มนุษยชาติอยู่กับการเรียนรู้สร้างสรรค์วิทยาการใหม่ ๆ ตลอดเวลา มาจนถึงปี 2021 นี้เราส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวอังคารกันแล้ว ในอนาคตเราจะมีทัวร์พาคนไปเที่ยวนอกอวกาศ อนาคตอันใกล้เราจะเดินทางกันด้วยความเร็วสูง และรถที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงก็กำลังจะหมดไป ใครจะไปคาดคิดว่าวันหนึ่งมนุษย์โลกส่วนใหญ่จะมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดตัวกันทุกคน เป็นอิสระจากสายระโยงระยาง สามารถพูดคุยกันแบบเห็นหน้าค่าตา แต่การค้นคว้าทุกอย่างเพื่อความสะดวกสบายนั้น กลับไม่ต้องแข่งกับเวลา เหมือนกับการค้นคว้าวัคซีนรักษาโรคร้ายอย่าง โควิด-19 ที่ออกมาแนะนำตัวสู่โลกเมื่อปลายปี 2019 นับตั้งแต่นาทีนั้นนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ทั่วทุกมุมโลกจำต้องทำการค้นคว้าแข่งกับเวลา เพราะทุกนาทีที่ผ่านไปคือชีวิตมนุษย์จำนวนนับล้านที่ต้องสังเวยให้กับโควิด-19 นี้ ยังรวมไปถึงเศรษฐกิจทั่วโลกที่ย่อยยับในระดับที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้

วันนี้เราอยู่ร่วมกับโควิด-19 มากว่า 1 ปีแล้ว เรามีวัคซีนที่สามารถป้องกันไวรัสได้จากหลากหลายผู้ผลิตทั่วโลก แม้ว่ายังไม่มีวัคซีนที่รักษาได้ แต่ก็นับเป็นเกราะป้องกันที่มีประสิทธิภาพและเทียบได้ว่าเป็นการเดินหน้าไปในทิศทางที่ดี เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ของมนุษย์โลก ตลอดเวลาที่เราต้องเผชิญมหันตภัยนี้ร่วมกันทั่วทั้งโลก เราต้องเรียนรู้การดำเนินชีวิตท่ามกลางการแพร่ระบาดนี้ที่เรียกว่า New Normal แต่ถึงวันนี้ก็ยังมีปริศนาอีกมากที่เรายังหาคำตอบไม่ได้ และนี่คือบทสรุปหลาย ๆ เรื่องที่เราได้ ‘รู้’ และยังคง ‘ไม่รู้’ เกี่ยวกับโควิด-19 หลังจากอยู่ร่วมกับมันมาแล้วกว่า 1 ปี

สิ่งที่เราได้เรียนรู้

1.ระบบระบายอากาศภายในอาคารสำคัญยิ่งนัก

จากกรณีติดเชื้อในระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา สามารถยืนยันได้ว่าโควิด-19 สามารถแพร่เชื้อผ่านทางอากาศได้ดี โดยเฉพาะในพื้นที่ปิด ฉะนั้นเราจึงควรหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสจากการอยู่ร่วมกันในพื้นที่ภายในอาคารให้มากที่สุด วิธีการหลีกเลี่ยงก็อย่างเช่น ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส สวมใส่หน้ากากอนามัย และการล้างมือให้บ่อยก็ช่วยได้มาก และเจ้าของอาคารก็ควรใส่ใจในเรื่องระบบระบายอากาศ นำอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกเข้ามาหมุนเวียนภายในอาคาร

2.การสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำได้ผลดีเสมอ

กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยคือ รัฐบาลอังกฤษ ที่ไม่ได้กำชับอย่างเข้มงวดให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัย ผลก็คือการแพร่ระบาดในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศอื่นต่างก็ให้ความสำคัญกับการสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างมาก จะแพร่ระบาดมากน้อยอย่างไรก็ขอให้ประชาชนสวมใส่ไว้ก่อน เป็นการป้องกันที่ง่ายที่สุด แม้ว่าจะปิดแค่จมูกกับปากแต่ก็ได้ผลดีกว่า เฟซชิลด์ (Face Shield)

3.การล้างมือบ่อย ๆ ก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญ

ในมาตรการรับมือกับการแพร่ระบาดนั้น นอกเหนือจากการล็อกดาวน์ และการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลแล้ว อีกมาตรการที่ควรย้ำเตือนกันอย่างสม่ำเสมอก็คือ ‘การล้างมือ’ บ่อย ๆ เพราะมีหลักฐานยืนยันแน่ชัดแล้วว่า บุคคลที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ส่วนใหญ่จะมีเชื้ออยู่บนมือของพวกเขา แล้วเขาก็สามารถส่งต่อเชื้อได้บนพื้นผิวสัมผัสในที่สาธารณะทั่วไป แล้วก็เป็นวิสัยปกติของมนุษย์ทั่วไปเสียด้วย ที่ชอบพลั้งเผลอเอามือมาจับใบหน้าของตัวเองโดยไม่รู้ตัว ก็เท่ากับการเป็นการผ่านเชื้อเข้าสู่ร่างกายตัวเง

4.ผู้ติดเชื้อแต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันไป

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุและเพศของผู้ติดเชื้อด้วย ซึ่งวันนี้มีสถิติยืนยันแล้วว่าไวรัสจะมีผลรุนแรงต่อเพศชายมากกว่าเพศหญิง และผู้คนบางเชื้อชาติก็จะมีโอกาสติดเชื้อง่าย อันนี้อาจจะเป็นผลมาจากกลุ่มคนบางประเทศจะมีภูมิคุ้มกันพิเศษที่ฝังอยู่ภายในร่างกายอยู่ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ไวรัสแพร่ระบาดเสียอกี

5.โควิด-19 ทำลายอวัยวะภายใน

อย่างที่เราทราบกันแล้วว่า โควิด-19 เป็นไวรัสที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก แล้วมันก็ไม่ได้จำกัดบริเวณอยู่แค่ส่วนปอดด้วย ล่าสุดนี้นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบเพิ่มเติมว่า โควิด-19 ยังสามารถติดไปกับเซลล์ที่หมุนเวียนไปตามกระแสเลือดภายในร่างกายได้อีกด้วย ซึ่งมันจะส่งผลต่ออวัยวะภายในที่สำคัญเช่น หัวใจ, สมอง, ตับ, ไต, ตับอ่อน และม้าม ผลกระทบนี้ยังสามารถพบได้แม้กระทั่งในผู้ติดเชื้อที่เป็นเด็ก ซึ่งที่ผ่านมาจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ และขณะนี้ทีมแพทย์ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าภาวะทรุดโทรมในแต่ละรายนั้นจะสิ้นสุดภายในระยะเวลาเท่าใด และเมื่อใดที่ผู้ป่วยจะฟื้นสภาพกลับมาเป็นปกติ

6.ไวรัสสามารถแพร่ระบาดในระดับทวีคูณ

ในระยะแรกที่มีการแพร่ระบาดนั้น ผู้คนยังไม่รับรู้ถึงความน่ากลัวของโควิด-19 มีผลการศึกษาจากหลาย ๆ พื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในระดับทวีคูณนั้นก็มีผลมาจากทัศนคติของผู้คนในพื้นที่นั้น ๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตโดยไม่ปรับตัวและไม่ระแวดระวังต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พวกเขาไม่สนใจต่อมาตรการรักษาระยะห่างในสังคม และไม่ล้างมือและไม่สวมหน้ากากอนามัย

7.วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 นั้นปลอดภัยและได้ผลดี

ภายใต้สถานการณ์ที่ตึงเครียดตลอด 1 ปีที่ผ่านมานับเป็นความกดดันต่อเหล่านักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ที่ต้องทำการค้นคว้าคิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ได้อย่างเร็วที่สุด ภายใต้ความคาดหวังของคนทั้งโลก แล้วในที่สุดเราก็มีวัคซีนที่ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านการทดสอบมาแล้วอย่างเข้มงวด สำนักข่าว BBC ให้การยืนยันอีกเสียงหนึ่งว่านักข่าวของทาง BBC เองได้เสนอตัวเป็นอาสาสมัครทดลองฉีดวัคซีนของ Oxford-Astrazeneca แล้ว ก็ปลอดภัยดี

8.วัคซีนโดสเดียวก็สามารถป้องกันไวรัสได้แล้วในระดับปานกลาง

อย่างที่เราทราบกันดีว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้น ต้องฉีดคนละ 2 โดส แต่ละโดสฉีดห่างกัน 2 – 4 สัปดาห์ และวัคซีนแต่ละยี่ห้อ ก็จะมีคำเตือน ข้อควรปฏิบัติและระมัดระวังสำหรับผู้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน ประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสนั้นก็ขึ้นอยู่กับวัคซีนแต่ละตัว แต่แพทย์ก็แนะนำอย่างยิ่งให้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วทั้ง 2 โดสก็ตาม ว่ายังควรที่จะรักษาระยะห่างในสังคมไว้เช่นเคย สวมใส่หน้ากากอนามัยและปฏิบัติตามข้อระเบียบป้องกันให้เหมือนกับแต่ก่อนที่คุณได้รับวัคซีนจะเป็นการดีที่สุด

9.ภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นได้ด้วยการฉีดวัคซีนเท่านั้น

‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ คือประสิทธิภาพในการต่อต้านการติดเชื้อโรคที่เกิดขึ้นในกลุ่มประชากร เป็นผลมาจากการสร้างภูมิคุ้มกันในแต่ละบุคคล แต่การจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก็เป็นไปได้ยากในช่วงที่ไวรัสแพร่ระบาดเช่นนี้ นักวิทยาศาสตร์ให้ความเห็นว่าการจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ก็อาจจะไปถึงขั้นที่มีผู้เสียชีวิตในระดับที่สูงมากแล้ว ซึ่งการจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ก็ต้องอาศัยการฉีดวัคซีนป้องกันเท่านั้น แต่ก็จะลดระดับการสูญเสียชีวิตได้อย่างชัดเจนและยังจะสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับที่ดีเยี่ยมต่อการติดเชื้อต่าง ๆ ได้อีกด้วย

10.วัคซีนไม่ได้ป้องกันการส่งต่อเชื้อ

อย่าเข้าใจผิดว่าการมาถึงของวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสได้ แต่จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ที่ได้รับเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ร่างกายแล้วไม่ให้ล้มป่วยหรือแสดงอาการออกมา ส่วนในเรื่องของการป้องกันการส่งต่อเชื้อนั้นยังอยู่ในขั้นที่กำลังศึกษา แต่ที่สามารถตอบได้ขณะนี้คือวัคซีนของ Pfizer-BioNTech vaccine และ the Oxford-Astrazeneca ก็ช่วยลดระดับการส่งต่อเชื้อได้ในระดับหนึ่งแล้ว ก็มีการคาดหวังว่าวัคซีนจากผู้ผลิตอื่น ๆ จะสามารถระงับการส่งต่อเชื้อได้อย่างชะงัด

บทเรียนในอดีตบอกอะไรเราได้บ้าง

1.ยิ่งควบคุมผู้ติดเชื้อได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งส่งผลดี

อ้างอิงจากกรณีไวรัสซาร์สแพร่ระบาดเมื่อปี 2003 ในแคนาดา และไต้หวัน และนำมาเป็นบทเรียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 ในวันนี้ ก็ในเรื่องของการติดตามไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อว่าได้ติดต่อใครบ้างเป็นรายบุคคล และรักษาผู้ติดเชื้อในพื้นที่กักกันพิเศษ

2.มาตรการรักษาระยะห่างในสังคมมีมากว่า 400 ปีแล้ว

ซาร์ดิเนีย

ในช่วงศตวรรษที่ 16 ในแคว้นปกครองตนเองซาร์ดิเนีย ได้เกิดกาฬโรคระบาด แพทย์ได้เผยแพร่ระเบียบการปฏิบัติเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดไว้ สามารถนำมาเป็นระเบียบปฏิบัติกับโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ในระเบียบที่แพทย์เขียนไว้ยังกำหนดข้อบังคับให้ทุกครอบครัวกักตัวเอง อนุญาตให้สมาชิกครอบครัวละ 1 คนเท่านั้นที่สามารถออกจากบ้านไปจับจ่ายข้าวของได้

3.การจะฉีดวัคซีนได้นั้นต้องขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นในชุมชน

การฉีดไวรัสป้องกันไข้หวัดหมูในอเมริกาปี 1976

ปี 1976 เกิดไข้หวัดหมูแพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลได้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชน หลังจากนั้น 6 สัปดาห์ ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนก็เกิดอาการแขนขาอ่อนแรงและเส้นประสาทอักเสบ เป็นไปได้ว่าอาจมีเชื้อปนเปื้อนจากขั้นตอนการผลิตวัคซีน โดยวัคซีนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันวิกฤติที่ทำลายเส้นประสาทตัวเอง กลายเป็นการสร้างความหวาดระแวงต่อประชาชนในวงกว้าง และเกิดวิกฤตศรัทธาต่อแบบแผนการรักษาของรัฐบาลสหรัฐฯ

สิ่งที่เรายังไม่รู้จาก โควิด-19

แวดวงทางวิทยาศาสตร์ก็ยังคงทำงานหนักในทุกวันนี้เพื่อศึกษาเกี่ยวกับโควิด-19 ให้มากขึ้น และนี่คือปริศนาบางเรื่องที่เราหวังว่าเหล่านักวิทยาศาสตร์จะสามารถให้คำตอบได้ในอนาคตอันใกล้นี้

1.ผลกระทบจากการติดเชื้อ โควิด-19 ในระยะเวลายาวนาน

ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง? มันจะส่งผลกระทบต่อระบบพันธุศาสตร์หรือไม่ มันจะสามารถฝังตัวแล้วส่งต่อผ่านรุ่นสู่รุ่น กลายเป็นพันธุกรรมได้หรือไม่?

2.ไวรัสจะกลายพันธุ์ไปอีกได้หรือไม่?

ทุกครั้งที่โควิด-19 ติดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในระดับเล็กน้อยต่อรหัสพันธุกรรมของตัวมัน แต่ถึงตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มสังเกตแนวทางการกลายพันธุ์ของมันได้บ้างแล้ว

3.อนาคตเราจะเจอไวรัสตัวใหม่ ๆ แพร่ระบาดอีกหรือไม่

ในอนาคตเราจะเจอไวรัสตัวไหนอออกมาแพร่ระบาดในระดับโลกแบบนี้อีกหรือไม่? ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมงาน BBC Future ก็ได้เผยแพร่ว่าได้พบเชื้อโรคอีก 6 ตัว ที่มีแนวโน้มว่าอาจจะเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดในระดับโลกตัวต่อไปได้ แต่ก็อยู่ในขั้นตอนการศึกษาอย่างหนักที่จะระงับมันตั้งแต่เนิ่น ๆ

4.ไวรัสแพร่ระบาดส่งผลต่อสภาพแวดล้อมโลกหรือไม่?

ในช่วงที่ทั่วทั้งโลกอยู่ในสภาวะล็อกดาวน์นั้น ระดับการปล่อยมลภาวะสู่สภาวะอากาศ และการปล่อยแก๊สเรือนกระจกทั่วโลกลดระดับลงอย่างเห็นได้ชัด แต่พอปลายปีที่หลาย ๆ ประเทศเริ่มผ่อนคลายก็เริ่มกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง ถ้าระบุตัวเลขชัดเจนนั้น การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงถึง 6% ตลอดทั้งปี 2020 นักสภาพแวดล้อมได้ให้ความเห็นว่า ท่ามกลางภาวะไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดก็นับเป็นตัวอย่างที่ดีในการศึกษาแนวทางเพื่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change)

อ้างอิง