เคยเป็นมั้ย? ต่อให้ได้รับคำชมก็รู้สึกเหมือนถูกชมเป็นมารยาท รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เก่งขนาดนั้น ไม่ควรค่าแก่การได้รับคำชม รู้สึกว่าตัวเอง “ไม่ได้มีดีขนาดนั้น”

ความรู้สึกนี้ถ้าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและท่วมท้นอาจเข้าข่าย กลุ่มอาการ Impostor Syndrome ตามหลักจิตวิทยาอธิบายว่าผู้ที่มีกลุ่มอาการนี้จะเกิดความรู้สึกสงสัยในตัวเองอยู่เสมอ และรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่คู่ควรกับความสำเร็จ ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานยืนยันความสามารถแบบเป็นที่ประจักษ์ชัดก็ตาม 

ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานที่แสดงให้ถึงความสามารถ แต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มอาการ Impostor Syndrome ก็จะคิดว่าอาจจะเป็นเพราะโชคช่วย หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความสามารถของตัวเอง

ทำไมบางคนถึงเป็น Impostor Syndrome? 

เพราะการเลี้ยงดู ถ้าเด็กมีการเกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบจากเด็ก ไม่ว่าจะเป็น ทำอะไรจะต้องได้ที่ 1 เสมอ จะต้องดีที่สุดเสมอ อาจจะทำให้เด็กพัฒนาโตมากลายเป็น Impostor Syndrom  

เพราะความคาดหวังทางสังคม โดยอาจจะเป็นเพราะสังคมรอบข้างกดดัน หรือเสพความสำเร็จของผู้อื่นในสื่อโซเชียลมีเดียบ่อย ๆ จนทำให้เกิดความรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นยังไม่ดีพอ หรือ “ไม่ดีเท่าคนอื่น”

มาทิ้งความรู้สึกในแง่ลบนี้ และหันมาโอบกอดตัวเองให้แน่น ๆ กันดีกว่า

ก่อนอื่นคุณต้องท้าทายความคิดเชิงลบ ให้คุณทำการจดบันทึกความสำเร็จของคุณ โดยที่ความสำเร็จนั้นจะเป็นความสำเร็จเล็ก ๆ ขนาดไหนก็ได้ เช่น วันนี้คุณเดินออกกำลังกาย 5 กิโลได้สำเร็จ วันนี้คุณทำงานเสร็จตรงตามกำหนดภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมง วันนี้คุณห้ามใจตัวเองไม่ให้กินของหวานได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนขอให้จดบันทึกลงไป 

แบ่งเป้าหมายใหญ่ให้กลายเป็นเป้าหมายย่อยทีละเล็กทีละน้อย เมื่อคุณทำเป้าหมายย่อยใดสำเร็จ ให้จดบันทึกลงไปและมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองเพิ่งทำเสร็จ

แชร์ความรู้สึกในพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ปลอดภัยของคุณจะเป็นใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิท ครอบครัว เพื่อนในโลกออนไลน์ที่คุณมั่นใจว่าเขาเป็นพื้นที่ปลอดภัยของคุณจริง ๆ เพื่อที่คุณจะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวมากจนเกินไปนัก และคนรอบข้างอาจจะช่วยดึงสติให้กับคุณได้อีกด้วย

พัฒนาแนวคิดแบบ Growth mindset ให้คุณมองว่าปัญหา ความยาก ที่อยู่ตรงหน้าเป็นความท้าทาย เหมือนกับการเล่นเกม ผ่านด่านนี้เพื่อไปสู่ด่านที่ยากกว่า แต่ในขณะที่พยายามผ่านด่านตัวคุณก็ได้เลเวลอัปขึ้นไปด้วย! หาทางแก้ไขไปตามลำดับอย่างมีสติ

หากไม่ได้รับการแก้ไข ผู้ที่มีภาวะ Impostor Syndrome ที่ยืดเยื้อต่อเนื่องและรุนแรง อาจส่งผลกระทบทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่ลงและก่อเกิด โรควิตกกังวล ซึมเศร้า หรือมีความเครียดเรื้อรัง โดยที่ตัว Impostor Syndrome เองไม่ได้จัดเป็นโรคทางจิตที่ชัดเจน แต่ผลกระทบของภาวะนี้อาจส่งผลทำให้ปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่น ๆ พัฒนาหรือมีความรุนแรงขึ้นได้

การชื่นชมตัวเอง การให้กำลังใจตัวเองไม่ได้เป็นเรื่องของคนบ้ายอ แต่เป็นการรู้จักมอบความรัก และการมองเห็นสิ่งดี ๆ ในตัวเอง 

เติมตัวเองให้เต็มจนล้นก่อนที่จะไปเรียนรู้จักการรักคนอื่น ดังนั้น ในวันนี้ถ้าคุณยังมีความรู้สึกเหล่านี้อยู่ อาจจะแก้ไขไม่ได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่ก็ขอให้คุณโอบกอดตัวเองทีละนิด จดบันทึกความสำเร็จเล็ก ๆ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในภายภาคหน้า มีความสุขในสิ่งที่คุณตั้งเป้าหมายเอาไว้ไปพร้อม ๆ กับการมีสุขภาพจิตที่ดี

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ

ที่มา: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK585058/ 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส