เชื่อว่าหลายคนคงอยากมีหุ่นหรือรูปร่างที่สมส่วน และสำหรับบางคนที่กำลังหันมาดูแลรูปร่างของตนเองอาจเคยได้ยินวิธีการลดน้ำหนัก 5 กิโลกรัมให้ได้ภายในหนึ่งอาทิตย์ หรือบางคนอาจจะตั้งเป้าหมายของตนเองภายในหนึ่งอาทิตย์จะต้องลดน้ำหนักให้ได้ทีละหลายกิโลกรัม ซึ่งแน่นอนว่าหากคุณกินอาหารน้อยลง คุณก็สามารถทำได้อย่างง่ายดาย แต่รู้หรือไม่ว่าการลดน้ำหนักโดยคาดหวังผลลัพธ์ที่รวดเร็วแบบนี้ส่งผลเสียต่อร่างกายของคุณไม่น้อย

ลดน้ำหนักภายในหนึ่งอาทิตย์ทำได้แต่ไม่ยั่งยืน

ปัจจุบันมีหลากหลายวิธีที่ทำให้คุณสามารถลดน้ำหนักได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นวิธีการกินที่เรียกได้ว่าแทบจะหักดิบและต่อสู้กับความอยากของร่างกาย เน้นที่ผัก ผลไม้ หรืออาหารที่มีแคลอรีต่ำ และกินในปริมาณน้อยกว่าที่ร่างกายควรได้รับ คุณก็จะสามารถลดน้ำหนักได้แล้ว หรือบางคนอาจหันไปพึ่งการดื่มน้ำผลไม้ที่เป็นโปรแกรมดีท็อกซ์ร่างกาย โดยดื่มแทนอาหาร 3 วัน วิธีนี้น้ำหนักของคุณก็จะลดลงอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะร่างกายไม่ได้รับสารอาหารเข้าไปนั่นเอง

แต่ขอบอกก่อนเลยว่า ไม่ว่าคุณจะมีเหตุจำเป็นอะไรที่ต้องลดน้ำหนักอย่างเร่งด่วน แต่วิธีเหล่านี้หรือการคาดหวังผลลัพธ์ในเวลาอันรวดเร็วไม่ใช่ผลดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอน เพราะแม้คุณจะลดน้ำหนักได้จริง แต่เมื่อคุณกลับมากินอาหารตามปกติ คุณก็สามารถกลับมาน้ำหนักมากเท่าเดิม หรือมากกว่าเดิมในระยะเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน 

ดังนั้น วิธีการลดน้ำหนักที่ดีที่สุด คือการลดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่กดดันตนเอง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนและมาพร้อมกับการมีสุขภาพที่ดี

ข้อควรระวังของการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว

  • คุณอาจสูญเสียน้ำหนักของกล้ามเนื้อและน้ำในร่างกาย ไม่ใช่ไขมัน การศึกษาแสดงให้เห็นว่าการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วมักมาพร้อมกับการสูญเสียกล้ามเนื้อและน้ำในร่างกายมากกว่าการลดน้ำหนักแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่สำคัญไขมันของคุณจะยังคงอยู่ในร่างกายไม่ได้หายไปไหน
  • อาจส่งผลต่อการใช้พลังงานขณะพักผ่อนของคุณ การลดน้ำหนักเร็วเกินไปอาจส่งผลต่ออัตราการเผาผลาญขณะพักผ่อนได้น้อยลง ไม่ว่าจะเป็น การนั่ง การนอน หรือการอยู่เฉย ๆ โดยมีการศึกษาที่ระบุว่า ผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่ลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วพบว่าการเผาผลาญไขมันระหว่างพักของพวกเขาลดลงมากกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ลดน้ำหนักอย่างค่อยเป็นค่อยไป 
  • อาจทำให้น้ำหนักโยโย่ได้ง่าย เนื่องจากน้ำหนักที่คุณสูญเสียไปด้วยวิธีการควบคุมอาหารอย่างหนัก เลยมีแนวโน้มว่าน้ำหนักของคุณจะกลับมาได้อีกครั้งหากคุณกลับมากินอาหารเหมือนเดิม ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้การลดน้ำหนักที่ผ่านมาเสียเปล่าเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของคุณ ทำให้คุณไม่มีความสุขกับการกินอาหารในวันข้างหน้า

นอกจากนี้ ยังพบผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่มาจากการลดน้ำหนักในระยะสั้น เช่น ทำให้เกิดความหิวและทรมาน, เกิดความเหนื่อยล้า, หงุดหงิดง่าย, รู้สึกหนาว ร่างกายขาดความอบอุ่น, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, วิงเวียนศีรษะ, ท้องผูกหรือท้องเสีย และภาวะขาดน้ำ เป็นต้น

ลดน้ำหนักอย่างสุขภาพดี

แม้ว่าการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วจะทำให้คุณรู้สึกมีความสุข แต่อย่างที่บอกว่ามันไม่คุ้มเอาเสียเลยกับการต้องแลกมาด้วยการมีสุขภาพที่แย่ลง หนำซ้ำยังทำให้น้ำหนักกลับมาพุ่งได้ง่าย ดังนั้น เรามีวิธีการลดน้ำหนักให้สุขภาพดีมาแนะนำ

  • กินโปรตีนให้มากขึ้น เนื่องจากอาหารที่มีโปรตีนสูงจะช่วยเพิ่มพลังของคุณได้ ทำให้คุณอิ่มนานขึ้นและรักษามวลกล้ามเนื้อไว้
  • ลดน้ำตาลและแป้ง โดยงานวิจัยมีแนวโน้มที่จะแสดงให้เห็นว่าผู้ที่รับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตต่ำจะลดน้ำหนักได้มากขึ้น
  • กินหรือเคี้ยวอาหารให้ช้าลง เนื่องจากการรับรู้รสชาติอาหารอย่างทั่วถึง สามารถช่วยให้คุณรู้สึกอิ่มนานขึ้นและกินอาหารน้อยลง 
  • ดื่มชาเขียว มีงานวิจัยพบว่าการดื่มชาเขียวอาจช่วยเพิ่มการเผาผลาญของคุณได้ 4–5% และอาจเพิ่มการเผาผลาญไขมันได้ถึง 17% 
  • พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากตอนที่เรานอนหลับร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน “เลปติน” (Leptin) ได้เป็นปกติ ซึ่งฮอร์โมนเลปตินจะช่วยทำให้สมองระงับความอยากอาหารนั่นเอง
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการคาดิโอเพื่อเผาผลาญไขมัน และการเวทเทรนนิ่ง หรือบอดี้เวท เพื่อให้ร่างกายได้ฝึกแรงต้าน เสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
  • ดื่มไฟเบอร์ มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการดื่มไฟเบอร์อาจช่วยให้คุณเผาผลาญไขมัน โดยเฉพาะไขมันหน้าท้องได้

อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่มีน้ำหนักเกินอาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการลดน้ำหนักที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของตนเอง และต้องคิดเสมอว่าการลดน้ำหนักอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่กดดันกับผลลัพธ์ของตนเองมากนักจะเป็นการลดน้ำหนักที่ยั่งยืนที่สุด เพราะหากคุณปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน หรือการดูแลรูปร่างของตนเองจนกลายเป็นนิสัย น้ำหนักของคุณจะลดลงมาได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ ที่สำคัญไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย

ที่มา healthline , verywellfit

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส