Pistanthrophobia หรือโรคกลัวการไว้ใจจัดว่าเป็นโรคกลัว (Phobia) ชนิดหนึ่งที่ทำให้คนคนนั้นไม่กล้าและกลัวที่จะไว้ใจคนอื่น ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องของความรัก สาเหตุหลักของโรคกลัวการไว้ใจมักมาจากเหตุการณ์เลวร้ายในอดีตที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง อย่างการถูกนอกใจ การถูกหักหลัง การถูกปฏิเสธ การถูกบอกเลิก และเหตุการณ์อื่น ๆ

คนที่มีโรคนี้จะรู้สึกกลัวอย่างรุนแรง วิตกกังวล ตัวสั่น หัวใจเต้นเร็ว และอาการอื่นเมื่อเข้าใกล้ความสัมพันธ์ที่ต้องใช้ความไว้วางใจ โรคกลัวการไว้วางใจ และโรคกลัวชนิดอื่น ๆ จัดเป็นภาวะวิตกกังวลรูปแบบหนึ่ง อาการของโรคกลัวการไว้วางใจสามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิต การทำงาน และสุขภาพได้

อาการของโรคกลัวการไว้ใจ

อาการหลังของโรค คือ ความกลัวการไว้ใจแบบสุดขีด ต่อเนื่อง โดยที่เจ้าตัวไม่สามารถควบคุม หรือต่อต้านความกลัวนั้นได้เลย แม้จากเหตุการณ์เล็กน้อยก็ตาม ซึ่งนอกจากความกลัวที่เห็นได้ชัดแล้ว คนที่มีอาการของโรคนี้อาจแสดงความรู้สึก และพฤติกรรมอื่นออกมากด้วย เช่น

  • รู้สึกต้องการที่หนีอย่างรุนแรง เพื่อออกจากเหตุการณ์ บุคคล หรือสิ่งที่ทำให้รู้สึกกลัว เช่น สิ่งของของคนรักเก่า เหตุการณ์ถูกขอแฟน หรือการถูกสร้างความประทับใจ
  • หายใจหอบ หายใจไม่ทัน
  • หัวใจเต้นรัว
  • ตัวสั่น
  • เลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความรัก ความไว้ใจ หรือความผูกพัน เช่น ไม่ยอมทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ ไม่ไปเที่ยวกับคนที่มีแนวโน้มว่าจะจีบ
  • เก็บตัว ไปเจอคนรอบตัวน้อยลง เพราะรู้สึกอึดอัดเมื่อถูกถาม หรือเตือนเรื่องความรู้สึกกลัวจากโรคนี้

ผลกระทบของโรคกลัวการไว้ใจ

คนที่มีอาการของโรคนี้เสี่ยงต่อผลกระทบได้ 2 ด้านหลัก ๆ ด้วยกัน

ผลกระทบด้านการใช้ชีวิต

ทั้งจากความคิด พฤติกรรม และอาการของโรคกลัวการไว้ใจอาจส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตได้ เช่น

  • ขาดโอกาสในการรู้จักกับคนใหม่ ๆ
  • ห่างเหินกับคนใกล้ตัว อย่างครอบครัว และเพื่อนสนิท
  • เกิดปัญหาความสัมพันธ์ในที่ทำงาน
  • พลาดโอกาสในการทำสิ่งต่าง ๆ เพราะขาดความมั่นใจ และไม่กล้าไว้ใจ

ผลกระทบด้านสุขภาพ

อาการของโรค ร่วมกับผลกระทบด้านการใช้ชีวิตสามารถเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้

  • ความเครียด
  • โรคทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวลอื่น ๆ
  • การใช้บุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด
  • ความคิดที่จะทำร้ายตัวเอง และการฆ่าตัวตาย

โดยผลกระทบทั้ง 2 ด้านนี้มีความสัมพันธ์กัน และอาจเพิ่มความเสี่ยงหรือความรุนแรงของกันและกันได้

วิธีรับมือกับโรคกลัวการไว้ใจ

โรคกลัวการไว้ใจเรียกได้ว่าเป็นโรคทางอารมณ์อย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต และสุขภาพได้ในหลายด้าน ซึ่งควรรับมืออย่างเหมาะสมเพื่อลดผลกระทบจากความกลัว และอาการอื่น ๆ

ในเคสที่จิตแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคทางอารมณ์ และตรงตามเกณฑ์ของโรค แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้าร่วมการบำบัดความคิด และพฤติกรรม ซึ่งจะเป็นการพูดคุย และรับฟังเพื่อค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อการไว้วางใจ และความกลัว รวมถึงเพื่อรับมือกับความรู้สึก และพฤติกรรมอื่นด้วย นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาที่จำเป็น เช่น ยาคลายเครียด หรือยานอนหลับ ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน

ในเคสที่มีสัญญาณของโรคกลัวการไว้ใจ แต่ไม่ได้รุนแรงอาจแค่กลัวการเปิดใจ หรือรู้สึกอึดอัดเมื่อต้องพูดคุยกับคนใหม่ ๆ อาจใช้เทคนิคต่อไปนี้ในการรับมือ

  • เริ่มให้ความไว้วางใจทีละเล็กน้อย แล้วดูว่าจะได้อะไรกลับมา วิธีนี้จะช่วยให้คนที่มีความกลัวการไว้วางใจสามารถเผชิญหน้ากับความกลัวแบบไต่ระดับ เพื่อสำรวจ และได้รู้ว่าการให้ความไว้วางใจในระดับนี้จะได้รับอะไรกลับมา หากได้รับผลตอบรับที่ดีก็สามารถเพิ่มระดับ หรือเพิ่มจำนวนของความไว้วางใจต่อสิ่งต่าง ๆ หากได้รับความผิดหวังก็เปลี่ยนคน แล้วเริ่มใหม่
  • ให้ความไว้วางใจกับคนที่คุณรู้ว่าให้ได้ เช่น เพื่อนสนิท และครอบครัว ในชีวิตคนเราอาจมีคนที่รู้อยู่ทั้งใจว่าสามารถไว้ใจเขาได้ แต่ด้วยอาการความกลัวอาจทำให้ไม่กล้าแสดงความไว้วางใจออกมา
  • ลองเลี้ยงสัตว์เลี้ยง การศึกษาพบว่าสัตว์เลี้ยงกับเจ้าของล้วนสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และมีความผูกพันกันทั้งสองฝ่าย แน่นอนว่าไม่เกิดปัญหาเรื่องความไว้วางใจ ช่วยให้คนที่มีโรคกลัวการไว้ใจกล้า และคุ้นเคยที่จะไว้ใจสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น
  • วางแผนชีวิต คนที่มีโรคเกี่ยวกับความกลัวมักไวต่อการกระตุ้น และขาดความมั่นใจในตัวเองจนกลัวที่จะทำสิ่งต่าง ๆ การวางแผนชีวิต และดำเนินตามนั้นจะช่วยให้คุณมีหลักหรือเส้นทางในการยึดเกาะเพื่อก้าวเดินต่อไป ซึ่งช่วยให้คุณตระหนักรู้ถึงคุณค่าของตัวเองมากขึ้นด้วย

หากรู้สึกกลัวที่จะไว้ใจคนอื่น แต่ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่คุณกำลังเผชิญอยู่คือโรคกลัวการไว้ใจรึเปล่า Hack for Health แนะนำให้ลองพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ อย่างแพทย์ นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์โดยที่อย่าเพิ่งตัดสินว่าตัวเองป่วยหรือผิดปกติ เพราะโรคเหล่านี้เกิดขึ้นได้ และไม่ดีแน่ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

ที่มา 1, 2, 3, 4

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส