วันนี้ Hack for Health และ OOCA จะมาพูดถึงการเล่น Tinder แอปที่คนยุคใหม่ใช้ในการหาคู่ ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจ ที่ทาง Hack for Health จะนำมาพูดคุยกันในวันนี้ คือ “แมตช์แล้วขี้เกียจคุย” ภาวะอารมณ์นี้คืออะไรกันแน่? คุณเคยเจอสถานการณ์หรือความรู้สึกแบบนี้หรือไม่ ในเวลาแมตช์กับคนที่ชอบแล้วก็มักจะคุยเพียงไม่กี่ประโยคแล้วก็ขี้เกียจคุยต่อ หรือจริง ๆ แล้วแค่เหงาอยากมีเพื่อนคุยขำ ๆ แต่ไม่ได้อยากมีแฟนจริง ๆ วันนี้เราก็ได้นำความรู้ดี ๆ มาฝากกัน 

เจาะลึกสังคม Tinder ทำไมคุยไม่นานก็รู้สึกเบื่อ   

ทาง Hack for Health ขอบอกเลยว่า การสมัครใช้งานแอป Tinder ในช่วงแรก ๆ อาจทำให้หลาย ๆ คนมีความรู้สึกตื่นเต้น เร้าใจ มีแรงจูงใจในการเข้าไปเล่น มีความอยากรู้อยากเห็น โดยที่อาจจะใช้เวลาหลายชั่วโมงในการส่องดูโปรไฟล์ของคนที่คุณสนใจ หรือรู้สึกสะดุดตา การได้ดูโปรไฟล์ของผู้อื่น เป็นความรู้สึกที่น่าตื่นเต้นมากกว่าการค้นหาคู่ที่ตรงกันซะอีก 

แต่ในทางกลับกัน แอปอย่าง Tinder ก็สามารถทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้าและเบื่อหน่ายได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากหลาย ๆ คนรู้สึกว่าตัวเองมีตัวเลือกมากมายอย่างล้นหลาม และเครียดกับความสุขที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ซึ่งในความเป็นจริง เราอาจพูดได้ว่าแม้การหาคู่ในปัจจุบันจะง่ายกว่าที่เคย แต่การค้นหาความรักนั้นยากยิ่งกว่ามาก

เจาะลึกความรู้สึก เล่น Tinder เพื่อหาคู่ แต่ไม่นานทำไมถึงเบื่อ

การหาคู่บน Tinder หรือแอปหาคู่อื่น ๆ อาจยากกว่าที่คิด โดยเฉพาะในยามที่คุณมีการสนทนากับคนที่คุณสนใจเพียงไม่กี่ครั้งแล้วก็หมดความสนใจไปซะดื้อ ๆ ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางจิตวิทยาต่าง ๆ เช่น

1. มีการใช้แอปหาคู่ด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน 

คุณอาจกำลังมองหาความสัมพันธ์โรแมนติก อยากหาแฟน หาคนรู้ใจจริง ๆ แต่สำหรับบางคนอาจมองหาความสัมพันธ์แบบเปิด หรือหามิตรภาพ เมื่อความตั้งใจของ 2 ฝ่ายนี้ไม่ตรงกัน ก็อาจทำให้คุย ๆ ไปแล้วเบื่อ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายอาจมีความคาดหวังที่แตกต่างกัน

2. มีตัวเลือกมากจนเกินไป 

แอปหาคู่นำเสนอการจับคู่ที่เป็นไปได้มากมายไม่รู้จบ จากการที่มีตัวเลือกมากมายนี้สามารถนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ความขัดแย้งในการเลือก” ซึ่งหลาย ๆ คนอาจพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะคุยกับคนเพียงแค่คนคนเดียว เพราะมีตัวเลือกให้คุยมากมาย ทำให้มีการคุยเต็มไปหมด ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะตกลงคุยกับใครเป็นหลักดี 

3. กลัวการปฏิเสธ 

“การปฏิเสธ” เป็นความกลัวที่พบได้บ่อยในการหาคู่ออนไลน์ โดยเฉพาะในยามที่รู้สึกว่าการสนทนาที่เกิดขึ้น ไม่คลิก อาจไม่นำไปสู่การสานสัมพันธ์ต่อในอนาคต คุณหรือคนที่คนคุยด้วยก็จะค่อย ๆ เฟดตัวออกไปออก เพื่อเสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธอย่างชัดแจ้ง ซึ่งพฤติกรรมการป้องกันตนเองนี้สามารถนำไปสู่การเลิกคุยแบบดื้อ ๆ ได้ 

ปัญหาที่พบได้บ่อยใน Tinder คือ การมีตัวเลือกที่มากเกินไป 

อ้างอิงจากคำพูดของนักจิตวิทยานาม Barry Schwarz ในบทความ The Science Behind What Tinder Is Doing to Your Brain เขาได้กล่าวว่า การมีทางเลือกมากเกินไป จะเป็นการลดโอกาสที่จะทำให้เกิดการตัดสินใจ และตัวเลือกที่มากเกินไป ยังช่วยลดความมั่นใจของผู้เลือกอีกด้วย 

การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะซื้อแยมมากกว่า เมื่อแยมนั้นมีให้เลือก 6 รสชาติ เมื่อเทียบกับ 30 รสชาติ และในบรรดาผู้ที่ซื้อ ผู้ที่ได้รับการเสนอรสชาติของแยมน้อยกว่า จะพอใจกับตัวเลือกของตนเองมากกว่า

ทำความรู้จักกับ ปรากฏการณ์ “Ghosting”

ปรากฏการณ์ “Ghosting” เป็นที่รู้กันดีในแอปหาคู่ ปรากฏการณ์นี้ก็คือการที่คนคุยของคุณ (หรือแม้แต่ตัวคุณเอง) หมดความสนใจในการคุยกับคู่เดทไปซะดื้อ ๆ ไม่ตอบกลับ ไม่อยากสนใจอีกต่อไป พูดง่าย ๆ ก็คือหายตัวไปราวกับเป็นผี ในการศึกษาที่นำโดย Gili Freedman วิทยาลัย Dartmouth นักวิจัย ได้สัมภาษณ์ชายและหญิง 554 คนเกี่ยวกับประสบการณ์การออกเดทของพวกเขา 

พบว่า 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า พวกเขาเคยมีประสบการณ์ “Ghosting” ในอดีต ในขณะที่ 1 ใน 5 กล่าวว่าพวกเขาเคยมอบประสบการณ์ “Ghosting” ให้กับผู้อื่น ด้วยตัวเลือกที่มากขึ้นในแอปหาคู่ จึงทำให้การ “Ghosting” เพิ่มขึ้น และด้วยความที่ไม่ได้รู้จักกันในชีวิตจริงอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้เกิดการเมินเฉยง่ายเข้าไปอีก 

การ Ghosting สามารถส่งผลกระทบต่อ Ghoster ได้อย่างไร

Ghosting ในแอปหาคู่ เป็นวิธียุติความสัมพันธ์แบบเชิงรุก หรือเป็น “ทางออกที่หลาย ๆ คนมองว่าง่ายดาย” แต่การ Ghosting ไม่ได้คำนึงถึงว่า การกระทำเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไร ซึ่งคนที่ถูกเทก็อาจจะรู้สึก งง ต้องการคำตอบ เศร้าหรือเสียใจบ้าง

สรุป แอปหาคู่นำเสนอวิธีที่สะดวกและเข้าถึงได้ง่ายในการค้นหาความรัก แต่ถึงกระนั้นก็มีความท้าทายและข้อควรระวังเหมือนกัน ความสำเร็จในการหาคู่ออนไลน์ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารที่ชัดเจน การจัดการความคาดหวัง และการใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้อย่างมีสติ สิ่งสำคัญคือคุณต้องทำความเข้าใจอยู่เสมอว่า แม้แอปหาคู่จะสามารถอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อหาคนที่น่าสนใจให้กับคุณ แต่การสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายและยั่งยืนนั้น ต้องใช้ความพยายาม ความอดทน และความเข้ากันได้ในทุกแง่มุมของชีวิต

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส