สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยบทวิเคราะห์ผลกระทบจากความไม่สงบในอิสราเอล – ปาเลสไตน์ ต่อเศรษฐกิจการค้าของไทย โดยระบุว่า ความขัดแย้งในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศในภาพรวมของไทยมากนัก เนื่องจากทั้งสองประเทศไม่ใช่คู่ค้าสำคัญอันดับต้น ๆ ของไทย และมีมูลค่าการค้าระหว่างกันค่อนข้างน้อย

สนค. ชี้ว่าความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์มีมาอย่างยาวนานแล้ว แต่ครั้งนี้ยกระดับรุนแรงขึ้นมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และนำไปสู่การประกาศสงครามในที่สุด ซึ่งเรื่องนี้สร้างความกังวลให้กับทั่วโลกว่า สถานการณ์อาจลุกลามบานปลาย ยกระดับความตึงเครียดสู่ระดับภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจทั่วโลก

โดยมุมมองของ สนค. ระบุว่า ปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกอยู่ท่ามกลางอุปสงค์ที่ชะลอตัวทั่วโลกอยู่แล้ว เนื่องจากการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว การคงดอกเบี้ยสูงยาวนานที่ส่งผลต่อกำลังซื้อผู้บริโภคและต้นทุนของผู้ผลิต เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นในตะวันออกกลางก็อาจส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมัน และทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นไปอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้ความพยายามของธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการจะลดระดับเงินเฟ้อลงมาอาจจะล้มเหลว และนั่นหมายความว่าโลกจะเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อสูงอีกระลอก ทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวลงมากขึ้น

ผลกระทบทางตรง

Haifa's new Gulf Port
ส่วนหนึ่งของท่าเรือไฮฟา (Haifa) ท่าเรือระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดใน 3 แห่งของอิสราเอล

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้น สนค. ประเมินผลกระทบทางตรงต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า ความขัดแย้งในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศในภาพรวมของไทยมากนัก เนื่องจากทั้งสองประเทศไม่ใช่คู่ค้าสำคัญอันดับต้น ๆ ของไทย และมีมูลค่าการค้าระหว่างกันค่อนข้างน้อย

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเส้นทางที่มีสงคราม เช่น ค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และค่าประกันภัยในเส้นทางที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติอาจปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งความล่าช้าในการขนส่ง ทั้งนี้ อาจต้องติดตามสถานการณ์ท่าเรือนำเข้าที่สำคัญของอิสราเอล อาทิ ท่าเรือไฮฟา (Haifa) และท่าเรืออัชโดด (Ashdod) หากเกิดการยกระดับความขัดแย้งขึ้น

ผลกระทบทางอ้อม

สำหรับผลกระทบทางอ้อมนั้น สนค. มองว่ามีหลายด้านที่กระทบกับไทย โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม หากความขัดแย้งไม่ขยายวงกว้างมากขึ้นก็น่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ใช่ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในตลาดโลก และไม่ได้กระทบต่อการขนส่งน้ำมันที่คลองสุเอซ ประเทศอียิปต์มากนัก

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผลกระทบต่อการค้ากับกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่จะเปราะบางมากขึ้น เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้วพันธมิตร หากลุกลามเกิดความไม่สงบภายในภูมิภาคตะวันออกกลาง ก็อาจจะกระทบกับการค้าของไทย เนื่องจากมีหลายประเทศในภูมิภาคนี้เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย

โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยและตะวันออกกลางคิดเป็นสัดส่วน 7.6% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย และการส่งออกไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางคิดเป็นสัดส่วน 3.8% ของการส่งออกรวมของไทย ซึ่งขยายตัว 23.5% จากปีก่อนหน้า ทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางถูกตั้งเป้าหมายเป็นตลาดการส่งออกของไทยในปี 2566 เพื่อชดเชยตลาดหลักที่ชะลอตัวในปีนี้

สำหรับการนำเข้านั้น สนค. ประเมินว่า กรณีที่สถานการณ์ยังอยู่ในวงจำกัด ไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักในแง่ของการนำเข้าพลังงาน เนื่องจากไม่ได้มีการนำเข้าน้ำมันจากอิสราเอลหรือปาเลสไตน์ รวมถึงไทยมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากหลากหลายแหล่ง แต่หากสถานการณ์ขยายขอบเขตสู่ระดับภูมิภาค จะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าน้ำมันดิบของไทยมาก เนื่องจากภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าพลังงานที่สำคัญของไทย โดยคิดเป็นสัดส่วน 52.3% ของการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวทั้งหมดของไทย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส