กว่า 890 ล้านคนทั่วโลกมีปัญหาเรื่องโรคอ้วน (Obesity) และคนไทยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์อยู่เกณฑ์อ้วน ซึ่งโรคอ้วนเป็นวิกฤตสุขภาพที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น และไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องรูปร่าง หรือน้ำหนักตัว เพราะโรคอ้วนสัมพันธ์กับโรคอื่น ๆ มากกว่า 200 โรคที่เกี่ยวข้องกับร่างกายหลากหลายระบบ

Novo Nordisk บริษัทด้านการดูแลสุขภาพชั้นนำระดับโลกจากประเทศเดนมาร์ก และผู้ผลิตยาโรคเบาหวาน GLP-1 ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกได้จัดงานเสวนาเพื่อส่งต่อความตระหนักรู้ถึงผลกระทบโรคอ้วนในคนไทย
โรคอ้วนสัมพันธ์กับโรคมากมาย ตั้งแต่โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคข้ออักเสบ ภาวะซึมเศร้า หรือแม้แต่โรคทางสมอง อย่างโรคอัลไซเมอร์ และในรายงานพบว่ากว่า 1 เปอร์เซ็นต์ GDP ของประเทศไทยในปี 2019 ถูกใช้ไปกับการรักษาปัญหาสุขภาพจากโรคอ้วน ซึ่งจำนวนตัวเลขและค่าใช้จ่ายนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ในปี 2603 หากคนไทยไม่เริ่มตระหนักรู้และดูแลตัวเองจากโรคอ้วนตั้งแต่วันนี้
การออกกำลังกายและคุมอาหารสำหรับคนทั่วไปอาจเพียงพอที่จะช่วยควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ปัจจุบันมีคนที่มีโรคอ้วนมากมายที่ไม่สามารถประสบความสำเร็จในการลดความอ้วนด้วยตนเองแม้ดูแลตัวเองดีเท่าไหร่ก็ตาม ซึ่งอาจเป็นผลมาจากพันธุกรรมของร่างกาย ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ที่ไม่เอื้อต่อการลดน้ำหนัก ตลอดจนการตีตราการเป็น ‘คนอ้วน’ ของคนในสังคม หรือการดูแคลนที่คนที่มีน้ำหนักตัวมากไม่สามารถลดน้ำหนักได้ ทั้งที่คนเหล่านั้นลองลดด้วยตัวเองแล้วก็ตาม
ภายในงานนี้ ทาง Novo Nordisk ได้เชิญ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อภิชาต สุคนธสรรพ์ นายกสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย มาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคอ้วน โดยเริ่มต้นจากการเล่าถึงผลกระทบของโรคอ้วนต่อระบบต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง สัดส่วนของคนอ้วนในประเทศไทย และวิธีเบื้องต้นในการลดความอ้วน ซึ่งทำให้หลายคนได้ทราบว่าการคุมอาหารช่วยลดน้ำหนักได้มากกว่าการออกกำลังกาย พร้อมแนะนำการคุมอาหาร อย่างการควบคุมแคลอรี การทำ Intermittent Fasting และการรับประทานอาหารแนวเมดิเตอร์เรเนียน

พร้อมได้เล่าถึงประโยชน์ของการลดน้ำหนักและรักษาโรคอ้วน ว่าเพียงลดน้ำหนักลงจากเดิม 5 เปอร์เซ็นต์สามารถช่วยฟื้นฟูระบบความดันโลหิตให้กลับมาปกติ และหากลดได้มากถึง 10-15 เปอร์เซ็นต์จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังมากมาย อย่างไขมันพอก โรคหลอดเลือดสมอง และหากลดได้มากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากความผิดปกติของหัวใจได้ด้วย
ถัดมา นางสาวพิชญะ เพียรงาม หรือคุณเดย์ ผู้ที่เคยมีน้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัมได้มาแชร์ประสบการณ์ในการลดน้ำหนักและรักษาโรคอ้วน โดยเริ่มจากการเล่าถึงภาวะเครียดจากการทำงานที่กระทบต่อการใช้ชีวิต และนำไปสู่การมีน้ำหนักสูงถึง 100 กิโลกรัมก่อนจะเริ่มลดน้ำหนักด้วยตัวเองเป็นเวลากว่า 1 ปี และพบว่าไม่ได้ผล

จนกระทั่งเข้ารับการปรึกษาและใช้ยาเพื่อรักษาโรคอ้วนจากแพทย์ เพียงระยะเวลา 3-4 เดือน ร่วมกับการดูแลตัวเองก็เริ่มเห็นผล ซึ่งปัจจุบันคุณเดย์มีน้ำหนักลดลงมาเหลือ 61 กิโลกรัม โดยได้แบ่งปันแนวคิดในการควบคุมอาหารว่าอาหารเหล่านั้น ควรจะเป็นพื้นที่ตรงกลางระหว่างสุขภาพและการใช้ชีวิต และเป็นอาหารที่เราสามารถรับประทานได้ตลอดไปโดยไม่ต้องฝืน
นายแพทย์อภิชาต สุคนธสรรพ์ได้กล่าวเสริมถึงยารูปแบบใหม่นี้ว่ามีความเป็นไปได้และมีหลายกรณีที่ผู้ป่วยโรคอ้วนสามารถดูแลและคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาไปตลอดชีวิต หรือไม่ต้องใช้ทุกวัน พร้อมเตือนว่าการดูแลตนเองไม่ให้เกิดโรคอ้วนตั้งแต่ต้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เนื่องจากผลกระทบจากโรคอ้วนบางอย่างไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้ อย่างหลอดเลือดสมองตีบที่เมื่อเป็นแล้วต้องใช้ยาไปตลอดชีวิต แม้จะลดน้ำหนักได้แล้วก็ตาม

ก่อนจะปิดท้ายด้วย นายเอ็นริโก้ คานัล บรูแลนด์ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จํากัด ที่ได้พูดถึงประเด็นการสร้างความตระหนักรู้เรื่องโรคอ้วนเพื่อสร้างสังคมผู้สูงอายุที่แข็งแรง ผ่านการสร้างการตระหนักรู้ ที่จะนำไปสู่การดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคอ้วน และทำให้เกิดสังคมที่สุขภาพดี พร้อมทิ้งท้ายว่าการลดความอ้วนไม่ใช่แค่จำนวนตัวเลขน้ำหนักที่ลดลง แต่หมายถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
ที่มาของข้อมูล
- World Health Organization (2024). Obesity and overweight. [online] World Health Organization. Available at: https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/obesity-and-overweight [Accessed 6 May 2025].
- Aekplakorn W. 6th Thailand National Health Examination Survey 2019-2020. 2021
- Pitayatienanan P, Butchon R, Yothasamut J, Aekplakorn W, Teerawattananon Y, Suksomboon N, et al. Economic costs of obesity in Thailand: a retrospective cost-of-illness study. BMC Health Services Research. 2014;14(1):146.