จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว 5 โพรเจกต์ภาพยนตร์ที่จะเข้าฉายในปีนี้และปีหน้าไม่เมื่อวันก่อน สำหรับค่ายหนังอารมณ์ดีและขึ้นชื่อว่า สร้างหนังทำเงินมาครองสถิติบนตารางหนังทำเงินประเทศไทย รวมถึงสร้างนักแสดงและผู้กำกับมากความสามารถมาประดับวงการหนังไทยอยู่ตลอด สำหรับ GDH ที่สืบสานและต่อยอดมาจาก GTH ในอดีตอีกที

วันนี้ What The Fact จะขอชวนย้อนมองเทียบกัน 6 ขวบปีแรกของ GDH และ GTH ที่เชื่อว่าเป็นขวบปีแห่งการ”ตั้งไข่” ที่แม้จะมีทั้งหนังที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวทางรายได้ แต่ก็เชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่มีเสน่ห์ที่จะได้เรียนรู้และเติบโตของค่ายหนัง รวมถึงหนังบางเรื่องก็งดงามเกินกว่าจะถูกวัดค่าความสำเร็จแค่เพียงรายได้อย่างเดียว

5 หนังใหม่ของปีนี้และปีหน้า..บอกอะไร?

ภายในงาน GDH Xtra Ordinary 2021 Line Up ก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 ได้ทำการเปิดตัวหนังของค่ายในปีนี้และปีหน้ามากถึง 5 เรื่องซึ่งเป็นจำนวนเรื่องต่อปีมากที่สุดของค่าย GDH เท่าที่เคยมีมา เพราะโดยเฉลี่ยแล้วแต่ละปีจะมีหนังค่ายนี้เข้าฉายปีละ 2 เรื่อง มากสุดคือปี 2561 ที่มีถึง 4 เรื่อง แต่ “BNK48: Girl Don’t Cry” (2561) นั้นเป็นผู้จัดจำหน่ายแต่ไม่ได้เป็นผลงานสร้างเอง

ภาพยนตร์ที่จะฉายเรื่องแรกสุด 3 ธันวาคมนี้ คือ “อ้าย..คนหล่อลวง” ซึ่งเป็นการร่วมงานกันครั้งแรกของ GDH กับพระเอกอันดับหนึ่งแห่งยุคปัจจุบัน ณเดชน์ คูกิมิยะ หลังจากญาญ่า-อุรัสยา นางเอกอันดับหนึ่งเคยนำร่องประสบความสำเร็จกับค่ายนี้ตั้งแต่ตอน “น้อง.พี่.ที่รัก” (2561) ไปแล้ว รวมถึงค่ายนี้เองก็เป็นค่ายที่ประสบความสำเร็จกับการนำนักแสดงจากโทรทัศน์มาอยู่ในหนังเสมอ ตั้งแต่ยุค “รถไฟฟ้า มาหานะเธอ” (2552) ที่นำแสดงโดยเคน-ธีรเดช หรือ “ลัดดาแลนด์” (2554) ที่นำแสดงโดยก้อง-สหรัถ ส่วนกับ ณเดชน์นั้น นับเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องที่ 3 หลังจากไม่ประสบความสำเร็จแต่แสดงไว้ได้สมฝีมือใน “คู่กรรม” (2556) และประสบความสำเร็จทางรายได้ไปกับ “นาคี 2” (2561) ครั้งนี้จึงเป็นความหวังจะได้อยู่ในหนังร้อยล้านอีกครั้งเมื่อได้มาร่วมงานกับ GDH

นักแสดงสมทบคนอื่น ๆ ในเรื่องก็เป็นขาประจำของ GDH ทั้งนางเอกใบเฟิร์น-พิมพ์ชนก ที่เป็นนางเอกขาประจำของหนังไทยด้วย (นับตั้งแต่ “นายอโศกกับ น.ส.เพลินจิต” (2546) ใบเฟิร์นเล่นหนังไทยไปแล้วทั้งหมด 15 เรื่อง! และแจ้งเกิด กับ “สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่า…รัก” (2553)), แบงค์-ธิติ ที่ปีที่แล้วได้รับคำชมจากการแสดงในซีรีส์ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน (2562) ในบทตัวร้าย และแจ้งเกิดมาจาก “เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ” (2554) หนังเรื่องสุดท้ายของ GTH ประกบด้วยเผือก-พงศธร ตัวตบมุกขาประจำของ GDH ที่น่าสนใจอีกคนก็คือ อ้าย..คนหล่อลวงจะกลายเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของนางเอกรุ่นใหญ่ คัทลียา แมคอินทอช นับตั้งแต่เธอเข้าวงการมาในปี 2530 ด้วย เธอที่เพิ่งมีผลงานละครกับ GDH ใน One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ (2562) และเลือดข้นคนจาง (2561) ก็น่าจะทำได้ดีสมฝีมืออีกคนเช่นกัน

เรื่องที่ 2 ภาพยนตร์แนวทริลเลอร์ “โกสต์แล็บ…ฉีกกฎทดลองผี” ภาพยนตร์เต็มเรื่องแรกของพระเอกวัยรุ่นตัวท็อปของค่าย ไอซ์-พาริส อินทรโกมาลย์สุต ที่แจ้งเกิดจากซีรีส์ “เลือดข้นคนจาง” และ “ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์” ประกบ ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร ที่รับบทเป็นพี่น้องกันมาแล้วใน “เลือดข้นคนจาง” ซึ่งต่อเคยมีผลงานภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จทางรายได้ระดับกลาง ๆ มาแล้วอย่าง “ฝากไว้..ในกายเธอ” (2557) และ “เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ” (2558) ส่วนนางเอกของเรื่องได้ ณิชา-ณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์ นางเอกจากช่อง 3 คนล่าสุดมาร่วมงานกับ GDH ก่อนหน้านี้ผลงานละครที่โด่งดัง แจ้งเกิดจาก “ทองเนื้อเก้า” (2556) และ “สะใภ้จ้าว” (2558)

เรื่องที่ 3 ยังไม่มีการประกาศรายชื่อนักแสดงจึงขอข้ามไปเล่าในข้อต่อไปที่พูดถึงผู้กำกับ เรื่องที่ 4 “W” โพรเจกต์ภาพยนตร์ที่เป็นการร่วมทุนสร้างครั้งแรกระหว่าง GDH กับนาดาวบางกอก ที่ก่อนหน้านี้เคยร่วมสร้างกันเฉพาะซีรีส์เท่านั้น ความน่าสนใจก็คือการนำแสดงโดย 9 นักแสดงสาวขวัญใจวัยรุ่นตัวท็อปฝั่งฝ่ายหญิง (ที่แทบจะท้าชน BNK48 ได้เลย) อย่างฝน-ศนันธฉัตร แจ้งเกิดจาก “ATM เออรัก เออเร่อ” (2551) และไปมีผลงานสุดฮิตนอกค่ายอย่าง “ไบค์แมน ศักรินทร์ตูดหมึก” (2561) และ “ไบค์แมน 2” (2562), เบลล์-เขมิศรา จากซีรีส์ Hormones ทั้ง 3 ซีซัน (2556-2558) และ Project S The Series ตอน Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ (2560) , แพรวา-ณิชาภัทร จากซีรีส์ Hormones 2 ซีซันหลัง, ฟรัง-นรีกุล จาก “เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ” (2558) และ ซีรีส์ Hormones 2 ซีซันหลัง

ต้าเหนิง-กัญญาวีร์ จาก “เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ” (2558), ซีรีส์เลือดข้นคนจาง, Project S The Series ตอน Shoot I Love You ปิ้ว ยิงปิ้งเธอ และซีรีส์ Hormones 2 ซีซันหลัง, กุ๊กไก่-ภาวดี จาก Project S The Series ตอน Spike! และ Hormones ซีซัน 3 , แพต-ชญานิษฐ์ จากละคร “รักนี้หัวใจเราจอง”, Project S The Series ตอน SOS Skate ซึม ซ่าส์ รวมถึงผลงานออริจินัล คอนเทนต์เรื่องแรกของบน Netflix อย่าง “เคว้ง” ด้วย, แพรว-นฤภรกมล จาก “เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ“, Project S The Series ตอน SOS Skate ซึม ซ่าส์ และ Hormones ซีซัน 3และ นาน่า-ศวรรยา’ จาก ซีรีส์เลือดข้นคนจาง และ ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์ โดยมีผู้กำกับย้ง-ทรงยศ ผู้บริหารนาดาวบางกอกนั่งแท่นโปรดิวเซอร์

เรื่องที่ 5 เรื่องสุดท้าย “บุพเพสันนิวาส 2” กับการสานต่อของละครไทยที่ดังที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาอย่าง “บุพเพสันนิวาส” ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 มาทำเป็นภาคต่อในฉบับภาพยนตร์ (จากทีแรกที่เคยมีข่าวว่าจะทำเป็นฉบับละครฉายโทรทัศน์เหมือนเรื่องแรก) ผลงานการร่วมทุนสร้างระหว่าง GDH และ บรอดคาสต์ ไทย เทเลวิชั่น และยังคงได้ โป๊ป-ธนวรรธน์ และเบลล่า-ราณี กลับมารับบทเดิมในภพชาติใหม่ซึ่งจะเป็นเรื่องราวสมัยต้นยุครัตนโกสินทร์

https://www.youtube.com/watch?v=WO9uhb1_U-o

นับเป็นการสานต่อความสำเร็จของละครอย่างที่ “นาคี 2” เคยทำสำเร็จมาแล้วในปี 2561 แต่ครั้งนั้นช่อง 3 โดยผู้กำกับพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ลงทุนสร้างหนังเอง ต่างจากครั้งนี้ที่ช่อง 3 หันมาใช้บริการค่ายหนังมืออาชีพในการสร้าง (และน่าสังเกตว่า ละครฮิต ๆ มักจะถูกมาทำภาคต่อเป็นหนัง อย่างช่อง 7 ก็เอาภาคต่อขอละคร “ผู้บ่าวอินดี้ยาหยีอินเตอร์” นำแสดงโดยเวียร์-ศุกลวัฒน์ มาทำเป็นหนัง “เลิฟยูโคกอีเกิ้ง” เช่นกัน)

โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ เคยเล่นหนังไทยเรื่อง “October Sonata รักที่รอคอย” ตอนปี 2552 และแสดงเป็นตัวประกอบในหนัง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรภาค 3-5” (2554-2557) ก่อนจะมาโด่งดังกับผลงานละครอย่าง “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ” และโด่งดังขีดสุดกับ “บุพเพสันนิวาส” ในปีนี้กำลังจะมีผลงานภาพยนตร์ร่วมกับพระเอกของ GDH เต๋อ-ฉันทวิชช์ ในหนังที่ไม่ใช่ของ GDH อย่าง “เฮ้ย!ลูกเพ่ นี่ลูกพ่อ” ส่วนเบลล่า ราณี นั้นเคยแสดงภาพยนตร์ “มึงกู เพื่อนกันจนวันตาย” (2555) และในปีนี้ก็จะมี “อีเรียมซิ่ง” หนังพีเรียดสุดฮาเตรียมเข้าฉายช่วงธันวาคม หลังจากเลื่อนฉายเพราะโควิดมาจากเดือนเมษายน เชื่อว่า เมื่อ “บุพเพสันนิวาส 2” ก็จะกลายเป็นหนังร้อยล้านในเครดิตของทั้งคู่แน่นอน

การกลับมาของทีมผู้กำกับลูกหม้อ

ในปี 2563 ที่จะมีหนังของ GDH เข้าฉายเพียงเรื่องเดียว นั่นคือ “อ้าย..คนหล่อลวง” เรื่องนี้ยังคงได้ เมษ ธราธร ผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จมากับการสร้างหนังตลกให้กับ GTH ทั้ง “ATM เออรัก เออเร่อ” (2555) และ “ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้” (2557) 3 อันดับหนังทำงานสูงสุดของ GTH ซึ่งก็มั่นใจได้เลยว่ากับหนังตลกนั้นผู้กำกับคนนี้รับประกันความฮาอย่างเชื่อมือได้

เรื่องที่สอง “โกสต์แล็บ…ฉีกกฎทดลองผี” ถือเป็นโชคดีของคนไทยที่ผู้กำกับกอล์ฟ-ปวีณ ภูริจิตปัญญา ผู้กำกับสายหนังทริลเลอร์อุดมไปด้วยเอฟเฟกต์จาก “บอดี้ ศพ #19” (2550) ได้หวนกลับมาจับงานในสไตล์เดิมอีกครั้ง ซึ่งจะว่ากันจริง ๆ นับตั้งแต่ผลงานเรื่องนั้นเมื่อ 13 ปีก่อน วงการหนังไทยมีหนังทริลเลอร์จิตวิทยาออกมาไม่ถึง 3 เรื่อง ผลงานของผู้กำกับคนนี้เรื่องอื่น ๆ ยังได้แก่ “สี่แพร่ง” ตอน ยันต์สั่งตาย (2551), “ห้าแพร่ง” ตอน หลาวชะโอน (2552) และ “รัก 7 ปี ดี 7 หน” ตอน 14 (2555) หนังฉลองครบรอบ 10 ปีของ GDH ซึ่งไม่ใช่หนังทริลเลอร์เรื่องแรกของผู้กำกับที่ก็ทำหนังออกมาได้สนุกและแทบจะเป็นบทบันทึกของการใช้โซเชียลมีเดียในยุคนั้น (ที่มาถึงตอนนี้ก็เชยไปแล้ว)

เป็นผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย สำหรับ โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ที่กำกับมาแล้วทั้งหนักโรแมนติกคอมเมดี้ (“กวนมึนโฮ” (2554), “แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว” (2559) หนังเรื่องแรกของ GDH), หนังตลกสยองขวัญทำรายได้ 1,000 ล้านบาท “พี่มาก..พระโขนง” (2556) หนังที่ทำรายได้ที่สุดของประเทศจนถึงตอนนี้) แต่โต้งนั้นแจ้งเกิดมาจากหนังผีล้วน ๆ (“ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” (2547) หนังเรื่องแรกอย่างเป็นทางการของ GTH, “แฝด” (2550), “สี่แพร่ง” ตอน คนกลาง (2551) และ “ห้าแพร่ง” ตอน คนกอง” (2552) นี่จึงเป็นการกลับคืนสู่การกำกับหนังในแนวทางที่ถนัด

เรื่องที่ 3 ของ GDH ในงานนี้ใช้ชื่อว่า “ร่างทรง” กับการร่วมมือกับ บริษัท Showbox จากประเทศเกาหลีใต้ โดยได้ นา ฮงจิน ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ชื่อดังระดับโลก มาร่วมเป็นโปรดิวเซอร์ในเรื่องนี้ด้วย เขาโด่งดังจาก The Wailing (2016) หรือชื่อไทยว่า “ฆาตกรรมอำปิศาจ” รวมถึงเคยมีผลงานอย่าง The Yellow Sea (2010) และ The Chaser (2008) ด้วย โดยหนังร่างทรงนี้จะเข้าฉายทั้งในไทย และบริษัท Showbox จะรับหน้าที่จัดจำหน่ายทั้งในเกาหลีและทั่วโลก ผู้กำกับโต้งนั้นเคยกำกับผลงานต่างประเทศ The ABCs of Death ในปี 2555 ที่เป็นหนังรวมหนังสั้นสยองขวัญทั้งหมด 26 เรื่อง ตั้งชื่อเรื่องตามตัวตัวพยัญชนะของภาษาอังกฤษ 26 ตัว

มาถึงผู้กำกับปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร แม้จะยังไม่เคยมีผลงานเป็นหนังใหญ่แบบเต็มเรื่องกับ GDH แต่ก็เคยมีผลงานกำกับ “พรจากฟ้า” ตอน ยามเย็น (2559) และหนัง “เพื่อนไม่เก่า” (2554) กับสหมงคลฟิล์มมาก่อน ส่วนผลงานกำกับซีรีส์นั้น ก็รับผิดชอบมาแล้วทั้งกำกับและเขียนบท “Hormones” ซีซัน 1–3 (เขียนบทในซีซัน 1 และทั้งกำกับและเขียนบทในซีซัน 2-3) ซึ่งจากการคลุกคลีเคยทำงานกับนักแสดงนาดาวบางกอกมาเป็นอย่างดี แฟน ๆ หนังคงจะได้เห็นผลงานวัยรุ่นกับประเด็นแรง ๆ ในหนัง “W” เรื่องนี้

ปิ๊ง-อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้กำกับ “แฟนฉัน” (2546) หนังก่อร่างสร้างตัวของค่าย GTH แต่ก็ถือเป็นผู้กำกับในกลุ่มนี้ที่มีหนังฮิตเป็นคนท้าย ๆ เพราะหนังเรื่องแรก “หมากเตะโลกตะลึง” (2549) ดันไปเจอปัญหาดราม่ากับประเทศเพื่อนบ้านจนทำให้ต้องมีการรื้อถ่ายทำและซ่อมเอฟเฟกต์ใหม่ทั้งเรื่องจนหนังช้ำและไม่ได้รับการตอบรับตอนหนังเข้าฉาย แต่เขาก็กลับมาอย่างยิ่งใหญ่กับ “รถไฟฟ้า มาหานะเธอ” (2552) ซึ่งกลายเป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุดของ GTH ใน 6 ปีแรกด้วย

ผลงานเรื่องอื่น ๆ ของเขายังมี “รัก 7 ปีดี 7 หน” ตอน 21/28 ซึ่งเป็นตอนดราม่ากระชากใจที่สุดใน 3 เรื่องในหนังเรื่องนั้น นำแสดงโดยซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ และคริส หอวัง แล้วก็ยังมีผลงานกำกับละคร “น้ำตากามเทพ” ที่เคยเป็นละครตลกในฉากสั้น ๆ ของ “รถไฟฟ้า มาหานะเธอ” ที่ถูกนำเอามาขยายเป็นละครเต็มเรื่อง ซึ่งจากผลงานทั้งหมดก็รับประกันได้ว่า “บุพเพสันนิวาส 2” จะเป็นหนังโรแมนติกคอมเมดี้ที่น่าจะตลกมากและซึ้งมาก

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

เทียบ 6 ปีแรกของ GTH: บันไดสู่การเป็นค่ายหนังอันดับ 1

เมื่อมองย้อนกลับไปเทียบกับ 6 ปีแรกของ GTH นับตั้งแต่หนัง “แฟนฉัน” (2546) จนถึง “รถไฟฟ้า มาหานะเธอ” (2552) นั้น GTH มีหนังถึง 27 เรื่อง แต่ก็มีหนังที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านแค่ 3 เรื่อง คือ “รถไฟฟ้า มาหานะเธอ” (147 ล้านบาท), “ห้าแพร่ง” (2552) (113.5 ล้านบาท) และ “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” (2547) ทำรายได้ไป 109.98 ล้านบาท

และมีหนังที่ทำรายได้ระดับเกิน 70 ล้านบาทอยู่หลายเรื่อง ทั้งหนังตลกแจ๋ว” (2547-72 ล้านบาท), “โกยเถอะโยม” (2549-70 ล้านบาท), “สายลับจับบ้านเล็ก” (2550-70 ล้านบาท), หนังรักเพื่อนสนิท” (2548-81.3 ล้านบาท), หนังวัยรุ่นSeasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย” (2549-71.8 ล้านบาท), “ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น” (2551-86.3 ล้านบาท) ซึ่งเป็นต้นทางของซีรีส์ Hormones ของ GTH ในยุคหลัง, หนังผี สี่แพร่ง” (2551-85 ล้านบาท)

จากข้อมูลจะเห็นว่า หนัง GTH ใน 6 ปีแรกนั้น แม้จะมีจำนวนหนังมากกว่า GDH (11 เรื่อง) แต่ก็มีหนังที่เข้าเป้าทำรายได้ในระดับ 70 ล้านขึ้นมากกว่า ขณะเดียวกันก็มีหนังที่ขาดทุนหนัก ๆ ซึ่งในยุค GDH ไม่ค่อยเห็นแล้ว (นอกจากจะเป็นหนังอินดี้นอกกระแสจริง ๆ) เช่น “มหา’ลัย เหมืองแร่” (2548-26 ล้านบาท และเป็นหนังยาวเรื่องล่าสุดจนถึงตอนนี้ของจิระ มะลิกุล ซึ่งกลายเป็นผู้บริหารของ GDH แล้ว)

หมวดหนังที่ใช้เงินลงทุนไปกับเอฟเฟกต์และความแปลกใหม่แต่ล้มเหลวทางรายได้ ก็มี “บอดี้ ศพ*19” (2550-30 ล้านบาท) หนังทริลเลอร์จิตวิทยาที่หาดูยากในหนังไทย, “หมากเตะรีเทิร์นส์” (2549-10 ล้านบาท ที่มีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านจนต้องใช้ CG ลบฉากและพากย์เสียงทับใหม่ตรงที่เป็นชื่อประเทศทั้งเรื่อง) หรือ “กอด” (2551-10 ล้านบาท ที่หนังลงทุนไปเยอะกับการเติม CG แขนข้างที่ 3 ให้กับพระเอกรับบทโดยตุ้ย AF3)

ความสำเร็จอีกอย่างหนึ่งของ GTH ในช่วง 6 ปีแรกคือการสร้างบุคลากรทั้งฝั่งนักแสดงและฝั่งผู้กำกับที่กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนดูว่าหน้าตาและลายเซ็นแบบนี้ต้องพ่ะยี่ห้อ GTH แน่นอน นักแสดงก็ไล่ตั้งแต่ ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ ที่แจ้งเกิดจาก “เพื่อนสนิท” ที่โด่งดังและเล่นหนังมาถึงยุค GDH (ประสบความสำเร็จสูงสุดกับ “ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้” (2557) และ “น้อง.พี่.ที่รัก” (2561) และเล่นหนัง GTH/GDH ไปทั้งหมด 9 เรื่อง), โอปอล์-ปณิสรา แจ้งเกิดจาก “เพื่อนสนิท” เช่นกันและกลายเป็นตัวขโมยซีนขาประจำของ GTH/GDH เล่นหนังกับ GTH/GDH ไปแล้ว 10 เรื่อง ซีรีส ์8 เรื่อง) และนักแสดงอีกหลายคนเช่น เต๋อ-ฉันทวิชช์ (รวมที่เป็นตัวประกอบ 14 เรื่อง), เป้-อารักษ์ (รวมรับเชิญ 4 เรื่อง) และก้อย-รัชวิน (รวมรับเชิญ 5 เรื่อง) เป็นต้น

ส่วนความแปลกใหม่นั้น GTH ก็เป็นค่ายหนังที่ทำหนังผีแบ่งเป็นตอน ๆ เหมือนหนังสั้นตามยุคสมัยนั้นออกมาได้ประสบความสำเร็จอย่าง “สี่แพร่ง” และ “ห้าแพร่ง” เอาหนังสุดฮิตของวัยรุ่นในอดีต “วัยอลวน 4 : ตั้ม-โอ๋ รีเทิร์น” (2548) กลับมาให้หายคิดถึง นำพิธีกรสุดฮิตแห่งยุคสมัยจากรายการผู้หญิงถึงผู้หญิงมาเล่นหนัง “แก๊งชะนีกับอีแอบ” ทำหนังสารคดีตามติดชีวิตวัยรุ่นเป็นเวลา 1 ปี กับ “Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์” (2550) และทำหนังบอกเล่าการเดินทางแบบเรียล ๆ ใน “หนีตามกาลิเลโอ” (2552)

6 ปีแรกของ GDH

6 ปีแรกของ GDH 559 มีผลงานภาพยนตร์ออกมาทั้งหมด 11 เรื่อง โดยเรื่องแรก “แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว” ออกฉายในปี 2559 และใช้บริการของผู้กำกับประจำค่ายอย่าง โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล จาก “พี่มาก..พระโขนง” (2556) มารับประกันความสำเร็จ หนังทิ้งห่างจาก “เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ” หนังของ GTH เรื่องสุดท้ายไป 1 ปีเต็ม

ถ้าวัดจากรายได้ (กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเชียงใหม่) หนังในช่วง 6 ปีแรกนั้นมีที่ประสบความสำเร็จในระดับปานกลางคือ เกิน 100 ล้านบาทอยู่หลายเรื่องด้วยกัน ที่ทำรายได้มากที่สุดคือ “น้อง.พี่.ที่รัก” (2561) ทำรายได้ไป 148.86 นำแสดงโดยนักแสดงแม่เหล็กของค่ายอย่างซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ ประกบ (ในบทพี่น้อง) นางเอกแห่งยุคจากช่อง 3 ญาญ่า-อุรัสยา หนังทำรายได้เป็นอันดับ 2 ของหนังไทยในปีนั้นโดยไปแพ้ให้กับ “นาคี 2” ตอนต่อจากละครช่อง 3 ที่มีนางเอกเป็นญาญ่าเหมือนกัน

รองลงมา อันดับ 2 “ตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะเฟค” (2562) หนังต่อยอดจากซีรีส์ของ GDH เองตั้งแต่ปี 2559 และมีแฟนคลับเหนียวแน่น เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการทำหนังต่อจากซีรีส์และประสบความสำเร็จ ทำรายได้ไป 141 ล้านบาท อันดับ 3 “Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน” (2562) ครองอันดับ 2 หนังทำเงินสูงสุดของปี (หนังไทยเกิน 100 ล้านมีแค่ 2 เรื่องในปีนี้ และเป็นของ GDH ทั้งคู่) แจ้งเกิดนาย-ณภัทร ในฐานะนักแสดง (ต่อจากเสน่ห์ที่สร้างไว้พอกล้อมแกล้มใน “พรจากฟ้า” (2559) และทำให้ใบเฟิร์ม-พิมพ์ชนกมีหนังฮิตในเครดิตเพิ่มไปอีกเรื่อง (จะกลับมาใน “อ้าย..คนหล่อลวง”)

อันดับ 4 ก็คือ “ฉลาดเกมส์โกง” (2560) หนังที่ได้ทั้งเงิน (เป็นหนังไทยที่ทำรายได้สูงสุดในปีนั้น) ทั้งคำวิจารณ์ระดับดีงาม และโอกาสไปรีเมกเป็นภาพยนตร์ต่างประเทศ และจนกระทั่ง GDH เอามารีเมกเป็นซีรีส์เองด้วย ทำรายได้ไป 112.15 ล้านบาท และเรื่องสุดท้าย “แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว” ที่ได้นักแสดงแม่เหล็กของค่ายอีกคนอย่าง “เต๋อ-ฉันทวิชช์” มาประกบนางเอกช่อง 3 อีกคนอย่าง “มิว-นิษฐา” ทำรายได้ไป 110.91 ล้านบาท

หากจะมองแค่เฉพาะความสำเร็จทางด้านรายได้ที่เกิน 100 ล้าน 5 จาก 11 เรื่องก็อาจจะดูน้อยไปหน่อยเมื่อเทียบกับยุคท้าย ๆ ของ GTH ที่มีหนังทำรายได้เป็นปรากฏการณ์ทั้ง “พี่มาก..พระโขนง” (2559), “ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้” (2557) ที่ทำรายได้ไป 330.97 ล้านบาท ก็อาจจะดูว่า GDH ยังไม่มีหนังลูกฟลุคที่จุดกระแสความสนใจได้เหมือน 2 เรื่องนั้น แต่เมื่อมองถึงความหลากหลายในประเภทหนังก็จะเห็นว่า หนังอีก 6 เรื่องนั้นมีความหลากหลายมากกว่าจะเป็นหนังรักหรือหนังตลกที่ขายยังไงก็ได้เงิน

ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ” (2562) ของผู้กำกับเต๋อ-นวพล ที่ทำรายได้ไป 57 ล้านบาท แม้จะไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่ากับ “ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ” (2557) ตอนเป็น GTH ที่ทำรายได้ไป 86.7 ล้านบาท แต่ก็ถูกพูดถึงในวงกว้าง และหนังไทยแหวกแนวระดับนี้ถ้าไม่ใช่ GDH กับเต๋อก็คงไม่มีใครกล้าสร้างแน่ ๆ

ผู้กำกับเต๋อยังได้กำกับหนังสารคดี “BNK48: Girl Don’t Cry” (2561) ซึ่ง GTH จัดจำหน่ายให้ หนังไม่ได้ประสบความสำเร็จทางรายได้เพราะทำเงินไปแค่ 13.35 ล้านบาท แต่ก็เป็นการขยายความสัมพันธ์อันดีระหว่าง GDH นาดาวบางกอก และ BNK48 ที่ต่อมาสมาชิกในวงก็มามีผลงานกับค่ายนี้หลายเรื่องเช่น ซีรีส์ One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ (2562) และซีรีส์ ฉลาดเกมส์โกง (2563) ส่วนหนังสารคดีอีกเรื่องที่โดดเด่น และไม่ต้องถามหารายได้กันก็คือ “2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว” (2561) สารคดีการวิ่งเพื่อหารายได้ให้การกุศลของตูน บอร์ดี้แสลม ที่ GDH จัดจำหน่ายและฉายการกุศลอยู่หลายงาน

หนังที่พลาดเป้าไปหน่อยสำหรับ GDH ก็คือหนังผีที่ตอนเป็น GTH นั้นเป็นหนังที่สร้างรายได้ให้กับค่ายอย่างจริงจังอีกแนวนึง แต่ GDH ก็ไม่สามารถดัน “เพื่อน..ที่ระลึก” (2560) ให้ประสบความสำเร็จได้ แม้จะกำกับโดย จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ จาก “ลัดดาแลนด์” (2554) และ “ฝากไว้..ในกายเธอ” (2557)

ส่วนอีกเรื่องที่ทำรายได้ไปในระดับกลาง ๆ ก็คือ “Homestay” ของผู้กำกับโอ๋-ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ที่มากำกับหนังเดี่ยวครั้งแรกทิ้งห่างจากผลงานเรื่องก่อน ๆ อย่าง “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” (2547 หนังเรื่องแรกของค่ายนี้ภายใต้ชื่อ GTH) และ “แฝด” (2550) มานาน ด้วยความเป็นหนังแฟนตาซีดราม่าที่เนื้อหาขายยาก แต่หนังก็ทำรายได้ไป 67.11 ล้านบาท

ดังนั้นเมื่อมองย้อนกลับไปเทียบกับ 6 ปีแรกของ GTH นับตั้งแต่หนัง “แฟนฉัน” (2546) จนถึง “รถไฟฟ้า มาหานะเธอ” (2552) นั้น GTH มีหนังถึง 27 เรื่อง แต่ก็มีหนังที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านแค่ 3 เรื่อง คือ “รถไฟฟ้า มาหานะเธอ” “ห้าแพร่ง” และ “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” และมีหนังที่ทำรายได้ระดับเกิน 70 ล้านบาทอยู่หลายเรื่องมากกว่าที่จำนวน 7 เรื่อง ส่วนหนังที่ขาดทุนแน่ ๆ ก็มีหนังที่ทำรายได้ต่ำกว่า 40 ล้านบาท (คุณวิสูตร พูลวรลักษณ์ ผู้บริหารค่ายเคยให้สัมภาษณ์ว่า แค่ค่าโปรโมตประชาสัมพันธ์หนังก็ 40 ล้านบาทแล้ว) อยู่ถึง 8 เรื่อง ดังนั้นก็พอบอกได้ว่า 6 ปีแรกถ้าเทียบชนกันเฉพาะความสำเร็จของหนังนั้น GDH มีหนังน้อยกว่าแต่ทำรายได้เฉลี่ยต่อเรื่องได้สูงและเข้าเป้ามากกว่า

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

ซีรีส์และละครเด่นของ GDH และนาดาวบางกอก ในรอบ 6 ปี

6 ปีแรกของ GDH นั้นดูจะหวือหวาในการสร้างผลงานเป็นซีรีส์ออกมากกว่า 6 ปีแรกของ GTH ส่วนหนึ่งก็เพราะมีแพลตฟอร์มการฉายต่าง ๆ ออกมารองรับมากกว่ายุคก่อนที่ซีรีส์หรือละครจะออกฉายแค่ทางโทรทัศน์เท่านั้น อย่าง GDH ก็มีพันธมิตรในการฉายซีรีส์ทั้งทางช่อง ONE 31 ซึ่งอยู่ในเครือของ GMM Grammy เดียวกันอยู่แล้ว และก็ยังขยายไปลงแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง LINE TV อีกด้วย

ถ้าย้อนไปช่วงปี 2551-2552 ซึ่งเป็น 6 ขวบแรกของ GTH จะมีซีรีส์ออกฉาย 2 เรื่อง ทั้งสองเรื่องฉายทางโมเดิร์นไนน์ทีวีคือ ซิทคอม เนื้อคู่ประตูถัดไป ที่มีต่อมาอีก 2 ซีซัน (แต่ย้ายช่องทุกซีซัน) นำแสดงโดย ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์, พอลล่า เทเลอร์, โบ-ธนากร ชินกูล, โอปอล์-ปาณิสรา พิมพ์ปรุ, เผือก-พงศธร จงวิลาส และนิมิตร ลักษมีพงศ์ ในบทป้ารุจน์ และ สายลับเดอะซีรีส์ กับ 24 คดีสุดห้ามใจ ดำเนินเนื้อเรื่องแยกต่อมาจากภาพยนตร์เรื่อง “สายลับจับบ้านเล็ก” (2550) เป็นละครชุดที่เนื้อหาจะเกี่ยวกับ “ฉลาม” (แจ็ค-เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์) เพื่อนของจ๊อก (ตัวละครของซันนี่ในฉบับหนัง) ที่ทำอาชีพเป็นนักสืบชู้ในภาพยนตร์ นำแสดงโดยแดน-วรเวช ดานุวงศ์, แพ็ตตี้-อังศุมาลิน สิรภัทรศักดิ์เมธา และเต๋อ-ฉันทวิชช์ ซีรีส์นี้ก็มีต่อออกมาเป็น 2 ซีซันเรื่องของ หมวดโอภาส ยอดมือปราบคดีพิศวง (2554-2556) เรื่องของตัวละครของเต๋อด้วย

ส่วน 6 ปีแรกของ GDH นั้นอุดมไปด้วยซีรีส์มากมาย เปิดตัวมาตั้งแต่ ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ เดอะ ซีรีส์ ที่มีออกมา 2 ซีซัน ซีซันแรกในปี 2559 และซีซัน 2 ในปีถัดมา ออกอากาศทาง GMM25 ก่อนจะกลายเป็นภาพยนตร์ในที่สุด มีเค้าโครงมาจากประสบการณ์จริงของ ธีร์ธวิต เศรฐไชย (คุณช่า) ที่เผยแพร่ลงเพจบนเฟซบุ๊ก “บันทึกของตุ๊ด” ในรูปแบบไดอารี่ นอกจากนั้นก็ยังมี แก๊สโซฮัก..รักเต็มถัง นำแสดงโดย ไอซ์-ปรีชญา นางเอก 300 ล้านของค่าย และไอซ์ซึ-ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ ออกอากาศทาง LINE TV

แต่ที่สร้างชื่อเสียงในด้านซีรีส์ดราม่าน้ำดีให้กับค่ายก็คือ Project S The Series ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของหลากหลายชีวิตกับนักกีฬาประเภทต่าง ๆ ผ่าน 4 ชนิดกีฬา คือ วอลเลย์บอล, แบดมินตัน, สเก็ตบอร์ด และยิงธนู ซีรีส์ได้นักแสดงนอกค่ายมากฝีมือมากมายมาร่วมงาน ทั้ง ปั่นจั่น-ปรมะ อิ่มอโนทัย, สายป่าน- อภิญญา สกุลเจริญสุข และก็ยิ่งทำให้เห็นศักยภาพของนักแสดง GDH รุ่นใหม่ทั้งหลาย ทั้ง โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์, แบงค์-ธิติ มหาโยธารักษ์ ในตอน Spike!, ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร ที่มารับเป็นเด็กออทิสติก, สกาย-วงศ์รวี นทีธร, เบลล์-เขมิศรา พลเดช กับตอน Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ โดยในตอนนี้การแสดงของนักแสดงรุ่นใหญ่ทั้ง หัทยา วงษ์กระจ่าง และสู่ขวัญ บูลกุล ได้รับคำชื่นชมอย่างมาก

ตอน SOS Skate ซึม ซ่าส์ กับบทบาทที่ได้รับคำชื่นชมของ เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ (ที่ต่อมาได้รับบทนำในหนัง Homestay) กับบทผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ประกบกับโทนี่ รากแก่น, แพรว-นฤภรกมล ฉายแสง และ แพต-ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช ส่วนตอนสุดท้าย Shoot! I Love You ปิ้ว! ยิงปิ๊งเธอ ก็ยังเต็มไปด้วยนักแสดงวัยรุ่นของค่ายอย่าง เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม, นนกุล-ชานน สันตินธรกุล, ฟรังนรีกุล เกตุประภากร และต้าเหนิง-กัญญาวีร์ สองเมือง ที่แสดงกันออกมาได้ดูสนุกในหนังรักวัยใส

ส่วน 2 ปีหลังมานี้ GDH ก็ฉีกแนวไปทำซีรีส์เรื่องราวครอบครัวที่ได้พาร์ตเนอร์นำทีมศิลปิน BNK48 ยกทีมมาแสดงในซีรีส์ One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ สมทบด้วยนักแสดงระดับยอดฝีมือ คัทลียา แมคอินทอช, สัญญา คุณากร และจิรายุ ละอองมณี เรื่องราวความรักที่สุกงอมของตั้ม พ่อหม้ายลูกสองแสนอบอุ่นที่ตัดสินใจขอมุก แม่หม้ายลูกสี่ แต่หัวใจยังวัยรุ่นแต่งงานกัน แต่มุกไม่เคยบอกลูก ๆ ทั้งห้าของตนเลยว่าคบกันกับตั้มอยู่ มุกขอเวลาอธิบายเรื่องนี้ให้ลูก ๆ เข้าใจก่อน แต่ไม่ว่าจะยังไงมุกก็ไม่กล้าพูดออกไป ตั้มเลยวางแผนให้ลูก ๆ ของมุกมาเจอกับลูก ๆ ของตนในวันคล้ายวันเกิดของมุก (อ่านรีวิวเรื่องนี้ของ WTF) และล่าสุดกับการรีเมกหนังของ GDH เอง ฉลามเกมส์โกง เดอ ซีรีส์ ที่ได้รับคำชมไปอย่างล้นหลาม (อ่านรีวิวเรื่องนี้ของ WTF และชวนวิเคราะห์สาระดี ๆ จากซีรีส์)

ส่วนนาดาวบางกอกที่อยู่ในเครือและร่วมงานสร้างซีรีส์กับ GDH มาตั้งแต่ GTH แล้วก็มีผลงานซีรีส์โดดเด่นหลายเรื่อง ทั้ง I Hate You, I Love You (2560) ซึ่งเป็นผลงานชิ้นแรก ๆ ที่ร่วมมือกับ LINE TV ในการปั้นแพลตฟอร์มนี้ให้เป็นแพลตฟอร์มการชมซีรีส์ออนไลน์ได้อีกช่องทางหนึ่ง ซีรีส์นี้ทำให้คนถามกันทั้งบ้านทั้งเมืองว่า “ใครฆ่านานะ?” ซึ่งรับบทโดยปันปัน-สุทัตตา อุดมศิลป์ และในเรื่องยังมีนักแสดงอีกหลายคนที่มาเล่นโชว์ด้านมืดสุด ๆ ของแต่ละคน ทั้ง ฝน-ศนันธฉัตร ธนพัฒน์พิศาล, โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์, เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม และสกาย-วงศ์รวี นทีธร

หลังจากนั้นนาดาวบางกอกก็มีผลงานซีรีส์ทั้งขนาดสั้นและยาวออกมาอีกหลายเรื่อง ทั้ง อยู่ที่เรา (2559) นำแสดงโดย โตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์, โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์ และ แพต-ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช, เลือดข้นคนจาง (2561) ผลงานกำกับของย้ง-ทรงยศ ผู้บริหารค่ายที่กระโดดลงมากำกับเอง และได้นักแสดงรุ่นใหญ่มากฝีมือเกือบครึ่งวงการมาประกบกับนักแสดงวัยรุ่นของค่าย ซีรีส์ทำให้คนติดตามกันทั้งเมืองอีกครั้งว่า “ใครฆ่าประเสริฐ?” ซึ่งนับว่า ซีรีส์หรือละครไทยแนวตามหาตัวฆาตกรแบบนี้ไม่ค่อยมีมากนัก แถมยังถูกพูดถึง ทำออกมาได้อย่างน่าติดตามไปจนจบเรื่อง และกวาดรางวัลไปหลายเวที

ปี 2562 นาดาวบางกอกส่งซีรีส์ Great Men Academy สุภาพบุรุษสุดที่เลิฟ ที่กำกับโดย วรรณแวว และแวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ ผู้กำกับที่มีลายเซ็นเฉพาะตัวและมีชื่อเสียงในยุคนี้ ซีรีส์ยัง เต็มไปด้วยนักแสดงวัยรุ่นของค่าย แต่ที่มาดังสุด ๆ อีกรอบก็คือซีรีส์ My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน ที่เป็นซีรีส์กลิ่นอายเกาหลี และเป็นการโคจรมาเจอกันของซันนี่ สุวรรณเมธานนา์ และนางเอกอันดับหนึ่งจากนอกค่ายอย่าง ใหม่-ดาวิกา เรื่องราวของ “ทานตะวัน” หญิงสาวคนหนึ่งที่มีพลังวิเศษในการเรียกคนรักให้มาหาผ่านตัวกลางต่าง ๆ ได้ จนกระทั่งวันครบรอบ 15 ปีที่คบกับคนรักอย่าง “หมอเป้ง” พลังนั้นกลับมีอยู่กับผู้ชายรุ่นน้องหมอของพระเอกอีกคนหนึ่ง เรื่องวุ่นวายจึงเกิดขึ้นตามมามากมาย ซีรีส์ยังทำให้สกาย-วงศ์รวี นทีธร ในบท “ฉลาม” ยิ่งกลายเป็นหนุ่มฮอตมากขึ้นอีกด้วย ส่วนเพลง “รักติดไซเรน” เพลงประกอบซีรีส์ก็กลายเป็นเพลงฮิตแห่งปี (อ่านรีวิวเรื่องนี้ของ WTF)

โดยสรุปแล้ว คงต้องพูดว่า GDH ในรอบ 6 ปีแรก “รุ่ง” มากกว่าร่วง เพราะมีหนังที่โดนใจผู้ชมจนทำรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท และเป็นหนังอันดับ 1 หรือ 2 ของปีที่เข้าฉายหลายเรื่อง แม้ว่าจำนวนของหนังจะน้อยกว่า 6 ปีแรกของ GTH มากกว่าครึ่ง เสริมทัพด้วยซีรีส์ที่โดดเด่นและประสบความสำเร็จหลายเรื่องกว่าสมัยตอน GTH มีคนติดตามกันมาก รวมถึง GDH และนาดาวบางกอกก็ได้ฝึกปรือฝีมือของนักแสดงและทีมงานได้จากงานซีรีส์ก่อนจะขยับขึ้นไปเล่นหนังใหญ่อีกหลายคนอีกด้วย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส