เมื่อพูดถึง Black Friday หลายคนอาจนึกถึงภาพที่มีคนรุมแย่งของกันอย่างบ้าคลั่งที่มักจะเห็นทุกปีบนโลกออนไลน์ Black Friday เป็นวันที่ร้านค้าทั่วประเทศในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ลดราคาสินค้าแบบครึ่งต่อครึ่ง หรือมากกว่านั้น 

คนจำนวนมากจึงเฝ้ารอจะซื้อของแพงในราคาแสนถูกในจำนวนที่จำกัด จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นภาพความชุลมุนในการแย่งกันหยิบของต่าง ๆ ราวกับแจกฟรี จนถึงขั้นเลือดตกยางออก เพราะวิ่งชนกัน เหยียบกัน ทะเลาะกัน อย่างไรก็ตาม ร้านค้าบางร้านไม่ได้มีการแย่งชิงของกันอย่างดุเดือดแบบภาพที่เห็น เพียงแค่อาจมีคนต่อแถวซื้อมากกว่าปกติเท่านั้นเอง

ที่มา Mirror

Black Friday จึงเป็นสัญลักษณ์ของความบ้าคลั่งรูปแบบหนึ่ง ทั้งในทางการตลาด และสัญชาตญาณของมนุษย์ในการไขว่คว้าบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งพฤติกรรมการแย่งสิ่งของ และการช้อปปิ้งในช่วง Black Friday อย่างบ้าคลั่ง ทั้งออฟไลน์ และออนไลน์มีคำอธิบายทางจิตวิทยาอยู่

Black Friday ปลุกสัญชาตญาณที่ร้ายกาจของมนุษย์

ในช่วง Black Friday ที่ฝูงชนวิ่งกรูเข้าไปในห้าง หรือร้านค้าเพื่อจับจอง นั่นเป็นการปลุกสัญชาตญาณดิบบางอย่างของมนุษย์ออกมา ข้อมูลทางจิตวิทยาพบว่ามนุษย์จะมีความยับยั้งชั่งใจน้อยลงเมื่อรวมตัวกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ นอกจากนี้ การปะปนในฝูงชนยังทำให้บางคนขโมยของ และทำลายข้าวของ เพราะคิดว่าไม่สามารถถูกตามตัวได้

Black Friday ทำให้คุณเสพติดการช้อป

Black Friday ไม่ค่อยได้รับความนิยมในไทย โดยคนไทยจะนิยมโปรเลขเบิ้ล อย่าง 11.11 หรือ 12.12 มากกว่า ซึ่งสินค้าลดราคาส่งผลต่อสมองของคุณกว่าที่คิด สถาบัน Neuroscience พบว่าสมองของมนุษย์เมื่อเห็นคำว่า ‘Sale’ หรือ ‘ลดราคา’ มีลักษณะการหลั่งฮอร์โมนที่เปลี่ยนไป

โดยสมองจะหลั่งโดปามีน (Dopamine) ที่ทำให้รู้สึกดี และมีความสุขออกมาสูงมากกว่าปกติ และกดการทำงานสมองส่วนที่เหตุผลที่จะคอยยับยั้งชั่งใจ หรือวิเคราะห์ความจำเป็นในการซื้อ จนคุณเผลอซื้อเพื่อตอบสนองความต้องการของสมอง และเมื่อถ้าโดปามีนอยู่ในระดับสูงมากเกินไปเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะ ‘เสพติด’ ได้ ซึ่งเป็นกลไกเดียวกันกับที่ใช้อธิบายพฤติกรรมของคนที่ติดการพนัน

นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมสมองเราถึงชื่นชอบการซื้อของถูกนักหนา ทั้งที่บางอย่างไม่จำเป็น ออกแนวจะไร้สาระด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นที่สิ่งหลายคนคิดเมื่อจ่ายเงิน หรือของมาส่งแล้ว

Black Friday ทำให้คุณ FOMO

FOMO หรือ Fear of Missing Out คือ คำที่ใช้อธิบายภาวะที่คนคนหนึ่งกลัวที่จะพลาดเรื่องราว ข่าวสารของสังคม รวมไปถึงกิจกรรมที่กำลังอยู่ในเทรนด์ อย่างช่วง Black Friday คนที่มีภาวะ FOMO มักจะอดไม่ได้ที่ต้องซื้อของให้ ‘เหมือนกับคนอื่น’ เพื่อตอบสนองความต้องการทางสังคมมากกว่าความต้องการในของชิ้นนั้น ไปจนถึงเพื่อการสร้างตัวตนทางสังคมเพื่อให้มีเรื่องราวของตัวเองได้แบ่งปัน หรือพูดคุยกับคนในสังคมเดียวกัน ทั้งในทางออนไลน์ หรือออฟไลน์

เทศกาลลดราคาส่งผลเสียต่อคุณได้

การได้ซื้อของถูก และคุ้มค่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าคุณกำลังงับเหยื่อวิธีการทางการตลาด และตกหลุมพลางความต้องการของตัวเอง โอกาสที่จะได้ซื้อของอย่างคุ้มค่าอาจกลายเป็นหายนะได้ เพราะการซื้อของลดราคาแบบขาดสติ และไร้การวางแผน แม้จะเป็นของราคาถูก แต่ก็ส่งผลต่อสุขภาพทางการเงิน และสุขภาพจิตของคุณได้

บางคนอาจถึงขั้นลมจับเมื่อเห็นค่าบัตรเครดิตตอนสิ้นเดือน หรือต้องไปเอาเงินเก็บที่แสนหวงแหนออกมาใช้ หรือจะเป็นความรู้สึกไม่ดีกับตัวเองที่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการซื้อของตัวเอง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังซื้อ หรือเมื่อของมาส่งถึงหน้าบ้านแล้ว

ซื้อของที่จำเป็นไม่ใช่ของที่อยากได้

ไม่ว่าจะเห็นป้าย Sales ตามห้าง หรือราคาที่ลดแล้วบนแอปช้อปปิ้ง หลายคนอาจถูกสมองกระตุ้นให้ซื้อได้ง่าย ๆ แต่คุณต้องดึงสติไว้เสมอ เพราะความอยากได้อยากมี คำว่า ‘ของมันต้องมี’ หรือการต้องมีของตามคนอื่นทำร้ายคุณได้ เพราะแบบนั้น คุณควรถามตัวเองทุกครั้งก่อนซื้อของ คือ ของชิ้นนั้นจำเป็นจริงหรอ? เพราะถ้าแค่บอกว่าอยากได้ ทุกคนล้วนแต่มีความอยากได้ในสิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ การถามตัวเองด้วยคำถามนี้สามารถช่วยให้คุณเรียงลำดับของที่จะต้องซื้อ และจัดการเงินที่ใช้ไปกับสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

แม้ว่า Black Friday จะไม่ได้บูมในไทย แต่แอปช้อปปิ้งออนไลน์ก็มีช่วงเวลาให้คุณได้ซื้อของถูกอยู่ทุกเดือน จึงไม่แปลกที่คุณจะเผลอเสพติดพฤติกรรมการซื้อของในช่วงลดราคาแบบไม่รู้ตัว ลองเอาคำถามนี้ไปถามตัวเองทุกครั้งที่จะซื้อของ อาจช่วยให้คุณใช้เงินน้อยลง และคุ้มค่ามากขึ้น

ที่มา 1

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส