วันที่ 16 กรกฎาคม 2566 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เลือกนายกรัฐมนตรี 2566” ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเลือกนายกรัฐมนตรี 2566

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบแรก หากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้คะแนนเสียงไม่เพียงพอที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พบว่า

  • ร้อยละ 43.21 ระบุว่า ควรมีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เพื่อให้รัฐสภาพิจารณา ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้
  • ร้อยละ 20.69 ระบุว่า ควรมีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพื่อให้รัฐสภาพิจารณา อีก 1-2 รอบเท่านั้น
  • ร้อยละ 12.98 ระบุว่า พรรคก้าวไกลควรยอมยกเลิกบางนโยบายที่ ส.ว. ไม่เห็นด้วย เพื่อให้ได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้น
  • ร้อยละ 7.94 ระบุว่า พรรคก้าวไกลควรเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคแทนทันที
  • ร้อยละ 4.88 ระบุว่า พรรคก้าวไกลควรเจรจาชวนพรรคการเมืองในรัฐบาลปัจจุบันเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อให้ได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้น
  • ร้อยละ 2.67 ระบุว่า ควรมีการชุมนุมประท้วงเพื่อกดดัน ส.ว. ให้เลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในการลงคะแนนเสียงครั้งต่อไป
  • ร้อยละ 2.52 ระบุว่า พรรคเพื่อไทยควรขอเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคแทนทันที
  • ร้อยละ 2.29 ระบุว่า พรรคก้าวไกลควรประกาศไปเป็นฝ่ายค้านทันที
  • ร้อยละ 2.06 ระบุว่า พรรคเพื่อไทยควรสลับขั้วในการจัดตั้งรัฐบาลทันที
  • ร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงบุคคลที่มีโอกาสจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี หากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนที่เพียงพอจากรัฐสภา พบว่า

  • ร้อยละ 38.55 ระบุว่าเป็น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร
  • ร้อยละ 35.04 ระบุว่าเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน
  • ร้อยละ 6.79 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • ร้อยละ 5.65 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
  • ร้อยละ 5.42 ระบุว่าเป็น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ
  • ร้อยละ 4.27 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล
  • ร้อยละ 1.45 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
  • ร้อยละ 1.07 ระบุว่าเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
  • ร้อยละ 1.76 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นายชัยเกษม นิติสิริ, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และนายศิธา ทิวารี

สำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 ซึ่งจะเกิดในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 พรรคก้าวไกลประกาศโรดแมปช่วงวันที่ 15 – 19 กรกฎาคม 2566 เพื่อรวบรวมเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาเพิ่มเติมจาก 8 พรรคเดิมไม่น้อยกว่า 65 เสียง และต้องการเสียง ส.ว. จำนวน 84 เสียง

พร้อมกันนี้ พรรคก้าวไกลยังเสนอให้มีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. เนื่องจากมี ส.ว. จำนวนมากที่ไม่สบายใจที่จะโหวตให้พรรคก้าวไกล หรือลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

สอดคล้องกับช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ส.ว. จำนวนไม่น้อย เช่น นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ และ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ระบุเหตุผลที่งดออกเสียงว่า ต้องการยึดหลักการ ส.ว. ไม่มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และก่อนหน้านี้ก็มี ส.ว. ที่เคยโหวตเห็นด้วยกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 มากถึง 63 คน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส