เข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เราทุกคนก็ต่างคาดหวังว่าการเมืองจะเข้าที่เข้าทางภายใต้รัฐบาลใหม่ เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากครึ่งปีแรก และตลาดการลงทุนจะกลับมาคึกคักสดใสขึ้น แต่ไม่ว่าสิ่งที่เราคาดหวังจะเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน ‘การวางแผนลงทุน’ ยังควรเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีติดอยู่ในหลักคิดของเราเสมอ

โดย ‘มนุษย์เงินเดือน’ อย่างเรา ๆ ที่ต้องการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) หรือกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Saving Fund : SSF) เพื่อรับสิทธิในการลดหย่อนภาษี สามารถทยอยลงทุนได้ตั้งแต่ตอนนี้ และไม่ต้องรอถึงช่วงปลายปี เพราะนั่นอาจเป็นภาระหนักเกินไป หากต้องลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ในรอบเดียว แถมต้องไปลุ้นราคาหน่วยลงทุนในตอนนั้นอีกว่าจะแพงไปหรือไม่ แล้วเงื่อนไขในการลงทุนในกองทุน RMF และ SSF มีอะไรบ้าง? บทความนี้เราจะบรีฟให้คุณฟัง

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

กองทุน RMF สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยต้องถือครองหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี และขายคืนได้เมื่อเราอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ (ตามวันเกิด) นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขอีกเล็กน้อย คือ เราต้องซื้อกองทุน RMF ต่อเนื่องทุกปี เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี และการนับต่อเนื่องจะนับเฉพาะปีที่ซื้อเท่านั้น

กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)

กองทุน SSF สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยจะขายคืนได้ เมื่อถือครองหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งการลงทุนในกองทุน SSF ไม่มีเงื่อนไขการซื้อต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะเลือกลงทุนในกองทุน RMF หรือกองทุน SSF หรือแม้แต่ลงทุนในกองทุนทั้งสองแบบ ข้อสำคัญที่ควรรู้ คือ เมื่อนับรวมกับการออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน รวมถึงประกันแบบบำนาญ จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี

มนุษย์เงินเดือนคนไหนที่กำลังวางแผนซื้อกองทุน RMF หรือ SSF อาจใช้วิธี DCA (Dollar Cost Average) ซึ่งเป็นการทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอด้วยเงินลงทุนจำนวนเท่า ๆ กัน ทำให้เราได้ต้นทุนถัวเฉลี่ยอย่างสม่ำเสมอ โดยเราสามารถสร้างวินัยการลงทุนได้ง่าย ๆ ด้วยการตั้งค่าหักอัตโนมัติผ่านบัญชีธนาคารเข้ากองทุนในทุกเดือน หรือทุกไตรมาส

สำหรับประโยชน์ของการลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีด้วยวิธี DCA นั้น นอกเหนือจากจะสร้างวินัยการลงทุนให้เราแล้ว ยังช่วยให้เราสามารถทำตามเงื่อนไขการลงทุนได้โดยไม่หลงลืม และได้รับผลประโยชน์จากดอกเบี้ยทบต้น เนื่องจากเงินที่ออมและลงทุนก่อนจะเริ่มทำงานออกดอกออกผล ซึ่งผลตอบแทนที่ได้รับก็จะขึ้นอยู่กับการรับความเสี่ยงและภาวะตลาดด้วย

วิธีการลงทุนแบบ DCA ยังมีประโยชนอื่น ๆ อีก เนื่องจากเป็นการทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่สนใจว่าในเวลานั้นราคาของสินทรัพย์จะเป็นเท่าไร ทำให้ได้ต้นทุนถัวเฉลี่ยที่ไม่ถูกไม่แพง และไม่ต้องจับจังหวะการลงทุน ซึ่งช่วยลดปัญหาการตัดสินใจลงทุนที่ผิดพลาด จึงเหมาะกับการลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีที่การลงทุนระยะยาว เพราะไม่มีใครสามารถทำนายอนาคตได้แน่นอนนั่นเอง

นอกจากนี้ การลงทุนแบบ DCA ยังถือเป็นเพื่อนซี้ของมนุษย์เงินเดือนหน้าใหม่ เนื่องจากสามารถเริ่มต้นลงทุนได้ด้วยเงินจำนวนไม่มาก เรียกว่า “มีน้อยออมน้อย มีมากออมมาก” ขอแค่รักษาวินัยการลงทุน เงินออมก็เติบโตขึ้นได้ และไม่พลาดสิทธิลดหย่อนภาษีด้วย

ที่มา : SET Invest Now

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส