สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท SpaceX ของมหาเศรษฐี Elon Musk ได้ปล่อยจรวด Falcon 9 นำนักบินอวกาศชาวอเมริกันสองคนไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เมื่อเช้ามืดของวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมาตามเวลาประเทศไทย จรวด Falcon 9 ได้นำ Crew Dragon ส่วนของยานอวกาศที่บรรทุกนักบินอวกาศสองคนขึ้นไปเทียบท่ากับสถานี ISS เป็นที่เรียบร้อย ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจของภารกิจนี้คือ นี่เป็นการส่งนักบินอวกาศออกจากฐานปล่อยจรวดในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี

อ่านข่าวเกี่ยวกับการปล่อยจรวด SpaceX Falcon Crew Dragon ทั้งหมดได้ที่นี่

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯ ไม่ได้มีนักบินอวกาศมา 9 ปีแล้ว แต่การส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติตลอด 9 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นการส่งไปด้วยจรวดโซยุส (Soyuz) ของประเทศรัสเซียทั้งหมด เหตุผลหลักที่สหรัฐฯ ไม่ส่งกระสวยอวกาศขึ้นไปอีกเลยนับตั้งแต่ปี 2011 ก็เพราะค่าใช้จ่ายที่สูงมาก จรวดในยุคแรกนั้นจึงเป็นการใช้แบบครั้งเดียวและทิ้งไปเลย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการใช้งานที่ใช้ทรัพยากรและการลงทุนสูงมาก

ซึ่งหากเทียบค่าใช้จ่ายกันแล้ว การส่งกระสวยอวกาศขึ้นไปหนึ่งครั้งของสหรัฐฯ จะใช้เงินสูงถึงประมาณ 450 ล้านเหรียญฯ ในขณะที่จรวดโซยุสของรัสเซียนั้นมีค่าใช้จ่ายประมาณ 80 ล้านเหรียญเท่านั้น องค์การนาซ่าจึงยกเลิกโครงการกระสวยอวกาศของตัวเอง และหันมาใช้จรวดโซยุสในการส่งนักบินอวกาศไปยัง ISS แทน ส่วนจรวด Falcon 9 ของ SpaceX มีค่าสร้างจรวดเพื่อส่งออกไปเพียงประมาณ 58 ล้านเหรียญฯ ซึ่งถูกกว่าโครงการกระสวยอวกาศเดิมของสหรัฐฯ และถูกกว่าแม้แต่จรวดโซยุสของรัสเซียอย่างมาก

และอีกเหตุผลหนึ่ง ก็เพราะว่านาซ่ากำลังมีแผนที่จะทำให้การเดินทางอวกาศเป็นเรื่องของ “บริษัทเอกชน” และรัฐจะถอนตัวออกจากการจัดการเรื่องการเดินทางในอวกาศแต่เพียงผู้เดียวในเร็ว ๆ นี้ จึงเลือกที่จะให้สัมปทานโพรเจกต์ส่งนักบินอวกาศกับบริษัทเอกชน ปัจจุบันบริษัท Boeing และ SpaceX คือสองบริษัทที่ได้ลงนามสัญญากับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาระบบขนส่งมนุษย์ไปยังอวกาศทางพาณิชย์ หรือ Commercial Crew Development (CCDev) ซึ่งก็น่าจะเป็นแนวคิดที่เหมาะสมกับโลกในยุคปัจจุบันที่การให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนา จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัยและลดต้นทุนในภาพรวมได้มาก

และจรวดโซยุสของรัสเซียที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้นั้นเก่ามากแล้ว เริ่มผลิตมาตั้งแต่ปี 1966 สมัยสงครามเย็นและขึ้นบินไปแล้วกว่า 1,700 ภารกิจ นับเป็นระบบจรวดที่มีการใช้งานบ่อยที่สุดในโลก (นักบินอวกาศยังต้องกดปุ่มควบคุมและสวิตช์อนาล็อกมากมายในภาษารัสเซีย!) หลังจากนี้ยังมีภารกิจการเดินทางไปยังอวกาศโดยภาคเอกชนเช่น ยานจากบริษัท Boeing ตามมาอีก

นอกจากนี้ Beartai ก็ได้สรุปรวบรวมความน่าสนใจในมุมน่ารักน่ารู้ของภารกิจนี้ นอกเหนือจากแง่มุมเชิงวิทยาการและข้อมูลเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ มาฝากกันอีกด้วย

น้องตุ๊กตาไดโนเสาร์ ชื่อว่า “ทรีมอร์”

หลายคนอาจจะสังเกตเห็นตุ๊กตาไดโนเสาร์ตัวสีฟ้าที่ได้รับสิทธิพิเศษออกเดินทางไปกับสองนักบินอวกาศ น้องมีชื่อว่า “ทรีเมอร์” ไดโนเสาร์ตัวน้อยที่ร่วมเดินทางขึ้นไปสู่ ISS แต่ไม่ใช่ว่าน้องจะไปเที่ยวเล่นด้วยเฉย ๆ เพราะน้องก็มีภารกิจกับเขาด้วยเช่นกัน ที่จะต้องไปเจอกับน้อง “ลิตเติล เอิร์ธ” ตุ๊กตาลูกโลกที่ขึ้นมาอยู่บนสถานี ISS มาก่อน ตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม 2019 ปีที่แล้ว (ดูในคลิปขององค์การนาซ่า นาทีที่ 11.46 ด้านล่าง)

น้องลิตเติล เอิร์ธเป็นผู้โดยสารที่เดินทางขึ้นไปคู่กับหุ่น Ripley ที่เป็นหุ่นชุดมนุษย์อวกาศ ทำหน้าที่ทดสอบเซนเซอร์ต่าง ๆ แต่น้องลิตเติล เอิร์ธนั้นเป็นตุ๊กจาที่มีภารกิจเพียงอย่างเดียว #ฉันจะพาเธอลอยล่องไปในอวกาศ ล่องลอยโดยไม่ต้องทำภารกิจอะไรอื่น ซึ่งน้องทรีมอร์ก็ได้รับภารกิจในลักษณะเดียวกัน (แนวคิดของ SpaceX ก็จะมีความขี้เล่นมุ้งมิ้งอะไรแบบนี้แฝงอยู่เสมอ)

น้องทั้งคู่เป็นสองตุ๊กตาที่เดินทางมากับยาน Crew Dragon เหมือนกันแต่มากันด้วยคนละภารกิจ โดยน้องลิตเติล เอิร์ธมากับในภารกิจ Demo 1 ที่ไม่มีมนุษย์เดินทางมาด้วย (คงจะเหงาน่าดู) ส่วนน้องทรีเมอร์มากับภารกิจ Demo 2 ทั้งสองเป็น Zero-G Indicator ที่ไม่ได้มีถูกล็อกไว้กับที่นั่ง ทำหน้าที่เป็นตัวบอกถึงสภาวะไร้น้ำหนักภายในห้องโดยสารของยาน โดยจะลอยขึ้นเมื่อยานอวกาศเข้าสู่สภาวะไร้น้ำหนักแล้ว

หลังจากเดินทางเข้าสู่วงโคจรรอบโลก น้องลิตเติล เอิร์ธได้รับความสนใจจากนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นอย่างมาก มีการพาน้องไปทัวร์ตามจุดต่าง ๆ บนยาน และน้องก็ถูกถ่ายรูปคู่กับเหล่านักบินอวกาศลงในทวิตเตอร์และอินสตาแกรม (น้า ๆ บนสถานีอวกาศก็คงจะเหงาเช่นกัน ดูได้จากโพสต์ของ Anne McClain นักบินอวกาศหญิงตอนแนะนำน้องลิตเติลเอิร์ธ)

สองนักบินอวกาศคนล่าสุดอย่าง Bob Behnken และ Doug Hurley ได้นำน้องทั้งสองมาโชว์ต่อหน้ากล้องพร้อมกัน (ตามคลิปด้านบน) พร้อมกับนำรูปถ่ายจบการศึกษาของนักเรียนนักศึกษาจากทั่วโลกขึ้นไปถึงบนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นที่เรียบร้อย น้องทั้งสองคงได้ปฏิบัติภารกิจเป็นเพื่อนให้น้า ๆ นักบินอวกาศบนนั้นไปเรื่อย ๆ รวมถึงอาจได้รอต้อนรับน้องตัวใหม่ขึ้นไปบนสถานีในอนาคต

ฝากรูปตอนเรียนจบไปอวกาศกับ SpaceX

อีกหนึ่งโพรเจกต์ของ SpaceX ที่เน้นเรื่องแรงบันดาลใจและการให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา กลายมาเป็นแคมเปญที่ให้นักเรียนนักศึกษาจากทั่วโลก เมื่อองการ์นาซ่าได้เปิดให้บันฑิตที่เรียจบในปีการศึกษาปี 2020 นี้ทุกคน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย สามารถอัปโหลดรูปภาพตัวเอง (ปิดรับไปเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา) ลงไปบนเว็บไซต์ของ SpaceX โดยองค์การนาซ่าได้ทำการพรินต์ภาพที่ทุกคนส่งมา นำขึ้นยาน SpaceX เพื่อเฉลิมฉลองพิธีจบการศึกษาให้จากบนอวกาศเลยทีเดียว (ปรากฎอยู่ในคลิปของ 3 นักบินอวกาศที่มีเจ้าทรีมอร์และลิตเติลเอิร์ธอยู่ด้วยนั่นเอง

ชุดนักบินอวกาศจากดีไซเนอร์เบื้องหลังหนัง X-Men, Iron Man และ Black Panther

สิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปให้ความสนใจไม่แพ้ตัวภารกิจครั้งสำคัญในคราวนี้ ก็คือชุดอวกาศที่ดูเท่ผิดหูผิดตาจากชุดนักบินอวกาศในยุคก่อน ราวกับหลุดออกมาจากหนังไซไฟของฮอลลีวูด แนวคิดตั้งต้นก็เกิดมาจาก Elon Musk เจ้าของ SpaceX ที่ได้ให้ Jose Fernandez เจ้าของผลงานออกแบบชุดหรือ Costume Designer ในหนังฟอร์มยักษ์มากมาย เคยออกแบบชุดในหนัง X-men 2 (2002), Thor (2011), Batman V Superman: Dawn of Justice (2016) รวมถึงภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศและนักแสดงต้องสวมชุดอวกาศอย่าง Oblivion (2013) และ Passengers (2016)

Jose Fernandez และ Hugh Jackman ผู้รับบท “วูลฟ์เวอรีน” ในหนังชุด X-Men
Jose Fernandez กับชุดแบทแมนของ Ben Affleck
Oblivion (2013) ที่ Tom Cruise นำแสดง เขาจะเป็นนักแสดงคนแรกที่ถ่ายหนังบนอวกาศ เดินทางด้วยยานของ SpaceX
Passengers (2016)
Passengers (2016)

เรื่องตลกคือตอนที่ Elon Musk ติดต่อไป ด้วยความที่ไม่ได้เป็นคนในแวดวงวิทยาศาสตร์ Fernandez จึงไม่รู้จัก บริษัท SpaceX ว่าเป็นบริษัทที่ทำจรวดส่งขึ้นไปยังอวกาศ แต่นึกว่า SpaceX เป็นชื่อหนังเรื่องใหม่ที่มาจ้างเขาออกแบบชุดจึงได้ตอบตกลงรับงาน ตอนแรกนั้น Musk จ้างให้ Jose ออกแบบแค่ส่วนหมวก ซึ่งใช้เวลาแค่ 2 สัปดาห์ แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าหมวกที่เขาออกแบบ กลับสวยโดดกว่าชุดที่นักออกแบบคนอื่น ๆ ออกแบบส่วนอื่นของชุดมาก นั่นทำให้ Musk ตัดสินใจรออีก 6 เดือนเพื่อให้ Jose ออกแบบทั้งชุดไปเลย

“Musk อยากให้นักบินอวกาศใส่ชุดแล้วดูดีเหมือนกับการใส่ชุดทักซิโดครับ ซึ่งมันจะพอเหมาะพอดีกับสัดส่วนร่างกายของมนุษย์ ไม่ได้บวมเป่งเหมือนกับชุดนักบินอวกาศอย่างที่เราเคยเห็นกัน Musk มักพูดว่าใคร ๆ ก็ดูดีในชุดทักซิโด้ ไม่ว่าพวกเขาจะตัวใหญ่แค่ไหนหรือมีรูปร่างยังไง ชุดนักบินอวกาศ” Jose Fernandez  ให้สัมภาษณ์ไว้

Douglas Hurley และ Robert Behnken (ภาพจาก The Sun)

Fernandez เป็นชาวเม็กซิกันที่เริ่มต้นอาชีพคนทำหนังในปี 1984 ในฐานะคนสร้างโมเดลสัตว์ประหลาดให้กับหนังเรื่อง Gremlins (1984) ก่อนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในหนังดังอย่าง Alien 3 (1992), Men in Black (1997) และ Godzilla (1998) ในหน้าที่นักออกแบบ

จากจุดนั้นต่อมา เขาได้เริ่มออกแบบชุดให้กับตัวละครในหนัง X-Men (2000) เป็นเรื่องแรก และมีผลงานออกแบบชุดซูเปอร์ฮีโรออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบหมวกและชุดในหนังเรื่อง Iron Man 2 (2010), Captain America: Civil War (2016) และ Black Panther (2017) นอกจากนั้นสไตล์อันแปลกและแหวกแนวยังไปเตะตา Daft Punk คู่หูนักดนตรีที่ไปดึงตัว Jose ให้มาออกแบบหมวกที่พวกเขาสวมตอนขึ้นเวที Grammy Awards ในปี 2014 อีกด้วย

งานออกแบบชุดแนวอวกาศของ Jose Fernandez  เทียบกับชุดที่ใช้จริง ๆ

ธงชาติสหรัฐฯ ที่แกะออกได้ก็ต่อเมื่อเป็นนักบินจากผืนแผ่นดินสหรัฐฯ

ถ้าลองสังเกตในจังหวะที่ Douglas Hurley และ Robert Behnken เข้าสู่สถานี ISS และมีนักบินอวกาศคนอื่น ๆ ที่นั่นรอรับอยู่นั้น เราจะเห็นธงชาติของสหรัฐอเมริกาแปะอยู่ที่ประตูทางเข้าสถานี โดยธงนี้มีประวัติความเป็นมาอยู่ว่า ถูกนำขึ้นมาโดยภารกิจของกระสวยอวกาศเที่ยวแรก STS-1 และภารกิจของกระสวยอวกาศเที่ยวสุดท้าย STS-135 โดยมีการวางธรรมเนียมของเหล่านักบินอวกาศว่า คนที่จะเอาธงนี้ออกจากผนังสถานีอวกาศนี้ได้ จะต้องผู้เดินทางขึ้นมาจาก Kennedy Space Center ที่ตั้งอยู่บนรัฐฟลอริดา ผืนแผ่นดินของอเมริกาเท่านั้น แปลว่านักบินอวกาศอเมริกันที่เดินทางมากับยานโซยุสของรัสเซียตลอด 9 ปีที่ผ่านมาก็ไม่มีสิทธิ์จะดึงออกได้

นักบินอวกาศลูกเรือของภารกิจ STS-135 ซึ่งมี Douglas Hurley อยู่ด้วย

ซึ่งแน่นอนว่า ในการเดินทางคราวนี้ก็ถึงเวลาที่ธงจะถูกถึงเวลาจะถูกดึงออกแล้ว เพราะ Crew Dragon พานักบินอวกาศทั้ง Douglas Hurley และ Robert Behnken ขึ้นมาจาก Kennedy Space Center และเมื่อ 9 ปีก่อนนั้น หนึ่งในนักบินอวกาศที่ขึ้นมากับภารกิจ STS-135 ภารกิจของยานขนส่งอวกาศแอตแลนติส เมื่อเดือนกรกฎาคม 2011 ก็คือ Douglas Hurley คนนี้เอง ซึ่งเป็นภารกิจครั้งสุดท้ายในการปฏิบัติงานของโครงการยานขนส่งอวกาศ (Space Shuttle) ของสหรัฐฯ ที่มีต่อเนื่องยาวนานถึง 30 ปี

ความล้มเหลวที่นำมาซึ่งความสำเร็จของ SpaceX

ส่งท้ายกันที่ความสำเร็จของ SpaceX ที่กว่าจะถึงวันนี้พวกเขาก็ต้องล้มลุกคลุกคลาน ประสบความล้มเหลวมาแล้วหลายครั้ง อย่างในคลิปนี้ก็เป็นการประมวลภาพความล้มเหลวของการลงจอดในขากลับของยานอวกาศ SpaceX ต่าง ๆ ซึ่งในคลิปวิดีโอรวบรวมเอาไว้ตั้งแต่ปี 2014 ที่น่าสังเกตก็คือ SpaceX ใช้เพลงประกอบคลิปในเชิงสนุกสนานและออกแนวล้อเลียนตัวเอง สื่อให้เห็นว่า พวกเขามองความล้มเหลวนี้อย่างสร้างสรรค์และไม่ค่อยจะเครียดกับมันสักเท่าไร (ที่ถ้าเป็นพวกเรา เห็นยานมูลค่าหลายล้านเหรียญฯ ระเบิดก็คงเครียดไปสามวันเจ็ดวัน)

ส่วนในคลิปสุดท้ายล่าสุดในชื่อ Crew Dragon Animation นั้น ก็เป็นคลิปที่ทาง SpaceX ลงทุนทำแอนิเมชันจำลองภาพการเดินทางขากลับของเหล่านักบินอวกาศในภารกิจ Crew Dragon ครั้งนี้เอาไว้ (อย่างถือเคล็ดกลาย ๆ) ว่า การเดินทางกลับของพวกเขา จะลงจอดอย่างสวยงามและอยู่รอดปลอดภัยประมาณนี้ล่ะ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส