ซึ่งวนกลับไปที่ปัญหาเรื่องความเครียด

4. คุณภาพชีวิตที่ถดถอย

การเผชิญกับงานหนักส่งผลต่อไลฟ์สไตล์ของคุณในหลายด้าน ซึ่งล้วนเพิ่มความเสี่ยงของโรคและอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เช่น

  • อาหารการกินที่แย่ลง คุณอาจไม่มีเวลากินข้าวหรือเวลาในการเลือกอาหารดีต่อสุขภาพ เสี่ยงต่อโรคอ้วนหรือปัญหาผอมเกินไป การกินอาหารฟาสต์ฟู้ดหรืออาหารสำเร็จรูปบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงของเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้อีกด้วย
  • ไม่ได้ออกกำลังกาย ส่งผลให้การเผาผลาญร่างกายน้อยลง สมองทำงานช้าลง การไหลเวียนเลือดทำงานได้ไม่ดี ประกอบการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้นหลายเท่า
  • การเจ็บป่วยเรื้อรัง คุณอาจยังไม่ได้ตรวจพบว่าเป็นโรคร้ายแรง แต่ปัญหาการนอนไม่หลับ อาการออฟฟิศซินโดรม อาการปวดเรื้อรัง หรืออาการภูมิแพ้ที่ต่อเนื่องสามารถบั่นทอนคุณภาพชีวิต ร่างกาย และจิตใจของคุณได้เรื่อย ๆ

เมื่อปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้นกับคนคนหนึ่งติดต่อเป็นเวลานาน พอถึงจุดหนึ่ง คนนั้นอาจหลับฟุบคาโต๊ะทำงานไปโดยไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำว่าทุกสิ่งที่อดทนทำมาเพื่อเงินและความก้าวหน้าหายวับไปในพริบตาเหมือนจอคอมพิวเตอร์ที่ดับลงใต้แสงของไฟดวงสุดท้ายเหนือโต๊ะทำงานที่รายล้อมไปด้วยความมืด เหลือเพียงไว้แต่ความโศกเศร้าเสียใจของคนที่ยังอยู่

การทำงานหนักไม่ใช่เรื่องต้องห้าม เพราะสิ่งนี้อาจมอบเงิน ความสุขสบาย และอนาคตที่สดใสให้กับคุณ แต่คุณควรนึกไว้เสมอว่าคุณต้องมีสุขภาพที่ดี มีเวลา และมีโอกาสที่จะได้ใช้ค่าตอบแทนที่คุณแลกมาอย่างเหน็ดเหนื่อย และนึกถึงอยู่เสมอว่า ‘งานหนักนั้นฆ่าคุณได้’

สุดท้ายนี้ ไม่มีใครบอกได้ว่างานที่คุณกำลังทำอยู่จะฆ่าคุณในวันไหน แต่ถ้าคุณกำลังทำงานหนักหรือมีภาระที่ต้องแบกรับในแบบที่คนอื่นอาจไม่เข้าใจ เราแนะนำให้คุณลองถอยออกมาสักหนึ่งก้าว แล้วหาคำตอบให้ตัวเองว่าสิ่งที่ทำอยู่ให้อะไรกับคุณ แล้วสิ่งนี้คุ้มค่าค่าแค่ไหนที่จะแลกมาด้วยความสุขในวันข้างหน้าหรือแม้กระทั่งชีวิตของคุณเอง

ที่มา1, ที่มา2, ที่มา3, ที่มา4

ภาพปก: Midjourney

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส