วันที่ 7 มีนาคม 2567 นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่หลายธนาคารในไทยมีการประกาศเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท หรือ Dynamic Currency Conversion Fee (DCC Fee) สำหรับการจ่ายเงินให้กับบริษัทต่างประเทศ ที่มีกำหนดเริ่มตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 นั้น ทาง ธปท. ได้มีการขอความร่วมมือให้เลื่อนการเก็บออกไปก่อน เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน

ซึ่งหากใครยังสงสัยเกี่ยวกับ “ค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท” (DCC fee) สามารถกดอ่านบทความด้านล่างได้

ตัวอย่างสินค้าและบริการที่อาจจะโดนเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่ม ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นผ่านการจ่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น แพลตฟอร์มสตรีมมิง Netflix, TikTok, การจองที่พัก Agoda, Booking, Airbnb รวมถึงการเติมเงินเกมในแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศ และรวมถึงบริการอื่นๆ

เรื่องการขึ้นค่าธรรมเนียม DCC ครั้งนี้ ทำให้ ธปท. รับทราบและเป็นกังวลอย่างมาก เพราะจะต้องดูโครงสร้าง และเหตุผลในการเรียกเก็บ 1% ว่ามีใครเป็นผู้จ่าย และต้องจ่ายเท่าไหร่ รวมถึงที่มาที่ไปของต้นทุนดังกล่าว ซึ่งหากมีการเรียกเก็บจริง ประชาชนจะต้องทราบข้อมูล และจะต้องมีทางเลือกในการจ่าย ไม่ใช่เป็นการบังคับจ่าย ยกตัวอย่าง เหมือนการใช้ถนนทางลัดก็ต้องจ่ายเพิ่ม แต่หากเดินทางธรรมดาก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่อาจจะต้องเดินไกล ซึ่งเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค ไม่ใช่ปิดกั้นทางเดินธรรมดาว่าห้ามใช้ ดังนั้น จึงต้องมีทางเลือกในการบริการ

นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
เราต้องฟังเสียงจากทุกฝ่าย ทั้งผู้บริโภค ธนาคาร และวีซ่า มาสเตอร์ ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ยินเสียงจากประชาชนแล้ว เราไม่ได้นิ่งนอนใจ เรามีการพูดคุยกันภายใน และคาดว่าจะมีการหารือกับวีซ่า มาสเตอร์ การ์ด ก่อนที่ DCC จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งเราต้องมาดูว่าที่เก็บเพิ่ม และประชาชนที่ต้องจ่ายเพิ่มส่วนไหน อันไหนที่ยังไม่เก็บ และเกลี่ยอย่างไร

กล่าวโดย นายสมชาย เลิศลาภวศิน

โดยทาง ธปท. จะมีการนัดหารือกับผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งในส่วนของสถาบันการเงินของไทย และตัวกลางอย่าง Visa และ Mastercard โดยเร็วที่สุดก่อนจะมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตามคาดการณ์คงจะได้เห็น บทสรุปของการหารือจะจบได้ไม่เกิน 1 พ.ค. 2567 นี้