ทุกเวทีการแข่งขันย่อมมีผู้ชนะผู้แพ้ แต่คราใดที่ผู้ชนะบนเวทีนั้นไม่ได้เป็นเลิศที่สุด ก็ย่อมมาซึ่งความคาใจของผู้คนทุกหมู่เหลาเป็นเรื่องธรรมดา

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ ถือเป็นรางวัลใหญ่สุด ที่มักจะถูกนำมาประกาศตอนท้ายของงานเสมอ ภาพยนตร์ที่ขึ้นชื่อว่ายอดเยี่ยมของออสการ์นั้น ต้องดีที่สุดทุกองค์ประกอบ ทั้งในแง่ของวิธีการเล่าเรื่อง ตัวบท งานภาพ หรือแม้กระทั่งเสียง

แต่ความยอดเยี่ยมของคนนั้นไม่เท่ากัน แน่นอนว่าออสการ์ใช้วิธีการตัดสิน โดยยึดผลคะแนนจากกรรมการที่พวกเขาคัดสรรมาทั่วโลก ซึ่งบ่อยครั้งดุลยพินิจที่มีต่อ ‘ความยอดเยี่ยม’ ของกรรมการบางคน ก็อาจไม่ถูกใจคนดูบางกลุ่ม นั่นจึงทำให้สาขานี้เกิดเหตุการณ์ดราม่าเป็นประจำ ในทำนองที่ว่า ‘ทำไมหนังที่สมควรชนะ กลับไม่ชนะ’ หรือ ‘ทำไมหนังที่ไม่สมควรได้ แต่กลับได้’ 

วันนี้เราจึงขอพาทุกคนย้อนอดีตสักนิด ไปชมกันว่าตลอดกว่า 92 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการประกาศรางวัลนี้ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเรื่องไหนบ้างที่ถูกกระแสสังคมกังขา ‘ความยอดเยี่ยม’ ที่ออสการ์มอบให้

and the Oscar does not go to…

เริ่มกันที่ปี 1978 การพลาดออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของ ‘Star Wars: A New Hope (Episode IV)’ มักถูกมองว่าเป็นหนึ่งในความผิดพลาดครั้งใหญ่สุดของออสการ์ ถึงขนาดทุกวันนี้ เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ผู้กำกับชื่อดังก็ยังไม่อยากเชื่อเลยว่า ‘Star Wars’ จะแพ้หนังรักที่ไร้ซึ่งความเวอร์วังอย่าง ‘Annie Hall’ ของวูดดี อัลเลน (Woody Allen) ได้

Star Wars: A New Hope (Episode IV)

“ครั้งแรกที่ผมสังเกตถึงเรื่องนี้ (ออสการ์ไม่นิยมหนังไซไฟ) ตอนนั้นผมยังอยู่ในฐานะแฟนหนังอยู่เลย ตั้งแต่ปี 1977 ‘Star Wars’ ถือเป็นที่สุดของหนังไซไฟยุคนั้นเลยนะ แต่ในออสการ์ปี 1978 หนังเรื่องนี้ดันไปแพ้ให้กับ ‘Annie Hall’ ซะงั้น หนังความสัมพันธ์น่ารักหวานแหววกับ ‘Star Wars’ เนี่ยนะ…? คนที่ตัดสิน แ*ง คิดบ้าอะไรอยู่?” คาเมรอนให้สัมภาษณ์แบบหัวร้อน

แม้ ‘Annie Hall’ จะถูกมองว่าไม่สมควรกับรางวัลที่ได้รับ แต่อย่าลืมว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คือรากฐานสำคัญของภาพยนตร์รอมคอมยุคปัจจุบัน แถมยังเอาชนะความยิ่งใหญ่ของหนังจักรวาลอันไกลโผนได้ ด้วยการฉีกขนบธรรมเนียมประเพณีเดิม ๆ และแอบแฝงไว้ซึ่งการเล่าเรื่องอันเรียบง่าย ผ่านมุมมองของมนุษย์คู่หนึ่ง

Annie Hall

ปี 1995 เป็นหนึ่งในปีที่มีคนถกเถียงเกี่ยวกับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมากที่สุดปีหนึ่ง เพราะในปีนั้นภาพยนตร์ดี ๆ อย่าง ‘Forrest Gump’, ‘Pulp Fiction’ หรือ ‘The Shawshank Redemption’ ต่างก็ล้วนแต่คู่ควรกับรางวัลนี้ด้วยกันทั้งสิ้น

Forrest Gump

แม้สุดท้าย ‘Forrest Gump’ ของผู้กำกับ โรเบิร์ต เซเม็กคิส (Robert Zemeckis) กับ ทอม แฮงส์ (Tom Hanks) จะคว้ารางวัลนี้ไปครอง แต่หลังจากนั้นอีกราว ๆ สองทศวรรษ ‘The Shawshank Redemption’ ของ แฟรงค์ ดาราบอนท์ (Frank Darabont) ก็แสดงให้โลกเห็นว่าผลงานของเขายืนระยะความสำเร็จได้มากกว่าในเรื่องความนิยมของผู้คน เพราะปัจจุบัน ‘The Shawshank Redemption’ ก็ยังคงเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับคะแนนสูงสุดบนเว็บ IMDb ด้วยตัวเลขถึง 9.2 คะแนน

The Shawshank Redemption

ปี 1999 ก็เป็นอีกปีที่คนมักจะรู้สึกตะหงิด ๆ ในใจ เมื่อพูดถึงผู้ชนะในปีนั้นอย่าง ‘Shakespeare in Love’ ภาพยนตร์พีเรียดรัก ขายไอเดีย ที่สามารถเอาชนะภาพยนตร์เชิงประวัติศาสตร์ดราม่าเข้มข้นอย่าง ‘Elizabeth’ รวมถึงภาพยนตร์สงครามที่ตราตรึงใจผู้คนอย่าง ‘Life Is Beautiful’, ‘Saving Private Ryan’ และ ‘The Thin Red Line’ 

Saving Private Ryan

อย่างไรก็ดี แม้จะมีเสียงบ่นอยู่บ้างแต่ต้องยอมรับว่า ‘Shakespeare in Love’ ก็เป็นภาพยนตร์ที่มีตัวบทโดดเด่น จนส่งให้สามารถคว้ารางวัลนี้ไปครอง แต่ถึงกระนั้นบางคนอาจจะมองว่า มวลรวมของเรื่องไม่ได้เข้มข้นและหนักแน่นพอ เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ในสาขาเดียวกัน ที่ดูแล้วอาจรู้สึกทรงพลังมากกว่า ในเรื่องการสะท้อนโลกและสังคม

Shakespeare in Love

ปี 2006 ถ้าถามว่าใครดูจะเข้าวินน่าได้ออสการ์สาขานี้มากที่สุด แน่นอนว่าร้อยละครึ่งจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘Brokeback Mountain’ ของผู้กำกับ อังลี (Ang Lee) แต่อะไรที่ว่าแน่ ก็ใช่ว่าจะชัวร์เสมอไป เพราะสุดท้ายรางวัลนี้ก็ไปตกอยู่ที่ภาพยนตร์ม้ามืดอย่าง ‘Crash’ 

Brokeback Mountain

หลังการประกาศผล แฟนหนังจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับผลการประกาศรางวัล ก็ตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุที่ ‘Brokeback Mountain’ ถูกปล้นชัยชนะในครั้งนี้ เป็นเพราะกรรมการของออสการ์ในตอนนั้น ค่อนข้างเป็นพวกอนุรักษ์นิยม หัวโบราณ และมองว่าเวทีของพวกเขายังไม่พร้อมสำหรับภาพยนตร์เกี่ยวกับคู่รักเพศเดียวกัน

Crash

ขนาด พอล แฮกกิส (Paul Haggis) ผู้กำกับ ‘Crash’ ที่ได้รางวัล ก็ยังเซอร์ไพร์สไม่หาย เพราะเขาไม่คิดว่าภาพยนตร์ของตัวเอง จะเอาชนะความรักคาวบอยที่ละเอียดอ่อนและน่าเศร้าของอังลีได้ เซอร์ไพรส์ไม่เซอร์ไพรส์ ขนาด แจ็ก นิโคลสัน (Jack Nicholson) คนประกาศผลรางวัลนี้ ยังร้องว้าวหลังประกาศผลเลย

(กลาง) นิโคลสัน (ขวา) แฮกกิส

ปี 2007 สายตาของนักวิจารณ์ส่วนใหญ่จับจ้องไปที่ ‘Letters from Iwo Jima’ ของ คลินต์ อีสต์วูด (Clint Eastwood) หรือ ‘The Queen’ เจ้าของรางวัล BAFTA ในปีนั้นที่สะท้อนเรื่องราวในราชวงศ์อังกฤษ หลังเหตุการณ์การสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานา รวมถึงภาพยนตร์ดราม่าชั้นดีอย่าง ‘Little Miss Sunshine’ ที่มีลุ้นแบบเงียบ ๆ

The Queen

แต่สุดท้ายทั้ง 3 เรื่องที่ว่าแน่ ก็ต้องเดินคอตกกลับบ้านเพราะผู้ชนะในปีนั้นได้แก่ ‘The Departed’ ของมาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) แม้ ‘The Departed’ ของสกอร์เซซีจะดูเป็นตัวเต็งมาโดยตลอดเช่นกัน แต่คอหนังจำนวนไม่น้อยก็มองว่า ผลงานของสกอร์เซซีเรื่องนี้ไม่สมควรชนะ เพราะทำได้ไม่ลุ่มลึกเท่าเวอร์ชันต้นฉบับอย่าง ‘Infernal Affairs’ อีกทั้งยังมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างอีกด้วยว่า สาเหตุที่ ‘The Departed’ ชนะอาจเป็นเพราะผลพวงจาก ‘การตลาดของออสการ์’ นั่นเอง

The Departed

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของหนังยอดเยี่ยม ที่คนดูจำนวนหนึ่งมักชอบตั้งคำถามว่า ‘หรือออสการ์จะให้น้ำหนักกับความยอดเยี่ยมคนละจุดกับผู้ชม?’ อันที่จริงกรณีแบบนี้ยังมีอีกเยอะ เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นรางวัลที่ตัดสินจากความชอบส่วนบุคคลแล้วนั้น ก็คงไม่มีอะไรที่เที่ยงตรงได้เหมือนตาชั่งเสมอไป

แล้วคุณล่ะ มีภาพยนตร์เรื่องโปรดที่พลาดรางวัลนี้ไปบ้างไหม? 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส