เวลาที่เราซื้อยาเป็นกระปุกหรือขวด เรามักจะเห็นว่าขวดนั้นถูกห่อหุ้มไปด้วยซีลพลาสติกเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะแค่เฉพาะบริเวณฝากระปุก หรือการซีลทั่วทั้งขวด อีกทั้งซีลพลาสติกเหล่านี้มักมีความเหนียว ทำให้แกะได้ยาก และเมื่อเราแกะซีลออกมาแล้ว พอเปิดฝาขวดก็มักจะมีซีลสีเงินปิดอีกที

พอเห็นแบบนี้คุณคงคิดว่ายานี้ถูกปิดผนึกมาอย่างดีเพื่อรักษาประสิทธิภาพของยา ช่วยให้คุณใช้ยาได้อย่างสบาย ซึ่งนั่นก็ถูกเมื่อมองในมุมมองปัจจุบัน แต่ถ้าบอกว่าต้นกำเนิดของซีลขวดยาอันแน่นหนาส่วนหนึ่งนั้นถูกคิดค้นมาเพื่อป้องกันใครสักคนสลับยาพิษเข้าไปแทนที่ยารักษาโรคล่ะ จะทำให้มุมมองของคุณที่มีต่อซีลนี้เปลี่ยนไปไหม? ในบทความนี้จะมาเล่าที่มาอันขมุกขมัวของซีลที่อยู่บนขวดยากัน

ย้อนกลับไปในช่วงเดือนกันยายน ปี 1982 ในเมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา แมรี เคลเลอร์ เด็กหญิงวัย 12 ปีได้รับยาแก้หวัดจากพ่อแม่ของเธอ หลังจากที่เธอมีอาการป่วย แต่ถ้าในเช้าตรู่ของวันถัดไป แมรี เคลเลอร์ถูกพบว่าเสียชีวิตอยู่บนเตียงของเธอ ซึ่งแมรี เป็นเหยื่อรายแรกของฆาตกรต่อเนื่องที่ถูกพูดถึงในบทความนี้

ในวันเดียวกันนั้นเอง อดัม เจนัส (Adam Janus) ได้เสียชีวิตอย่างลึกลับหลังจากการใช้ยาไทลินอลสูตรแรงพิเศษ (EXTRA-STRENGHT TYLENOL) ในรูปแบบแคปซูล ซึ่งเป็นยาแก้ปวดที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว ในเวลาต่อมา สแตนลีย์ และ เทเรซา เจนัส (Stanley and Teresa Janus) ผู้ซึ่งเป็นน้องชาย และน้องสะใภ้ของอดัมได้หยิบยาไทลินอลจากกระปุกเดียวกันเพื่อแก้อาการปวดหัวหลังจากรับมือกับความโศกเศร้าท่ามกลางงานศพของอดัม สามี-ภรรยาคู่นี้ถูกพบว่าเสียชีวิตในอีก 2 วันต่อมา

หลังจากงานศพและการเสียชีวิตของครอบครัวเจนัสเพียง 1 สัปดาห์ คนอีก 3 คนเสียชีวิตปริศนาหลังจากใช้ยาแก้ปวดยอดฮิต ได้แก่ แมรี แมคฟาร์แลนด์ (Mary McFarland) พอลา พรินซ์ (Paula Prince) และแมรี เวเนอร์ (Mary Weiner) ไม่ในเวลาเดือนถึงเดือนเศษมีคนเสียชีวิตจากการใช้ยาที่เข้าใจว่าเป็นอะเซตามิโนเฟน (Acetamenophen) หรือพาราเซตามอล (Paracetamol)

จากการตรวจสอบศพของ อดัม เจนัส เหยื่อรายที่ 2 ทีแรกแพทย์สันนิษฐานว่าเขาเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย ก่อนที่จะพบว่าร่างกายของเขามีสาร ‘โพแทสเซียม ไซยาไนด์’ (Potassium cyanide) สารพิษร้ายแรงที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม พิษของสารชนิดนี้ส่งผลทั่วร่างกาย โดยเฉพาะการขัดขวางการดูดซึมออกซิเจน ทำลายระบบประสาทส่วนกลาง หัวใจ และปอด ส่งผลให้หายใจไม่ออก ชัก หมดสติ และเสียชีวิต จนฆาตกรต่อเนื่องรายนี้ได้ชื่อว่า ‘ไทลินอล คิลเลอร์’ (Tylenol Killer) 

เมื่อเจ้าหน้าที่สืบสวนต่อไปและพบว่าจุดร่วมกันของเหยื่อคือการใช้ยาไทลินอลสูตรแรงพิเศษ บริษัทผู้ผลิตจึงเรียกคืนยาไทลินอลในรูปแบบขวดทั้งหมดที่มีอยู่ในท้องตลาดกว่า 31 ล้านขวด เรื่องนี้ส่งผลให้บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันที่เป็นเจ้าของยาไทลินอลได้รับความเสียหายกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยการสืบสวนได้ตัดสาเหตุที่ว่าเป็นความผิดพลาดโรงงานผลิตที่เป็นต้นทาง เพราะยาแต่ละขวดควรผลิตจากคนละโรงงาน มีการควบคุมที่แน่นหนา และขวดยาที่พบว่ามียาพิษนี้ซ่อนอยู่มีเพียงอยู่ไม่กี่ขวด และทั้งหมดนั้นกระจายอยู่ตามร้านขายของในเมืองชิคาโก ซึ่งทำให้ฆาตกรต่อเนื่องรายนี้น่ากลัวยิ่งขึ้น เพราะการฆ่าของเขาไม่มีแพตเทิร์นหรือรูปแบบเหมือนกับฆาตกรต่อเนื่องคนอื่น เช่น การเลือกเหยื่อเป็นผู้หญิงผมบลอนด์ คนไร้บ้าน เด็ก หรือเกย์ แต่เป็นการฆ่าแบบสุ่ม วัดดวงของผู้โชคร้ายที่จะได้ยาพิษขวดนั้นไป

แต่ในสมัยนั้นกล้องวงจรปิด และเทคโนโลยีในการแกะรอยฆาตกรยังทำอะไรไม่ได้มาก แต่ เจมส์ ลูอิส (James Lewis) อดีตนักบัญชีตกเป็นผู้ต้องสงสัยที่ลงมือเปลี่ยนยารักษาอาการปวดให้กลายเป็นยาพิษเพียงคนเดียวตลอดการสืบสวน เพราะหลังผู้คนในทั่วประเทศตกอยู่ในภาวะหวาดวิตก มีจดหมายฉบับหนึ่งถูกส่งไปที่บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันด้วยข้อความขู่กรรโชกให้ทางบริษัทโอนเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้าบัญชีของชายคนหนึ่งเพื่อการยุติฆาตกรรมครั้งนี้ ซึ่งจดหมายนี้มาจากเจมส์

เจมส์ได้อ้างถึงสาเหตุของการส่งจดหมายขู่ครั้งนี้ว่าเป็นการแก้แค้นหัวหน้าเก่าของภรรยา ซึ่งเป็นเจ้าของเลขบัญชีที่ส่งไป เจมส์ถูกศาลตัดสินสั่งจำคุกเป็นเวลากว่า 12 ปีด้วยข้อหาส่งข้อความขู่กรรโชกทรัพย์ แต่ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่ว่าเขา คือ ไทลินอลคิลเลอร์ ทั้งยังเปิดเว็บไซต์และเขียนหนังสือเพื่อบอกว่าเขาถูกใส่ร้าย

เขาถูกส่งฟ้องให้ศาลพิจารณาแต่ก็ถูกปัดตกเนื่องจากไม่มีหลักฐานที่เพียงพอ และเขาก็ถูกเรียกตัวไปสอบสวนเป็นเวลาหลายครั้งตลอดหลายปี แต่ตำรวจและอัยการที่เกี่ยวข้องยังคงปักใจเชื่อว่าเขาคือฆาตกรที่ต้องการแก้แค้นแทนลูกสาวของเขา โทนี ลูอิส (Tony Lewis) ที่เสียชีวิตในวัย 8 ขวบภายหลังผ่าตัดรักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ซึ่งไหมที่ใช้เย็บระหว่างการผ่าตัดมาจากบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยที่ภายหลังไหมเหล่านั้นขาดออกเป็นเหตุให้โทนีเสียชีวิต

นอกจากนี้ เจมส์ยังเคยถูกแจ้งข้อหาฆาตกรรมอดีตนายจ้าง ข้อหาฉ้อโกงกว่าหลายกระทง รวมถึงการข่มขืน และลักพาตัวผู้หญิง ตลอดเวลาหลายปีเขาได้ใช้ชื่อปลอมกว่า 20 ชื่อเพื่อทำงานในหลายสาขาอาชีพที่มีความเฉพาะด้านต่างกัน

แต่ตั้งแต่เขาตกเป็นผู้ต้องสงสัยในปี 1982 จนเวลาผ่านมา 41 ปี เจมส์ ลูอิส ไม่เคยถูกตัดสินว่าผิดในข้อหาฆาตกรรม ในเดือนกรกฎาคมปี 2023 เขาผู้ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยเพียงหนึ่งเดียวของการฆาตกรรมหมู่ในนครชิคาโกด้วยยาไทลินอลได้เสียชีวิตลงในวัย 76 ปี ส่งผลให้คดีนี้กลายเป็นหนึ่งคดีที่ไม่สามารถระบุตัวฆาตกรที่แท้จริงได้

เหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่ในนครชิคาโกด้วยยาไทลินอลได้สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนในวงกว้าง ญาติพี่น้องของเหยื่อ ความคับข้องใจของทีมสืบสวนที่พยายามหาหลักฐานเพื่อยืนยันคนร้าย ไปจนถึงวงการอุตสาหกรรมยาในสหรัฐอเมริกา

ขั้นตอนการเปลี่ยนยาแก้ปวดให้กลายเป็นยาพิษยังคงเป็นปริศนาอีกข้อที่ยังไม่ถูกไข ผู้เชี่ยวชาญมีข้อสันนิษฐานที่ต่างกันออกไป เช่น ฆาตกรอาจซื้อขวดยาไปก่อนที่จะใส่ยาพิษเข้ามาแทน และนำกลับมาไว้ในร้านตอนไม่มีคนเห็น บ้างก็ว่าเป็นการฉีดโพแทสเซียมไซยาไนด์เข้าไปในขวด

ในปี 1989 อย.ของสหรัฐฯได้กำหนดมาตรการใหม่ในการจำหน่ายยา โดยผู้ผลิตยาต้องปิดผนึกยาอย่างแน่นหนา ซึ่งบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันได้มีส่วนร่วมในการหาทางออกในครั้งนี้ด้วย ผลลัพธ์ที่ได้ออกมามีทั้งซีลพลาสติกด้านนอก ซีลฟอยล์ด้านบนฝา ฝาเกลียวที่มีเสียงดังแกรกในครั้งแรกที่เปิด ไปจนถึงฟองน้ำหรือสำลีด้านในเพื่อที่ให้ผู้ซื้อสามารถสังเกตได้ว่าขวดยาดังกล่าวเคยถูกเปิดใช้มาก่อนหรือไม่ เพราะในช่วงก่อนหน้านั้น ขวดยามีเพียงฝาปิดและสำลีสีขาวยัดเอาไว้ในขวดเท่านั้น

ที่มา: Dailymail1, Dailymail2, NPR, CDC

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส