กรุงเทพ ฯ 18 ตุลาคม 2566 – คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เดินหน้ายุทธศาสตร์สังคมอายุยืน (Healthy aging) ชูจุดเด่นการดูแลผู้ป่วยสูงวัยในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional care) รับมือการดูแลผู้ป่วยสูงวัยหลังจากพ้นการรักษาในระยะเจ็บป่วยเฉียบพลันที่เริ่มมีอาการคงที่ให้มีความพร้อมเมื่อกลับสู่บ้านและสังคม

ผ่านการร่วมมือของบุคลากรทางการแพทย์และทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน (Multidisciplinary team) เพื่อวางแผนการดูแลผู้ป่วยสูงวัยอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่ญาติ-ผู้ดูแล พร้อมเร่งระดมทุนสร้าง “ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช” ศูนย์กลางด้านวิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุที่เติมเต็มการดูแลผู้สูงอายุแห่งแรกในประเทศไทย สู่ต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ผศ. พญ. ฐิติมา ว่องวิริยะวงศ์

ผศ. พญ. ฐิติมา ว่องวิริยะวงศ์. ความชำนาญพิเศษ. อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า ปัจจุบันภูมิทัศน์ของประชากรทั่วโลกนั้นมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยมีการขยายตัวของจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในแต่ละปี

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete-aged society) กล่าวคือมีจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเฉลี่ยเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged society) โดยจะมีผู้สูงวัยสูงถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาวการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาจึงศึกษาวิจัยและหาแนวทางวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับผู้ป่วยสูงอายุอย่างต่อเนื่องมากกว่า 30 ปี

โดยการพัฒนาบุคลากรและเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการดูแลรักษา รวมถึงการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการดูแลผู้ป่วยในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional care) หลังจากพ้นการรักษาในระยะเจ็บป่วยเฉียบพลันที่เริ่มมีอาการคงที่ให้มีความพร้อมเมื่อกลับสู่บ้านและสังคม เป็นเรื่องที่ศิริราชให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

การดูแลผู้ป่วยสูงวัยในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Care) คือการดูแลผู้ป่วยสูงวัยหลังจากพ้นการรักษาในระยะเจ็บป่วยเฉียบพลันที่เริ่มมีอาการคงที่ ด้วยการดูแลและฟื้นฟูอย่างเป็นองค์รวมสำหรับแต่ละรายโดยเฉพาะ พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจในการดูแลต่อเนื่องอย่างถูกต้องแก่ผู้ป่วยและครอบครัวหรือผู้ดูแล


เมื่อออกจากสถานพยาบาล เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยซ้ำ ลดภาวะพึ่งพิง ให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น ภายใต้การดูแลของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ถือว่าเป็นระยะที่เป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ป่วยสูงวัยรวมถึงผู้ดูแลก่อนกลับสู่บ้านและสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช 

ผศ. พญ. ฐิติมา กล่าวเสริมว่า เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยสูงวัยได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพผ่านบุคลากรทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านภายใต้ชื่อ Multidisciplinary team หรือทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อการวางแผนการดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบแบบแผนที่ถูกต้อง ครอบคลุมการดูแลเป็นรายบุคคลที่มีภาวะอาการที่แตกต่างกัน

ซึ่งประกอบไปด้วย อายุรแพทย์ด้านผู้สูงอายุ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาล นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด นักอรรถบำบัด นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น  ซึ่งนอกจากการดูแลผู้ป่วยให้มีสุขภาวะที่ดีแล้ว ทีมสหสาขาวิชาชีพยังมีหน้าที่ให้ความรู้แก่ผู้ดูแลและครอบครัวของผู้ป่วย ทั้งการให้องค์ความรู้ทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ดูแลเกิดความเข้าใจและนำไปปฏิบัติต่อผู้ป่วยสูงอายุได้อย่างถูกต้องและมีคุณภาพที่สุดเมื่อกลับสู่บ้านและสังคม

ทั้งนี้ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าขับเคลื่อนพันธกิจหลักทั้งในด้านการบริการดูแลคนไข้ การศึกษาด้านการแพทย์ และการทำวิจัยนวัตกรรม โดยโครงการสร้าง “ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช” ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกลสำคัญที่เราได้วางเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางด้านวิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุที่เติมเต็มการดูแลผู้สูงอายุแห่งแรกในประเทศไทย สู่ต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 1 จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปลายปี 2566

“อย่างไรก็ดี เพื่อให้ศูนย์ฯ ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์และเป็นรูปธรรม ต้องได้รับการสนับสนุนและความร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงผู้ที่ตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อความสุขนี้ได้ด้วยการสมทบทุนบริจาคสร้าง “ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช” เพื่อเป็นก้าวแรกของประเทศไทยในการวางรากฐานระบบสาธารณสุข และเติมเต็มระบบการดูแลผู้สูงอายุในอนาคตสู่เป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืน” ผศ. พญ. ฐิติมา กล่าวสรุป

ผู้สนใจสามารถร่วมบริจาคสมทบทุนสร้างศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช ผ่านกองทุน“ศิริราชเพื่อผู้สูงวัย” ดังนี้ 

1.  ศิริราชมูลนิธิ 3 สาขา ได้แก่ 

  • ตึกมหิดลบำเพ็ญ ชั้น 1  รพ.ศิริราช วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 07.30- 17.30 น. : วันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์  เวลา 08.30– 16.30 น.  
  • รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์  ชั้น 2 โซน B ทุกวัน เวลา 09.00 – 15.30 น.  
  • ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก  ชั้น G   (วันจันทร์ – เสาร์) เวลา 08.30- 16.30 น.  (ยกเว้นวันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

2.  บริจาคผ่านธนาคารกรุงเทพ 901-7-06044-4 ธนาคารไทยพาณิชย์ 016-4-57906-4                                  ธนาคารกสิกรไทย 063-3-16546-7   ชื่อบัญชี ศิริราชมูลนิธิ (ศิริราชเพื่อผู้สูงวัย)

3. บริจาคผ่าน Application ธนาคารที่ท่านมีบัญชีเงินฝาก โดยสแกนผ่าน QR CODE

คิวอาร์โค้ด

4. บริจาคผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ AIS  DTAC และ True  โดยกด *984*100# โทรออก ร่วมบริจาคครั้งละ  100 บาท

ติดตามความเคลื่อนไหวของศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราชได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://www.facebook.com/SirirajAcg และเฟซบุ๊กแฟนเพจ งานองค์กรสัมพันธ์และกิจการพิเศษศิริราช
โทร. 02-414-1555, 02-414-1888 (ในวันและเวลาราชการ)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส