ใครที่เป็นสายเกม หรือชื่นชอบการ์ตูนญี่ปุ่น น่าจะรู้จักหรือคุ้นเคยกับ Cosplay (คอสเพลย์) หรือการแต่งตัวเลียนแบบการ์ตูนญี่ปุ่น และตัวละครในเกมที่เราชื่นชอบ ที่กลายเป็นวัฒนธรรมป๊อปจนแพร่หลายไปทั่วโลก และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีการจัดประกวดเพื่อชิงรางวัลต่าง ๆ มากมาย เห็นได้จากปัจจุบันมีคอสเพลเยอร์คนไทยที่ได้รับความนิยมจากแฟน ๆ มากขึ้น จนบางคนหันมาเอาดีทางนี้จนทำเป็นอาชีพ แต่การจะเป็นคอสเพลเยอร์ที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ได้ตัดสินกันที่การแต่งตัวหรือคาแรกเตอร์ที่เหมือนเพียงอย่างเดียว 

คอสเพลย์ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ

เมื่อชอบทำอะไรก็ต้องทำให้สุด คอสเพลย์ก็เช่นกัน แน่นอนว่าต้องเริ่มจากความรักความชื่นชอบในตัวละครนั้น ๆ อยู่แล้วจนอยากที่จะสวมบทบาทและแต่งตัวให้เหมือนที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากนั้น งานศิลปะก็จะตามมา ทั้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย การแต่งหน้า ทำผม พรอป รวมถึงอินเนอร์ในการสวมบทบาทเป็นตัวละครนั้น ๆ เลเยอร์ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการแอกชันท่าให้เหมือนกับตัวเองหลุดออกมาจากในจอหรือหนังสือการ์ตูน ยิ่งใครทำออกมาได้เข้าถึงบทบาทจนกรรมการต้องตกตะลึงอ้าปากค้างแล้ว ภาพที่ได้ก็จะยิ่งมีราคาสูงตามขึ้นไปด้วย ถือเป็นผลพลอยได้จากความทุ่มเทในสิ่งที่เลเยอร์รักนั่นเอง เรียกว่าเพิ่มมูลค่าให้ตัวเองได้มากเลยทีเดียว 

โดยเลเยอร์แต่ละคนจะมีการถ่ายภาพ Private (ไพรเวต) หรือ “ไพร” ที่ให้ช่างภาพถ่ายภาพทั้งเดี่ยวและกลุ่ม เพื่อเอารูปแอ็กชันสวยๆ ในชุดคอสเพลย์ไปลงในโซเชียลมีเดีย เพื่อจำหน่ายเป็นรายได้ หรือใช้ในการประกวดเพราะเลเยอร์จะมีกิจกรรมรวมพลกันตลอดทั้งปี เช่น งาน JapanExpo, MARUYA, Thailand WCS หรืองาน COMIC CON ที่เรารู้จักคุ้นเคยกันนั่นเอง 

อุปสรรคของอาชีพแบบ Full Time

ดูเหมือนจะง่าย แต่รู้ไหมว่า การจะเป็นคอสเพลเยอร์ที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องมีการฝึกฝนเหมือนกับทุกอาชีพ คอสเพลย์เป็นการรวมหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน ไม่ใช่แค่การแต่งตัว แต่คือการคราฟต์ ที่มีงานศิลปะรวมอยู่ด้วย ทั้งการแต่งหน้า การทำวิกผม ต้องฝึกทุกแขนงจนเกิดความเชี่ยวชาญ 

เริ่มจาการตัดเย็บชุดที่ใส่ เพราะตัวละครบางตัวที่เราเป็น ไม่ได้มีชุดขายตามท้องตลาด เลเยอร์เลยต้องลงมือออกแบบ หาวัสดุและตัดเย็บเอง แต่ถ้าใครที่ไม่ได้มีฝีมือเรื่องการตัดเย็บก็อาจจะนำไปจ้างช่าง โดยจะต้องอธิบายรายละเอียดของชุดให้กับช่างได้เข้าใจด้วยเพราะต่างจากชุดที่เป็นการตัดเย็บแบปกติ 

การ์ตูนญี่ปุ่น น้อยนักที่จะผมดำ อีกหนึ่งงานหลักคือการทำวิกผม เลเยอร์บางคนถ้าทำวิกไม่ได้ก็อาจจะต้องใช้ที่หัวจริงพ่นสีสเปรย์กันไปเลย  

ที่ขาดไม่ได้คือพรอป เช่น โล่ ดาบ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่เป็นอาวุธประจำกาย จะให้ถือดาบหรือปืนจริงก็ดูจะอันตรายเกินไป ซึ่งเจ้าพรอปพวกนี้ ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เลเยอร์ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม ทำยังไงถึงจะดูเหมือนแต่ไม่เป็นอุปสรรคทั้งเรื่องน้ำหนักและความปลอดภัย 

จะอยู่ได้ ใจต้องรัก

ด้วยคำจำกัดความของ คอสเพลย์ ที่ต้องดูเหมือนกับตัวละครนั้น ๆ มากที่สุด แน่นอนว่าต้องตามมาด้วยความคาดหวัง จินตนาการจึงเป็นเรื่องสำคัญทำตัวละครที่เราชื่นชอบถึงจะออกมาอยู่ในโลกของความเป็นจริงได้ โดยไม่ทิ้งคาแรกเตอร์เดิม บางตัวละครต้นฉบับในมังงะหรืออนิเมะที่เราเลือกมา ต้องแต่งตัวโป๊ ดูวาบหวิว หรือมีกล้ามดูเซ็กซี่แบบผู้ชาย พอเกิดการดัดแปลงที่มากไป กลับกลายเป็นถูกวิจารณ์ว่าไม่ตรงปก  

คอสเพลย์เป็นโลกที่ค่อนข้างอิสระ แรงบัลดาลใจที่อยากจะทำอยากจะสนุกไปกับมันจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเมื่อมีคนชอบ ก็ต้องมีคนที่ไม่ชอบและไม่เข้าใจ บางครั้งต้องใช้การเตรียมตัวนานหลายวันเพียงเพื่อการประกวด 3 ชั่วโมงที่สมบูรณ์แบบที่สุด ถ้าไม่มีใจรักจริง ๆ ก็ไปต่อไม่ไหว รวมถึงเงินทุนที่ต้องใช้ในการคอสแต่ละครั้งก็ค่อนข้างสูง แลกกับความภูมิใจที่ซ่อนอยู่ในนั้น 

สายคอสเพลย์ห้ามพลาด

30 มิถุนายน – 2 กรกฎาคมนี้ อย่าลืมไปร่วมงาน CAF 2023 (คาฟ) ณ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม MRT ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเป็นงานคอสเพลย์ที่รวบรวมกิจกรรมเอาไว้มากมาย เช่น การประกวดคอสเพลย์ CAF Cosplay Contest 2023, แฟนมีตคอสเพลเยอร์ชื่อดังทั้งไทยและต่างประเทศ, Cosplay Studio หรือโซนถ่ายภาพที่มาพร้อมสุดฉากอลังการ, Live Concert จากศิลปินชื่อดังหัวใจอนิเมะ รวมถึงพื้นที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนของสะสมของเหล่าคอสเพลย์
รายละเอียดเพิ่มเติมและซื้อ Wristband สำหรับเข้าร่วมงาน CAF 2023 ได้ที่เว็บไซต์ The Concert (คลิกที่นี่) และสำหรับผู้ที่แต่งคอสเพลย์สามารถเข้าร่วมงานฟรี! (การพิจารณาชุดคอสเพลย์ที่สามารถเข้าร่วมงานได้ฟรีเป็นไปตามการตัดสินของทีมงาน)

ที่มา : คอสเพลย์ Thailand Game Show

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส