หลังจากโควิดเอฟเฟกต์ทำเราตระเวนชมสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ผ่านระบบ VR Tour หรือระบบนำชมเสมือนจริง ไปเกือบรอบโลก ไม่ว่าจะเป็น เอาใจสายติสท์ ! รีวิว 5 พิพิธภัณฑ์ศิลปะเสมือน เยือนนิทรรศการผ่านหน้าจอ มาท่องพิภพ สยบอวกาศ แล้วนวยนาดในสุสานแดนอียิปต์ ผ่านระบบ VR กัน ! หรือ จัดเต็ม ! ผจญภัยแดนอียิปต์ บุกพีระมิดฟาโรห์สำรวจ 7 สุสานผ่านโลก VR ในที่สุดก็ถึงคราวชมสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยบ้าง

ครั้งนี้ขอเริ่มที่ 8 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผลงานของกรมศิลปากร โดยภาพรวมระบบ VR Tour ของไทยก็ทำได้ดีไม่แพ้ชาติใดในโลก การหันซ้ายขวาหมุนรอบตัวออกจะลื่นเกินไปจนมึนด้วยซ้ำ ข้อมูลต่าง ๆ ก็ให้ได้ครบถ้วนหลากหลายรูปแบบทั้งเสียงพากย์นำชม (มีเป็นบางแห่ง) การกดซูมดูป้ายข้อมูลต่าง ๆ ปุ่มรับชมวีดิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนไอคอนคลังข้อมูลไฟล์ภาพและวิดีโอที่แยกออกมาต่างหากก่อนเข้าสู่ระบบนำชมเสมือนจริงในหน้ารวมหลักของแต่ละพิพิธภัณฑ์

เรื่องน่าติดใจในระบบจะมีก็เพียงการเดินไปยังจุดต่าง ๆ ทำได้ไม่ค่อยอิสระนัก ไม่สามารถกดที่พื้นเพื่อเลื่อนตำแหน่งไปตามทางได้อย่างใจคิด ส่วนใหญ่จะมีปุ่มกดแสดงเส้นทางต่อไปปรากฏแค่ที่ทางเชื่อมระหว่างห้องเท่านั้น ส่วนปุ่มกดอื่น ๆ จะเป็นแค่การย้ายมุมมองภายในห้อง ซึ่งหลายครั้งจะสับสนกับการกดซูมเพื่อดูรายละเอียดของผลงานจัดแสดงต่าง ๆ แต่รวม ๆ แล้ว หากเทียบกับสถานที่จริง การนำชมในระบบ VR Tour ก็ให้ความรู้สึกเสมือนได้กลับไปเยือนที่แห่งนั้นอีกครั้งจริง ๆ พิพิธภัณฑ์  8 แห่งที่ว่าจะมีอะไรบ้างนั้น ตามไปดูกันเลยครับ

หน้ารวมหลักของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้ง 8 แห่ง

ในหน้านี้จะแสดงถึงพิพิธภัณฑ์ทั้ง 8 แห่ง พร้อมที่มาของการจัดทำระบบนำทัวร์เสมือนจริง เมื่อกดเข้าไปในแต่ละแห่งจะไปยังหน้าหลักของแต่ละพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะมีไอคอนแสดงการนำเสนอข้อมูลในประเภทต่าง ๆ อาทิ คลังข้อมูลภาพถ่าย วิดีโอ และอีบุ๊ก ประวัติความเป็นมาและหน่วยงาน แหล่งรวมวัตถุที่จัดแสดง สำหรับระบบนำชมเสมือนจริงจะอยู่ที่มุมขวาบนสุด

หน้ารวมหลักของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้ง 8 แห่ง มีให้เลือกอ่านทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
หน้าหลักของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
หน้ารวมวัตถุจัดแสดง หนึ่งในหน้าที่ลิงก์จากไอคอนนำเสนอข้อมูลในหน้าหลักของแต่ละพิพิธภัณฑ์

สำหรับลิงก์ไปยังหน้าหลักของพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่ง เราได้เรียบเรียงไว้ให้ในแต่ละหัวข้อด้านล่างแล้วครับ สนใจพิพิธภัณฑ์ไหนก็กดตามไปชมได้เลย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรือที่เรียกอีกชื่อว่า หอศิลปเจ้าฟ้า ตั้งอยู่บนถนนเจ้าฟ้า เขตพระนคร ในอดีตเป็นสถานที่ตั้งพระตำหนักของเจ้านายฝ่ายวังหน้า (กรมพระราชวังบวรสถานมงคล) มาตั้งแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช     ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้สร้างโรงงานผลิตเงินเหรียญแห่งใหม่ที่มีความทันสมัยในบริเวณนี้ นามว่า “โรงกษาปณ์สิทธิการ” 

โรงงานกษาปณ์สิทธิการเปิดใช้งาน พ.ศ.2445 จนถึง พ.ศ. 2511 กรมธนารักษ์ได้ย้ายไปสร้างโรงงานใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ.2517 กรมศิลปากร เสนอขอใช้โรงกษาปณ์สิทธิการ ปรับปรุงให้เป็น “หอศิลปแห่งชาติ” เพื่อเป็นสถานที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงผลงานศิลปกรรมประเภททัศนศิลป์ของศิลปินผู้มีชื่อเสียงทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศ ใช้เป็นศูนย์ศึกษาวิจัยและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศิลปกรรมทั้งแบบไทยประเพณีและร่วมสมัย และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 เป็นต้นมา

สำหรับระบบทัวร์ของที่นี่ ให้ความรู้สึกสมจริงเหมือนได้ไปเยือนที่จริงมากๆ เราสามารถกดเลือกดูงานศิลปะ ชมแต่ละภาพได้เนิ่นนานไม่มีเมื่อย มุมมองที่ให้เดินก็ละเอียดมากๆๆๆ (จนบ้างครั้งก็คิดว่ามากเกินไปหรือเปล่านะ ทำไมไม่ขยับไปไหนสักที) 

การนำชมมีทั้งบริเวณภายในและภายนอกของชั้น 1 ส่วนจัดแสดงชั้น 2 และนิทรรศการหมุนเวียน พูดง่าย ๆ ก็คือแทบจะทุกส่วนที่เราเดินไปชมยังแสดงที่จริงเลยทีเดียว (ขนาดหน้าห้องน้ำ หรือมุมเล็ก ๆ ที่เราไม่เคยได้เฉียดเข้าไปก็ยังมี) ใครยังไม่เคยไปหรือยังไม่มีโอกาสได้ไป ดูผ่านระบบ VR ก็ได้อารมณ์อยู่ครับ

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

หอจดหมายเหตุแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จัดตั้งขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 เพื่อรวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องในพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช     

สำหรับระบบทัวร์เสมือนจริงของที่นี่ แบ่งออกเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติ ภายในอาคาร 3 และเนื้อหาด้านพระราชกรณียกิจ ภายในอาคาร 4 ซึ่งนอกจากจะจัดแสดงเอกสารจดหมายเหตุ ภาพถ่าย สื่อเสียง สื่อสารคดี สิ่งของ แล้วยังจำลองบรรยากาศให้ใกล้เคียงกับเหตุการณ์เละเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นด้วย เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจและอินไปกับข้อมูล รวมถึงสร้างบรรยากาศให้เกิดความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

การกดซูมไล่ดูข้อมูลของแต่ละบอร์ดแต่ละภาพ

แม้ว่าการชมในระบบทัวร์เสมือนจริงนี้จะลดทอนความน่าซาบซึ้งไปบ้าง แต่ก็ช่วยให้เราเก็บข้อมูลได้ครบถ้วน เข้าถึงเข้าใจได้เช่นเดียวกับการไปเยือนสถานที่จริง ข้อมูลที่ให้ก็มีทั้ง คำบรรยายภาษาไทย – อังกฤษ และเพื่อความอินขอแนะนำว่าในเข้าไปชมนิทรรศการในอาคาร 3 ก่อนแล้วค่อยไล่มายังอาคาร 4 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

สงขลาเป็นเมืองท่าและเมืองชายทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้มาตั้งแต่โบราณ เป็นที่ตั้งของเมืองเก่าหลายเมือง ทำให้มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่น่าสนใจพบไม่ได้ในท้องที่อื่นหลายอย่าง อาทิ เศษภาชนะดินเผา หม้อสามขา กลองมโหระทึกสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เทวรูป พระพุทธรูป เศษเครื่องถ้วยจีนและเวียดนาม อันเป็นโบราณวัตถุสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ เครื่องมือเครื่องใช้ในสมัยเมืองสทิงพระ เรื่อยมาถึงข้าวของที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของระบบการปกครองแบบสุลต่านในสมัยเมืองสงขลาเก่าหัวเขาแดง และเครื่องใช้เก่าแก่ของสมัยรัตนโกสินทร์ที่ยังไม่บุบสลาย

เพื่อรวบรวมสิ่งเหล่านี้ให้ชนรุ่นหลังและผู้มาเยือนได้เยี่ยมยลจึงเกิดการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลาขึ้น โดยใช้พื้นที่ภายในคฤหาสน์เก่าแก่สีแดงขาวที่เคยเป็นของผู้ช่วยเจ้าเมืองสงขลา พระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) เป็นที่พำนักและว่าราชการของเจ้าพระยายมราช รวมทั้งยังเคยเป็นศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราชด้วย

แม้จะไม่ได้ไปเยือนถึงที่จริง แต่ระบบ VR Tour ก็นำเสนอความงดงามของคฤหาสน์ได้แจ่มชัด (จะขาดก็แต่ความเหนียวเหนอะของไอทะเลและไอแดดร้อนจ้าเท่านั้นแหละ ที่ยังไม่สมจริง) เส้นทางนำชมมีครบหมด 14 ห้อง บอกเล่าเรื่องราวครบถ้วนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่างเข้าใจง่าย ชูให้เห็นภาพวิถีชีวิตและความโดดเด่นของมนต์เสน่ห์แห่งสงขลาได้อย่างลงตัว

นอกจากนี้ยังโดดเด่นด้วยเสียงพากย์ระหว่างการนำชมซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบภาษากลางและภาษาใต้ ฟังไปชมไปได้ฟิลสุด ๆ และหากเราสลับหน้าต่างไปอย่างอื่น การบรรยายจะหยุดลงอัตโนมัติ และเมื่อเข้ามายังหน้าต่างเดิมก็จะเล่นต่อตรงที่ค้างไว้ให้ทันที ซึ่งเหมือนว่าระบบนี้น่าจะมาทดแทนรายละเอียดในเรื่องของการกดดูของเฉพาะชิ้นอย่างในพิพิธภัณฑ์อื่น แต่เชื่อเถอะ ถึงไม่มีการชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ผ่าน VR Tour ก็ยังถือว่าฟิน ได้ข้อมูลครบถ้วนไม่ต่างกัน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี รวบรวมเรื่องราววิถีชีวิตของชาวจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี ลพบุรี อยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รวมทั้งยังแสดงประวัติบุคคลสำคัญของจังหวัด วรรณกรรมและเพลงพื้นบ้านหรือเพลงลูกทุ่งที่มีชื่อเสียงของสุพรรณบุรี ซึ่งถือเป็นการรวบรวมผลงานวรรณศิลป์ที่โดดเด่นแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นเอาไว้ด้วย

ภายในนิทรรศการผสมผสานการจัดแสดงระหว่างโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ กับสื่อจัดแสดงประเภทต่าง ๆ ทั้งใหม่เก่า เช่น หุ่นจำลอง วีดิทัศน์ โดยอาคารจัดแสดงมี 2 ชั้น ซึ่งระบบการนำชมของที่นี่ก็โดดเด่นด้วยเสียงบรรยายที่ฟังดูเป็นมิตร ทั้งยังมีรายละเอียดอย่าง วิดีโอและกดดูภาพขยายได้ที่ให้รายละเอียดค่อนข้างดีด้วย ต้องไปลองตามชมกันดูครับ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์

สถานที่แห่งขึ้นตั้งขึ้นเพื่อรำลึก  ถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (คอร์ราโด เฟโรจี) ชาวต่างชาติเข้ามารับราชการในตำแหน่งช่างปั้นประจำกรมศิลปากรในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  และอุทิศตนให้แก่งานศิลปวัฒนธรรมไทย ผลงานที่สำคัญ คือ การริเริ่มโรงเรียนศิลปากร และร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านศิลปะแห่งแรกของประเทศไทย ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานและพัฒนาวงการศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยจนได้รับการยกย่องว่า “บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย”

ภายในจัดแสดงนิทรรศการถาวร โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ห้องชั้นนอก (บริเวณประตูทางเข้า) จัดแสดงผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ของบรรดาลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิด เช่น นายเฟื้อ หริพิทักษ์, นายประยูร อุลุชาฎะ, นายชลูด นิ่มเสมอ เป็นต้น ส่วนที่สอง ห้องชั้นใน จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ทั้ง โต๊ะทำงาน เก้าอี้ เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องมือปั้น ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว โดยจำลองบรรยากาศโต๊ะทำงานดั้งเดิมเช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ 

แม้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะไม่ได้อาณาบริเวณกว้างขวางเท่าพิพิธภัณฑ์อื่น ทั้งยังไม่ค่อยมีจุดให้กดซูมให้เห็นรายละเอียดมากขึ้น แต่ที่แห่งนี้ก็อัดแน่นไปด้วยข้าวของ และอบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งศิลปะ ทั้งยังมีเพลงคลอดเบา ๆ สร้างความสุนทรีย์ระหว่างรับชมด้วย 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม 

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำป่าสัก ใกล้กับตลาดหัวรอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในรัชสมัย สมเด็จพระมหาธรรมราชา ประมาณ พ.ศ. 2120 เคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระมหาอุปราชที่สำคัญถึง 8 พระองค์ (มีใครบ้างนั้น ตามไปยลข้อมูลในพิพิธภัณฑ์เลย) ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พระราชวังแห่งนี้ถูกทิ้งร้างไป และได้รับการบูรณะอีกครั้งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เพื่อใช้สำหรับเป็นที่ประทับในเวลาที่พระองค์เสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยา และใช้เป็นที่ทำการของมณฑลกรุงเก่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 

แม้ผ่านมาหลายยุคสมัย แต่สิ่งก่อสร้างที่ปรากฏในปัจจุบัน ส่วนใหญ่สร้างขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว งานสถาปัตยกรรมจึงบ่งบอกถึงช่วงเวลาในยุคนั้น  ระบบนำชมเสมือนจริงจะทำให้เราได้ไปสัมผัสอาคารเหล่านี้ เหมือนได้ย้อนวันเวลาไปชมในอดีตไม่มีผิด แถมภายในยังมีของจัดแสดงอีกหลายอย่างด้วย สิ่งปลูกสร้างที่โดนเด่นน่าสนใจ ได้แก่ 

พลับพลาจตุรมุข เป็นอาคารที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ใช้เป็นที่ประทับและเป็นท้องพระโรง สำหรับว่าราชการขณะเสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยา ภายในจึงมีห้องบรรทม ห้องสรงน้ำ และท้องพระโรงให้เราได้เดินสำรวจ

พระที่นั่งพิมานรัตยา ตั้งอยู่กลางพระราชวัง ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรปดัดแปลงให้เหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยแบบไทย เคยใช้เป็นที่ว่าการมณฑลกรุงเก่า ปัจจุบันจัดแสดงโบราณศิลปวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่พระยาโบราณราชธานินทร์เก็บรวบรวม ได้แก่ ประติมากรรมที่สลักจากศิลา พระพุทธรูปสำริด และพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยาตอนปลายที่มีความวิจิตรงดงาม รวมทั้งพระพิมพ์แบบต่าง ๆ 

อาคารมหาดไทย อาคารรูปตัว L ที่สวยงามให้ความรู้สึกเหมือนเดินย้อนไปในสมัยรัชกาลที่ 6 เพราะสร้างขึ้นในสมัยนั้น ครั้งพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ใช้เป็นตึกที่ทำการภาคต่อมาจนกระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช 2475 หลังจากนั้นยังได้ใช้เป็นที่ทำการของอัยการจังหวัด สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานสหกรณ์จังหวัด และสำนักงานคลังเขต 1 อีกด้วย

หอพิสัยศัลลักษณ์ เป็นอาคารทรงหอ 4 ชั้น สูง 22 เมตร ตั้งอยู่ริมกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ สันนิษฐานว่าสร้างครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้พังลงก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ภายหลังรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามรากฐานเดิมแล้วพระราชทานนามว่า หอพิสัยศัลลักษณ์ ใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรดวงดาว ต่อมาจึงทำหน้าที่เป็นหอสังเกตุการณ์และติดเครื่องสัญญาณเตือนภัยของมณฑลกรุงเก่า

ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่โดดเด่นด้วยฟิลย้อนอดีตครบทั้งภายในภายนอกอาคาร ต้องลองไปเดินเล่นด้วย VR Tour กันดูนะครับ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

ชนชาวไทยคุ้นชินกับวิถีริมน้ำมาช้านาน แพ หรือ เรือ จึงเป็นพาหนะสำคัญผูกพันกับวัฒนธรรมไทย กระทั่งในหมู่ผู้ปกครอง ก็มีการใช้เรือแสดงถึงสถานะและความพิเศษในกิจกรรมต่าง ๆ เรือจึงได้รับการปรับแต่งเพิ่มพูนให้ความสำคัญ ในฐานะพระราชยาน เพื่อ “การพยุหยาตราชลมารค” และใช้ประกอบในพระราชพิธีต่าง ๆ มาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีรัฐพิธีสำคัญ 3 กรณี ได้แก่ พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรี และพระราชพิธีเนื่องด้วยพระบรมศพหรือพระศพ และมีการใช้เรือในพระราชพิธีดังกล่าวเรื่อยมา 

กระทั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติในปี พ.ศ. 2477  พระราชพิธีเสด็จฯถวายผ้าพระกฐินประจำปีโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคขาดหายไป  เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะซ่อมแซมเรือพระราชพิธีเพื่อนำมาใช้ในพระราชพิธีเสด็จพยุหยาตราชลมารคในวาระต่างๆ ตามแบบครั้งโบราณราชประเพณี

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี เดิมเป็นอู่เรือเก่าปรับปรุงขึ้นเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2517  จัดแสดงเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ราชพาหนะอันเป็นมรดกสุดวิจิตรตระการตาของชาติ ประกอบด้วยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9,  เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ พร้อมทั้งเรือที่มีโขนเรือ 4 ลำ ประกอบด้วย  เรือเอกชัยเหินหาว,  เรือครุฑเหินเห็จ, เรือกระบี่ปราบเมืองมาร และเรืออสุรวายุภักษ์ และยังจัดแสดงชิ้นส่วนรวมถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรือด้วย

ระบบนำชมของที่นี่จะนำพาให้เราได้เดินท่องไปสอดส่ายดูลวดลายรอบลำเรือ แถมยังคำบรรยายของชิ้นส่วนและองค์ประกอบต่าง ๆ ที่จัดแสดงให้เราได้จินตนาการเห็นภาพไปถึงการใช้งานด้วย โดยนอกจากอู่เรือใหญ่แล้ว ยังมีส่วนนำชม อู่เรือเล็ก อันเป็นอีกสถานที่ที่ใช้เก็บรักษาเรือพระราชพิธีจำนวนหนึ่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธีอีกด้วย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นับเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งขี้นเมื่อ พ.ศ.2402 แต่เดิมเป็น “พระราชวังบวรสถานมงคล” หรือวังหน้า ทว่ากว่าจะเข้าที่เข้าทางมีหน้าตาคล้ายปัจจุบันก็ในปี พ.ศ.2469 เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรสถานมงคลทั้งหมดให้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้น และได้จัดพระที่นั่งศิวโมกขพิมานให้เป็นสถานที่จัดแสดงศิลาจารึก  และคัมภีร์โบราณ เรียกว่าหอสมุดวชิรญาณ และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2469 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ต่อมาประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้ประกาศตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ.2477

ระบบทัวร์เสมือนจริงของที่แห่งนี้โดดเด่นด้วยเสียงบรรยายที่มีให้เลือกทั้งภาษาไทยและอังกฤษ และสำหรับในห้องจัดแสดงหลัก ยังสามารถกดเลือกบรรยายเฉพาะวัตถุแต่ละชิ้น ได้ทั้งสองภาษาด้วย ส่วนห้องอื่น ๆ จะมีคำบรรยายภาษาไทยเป็นหลัก แต่คาดว่าในอนาคตอาจมีการเพิ่มภาษาอังกฤษเข้าไปด้วย ส่วนสำเนียงและจังหวะจะโคนในการบรรยาย เรียกได้ว่าส่งให้เพื่อนชาวต่างชาติฟังได้ไม่มีอายเลยทีเดียว

นอกจากโซนแสดงวัตถุโบราณล้ำค่าของชาติ ที่แห่งนี้ยังมีระบบนำชมนิทรรศการหมุนเวียนพิเศษ ที่จัดขึ้นตามวาระพิเศษที่น่าสนใจอีกหลายนิทรรศการ อาทิ นิทรรศการพิเศษ เรื่อง “เมื่อตะวันออกพบตะวันตก: พิพิธสมบัติพระราชา ณ วังหน้า” ที่มุ่งเน้นนำเสนอพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่คนไทยไม่ค่อยรับรู้มากนัก ให้ได้รับทราบว่าท่านมีบทบาทอย่างไรในช่วงเวลาที่บ้านเมืองกำลังเผชิญกับการเข้ามาของนานาชาติทางซีกโลกตะวันตก หรือ “วิถีแห่งศรัทธาจากศิลปทัศน์ญี่ปุ่น” ที่ยกงานศิลปะและโบราณวัตถุของญี่ปุ่นที่น่าตื่นตา หาชมได้ยากหลากหลายชิ้นมาจัดแสดงที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ซึ่งนิทรรศการเหล่านี้มักมีช่วงระยะเวลาจัดไม่ยาว แต่แม้จะพลาดไปก็สามารถมาตามย้อนดูนิทรรศการดังกล่าวในระบบทัวร์เสมือนจริงนี้ได้ด้วย แถมยังไม่ต้องเบียดเสียดกับผู้คนอีกต่างหาก

นิทรรศการ ‘วิถีแห่งศรัทธาจากศิลปทัศน์ญี่ปุ่น’ หนึ่งในนิทรรศการหมุนเวียนที่เคยจัด และมีระบบ VR Tour ให้ชม

หากใครยังกังวลกับการเดินทาง อยากเก็บตกข้อมูลหรือมุมมองที่พลาดไปของพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ ระบบนำชมนี้ก็ตอบโจทย์มากเลยทีเดียว หรือจะชักชวนส่งไปให้เพื่อนชาวต่างชาติชมกันให้หายคิดถึงเมืองไทยไปพลาง ๆ ก็ได้ ลองเข้าไปเยี่ยมชมกันดูนะครับ

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส