กลับมาอีกครั้งกับงาน Techsauce Global Summit 2019 สุดยอดงานประชุมด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัปประจำปี 2562 โดย Techsauce Media ร่วมกับ Hubba Thailand พร้อมพันธมิตรจัดขึ้นบนชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งภายในงานก็มีบูธต่าง ๆ มากมายจาก Startup ทั่วโลกเข้ามาจัดแสดง รวมไปถึงนำเสนอนวัตกรรมล่าสุดที่น่าสนใจมากมาย และยังมี Speaker มากมายเข้าร่วมนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจในงานนี้ โดยเฉพาะด้าน AI และ Robot ที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก

ภาพบรรยากาศภายในงาน

งานครั้งนี้เป็นการกลับมาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกปี มีการปรับโฉมจากงานประชุมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี กลายเป็นงานเทศกาลเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ครบถ้วนด้านความรู้และความบันเทิงเพียงหนึ่งเดียว ผสานทุกแง่มุมด้านเทคโนโลยี ด้านดนตรี รวมไปถึงด้าน eSports ที่กำลังได้รับความนิยมมากในประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 20,000 คนจาก 50 ประเทศทั่วโลก เพิ่มจากเดิมเท่าตัว โดยเป้าหมายสูงสุดคือการนำเสนอเนื้อหาให้กับผู้เข้าร่วมงานให้ได้รับประโยชน์ที่ครอบคลุมทุกมิติมุมมองมากที่สุดอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด
โดยงานนี้ได้รับความร่วมมือกับพันธมิตรมากมายทั้งภายในและภายนอกประเทศ นำเสนอผ่านบูธต่าง ๆ และเวทีมากมายแห่งภายในงาน โดยมี Exhibition Zone และ Country Pavilion พื้นที่นำเสนอนวัตกรรม รรรวมไปถึง Launchhing Stage ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับสตาร์ทอัปได้นำเสนอผลงานใหม่ ๆ สู่สายตาคนที่เข้ามาร่วมงาน และอาจได้รับการระดมทุนจากผู้ที่สนใจจริง ๆ และมีเนื้อหาที่น่าสนใจมากมายที่จัดขึ้น และกิจกรรม Techsauce Global Summit Pitch Championship 2019 ก็ได้กลับมาอีกครั้ง คัด 10 สุดยอดสตาร์ทอัปนำเสนอโปรเจคต์ค้นหาผู้ชนะ เพื่อรางวัลเงินสดมูลค่า 1 ล้านบาทอีกด้วย”อมฤต เจริญพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง ฮับบ้า ไทยแลนด์

สรุป Session ที่น่าสนใจในงานนี้

The rise of Artificial Intelligent โดย Martin Ford

เขาได้พูดถึงเรื่องของผลกระทบของ AI Robot ที่เข้ามาว่า มันจะมีทั้งด้านทีและด้านที่ไม่ดี ด้านดีคือ การเข้ามาทำให้ Productivity เพิ่มสูงขึ้นมาก ๆ ในขณะที่เราใช้แรงงานเท่าเดิม แต่อีกด้านคือ AI จะทำให้คนหลายล้านคนไร้งานทำ เพราะหลายงานจะสามารถแทนด้วยระบบ AI Robot ได้ เพราะสิ่งนี้ไม่มีความต้องการ ไม่มีเรื่องความเจ็บป่วย สามารถทำงานได้ตลอด 24/7 โดยไม่ต้องหยุดพัก ซึ่งสามารถทดแทนมนุษย์ได้แทบจะ 100% แต่ประเด็นที่น่าสนใจต่อมาคือ เรื่องของงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะด้านการเข้ามาควบคุมดูแล AI Robot เหล่านี้ให้สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

งานที่อาจถูกแทนได้ในอนาคต

  • งานขนส่งสินค้า
  • งานด้านการเตรียมอาหารแบบสำเร็จรูปหรือแบบง่าย ๆ
  • งานด้านการเคลื่อนย้าย / ขนของ
  • งาน Routine ที่มีการทำงานซ้ำ ๆ

วิธีป้องกัน

  • ระยะสั้น – ให้เสริมสร้างความรู้ที่นอกเหนือจากการทำงาน Routine ตามปกติ โดยเฉพาะด้านความคิดสร้างสรรค์หรือด้าน Programming
  • ระยะยาว – มองหางานที่มั่นใจได้ว่าจะไม่ถูก Robot เข้ามาแทนที่ได้

The Future of Mobility โดย Tin Hang Liu

รถยนต์นั้นเป็นสิ่งที่เหมือนปัจจัยหลักของมนุษย์ในปัจจุบัน แต่ปัญหาคือ รถยนต์มีการถูกผลิตมากขึ้นเรื่อย ๆ กว่า 100 ล้านคันต่อปี แต่มีการนำไปกำจัดเพียง 27 ล้านคันต่อปีเท่านั้น ซึ่งทำให้ปัจจุบันมีรถกว่า 1.4 พันล้านคันวิ่งอยู่บนถนนในโลกใบนี้ แต่ในอนาคตอันใกล้ ได้มีผลสำรวจจากประเทศจีนพบว่า จำนวนการเติบโตของรถยนต์ส่วนตัวจะเริ่มเปลี่ยนไปสู่ยุคของ Car Sharing มากขึ้น โดยจะเข้ามาแทนที่รถยนต์ส่วนตัวที่นับวันจะเริ่มกลายเป็นปัญหาด้านมลพิษระดับโลก เพราะคนเราแท้จริงแล้วต้องการใช้รถยนต์โดยประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ซึ่งถ้ารถในอนาคตเป็นรูปแบบการ Sharing ก็จะช่วยในการลดค่าใช้จ่าย รวมไปถึงการเพิ่มรายได้ให้กับเจ้าของรถได้อีกทางหนึ่ง และในด้านการใช้พลังงานนั้น รถยนต์ในยุคใหม่ก็จะถูกพัฒนาให้ใช้พลังงานสะอาดอย่างพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งรถยนต์เหล่านี้ยังสามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบมือถือเพื่อตรวจสอบและควบคุมได้ รวมไปถึงรถยนต์ยุคใหม่ เราควรที่จะสามารถปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนภายในและภายนอกของรถได้อย่างอิสระ โดยเขาซึ่งเป็นเจ้าของ Projects Open Motors ก็แสดงให้เห็นว่ารถยนต์ที่เขากำลังพัฒนาอยู่นี้มีความสามารถตามที่กล่าวมาทั้งหมดในช่วงท้ายของ Session

Play video

 

Driving Governments towards technological adoption working together to build smart cities

อีก 1 Session ที่น่าสนใจภายในงานนี้ โดยเฉพาะการขึ้นเวทีของ Audrey Tang ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลของไต้หวันที่ได้ขึ้นเสวนากับ Tim Culpan จากสำนักพิมพ์ Bloomberg และ Catherine Caruana McManus จาก Meshed และ Jonathan Reichental ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Human Future

ซึ่งพวกเขาได้พูดคุยกันในประเด็นด้านความร่วมมือกับภาครัฐฯ ในการลงทุนด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะการสร้างเมืองอัจฉริยะว่า ผลักดันภาครัฐฯ ให้เข้ามาลงทุนตรงนี้ได้อย่างไร

Audrey Tang ได้แนะนำว่า เทคโนโลยีนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ไม่ใช่ตัวแก้ไขปัญหา ผู้คนต่างหากคือผู้แก้ไขปัญหาจริง ๆ โดยเน้นย้ำว่าภาครัฐฯ ยุคปัจจุบันไม่ใช่เป็นตัวเอกอีกต่อไป แต่เป็นเหมือนกับผู้อนุญาตให้กับประชาชนในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้ยกตัวอย่างของประเทศไต้หวันว่า ปัจจุบันเหล่า Startups ได้มองหาความท้าทายหรือการทดลองใหม่ ๆ อยู่เเรื่อย ๆ พวกเขามองหาตัวข่วยที่สามารถให้เขาลองทดสอบเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ และถ้าเขาสามารถนำการทดลองเหล่านั้นมาทดสอบเพื่อสร้างคุณประโยชน์ได้ ทุกภาคส่วนก็จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน

การร่วมมือกันของสังคมในประเทศไต้หวันนั้นมีความสำคัญมาก ยกตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาเว็บไซต์ของภาครัฐฯ ในมุมที่สามารถพัฒนาต่อไปได้ ซึ่งโครงการกว่า 20 โครงการใน 200 โครงการที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐฯ นั้นก็ได้ถูกดำเนินการแล้วในรัฐบาลประเทศไต้หวัน ซึ่งสิ่งนี้นับเป็นความร่วมมือที่ทำให้สามารถขับเคลื่อนประเทศก้าวไปข้างหน้าได้

“ภาครัฐฯ ควรเชื่อในตัวประชาชน และบางครั้งประชาชนก็ควรเชื่อถือในภาครัฐฯ เช่นเดียวกัน” Audrey Tang กล่าวปิดท้าย